ฟิกฮฺอย่างง่าย

ฟิกฮฺอย่างง่าย หนังสือว่าด้วยบทบัญญัติอิสลามต่าง ๆ บางส่วนโดยสรุป ด้วยการเรียบเรียงอย่างง่าย พร้อมกับอธิบายความสำคัญและสถานะของฟิกฮฺสำหรับชาวมุสลิม ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 หมวด คือ อิบาดะฮฺ ธุรกรรม กฎหมายครอบครัว และบทบัญญัติเกี่ยวกับสตรี

 

ฟิกฮฺอย่างง่าย

رسالة في الفقه الميسر

>ไทย – Thai -  التايلاندية <

 

 


        
ศอลิหฺ บิน ฆอนิม อัส-สัดลาน
صالح  بن  غانم  السدلان




ผู้แปล: อารีฝีน ยาชะรัด, ฟัยซอล  อับดุลฮาดี
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน, ฟัยซอล  อับดุลฮาดี
 
ترجمة: عارفين  ياجاراد وفيصل  عبد الهادي
مراجعة: صافي عثمان وفيصل عبد الهادي
 
บทนำ
สถานะของมรดกทางวิชาการฟิกฮฺ และปลุกจิตสำนึกการให้เกียรติมันในหัวใจของชาวมุสลิม


ความสำคัญของมรดกทางวิชาการฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม)
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ขอพรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่มุหัมมัด ผู้ซึ่งไม่มีศาสนทูตหลังจากท่าน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามหรือฟิกฮฺ เป็นความรู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุด เพราะมันคือหลักที่มุสลิมสามารถนำมาใช้ตรวจสอบการงานของเขาว่า เป็นที่อนุมัติหรือต้องห้าม? ถูกต้องหรือเป็นโมฆะ? มุสลิมในทุกยุคทุกสมัยต่างอยากจะรู้ว่าการงานที่เขาได้ปฏิบัติเป็นที่อนุมัติหรือต้องห้าม ถูกต้องหรือเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะเป็นการงานที่เกี่ยวข้องระหว่างเขากับอัลลอฮฺหรือระหว่างมนุษย์ด้วยกัน คนใกล้ชิดหรือห่างไกล ศัตรูหรือมิตร ผู้พิพากษาหรือผู้ต้องหา มุสลิมหรือต่างศาสนิก เราไม่อาจรู้คำตอบของประเด็นของประเด็นเหล่านี้ นอกจากต้องผ่านวิชาฟิกฮฺหรือนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยบทบัญญัติของอัลลอฮฺที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของบ่าว ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติในเชิงการสั่งใช้ เลือกให้ปฏิบัติ หรือเป็นข้อกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นมา
นิติศาสตร์อิสลามหรือฟิกฮฺก็เหมือนกับศาสตร์อื่น ๆ ที่มีการเติบโตหากมีการนำไปใช้ และจะถดถอยเมื่อถูกละเลย นิติศาสตร์อิสลามได้ผ่านช่วงสมัยที่เจริญรุ่งเรือง มีการนำไปใช้ในทุก ๆ วิถีของการดำเนินชีวิต และได้ผ่านช่วงถดถอย ไม่มีความรุ่งเรืองหรือแทบจะไม่มี เพราะถูกสละทิ้งไม่นำมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยเพราะความตั้งใจหรือละเลย เนื่องจากประเทศมุสลิมหลาย ๆ ประเทศได้เปลี่ยนข้อกฎหมายเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายอิสลามซึ่งไม่มีรากฐานมาจากหลักความเชื่อ จารีตประเพณี และสังคมของพวกเขาเลย พวกเขารู้สึกพอใจกับความศิวิไลซ์ของกฎหมายใหม่ แต่มันได้บ่อนทำลายชีวิตของพวกเขาและทิ้งปัญหาไว้มากมาย ถึงแม้ว่า ศาสตร์นี้ได้เผชิญกับนานาวิกฤติ แต่ก็ยังคงสามารถตั้งตระหง่านสูงเด่นได้เนื่องจากมีรากฐานที่แข็งแกร่งและโครงสร้างที่ประณีต และอัลลอฮฺได้อนุมัติให้ประชาชาตินี้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากที่ได้หลับใหลและกลับมาเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอิสลามทั้งในด้านการบัญญัติและนำมาใช้
เราได้เห็นประชาชาติอิสลามอันมากมายได้เรียกร้องให้ใช้กฎหมายของอัลลอฮฺ ไม่ติดพันกับกฎหมายอื่น  เราพบว่าชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับกฎหมายของพระองค์ มีปัจจัยยังชีพที่มากมาย และอัลลอฮฺจะทรงให้ศาสนาของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ถึงแม้ว่าพวกตั้งภาคีจะไม่ชอบก็ตาม
ฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) เริ่มขึ้นเมื่อไร? อะไรคือสาเหตุของการกำเนิด? นิติศาสตร์อิสลามมีข้อเด่นอะไร? และอะไรคือสิ่งจำเป็นของมุสลิมต่อศาสตร์นี้?
เราขอกล่าวรายละเอียดดังนี้
นิติศาสตร์อิสลามได้ถือกำเนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และสมัยของเศาะหาบะฮฺ สาเหตุที่ทำให้ศาสตร์นี้ถือกำเนิดตั้งแต่แรก ๆ เนื่องจากผู้คนมีความจำเป็นที่จะต้องรู้บทบัญญัติต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ความจำเป็นนี้ยังคงมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจัดระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม เพื่อได้รู้สิทธิของแต่ละคน เพื่อธำรงผลประโยชน์ และขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ดีต่าง ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและเกิดขึ้นใหม่

สถานะและข้อพิเศษของมรดกนิติศาสตร์อิสลาม
นิติศาสตร์อิสลามมีข้อพิเศษมากมาย ที่สำคัญคือ
1. มีรากฐานมาจากวะห์ยู (วิวรณ์) ของอัลลอฮฺ
นิติศาสตร์อิสลามมีข้อพิเศษคือ มีแหล่งอ้างอิงมาจากวะห์ยูของอัลลอฮฺ ซึ่งถูกถ่ายทอดลงมาในนามอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้ที่ทำการวินิจฉัยปัญหาศาสนา จำเป็นต้องวิเคราะห์จากแหล่งอ้างอิงทั้งสองนี้และจากข้อปลีกย่อยที่มาจากแหล่งอ้างอิงทั้งสองโดยตรง จากเจตนารมณ์ของนิติศาสตร์อิสลาม จากกฎต่าง ๆ ทางนิติศาสตร์ เนื่องด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้การถือกำเนิดของนิติศาสตร์อิสลามเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มีรากฐานที่หนักแน่น โครงสร้างที่แข็งแกร่ง โดยที่รากฐานของมันได้ถูกวางไว้ในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ ﴾ [المائدة : 3]
“วันนี้ ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว ข้าได้ให้ความโปรดปรานของข้าครบถ้วน และข้าได้พอใจให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า” (อัล-มาอิดะฮฺ  3)
ดังนั้น หลังจากนี้ จึงไม่มีขั้นตอนอะไรอีก นอกจากการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ตามผลประโยชน์ของมนุษย์ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติอิสลาม

2. มีความครอบคลุมในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต
นิติศาสตร์อิสลามมีความสัมพันธ์สามด้าน ความสัมพันธ์กับพระผู้อภิบาล ความสัมพันธ์กับตัวมนุษย์เอง และความสัมพันธ์กับสังคม เพราะนิติศาสตร์อิสลามมีเกี่ยวข้องทั้งกับโลกนี้และโลกหน้า คือศาสนาและประเทศ ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน และนิรันดรตราบจนวันกิยามะฮฺ บทบัญญัติต่าง ๆ มีความเกี่ยวพันกับหลักความเชื่อ อิบาดะฮฺ มารยาท และการปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึก ความรู้สึกรับผิดชอบ ตระหนักอยู่เสมอว่าอัลลอฮฺทรงมองดูทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ให้เกียรติต่อสิทธิของบุคคลอื่น จุดประสงค์คือความพึงพอใจ ความผาสุก การศรัทธา ความสงบสุข จัดระเบียบของชีวิต และมอบความสุขให้กับโลกนี้
เนื่องด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ บทบัญญัติของนิติศาสตร์อิสลามซึ่งเกี่ยวข้องกับคำพูด การกระทำ สัญญาธุระกรรม และการกระทำต่าง ๆ ครอบคลุมประเด็นสองประการ
    1. บทบัญญัติว่าด้วยอิบาดะฮฺ เช่น การทำความสะอาด การละหมาด การถือศีลอด การทำหัจญ์ การจ่ายซะกาต การบนบาน หรืออื่น ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบระหว่างมนุษย์กับพระผู้อภิบาลของเขา
    2. บทบัญญัติว่าด้วยการปฏิสัมพันธ์ เช่น สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ การลงโทษ การปราบอาชญากรรม การประกัน และอื่น ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือสังคม บทบัญญัติเหล่านี้แบ่งออกเป็น
2.1 บทบัญญัติว่าด้วยนิติบุคคล เช่น กฎหมายครอบครัว ที่เริ่มตั้งแต่การก่อร่างสร้างครอบครัวจนถึงประเด็นสุดท้าย เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง การสืบเชื้อสาย การจ่ายค่าเลี้ยงดู การแบ่งมรดก เป้าหมายของบทบัญญัตินี้คือ การจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาและระว่างเครือญาติ
2.2 การทำธุรกรรมต่าง ๆ คือการงานที่เกี่ยวข้องกับธุระกรรมของปัจเจกบุคคล การแลกเปลี่ยน เช่น การซื้อขาย การเช่า การจำนำหรือจำนอง การร่วมหุ้น การให้ยืม และการทำตามสัญญา จุดประสงค์ของบทบัญญัตินี้คือ เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลในด้านทรัพย์สินและการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ
2.3 บทบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรม คือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่อมนุษย์ที่เป็นการก่ออาชญากรรมและบทลงโทษต่าง ๆ บทบัญญัตินี้ มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติ สิทธิต่าง ๆ และรักษาความสงบสุขของสังคม
2.4 บทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องร้อง การดำเนินการ ในด้านการปกครองและอาชญากรรม คือบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการพิพากษา การฟ้องร้อง วิธีการให้การ การเป็นพยาน การสาบาน หลักฐาน และอื่น ๆ บทบัญญัตินี้ มีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบการดำเนินการเพื่อธำรงความยุติธรรมระหว่างมนุษย์
2.5 บทบัญญัติว่าด้วยการปกครอง คือบทบัญญัติว่าด้วยระบอบการปกครองและหลักการปกครอง จุดประสงค์ของบทบัญญัตินี้คือ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน และสิทธิของปัจเจกบุคคลและสังคม และข้อบังคับสำหรับพวกเขา
2.6 และบัญญัติหรือกฎหมายระหว่างประเทศ คือข้อกฎหมายหรือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศอื่น ไม่ว่าในช่วงที่สงบศึกหรือช่วงมีสงคราม ความสัมพันธ์กับประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิม ซึ่งครอบคลุมถึงการญิฮาดและพันธะสัญญาต่าง ๆ จุดประสงค์ของบทบัญญัตินี้คือ เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ ความร่วมมือช่วยเหลือ การให้เกียรติระหว่างประเทศ
2.7 บทบัญญัติว่าด้วยเศรษฐกิจและการคลัง คือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิปัจเจกบุคคลในด้านทรัพย์สินและข้อปฏิบัติในเรื่องระบบการเงิน สิทธิและสิ่งจำเป็นของประเทศในเรื่องการคลัง จัดระเบียบรายได้และรายจ่ายของกองคลัง จุดประสงค์ของบัญญัตินี้คือ เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ของการเงินระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างพลเรือนกับประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงทรัพย์สินส่วนรวมและทรัพย์สินเฉพาะ เช่น ปศุสัตว์ ทรัพย์เชลย ภาษี ทรัพย์สินจากสมบัติเก่าที่ขุดค้นพบใต้ดิน ก๊าซธรรมชาติ ทรัพย์สินเกี่ยวกับสังคมเช่น ซะกาต การบริจาค การบนบาน การให้ยืม ทรัพย์สินเกี่ยวกับครอบครัว เช่น ค่าอุปการะ มรดก การสั่งเสีย ทรัพย์สินส่วนบุคคล เช่น กำไรจากการค้าขาย การจ้าง หุ้นส่วน การลงทุน การผลิต และบทลงโทษทางทรัพย์สิน เช่น การจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ดิยะฮฺ และฟิดยะฮฺ
2.8 มารยาท คือบทบัญญัติที่ว่าด้วยคุณธรรมของมนุษย์ เพื่อกระจายบรรยากาศของความดีงาม ความช่วยเหลือและมีเมตตาต่อกัน

    สาเหตุที่ทำให้นิติศาสตร์อิสลามครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ มากมายคือ เพราะมีตัวบทหลักฐานต่าง ๆ มากมายในสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในทุกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

3. มีความเป็นศาสนาทั้งในด้านการอนุมัติและข้อห้าม
    ส่วนหนึ่งจากข้อแตกต่างของกฎหมายอิสลามกับกฎหมายทั่วไปคือ ทุก ๆ การกระทำของประชาชนในด้านธุรกรรมอยู่ในข่ายของกฎ “สิ่งที่หะล้าลและสิ่งที่หะรอม” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีสองลักษณะ
    1. หุก่มทางโลก ตามผิวเผินของการกระทำ และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับความตั้งใจที่ซ่อนเร้น เพราะผู้พิพากษาจะตัดสินตามที่เขามีความสามารถจะเข้าถึงข้อมูล และหุก่มของมันก็คือ ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูก ไม่ทำให้สิ่งที่ถูกเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นการอนุมัติสิ่งที่หะรอมและไม่เป็นการห้ามสิ่งที่อนุมัติ ส่วนคำตัดสินของผู้พิพากษานั้นจำเป็นต้องปฏิบัติตามซึ่งต่างกับฟัตวา
    2. หุก่มทางโลกหน้า ตั้งอยู่บนหลักข้อเท็จจริง ถึงแม้ว่าอาจหลายๆ คนอาจไม่รู้ เป็นการปฏิบัติระหว่างเขากับอัลลอฮฺ หรือที่เรียกว่า หุก่มทางศาสนา และนี่คือเรื่องที่มุฟตียึดหลักในการให้คำวินิจฉัย

4. มีความสัมพันธ์กับคุณธรรม
นิติศาสตร์อิสลามมีการซึมซับหลักคุณธรรม ซึ่งเป็นข้อแตกต่างกับกฎหมายทั่วไปที่มีเป้าหมายสูงสุดเพียงผลประโยชน์ นั่นคือ การรักษาระเบียบและความสงบของสังคมโดยไม่ได้ใส่ใจต่อหลักศาสนาและคุณธรรม ส่วนนิติศาสตร์อิสลามให้ความสำคัญกับการรักษามารยาทที่ดีงาม
การบัญญัติอิบาดะฮฺต่าง ๆ ก็เพื่อชะล้างหัวใจให้สะอาดบริสุทธิ์และห่างไกลจากความชั่วร้ายต่าง ๆ
การห้ามดอกเบี้ยก็เพื่อปลูกฝังการช่วยเหลือและเห็นใจซึ่งกันและกันและปกป้องผู้ที่ขัดสนจากความหิวโหยของคนรวย
ห้ามการคดโกงในการทำสัญญาธุรกรรมต่าง ๆ บริโภคทรัพย์สินอย่างมิชอบ ทำลายสัญญาธุรกรรมเนื่องจากการไม่รู้ในสินค้าหรือมีข้อบกพร่อง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความรัก มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง มองข้ามเรื่องวัตถุ และให้เกียรติต่อสิทธิของบุคคลอื่น
เมื่อมีศาสนาและคุณธรรมพร้อมกับการปฏิสัมพันธ์ที่ดี ปัจเจกบุคคลและสังคมก็จะดีและมีความสุข และเป็นการตระเตรียมเพื่อชีวิตอันนิรันดร์ในสวนสวรรค์ ดังกล่าวนี้คือ เป้าหมายของนิติศาสตร์อิสลาม นั่นคือ เพื่อสร้างให้เป็นมนุษย์ที่ดีเลิศทั้งในปัจจุบันในโลกนี้และอนาคตในโลกหน้า และสร้างควรามสุขในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ นิติศาสตร์อิสลามจึงมีความเหมาะสมในการนำไปใช้โดยปริยาย นิติศาสตร์อิสลามเชิงหลักการพื้นฐานนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ความยินยอมในการทำสัญญาธุรกรรม  รับผิดชอบในความเสียหาย กำจัดอาชญากรรม รักษาสิทธิ หน้าที่ของพลเรือน ส่วนนิติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนหลักการอนุมาน (กิยาส) รักษาผลประโยชน์ และจารีตนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามความต้องการของกาลสมัยและสังคมที่มีความแตกต่างกันในช่วงสมัยและสถานที่ ตราบใดที่บทบัญญัติยังอยู่ในกรอบของเจตนารมณ์อิสลามและหลักการที่ถูกต้อง เรื่องดังกล่าวนั้นเฉพาะในประเด็นของการทำธุรกรรมหรือมุอามะลาต ไม่ใช่ประเด็นของหลักความเชื่อและอิบาดะฮฺ และนี่คือข้อเท็จจริงหรือจุดประสงค์ของกฎที่ว่า “ข้อชี้ขาดนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย”
ดังนั้น การนำนิติศาสตร์อิสลามมาใช้ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้วินิจฉัยจำเป็นต้องปฏิบัติตามที่เขาได้วินิจฉัย สำหรับผู้วินิจัยแล้วเขาเสมือนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ สำหรับผู้ที่ไม่มีเงื่อนไขที่สามารถทำการวินิจฉัย เขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัย เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดเพื่อให้ได้คำตอบของศาสนานอกจากต้องถาม อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ فَسۡ‍َٔلُوٓاْ أَهۡلَ ٱلذِّكۡرِ إِن كُنتُمۡ لَا تَعۡلَمُونَ ٧ ﴾ [الأنبياء : 7]
“ดังนั้น พวกเจ้าจงถามผู้รู้ หากพวกเจ้าไม่รู้” (อัล-อันบิยาอ์ 7)

ส่วนการปฏิเสธบทบัญญัติอิสลามที่มาจากหลักฐานที่ชัดเจน หรืออ้างว่าบทบัญญัติอิสลามมีความป่าเถือน เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับทำโทษ เป็นต้น หรือกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติอิสลามไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ ถือว่าบุคลลนั้นเป็นผู้ปฏิเสธและหลุดพ้นออกจากอิสลาม ส่วนการปฏิเสธบทบัญญัติที่มาจากการวินิจฉัยถือเป็นความผิดและอธรรม เพราะผู้วินิจฉัยได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งที่ถูกต้องและชี้แจงบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ห่างไกลจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ ผลประโยชน์ และชื่อเสียง ทว่า เขาได้ใช้แหล่งอ้างอิงของเขามาจากหลักฐานของอิสลาม เป้าหมายเพื่อความถูกต้อง โดยมีสัญลักษณ์คือความซื่อสัตย์ สัจจริง และบริสุทธิ์ใจ

ผู้แต่ง
ดร.ศอลิหฺ บิน ฆอนิม อัส-สัดลาน

 

 

 

 

 

 


หมวดที่ 1 อิบาดะฮฺ

القسم الأول : العبادات

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ตอนที่ 1
การทำความสะอาด

الطهارة
1. ความหมายของ อัฏ-เฏาะฮาเราะฮฺ
     ตามหลักภาษา คือ ความสะอาดและบริสุทธิ์
    ตามหลักวิชาการ  คือ การที่ลักษณะอันเป็นอุปสรรคต่อการละหมาดและอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันได้หายไปจากร่างกาย

2. บทบัญญัติเกี่ยวกับน้ำ
    น้ำมี 3 ประเภท
    หนึ่ง  เฏาะฮูร (น้ำสะอาดและสามารถนำไปใช้ทำความสะอาดได้)
        คือ น้ำที่ยังคงสภาพเดิม ซึ่งใช้ในการชำระร่างกายให้สะอาดจากหะดัษ และชำระสิ่งโสโครกปฏิกูลได้
     อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَيُنَزِّلُ عَلَيۡكُم مِّنَ ٱلسَّمَآءِ مَآءٗ لِّيُطَهِّرَكُم بِهِۦ ﴾ [الأنفال: ١١]  
“และพระองค์ทรงหลั่งน้ำสะอาดจากฟากฟ้าแก่พวกเจ้า เพื่อทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดด้วยน้ำนั้น” (อัลอันฟาล 11)

    สอง   ฏอฮิร (น้ำสะอาดแต่ไม่สามารถนำไปใช้ทำความสะอาดได้)
     คือน้ำสะอาดที่ได้เปลี่ยนสภาพของสี รส หรือกลิ่น อันเนื่องจากสิ่งอื่นซึ่งมิใช่สิ่งปฏิกูล(นะญิส) น้ำประเภทนี้สะอาด แต่ไม่สามารถใช้ในการปลดเปลื้องหะดัษได้ เพราะได้เปลี่ยนจากสภาพเดิม
    สาม  นะญิส (น้ำสกปรก)
    คือน้ำที่เปลี่ยนสภาพของสี กลิ่น หรือรส อันเนื่องจากสิ่งปฏิกูล(นะญิส) ไม่ว่าน้ำจะมีปริมาณน้อยหรือมากก็ตาม
    • น้ำที่สกปรก (นะญิส) จะเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำสะอาดเมื่อมันเปลี่ยนสภาพด้วยตัวเอง หรือมันเหือดแห้ง หรือโดยการเพิ่มปริมาณน้ำสะอาดลงไป  ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพของน้ำจะทำให้หายจากการเป็นน้ำสกปรก
    • เมื่อมีความสงสัยว่าน้ำนั้นสกปรกหรือสะอาด ให้ยึดที่มั่นใจ เนื่องจากมูลฐานเดิมของสิ่งที่สะอาดนั้นคือมีความสะอาด
    • เมื่อน้ำสะอาดผสมกับน้ำที่สกปรก แล้วไม่มั่นใจว่าน้ำสะอาดหรือไม่  ให้ทำการตะยัมมุม( คือการทำความสะอาดโดยการใช้ดินหรือฝุ่น )
    • เมื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปะปนกับเสื้อผ้าที่สกปรก หรือปะปนกับเสื้อผ้าที่ไม่อนุมัติ แล้วเกิดความสงสัย ให้ยึดถือความมั่นใจเป็นหลัก และไม่ต้องละหมาดใหม่

3. ประเภทของการทำความสะอาด
    การทำความสะอาดตามบทบัญญัติ มี  2 ประเภท
    รูปธรรม  คือ การทำความสะอาดอวัยวะต่างๆ
    นามธรรม คือการชำระจิตใจให้สะอาดจากมลทินของบาปต่าง ๆ
    การทำความสะอาดเชิงรูปธรรม คือการทำความสะอาดภายนอกเพื่อละหมาด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ
    1. การทำความสะอาดจากหะดัษ
    2. การทำความสะอาดจากนะญิส (สิ่งสกปรก)

    การทำความสะอาดจากหะดัษ มี 3 ประเภท
     หะดัษใหญ่ คือการอาบน้ำ
     หะดัษเล็ก คือการอาบน้ำละหมาด
    และการตะยัมมุม(การใช้ดินหรือฝุ่น) ในกรณีที่มีอุปสรรคในการใช้น้ำ

    การทำความสะอาดจากสิ่งปฏิกูล มี 3 ประเภท
    การล้าง การเช็ดถู และการพรมน้ำ

บทว่าด้วยภาชนะ
1. ความหมาย
    ตามหลักภาษา คือ ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่ม เช่นถุงและเครื่องใช้
    ส่วนความหมายตามหลักวิชาการก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน
2. ประเภทของภาชนะ
      เมื่อพิจารณาตามลักษณะของวัตถุที่ผลิต ภาชนะมีหลายประเภท
    1. ภาชนะที่เป็นทองคำและเงิน
    2. ภาชนะที่ประดับ (หรือชุบ) ด้วยเงิน
    3. ภาชนะที่ชุบ (หรือเคลือบ) ด้วยทองและเงิน
    4. ภาชนะที่มีราคาแพง เนื่องจากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต
    5. ภาชนะที่ทำจากหนังสัตว์
    6. ภาชนะที่ทำจากกระดูก
    7. และอื่น ๆ เช่นทำจากไม้ กระเบื้อง ทองเหลือง และภาชนะทั่วไป
3. บทบัญญัติเกี่ยวกับภาชนะ
    ภาชนะทุกชิ้นเป็นสิ่งที่สะอาดและเป็นที่อนุมัติ  ราคาแพงหรือถูกก็ตาม ยกเว้นภาชนะทองคำและเงิน และที่เคลือบด้วยทองหรือเงิน เนื่องจากมีรายงานจากหุซัยฟะฮฺ บิน อัล-ยะมาน  กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  
«لَا تَشْرَبُوْا فِيْ آنِيَةِ الذَهَبِ وَالفِضَّةِ وَلَا تَأْكُلُوا فِيْ صِحَافِهَا فَإِنَّهَا لَهُمْ فِيْ الدُّنْيَا وَلَكُمْ فِيْ الآخِرَةِ»
“แท้จริงท่านเราะสูลกล่าวว่า พวกท่านอย่าได้ดื่มด้วยภาชนะทองคำและเงิน และอย่าได้รับประทานด้วยจานทองและเงิน เพราะแท้จริงทองและเงินนั้นพวกเขา ( ผู้ปฏิเสธศรัทธา) จะใช้สอยในโลกนี้ และพวกเจ้าจะได้ใช้สอยในโลกหน้า”  (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 5110,  มุสลิม  2067,  อัตติรมิซีย์ 1878,  อันนะสาอีย์  5310,  อบูดาวูด  2723  และท่านอื่นๆ )

    และสิ่งใดก็ตามที่ห้ามใช้สอย  ก็ห้ามครอบครองเป็นเจ้าของในลักษณะของการใช้สอยเช่นกัน เช่น เครื่องดนตรี (ตีหรือเป่า)  การห้ามเช่นนี้ครอบคลุมทั้งผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากหะดีษนี้มีความหมายครอบคลุมทั้งผู้ชายและผู้หญิง
    และสิ่ง ๆ หนึ่งจะยังไม่ถูกชี้ขาดว่าสกปรก (เป็นนะญิส) เนื่องจากความสงสัย ตราบใดที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าสกปรกหรือไม่ เนื่องจากมูลฐานเดิมของมันนั้นเป็นสิ่งที่สะอาด

4. ภาชนะของต่างศาสนิก
    ประกอบด้วย
    1. ภาชนะของชาวคัมภีร์ (ชาวยิวและคริสต์)
    2. ภาชนะของผู้ปฏิเสธศรัทธาอื่นๆ
    ข้อชี้ขาดตามบทบัญญัตินั้น คืออนุมัติให้ใช้สอยได้ ตราบใดที่มั่นใจว่าสะอาด เนื่องจากมูลฐานเดิมนั้นมันเป็นสิ่งที่สะอาด
    • เสื้อผ้าของต่างศาสนิกนั้นสะอาด ตราบใดที่ยังมั่นใจว่าไม่สกปรก
    • หนังสัตว์ที่อนุมัติให้บริโภคเนื้อซึ่งตายโดยไม่ถูกเชือดตามบทบัญญัติ (ซาก)  จะชำระให้สะอาดโดยการฟอก
    • สิ่งที่ขาดหรือหลุดจากสิ่งมีชีวิต ก็เช่นเดียวกับซาก ส่วนขนนกหรือผมเป็นสิ่งที่สะอาด เมื่อถูกเอามาตอนที่มันยังมีชีวิต
    • ควรปิดภาชนะและถังน้ำ เนื่องจากหะดีษจากญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
((أَوْكِ سِقَاءَكَ وَاذْكُرِ اسمَ اللّهِ، وَخَمّر إنَاءَكَ وَاذْكُرِ اسمَ اللّهَ، وَلَوْ أَنْ تَعْرضَ عَلَيْهِ عُوْدا))
จากญะบิร กล่าวว่า แท้จริงท่านเราะสูลกล่าวว่า “ จงผูกถุงน้ำของเจ้าและจงกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ และจงปิดภาชนะและกล่าวพระนามของอัลลอุ  แม้ว่าเจ้าจะปิดทับด้วยไม้ก็ตาม  
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 3106,  มุสลิม 2012,  อัตติรมิซีย์ 1812,  อบูดาวูด 3731  และท่านอื่นๆ )

บทว่าด้วยมารยาทในการขับถ่ายและการทำความสะอาด
• อัล-อิสตินญาอ์  คือการทำความสะอาดหรือการชำระสิ่งที่ออกจากทวารหนักและทวารเบาด้วยน้ำ
• อัล-อิสติจญ์มารฺ  คือการชำระสิ่งที่ออกจากทวารหนักและทวารเบาด้วยก้อนหิน ใบไม้ หรืออื่น ๆ
• ควรเข้าส้วมด้วยเท้าซ้ายและกล่าวว่า
بِسْمِ اللّهِ، أَعُوْذُ بِاللّهِ مِنَ الخُبُثِ والخَبَائِث
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากความชั่วร้ายของชัยฏอนมารร้ายทั้งหลาย

• ควรออกจากส้วมด้วยเท้าขวา และกล่าวว่า
غُفْرَانَكَ، الحَمْدُ لِلّهِ الذِي أَذْهَبَ عَنِّي الأَذَى وَعَافَانِي
ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์ การสรรเสิญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออกจากตัวฉัน  และทรงคุ้มครองฉัน

• ผู้ต้องการขับถ่ายควรเทน้ำหนักไปที่เท้าซ้าย และหากขับถ่ายในที่โล่ง (ไม่ใช่ในอาคาร) ควรที่จะให้ห่างจากสายตาผู้คน และปกปิด ให้มิดชิด และหาสถานที่เหมาะเพื่อมิให้เปื้อนปัสสาวะ
• ไม่ควรนำสิ่งใดที่มีถ้อยคำรำลึกถึง (กล่าวถึง )อัลลอฮฺเข้าส้วม นอกจากมีความจำเป็น และไม่ควรรีบถลกผ้าขึ้น ไม่ควรพูด ไม่ควรปัสสาวะในรู  และไม่ควรใช้มือขวาจับและทำความสะอาดทวารเบา
• ไม่อนุญาตให้ผินหน้าหรือหลังไปทางกิบละฮฺ (ทิศที่ตั้งของกะบะฮฺ ) ขณะขับถ่ายในที่โล่ง ส่วนในอาคารนั้นเป็นที่อนุญาต แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยง
•  ห้ามขับถ่ายบนทางสัญจร ใต้ร่มเงาที่เป็นที่พักสารธารณะ  ใต้ต้นไม้ที่รับประทานผลของมัน
• เช็ดด้วยก้อนหินสะอาดสามก้อน หากไม่สะอาดก็ให้เพิ่ม และควรเพิ่มเป็นจำนวนคี่ สาม ห้า หรืออื่นๆ
• ห้ามเช็ดด้วยกระดูก มูลสัตว์แห้ง อาหาร และสิ่งที่ควรให้เกียติ และเพียงพอกับการล้างชำระด้วยน้ำ กระดาษชำระ และใบไม้ การเช็ดด้วยก้อนหินแล้วล้างด้วยน้ำย่อมดีกว่าการล้างด้วยน้ำเพียงอย่างเดียว
• นะญิส (สิ่งสกปรก) ที่เสื้อผ้านั้นจำเป็นต้องล้างออกด้วยน้ำ หากไม่รู้ว่าเปื้อนจุดใด ก็ให้ล้างทั้งชิ้น
• ผู้ชายควรนั่งปัสสาวะ และหากมั่นใจว่าไม่เปื้อน ก็ไม่เป็นไรที่จะยืนปัสสาวะ

ทว่าด้วยหลักปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮฺ)
1. คำนิยาม
     ฟิฏเราะฮฺ คือหลักปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ และแบบอย่างที่สวยงาม  คือ วิถีชิวิตที่มนุษย์ต้องปฏิบัติ
2. สิ่งที่เป็นฟิฏเราะฮฺ
    หนึ่ง  การแปรงฟัน ส่งเสริมให้ปฏิบัติบ่อยๆ เป็นการทำความสะอาดช่องปาก เป็นความพอพระทัยของพระเจ้า และเน้นย้ำให้ปฏิบัติเมื่ออาบน้ำละหมาด เมื่อต้องการละหมาด อ่านอัลกุรอาน เข้ามัสญิด เข้าบ้าน ขณะตื่นนอน และขณะมีกลิ่นปาก
    สอง  การขจัดขนลับและขนรักแร้ ตัดเล็บ และการล้างข้อพับของนิ้วมือ
    สาม  การขลิบหนวด และการไว้เครา  
    สี่  การตกแต่งผมโดยทาน้ำมัน และหวีผม ไม่ควรโกนบางส่วน หรือเว้นไว้บางส่วน (อัลกอซะฮฺ) เพราะทำให้ดูไม่สุภาพเรียบร้อย
    ห้า   ย้อมผมด้วยเทียนสี
    หก   การใช้น้ำหอม
    เจ็ด  คิตาน นั่นคือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย เพื่อมิให้เป็นแหล่งรวมสิ่งสกปรกและปัสสาวะ ส่วนเพศหญิงนั้น คือการขลิบหนังที่อยู่ด้านบนสุดของอวัยวะเพศ บนช่องที่ใช้ร่วมเพศ มีลักษณะคล้ายเมล็ดอินผาลัมหรือหงอนไก่ ซึ่งเป็นที่รู้กันของแพทย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  การคิตานเป็นการรักษาความสะอาด และมีประโยชน์หลายประการ เน้นย้ำให้กระทำสำหรับเพศชาย และเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเพศหญิง

การอาบน้ำละหมาด
1. ความหมาย
    คือการทำความสะอาดอวัยวะทั้งสี่ด้วยน้ำ( ใบหน้า มือทั้งสองจนถึงข้อศอก ศรีษะและเท้า)  ตามรูปแบบที่ศาสนาบัญญัติ

2. ความประเสริฐของการอาบน้ำละหมาด  
«مَا مِنْكُم مِنْ أَحَدٍ يَتَوَضَّأُ فَيُسْبِغُ الوُضُوْءَ ثُمَّ يَقُوْلُ : أَشْهَدُ أَنْ لَا إِله إلا اللّه وَحْدَهُ لَا شَرِيْكَ لَهُ وَأَشْهَدُ أَنْ مُحَمَّداً عَبْدُه وَرَسُوْلَه إِلَّا فُتِحَتْ لَهُ أَبْوابُ الجَنَّة الثَمَانِيَة يَدْخُلُ مِن أَيِّهَا شَاءَ»
ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ไม่มีคนใดจากพวกท่านที่อาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ แล้วกล่าวว่า ฉันปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และฉันปฏิญาณว่า แท้จริงมุหัมมัดเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์ นอกจากประตูสวรรค์ทั้งแปดจะถูกเปิดแก่เขา เขาจะเข้าไปทางใดก็ได้ตามที่ประสงค์” (บันทึกโดย มุสลิม 234,  อัต-ติรมิซีย์ 55,  อัน-นะสาอีย์ 148,  อิบนุมาญะฮฺ   470,  และอะหมัด 4/158)

และการอาบน้ำที่สมบูรณ์ โดยไม่ฟุ่มเฟือยจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ มีรัศมีในวันปรโลก
«إِنَّ أُمَّتِي يُدْعَوْنَ يَوْمَ القِيَامَةِ غُرّاً مُحَجِّلِيْنَ مِنْ آثارِ الوُضُوْءِ، فَمَنِ اسْتَطَاعَ مِنْكُمْ أَنْ يُطِيْلَ غُرَّتَهُ فَلْيَفْعَلْ»
“แท้จริงประชาชาติของฉันจะถูกเรียกในวันปรโลกในสภาพที่ใบหน้าและอวัยวะต่างๆมีรัศมี เนื่องจากร่องรอยของการอาบน้ำละหมาด ดังนั้นบุคคลใดสามารถที่ทำให้รัศมีของเขากว้าง จงกระทำเถิด” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 136  มุสลิม  246   อิบนุมาญะฮฺ  4306 อะฮฺมัด 2/400 และมาลิก 60)

3. เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 10 ประการ
    1. เป็นมุสลิม
    2. มีสติสัมปชัญญะ
    3. รู้เดียงสา
    4. เจตนาอาบน้ำละหมาด และไม่ตั้งใจเลิกอาบน้ำละหมาดจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
    5. ยุติ (หรือแห้ง) จากหะดัษ
    6. ชำระให้สะอาดจากอุจจาระและปัสสาวะ
    7. น้ำที่ใช้ต้องสะอาด
    8. น้ำที่ใช้เป็นที่อนุมัติ (ไม่ใช่หะรอม)
    9. ขจัดสิ่งที่กั้นมิให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง
    10. เข้าเวลาละหมาด (สำหรับคนที่มีหะดัษเป็นประจำต่อเนื่อง)

4. สิ่งที่จำเป็นต้องอาบน้ำละหมาด
    คือ มีหะดัษ  

5. องค์ประกอบหลัก (รุก่น) ของการอาบน้ำละหมาด 6 ประการ
    หนึ่ง  ล้างหน้า  ปากและจมูกก็เป็นส่วนหนึ่งของใบหน้า
    สอง   ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อศอก
    สาม  เช็ดศีรษะ  หูทั้งสองก็เป็นส่วนหนึ่งของศีรษะ
    สี่  ล้างเท้าทั้งสอง
    อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا قُمۡتُمۡ إِلَى ٱلصَّلَوٰةِ فَٱغۡسِلُواْ وُجُوهَكُمۡ وَأَيۡدِيَكُمۡ إِلَى ٱلۡمَرَافِقِ وَٱمۡسَحُواْ بِرُءُوسِكُمۡ وَأَرۡجُلَكُمۡ إِلَى ٱلۡكَعۡبَيۡنِۚ ﴾ [المائ‍دة: ٦]  
 “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าต้องการละหมาด จงล้างหน้า มือทั้งสองจนถึงข้อสอก จงเช็ดศรีษะ และจงล้างเท้าทั้งสองจนถึงตาตุ่ม”  (อัลมาอิดะฮฺ  6)

    ห้า   เรียบเรียงตามลำดับ เนื่องจากอัลลอฮฺได้ระบุไว้อย่างเรียบเรียงและให้การเช็ดอยู่ระหว่างสองอวัยวะที่ถูกล้าง
    หก  กระทำโดยติดต่อกัน เพราะท่านเราะสูลปฏิบัติเช่นนั้น


6. สิ่งที่ควรปฏิบัติในการอาบน้ำละหมาด
    ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ควรปฏิบัติ
    1. แปรงฟัน
    2. ล้างมือทั้งสองสามครั้ง
    3. บ้วนปาก สูดน้ำจมูกและสั่งออกมา
    4. สางเคราที่หนา และสางระหว่างนิ้วมือและนิ้วเท้า
    5. เริ่มด้วยอวัยวะด้านขวา
    6. ล้างสองครั้งและสามครั้ง
    7. น้ำที่เช็ดหูนั้นให้เอาใหม่ (ไม่ใช่ร่องรอยที่เหลือจากการเช็ดศรีษะ)
    8. อ่านดุอาอ์หลังอาบน้ำละหมาด
    9. ละหมาดสองร็อกอะฮฺหลังอาบน้ำละหมาด

สิ่งไม่ควรปฏิบัติ (มักรูฮฺ) ได้แก่
    1. อาบน้ำละหมาดในที่สกปรก (ที่มีนะญิส) เนื่องจากเกรงว่าจะเปื้อน
    2. ล้างเกินสามครั้ง เนื่องจากมีรายงานว่าท่านเราะสูลล้างสามครั้ง และกล่าวว่า
«مَنْ زَادَ فَقَدْ أَسَاءَ وَظَلَمَ»
“บุคคลใดเพิ่มมากกว่านี้ เขาย่อมทำสิ่งไม่ดี ( ไม่รักษามารยาทการอาบน้ำละหมาด ) และอธรรม (ต่อตัวเอง โดยบกพร่องในผลบุญ)”  (บันทึกโดย อัน-นะสาอีย์ 140,   และอบูดาวูด 135 )
    3. ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย เนื่องจาก ท่านเราะสูลอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำหนึ่งลิตร และการฟุ่มเฟือยนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในทุกๆ เรื่อง
    4. ละทิ้ง (หรือละเลย) สิ่งที่ควรปฏิบัติในการอาบน้ำละหมาด เมื่อเขาละทิ้ง เขาย่อมเสียโอกาสในผลบุญ ดังนั้นไม่ควรที่จะละเลย

สิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด  7 ประการ
    หนึ่ง   สิ่งที่ออกมาจากทวารหนักและทวารเบา
    สอง   สิ่งที่ออกมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
    สาม   หมดสติ โดยเป็นบ้า เป็นลม หรือมึนเมา
    สี่  สัมผัสอวัยวะเพศชาย หรืออวัยวะเพศหญิง โดยไม่มีสิ่งขวางกั้น
    ห้า   การสัมผัสกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงด้วยอารมณ์ทางเพศ
    หก   รับประทานเนื้ออูฐ
    เจ็ด   มีหะดัษใหญ่ (สิ่งที่จำเป็นต้องชำระร่างกายโดยการอาบน้ำ ) เช่น การเข้ารับอิสลาม  มีน้ำอสุจิเคลื่อน และอื่นๆ ส่วนคนตายนั้นไม่จำเป็นต้องอาบน้ำละหมาด แต่จำเป็นต้องอาบน้ำชำระร่างกาย (ฆุสลฺ)   

การอาบน้ำชำระร่างกาย
1. ความหมาย
     เชิงภาษา คือหากอ่านว่า อัล-ฆุซลุ และอัล-ฆ็อซลุ คือการชำระล้าง หากอ่านว่า อัล-ฆิซลุ คือสิ่งที่ใช้ทำความสะอาด
    เชิงวิชาการ คือ การรดน้ำให้ทั่วทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจนจรดเท้า ตามรูปแบบที่กำหนด ผู้ชายและผู้หญิงก็ปฏิบัติเหมือนกัน นอกจากการชำระร่างกายจากเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร ควรขัดถูด้วยสิ่งที่มีกลิ่นหอมให้สะอาดหมดจดจากร่องรอยของเลือด

2. สิ่งที่จำเป็นต้องอาบน้ำ 6 ประการ
    1. มีน้ำอสุจิเคลื่อนเนื่องจากมีอารมณ์ทางเพศ (ทั้งผู้ชายและผู้หญิง)
    2. การมีเพศสัมพันธ์
    3. การตาย ยกเว้นการตายชะฮีด (สงครามศาสนา)
    4. การเข้ารับอิสลาม (จากต่างศาสนิกหรือผู้ที่เคยสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม)
    5. มีเลือดประจำเดือน
    6. มีเลือดหลังคลอดบุตร

3. การอาบน้ำที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ
    1. การอาบน้ำในวันศุกร์
    2. อาบน้ำเพื่อเข้าพิธีการทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ
    3. การอาบน้ำของผู้ที่อาบน้ำศพ
    4. การอาบน้ำในวันอีดทั้งสอง (อีดิลฟิฏรีย์และอีดิลอัฎฮา)
    5. เมื่อฟื้นจากการเป็นลมหรือหายจากการเป็นบ้า
    6. การอาบน้ำเมื่อเข้าเขตมักกะฮฺ
    7. การอาบน้ำเพื่อละหมาดสุริยคราสหรือจันทรุปราคาหรือละหมาดขอฝน
    8. การอาบน้ำของผู้หญิงที่มีเลือดเสีย (อิสติหาเฎาะฮฺ) สำหรับละหมาดทุกครั้ง
    9. ทุกๆ การรวมตัวหรือชุมนุมกัน

4. เงื่อนไขการอาบน้ำ 7 ประการ
    1. หมดหรือยุติสิ่งที่จำเป็นต้องอาบน้ำ (หกประการที่กล่าวมาแล้ว)
    2. การตั้งเจตนา
    3. เป็นมุสลิม
    4. มีสติสัมปชัญญะ
    5. รู้เดียงสา
    6. ใช้น้ำที่สะอาดและเป็นที่อนุมัติ
    7. ขจัดสิ่งที่กั้นมิให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง

5. สิ่งที่ต้องปฏิบัติ (วาญิบ)
    สิ่งที่ต้องปฏิบัติของการอาบน้ำ คือการกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ หากลืมก็ไม่เป็นไร

6. องค์ประกอบ (รุก่น) ของการอาบน้ำ
    คือการตั้งเจตนาและให้น้ำโดนทุกส่วนของร่างกาย ในช่องปาก และในจมูก และเพียงพอด้วยกับการมั่นใจว่าน้ำโดนทุกส่วนแล้ว
    ผู้ใดตั้งเจตนาอาบน้ำที่จำเป็น (วาญิบ ) หรือที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ (สุนนะฮฺ) ก็สามารถทดแทนกันได้ และเพียงพอกับการตั้งเจตนาอาบน้ำครั้งเดียวจากการมีเพศสัมพันธ์และประจำเดือน

7. ข้อควรปฏิบัติของการอาบน้ำ
    1. เริ่มด้วยการกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ (บิสมิลลาฮฺ)
    2. เริ่มด้วยการขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออกจากร่างกาย
    3. ล้างมือทั้งสองก่อนที่จะนำลงไปในภาชนะที่บรรจุน้ำ (ถังหรืออ่าง)
    4. อาบน้ำละหมาดก่อน
    5. เริ่มด้วยอวัยวะด้านขวา
    6. ปฏิบัติด้วยความต่อเนื่อง
    7. ใช้มือลูบให้ทั่วร่างกาย
    8. ล้างเท้าอีกครั้งเมื่อออกจากที่อาบน้ำ

8. สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติของการอาบน้ำ (มักรูฮฺ)
    1. ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย
    2. อาบน้ำในสถานที่สกปรก (นะญิส)
    3. อาบน้ำโดยไม่มีสิ่งปิดบัง (เช่นผนังหรือกำแพงหรืออื่นๆ)
    4. อาบในแหล่งน้ำที่นิ่ง (ไม่ไหลถ่ายเท)

9. ข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีหะดัษใหญ่ (ผู้ที่ต้องอาบน้ำ)
    1. ละหมาด
    2. เฏาะวาฟ(เดินวน)รอบกะอฺบะฮฺ
    3. กระทบ ทูน ถืออัลกุรอานโดยไม่มีสิ่งห่อหุ้ม
    4. นั่งในมัสญิด
    5. อ่านอัลกุรอาน

บทบัญญัติเกี่ยวกับนะญิส (สิ่งปฏิกูล)
1. นิยาม
    เชิงภาษา คือ สิ่งสกปรก
    เชิงวิชาการ คือ สิ่งสกปรกที่เป็นอุปสรรคต่อการละหมาดเป็นการเฉพาะ เช่น ปัสสาวะ เลือด และเหล้า

2. ชนิดของนะญิส
    นะญิส มี 2 ชนิด
    1. นะญิสที่ติดอยู่กับตัว
    2. นะญิสตามบทบัญญัติ
    นะญิสที่ติดอยู่กับตัว คือ เรือนร่างที่เป็นนะญิส (สิ่งสกปรก ) และไม่สามารถทำให้สะอาดได้เลย เช่น สุนัขและสุกร
    นะญิสตามบทบัญญัติ คือ นะญิสที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่สะอาด

3. ประเภทของนะญิส
    นะญิสแบ่งออก 3 ประเภท
    หนึ่ง   นะญิสที่บรรดาผู้รู้มีความเห็นพ้องกัน
     สอง   นะญิสที่บรรดาผู้รู้ขัดแย้งกันว่าเป็นนะญิสหรือไม่
     สาม   นะญิสที่ได้รับการยกเว้นหรืออนุโลม

    ประเภทที่หนึ่ง  นะญิสที่บรรดาผู้รู้มีความเห็นพ้องกัน
    1. ซากสัตว์บก (ตายโดยมิได้เชือดตามบทบัญญัติ) ส่วนซากสัตว์น้ำเป็นสิ่งที่สะอาด
    2. เลือดสัตว์บกที่ไหลขณะเชือด  
    3. เนื้อสุกร
    4. ปัสสาวะมนุษย์
    5. อุจจาระมนุษย์
    6. น้ำมะซีย์ (น้ำที่ออกจากอวัยวะเพศขณะที่มีกำหนัด)
    7. น้ำวะดีย์ (น้ำใสที่ออกจากอวัยวะเพศขณะขับถ่าย)
    8. เนื้อของสัตว์ที่ห้ามบริโภค
    9. ชิ้นส่วนที่ได้มาจากสัตว์ที่ยังมีชีวิต เช่นเท้าของแพะที่ถูกตัดขาด โดยที่ตัวแพะยังมีชีวิต
    10. เลือดประจำเดือน
    11. เลือดนิฟาส (เลือดหลังการคลอดบุตร)
    12. เลือดอิสติหาเฎาะฮฺ (เลือดเสียของผู้หญิง)

    ประเภทที่สอง  นะญิสที่บรรดาผู้รู้มีความเห็นขัดแย้งกัน
    1. ปัสสาวะของสัตว์ที่อนุญาตให้บริโภคเนื้อ
    2. มูลของสัตว์ที่อนุญาตให้บริโภคเนื้อ
    3. น้ำอสุจิ
    4. น้ำลายสุนัข
    5. อาเจียน
    6. ซากของสัตว์ที่ไม่มีเลือด เช่น ผึ้ง แมลงสาบ เหา และอื่นๆ

    ประเภทที่สาม  สิ่งที่ได้รับการยกเว้นหรืออนุโลม
    1. ดินตามท้องถนน
    2. เลือดเพียงเล็กน้อย
    3. น้ำเหลือง และน้ำหนอง ของมนุษย์หรือของสัตว์ที่อนุญาตให้บริโภคเนื้อ

4. การทำความสะอาดนะญิส
•    ทำความสะอาดด้วยการล้าง พรมน้ำ  การถู และการเช็ด
•    เสื้อผ้าที่เปื้อนนะญิส ทำความสะอาดโดย :
    หากนะญิสเป็นก้อน ก็ให้ถูและขูดออก แล้วก็ล้าง และหากนะญิสนั้นเปียก ก็ให้ล้าง
•    ปัสสาวะของเด็กผู้ชาย ทำความสะอาดโดย 
    เด็กที่ยังไม่บริโภคสิ่งใดนอกจากนม ก็ให้พรมน้ำลงไป
•    นะญิสบนพื้นดินถ้าแห้งเป็นก้อน ก็ให้ขูดออก หากเป็นของเหลว ก็ให้เทน้ำลงไป
•    รองเท้าที่เปื้อนนะญิส ก็ให้ถูหรือเดินบนสิ่งที่สะอาด
•    และสิ่งที่เป็นเงาลื่น  เช่นกระจก มีด พื้นกระเบื้อง และอื่นๆ ก็ให้เช็ดถู
•    ภาชนะที่ถูกสุนัขเลีย ก็ให้ล้างเจ็ดครั้ง  โดยใช้น้ำดินหนึ่งครั้ง

การทำตะยัมมุม
1. นิยาม
    เชิงภาษา คือ การเจตนา การค้นหา และความตั้งใจ
    เชิงวิชาการ คือ การใช้ดินสะอาดเช็ดที่ใบหน้าและมือ ตามรูปแบบที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่อัลลอฮฺให้แก่ประชาชาตินี้ คือการใช้ดินทดแทนน้ำในการทำความสะอาด

2. ผู้ที่อนุโลมให้ทำตะยัมมุม
    1. ผู้ที่ไม่มีน้ำ (หาน้ำไม่ได้หรืออยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ)
    2. มีบาดแผลหรือเจ็บป่วยและเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากการใช้น้ำ
    3. อากาศหนาวจัดและไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น
    4. น้ำมีปริมาณน้อยไม่พอเพียงต่อการบริโภค

3. เงื่อนไขที่ต้องทำตะยัมมุม
    1. บรรลุศาสนภาวะ
    2. ไม่มีอุปสรรคในการใช้ดิน
    3. มีหะดัษเล็กหรือหะดัษใหญ่ (คือมีมูลเหตุที่ต้องอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำ)

4. เงื่อนไขที่ทำให้การตะยัมมุมสมบูรณ์
    1. เป็นมุสลิม
    2. สะอาดจากเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร
    3. มีสติสัมปชัญญะ
    4. ใช้ดินหรือฝุ่นที่สะอาด

5. สิ่งที่ต้องปฏิบัติของการทำตะยัมมุม (องค์ประกอบ)
    1. การตั้งเจตนา
    2. ดินหรือฝุ่นที่สะอาด
    3. การแตะดินครั้งที่หนึ่ง
    4. ลูบหน้าและมือทั้งสอง

6. สิ่งที่ควรปฏิบัติของการตะยัมมุม
    1. กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ (บิสมิลละฮฺ)
    2. ผินหน้าทางกิบละฮฺ
    3. ตะยัมมุมเมื่อต้องการละหมาด
    4. ตบดินครั้งที่สอง
    5. เรียบเรียงตามลำดับ
    6. ปฏิบัติติดต่อกัน
    7. การสอดกันระหว่างนิ้วมือ

7. สิ่งที่ทำให้ตะยัมมุมเป็นโมฆะ
    1. มีน้ำ
    2. มีหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่ (มีมูลเหตุที่ต้องอาบน้ำละหมาดและอาบน้ำดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) เนื่องจากการตะยัมมุมนั้นทดแทนการอาบน้ำหรืออาบน้ำละหมาด

8. วิธีการตะยัมมุม
    ตั้งเจตนาตะยัมมุม แล้วกล่าวบิสมิลละฮฺ ใช้มือทั้งสองแตะดิน แล้วนำมาลูบหน้าและมือทั้งสอง โดยเรียงตามลำดับและติดต่อกัน

9. การตะยัมมุมบนเฝือกและบาดแผล
       ผู้ใดที่มีบาดแผลตามร่างกาย หรือมีรอยฉีกขาด และเกรงว่าจะเกิดอันตรายหากโดนน้ำ หรือมีความลำบากที่จะเช็ดด้วยน้ำ ก็ให้ตะยัมมุมที่บาดแผล และส่วนอื่นๆ ก็ใช้น้ำล้าง
        ผู้ที่ไม่มีน้ำและดิน ก็ให้ละหมาดตามสภาพ และไม่ต้องละหมาดใหม่

การลูบรองเท้าหนังและเฝือก
1. อับดุลลอฮุ อิบนุ อัล-มุบาร็อก กล่าวว่า “การลูบบนรองเท้าหนังนั้น อนุญาตให้ทำโดยไม่มีความเห็นคัดค้านหรือขัดแย้งกันระหว่างอุละมาอ์”
    อิมามอะฮฺมัด กล่าวว่า “ฉันปราศจากข้อสงสัยในเรื่องการลูบบนรองเท้าหนัง ซึ่งมีรายงานถึงสี่สิบหะดีษจากท่านเราะสูล”  
    และยังกล่าวอีกว่า “การลูบดีกว่า (ประเสริฐกว่า) การล้าง อันเนื่องจากเราะสูลและบรรดาสาวกแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า”

2. ระยะเวลา
      สำหรับผู้ที่ไม่เดินทาง คือหนึ่งวันและหนึ่งคืน  และสำหรับผู้เดินทาง  คือ 3 วันและ 3 คืน เริ่มนับตั้งแต่การเสียน้ำละหมาดครั้งแรกหลังจากที่สวมใส่

3. เงื่อนไข
        รองเท้าหนังที่สวมใส่นั้นต้องสะอาด เป็นที่อนุมัติ ปกปิดเท้าในส่วนที่จำเป็นต้องล้าง  และผู้สวมใส่ต้องมีน้ำละหมาดอยู่ก่อนหน้า

4. ลักษณะการลูบบนรองเท้าหนัง
      เอามือจุ่มน้ำ แล้วลูบบนหลังรองเท้า จากปลายเท้าจนถึงลำแข้ง เพียงครั้งเดียว โดยไม่ต้องลูบด้านล่างรองเท้าและตาตุ่ม

5. สิ่งที่ทำให้การลูบบนรองเท้าหนังเป็นโมฆะมี  4  ประการ
    1. เมื่อถอดรองเท้า
    2. เมื่อมีญุนุบ (มูลเหตุที่ต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่)
    3. เมื่อรองเท้าฉีกขาดเป็นวงกว้าง
    4. เมื่อครบกำหนดเวลา  
        และอนุญาตให้ลูบบนเฝือกทุกชนิด จนกว่าจะเอาออก แม้ว่าจะเป็นระยะเวลานานก็ตาม หรือจะมีญุนุบก็ตาม


ตอนที่ 2
การละหมาด
الصلاة

การละหมาดหลักการที่สองในอิสลาม
1. คำนิยาม
 เชิงหลักภาษา คือ การขอพร (ดุอาอ์)
ดังโองการที่ว่า    
﴿خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِمْ بِهَا وَصَلِّ عَلَيْهِمْ﴾ [التوبة : 103]
“เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทานบริจาค เพื่อชำระพวกเขา ( จากความผิด) และขัดเกลาพวกเขา และจงขอพรแก่พวกเขา (ให้ได้รับการอภัยโทษ)”  (อัตเตาบะฮฺ  103)

เชิงวิชาการ
คือถ้อยคำและการปฏิบัติที่ถูกกำหนดเฉพาะตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนด ซึ่งเริ่มด้วยคำว่า “อัลลอฮุอักบัร”และเสร็จสิ้นด้วยคำว่า “อัสสะลามุอะลัยกุม”

2. การบัญญัติละหมาด
การละหมาดถูกบัญญัติขึ้นในค่ำคืนอิสรออ์มิอฺรอจญ์ (การเดินทางสู่ฟากฟ้าของท่านเราะสูล)ก่อนที่จะอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นหนึ่งจากองค์ประกอบหลักของอิสลาม หลังจากคำปฏิญาณตน เพราะอยู่ภายใต้เนื้อหาของคำปฏิญาณ และเป็นสิ่งแรกที่ถูกกำหนดหลังจากที่ปฏิญาณตน  
«رَأْسُ الأَمْرِ الإِسْلَامُ، وَعَمُودُهُ الصَّلَاةُ، وَذِرْوَةُ سَنَامِهِ الجِهَادُ»
“รากฐานของศาสนา คือการปฏิญาณตน เสาคือละหมาด และสัญลักษณ์ (โดมหรือธง ) คือการเสียสละต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางแห่งอัลลอฮฺ” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์  เลขที่ 2616,  อิบนุมาญะฮฺ  เลขที่  3973 และอะหมัด 231/5)

3. เหตุผลการบัญญัติละหมาด
 การละหมาดเป็นการขอบคุณในความโปรดปรานต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงให้แก่ปวงบ่าว และเป็นการเคารพภักดีที่มีความหมายอันเด่นชัดที่สุด เนื่องจากประจักษ์ถึงการมุ่งหน้าไปยังอัลลอฮฺ นอบน้อมและคารวะต่อพระองค์ และใกล้ชิดพระองค์ด้วยการอ่านบทรำลึกและบทขอพร
อีกทั้งยังเป็นการสื่อสาร ระหว่างบ่าวกับพระผู้อภิบาลของเขา และเป็นการก้าวผ่านจากโลกแห่งวัตถุสู่ความสงบและความบริสุทธิ์ของจิตใจ เพราะทุกครั้งที่บ่าวหมกมุ่นกับความวุ่นวายของชีวิตและสิ่งยั่วยวนในโลกนี้  การละหมาดจะยั้งเขาไว้ ก่อนที่เขาจะจมลงไป  และนำเขากลับสู่แก่นแท้ของชีวิต ซึ่งเขาได้เผลอไป  และขณะเดียวกันก็รู้ว่า แท้จริง ณ โลกหน้านั้น มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ และแท้จริงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะใช้ชีวิตโดยไม่มีการตระเตรียมเสบียง

4. ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการละหมาดและจำนวน
 การละหมาดมี  2  ประเภท ภาคบังคับ และภาคสมัครใจ   
 ภาคบังคับมี 2 ประเภท  คือ บังคับรายบุคคล และบังคับโดยรวม

ภาคบังคับรายบุคคล
คือ บังคับทุกคนที่เป็นมุสลิม ทั้งชายและหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะ  นั่นคือละหมาดห้าเวลา
﴿ إِنَّ الصَّلَاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَّوْقُوتًا﴾ [النساء : 103]
“แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา ไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (อันนิสาอ์, 103)

﴿وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ ﴾ [البينة : 5]
“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อ เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง และดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต” (อัลบัยยินะฮฺ, 5)

«بُنِيَ الإِسْلامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَة أَنْ لَا إِله إِلّا اللَّه وَأَنْ مُحَمّدًا رَسُوْلُ اللّهِ، وإِقَامِ الصَّلاة، وَإِيْتَاءِ الزَّكَاة ... إلخ»
“อิสลามถูกวางอยู่บนโครงสร้าง 5 ประการ หนึ่ง การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกเคารพภักดีโดยแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และ จ่ายซะกาต ... (จนจบหะดีษ)” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 8, มุสลิม 16,  อัตติรมิซีย์ 2609)


นาฟิอ์ บิน อัซร็อก กล่าวแก่ อิบนิอับบาส ว่า “ละหมาดห้าเวลาถูกระบุไว้ในอัลกุรอานหรือไม่? อิบนุ อับบาสกล่าวว่า ใช่ถูกกล่าวไว้ แล้วก็อ่าน  
﴿ فَسُبۡحَٰنَ ٱللَّهِ حِينَ تُمۡسُونَ وَحِينَ تُصۡبِحُونَ ١٧ وَلَهُ ٱلۡحَمۡدُ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَعَشِيّٗا وَحِينَ تُظۡهِرُونَ ١٨ ﴾ [الروم : 17-18]
“จงสดุดีต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด  โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เมื่อเข้าสู่ยามเช้าและยามเย็น และสำหรับพระองค์นั้น คือการสรรเสริญในบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และจงสดุดีเมื่อยามพลบค่ำ และเมื่อยามบ่าย” (อัรรูม 17-18)  
และหะดีษอาหรับชนบทคนหนึ่งซึ่งมาหาท่านเราะสูล แล้วกล่าวว่า   “ละหมาดใดที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติแก่ฉัน ? ท่านเราะสูลตอบว่า “ละหมาดห้าเวลา เขาถามต่อว่า “ยังมีละหมาดอื่นอีกไหม?” ท่านเราะสูล กล่าวว่า “ไม่ นอกจากท่านจะสมัครใจเท่านั้น” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1792, และมุสลิม 17)
5. การละหมาดของผู้เยาว์
  เมื่อเด็กอายุครบเจ็ดปีต้องสั่งใช้ให้ละหมาด และจะถูกลงโทษ (เนื่องจากการละเลย) โดยการตี (ตีไม่แรง เพื่อเป็นแค่การสำทับตักเตือน) เมื่ออายุครบสิบปี เนื่องจากหะดีษ
«مُرُوا أَبْنَاءَكُم بِالصَّلاةِ لِسَبْعِ سِنِيْنَ وَاضْرِبُوْهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرِ سِنِيْنَ، وَفَرِّقُوا بَيْنَهُم فِي المَضَاجِعِ»
“จงสั่งใช้ลูกๆของพวกเจ้าให้ละหมาดเมื่ออายุครบเจ็ดปี และจงลงโทษโดยการเฆี่ยนตีเมื่ออายุครบสิบปี และจงแยกที่นอนระหว่างพวกเขา” (บันทึกโดย อบูดาวูด 495,  และอัตติรมิซีย์ และอะหมัด 2178)

6. ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับผู้ที่ปฏิเสธว่าการละหมาดเป็นบัญญัติที่บังคับ
บุคคลใดปฏิเสธว่าการละหมาดไม่ใช่ข้อบังคับจำเป็น  เขาย่อมเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แม้ว่าเขาได้ละหมาดก็ตาม หากว่าเขามิใช่ผู้ที่ขาดความรู้ (ญาฮิล)
     และจะเป็นกาฟิรเช่นเดียวกัน  ผู้ที่ละทิ้งละหมาดเพราะไม่เอาใจใส่ หรือเกียจคร้าน แม้ว่าเขายอมรับว่าการละหมาดเป็นบัญญัติบังคับก็ตาม
﴿ فَإِنْ تَابُوا وَأَقَامُوا الصَّلَاةَ وَآتَوُا الزَّكَاةَ فَخَلُّوا سَبِيلَهُمْ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَحِيمٌ﴾ [التوبة : 5]
“ต่อมาหากพวกเขาสำนึกผิด (โดยกลับตัวจากการปฏิเสธ) และดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและบริจาคทาน พวกเจ้าจงปล่อยพวกเขา ไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัย ทรงเมตตายิ่ง” (อัตเตาบะฮฺ 5)
และหะดีษ จากญาบิร
«بَيْنَ الرَّجُل وَبَيْنَ الشِّركِ وَالكُفْرِ تَركُ الصَّلاة»
“ระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือการละทิ้งละหมาด” (บันทึกโดย มุสลิม 82, อัตติรมิซีย์ 2620,  อบู ดาวูด 4678, อิบนุมาญะฮฺ 1078, อะหมัด 3/370, และอัดดาริมีย์ 1233)

7. รุก่น (องค์ประกอบหลัก) ของการละหมาด
    มี 14 ประการ  จะละเลยมิได้ ไม่ว่าเจตนา สะเพร่า หรือขาดความรู้ก็ตาม
    1. ยืนตรง สำหรับผู้ที่มีความสามารถ (เฉพาะละหมาดฟัรฎู)
    2. ตักบีรฺอตุลอิหฺรอม (เข้าพิธีละหมาดด้วยการกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ) และจะใช้ถ้อยคำอื่นมิได้
    3. อ่านสูเราะฮฺ อัลฟาติหะฮฺ
    4. รุกูอ์ (ก้มศีรษะ)
    5. เงยศีรษะจากการรุกูฮฺ และยืนตรง
    6. สุญูด  (ก้มกราบ)
    7.  ยกศีรษะขึ้นจากการสุญูด
    8.  การนั่งระหว่างสองสุญูด
    9.  ฏุมะนีนะฮฺ (ทำอย่างสงบนิ่งมีจังหวะไม่รีบร้อนผลีผลาม)
    10.  การอ่านตะชะฮุดครั้งสุดท้าย
    11. การนั่งเพื่ออ่านตะชะฮุดครั้งสุดท้าย
    12.  เศาะลาวาต (การกล่าวคำขอพรแก่ท่านเราะสูลและวงศาคณาญาติ)
    13. การกล่าวคำสลามสองครั้ง (คือ อัสสะลามุอะลัยกุม วะเราะมะตุลลอฮฺ) และทางที่ดีไม่ควรเพิ่มคำว่า “วะบะรอกาตุฮฺ”
เนื่องจากหะดีษ จากอิบนิมัสอูด
«أنَّ  النَبِي صلى الله عليه وسلم كان يُسَلِّم عَنْ يَمِيْنِه: السَّلامُ عَلَيْكُم وَرَحْمَةُ اللّهِ، وَعَنْ يَسَارِهِ السَّلامُ عَلَيْكُم وَرَحْمَةُ اللّه »
“แท้จริงท่านเราะสูลกล่าวสลามข้างขวาและข้างซ้ายด้วยคำว่า อัสสะลามุอะลัยกุมวะเราะมะตุลลอฮุ” (บันทึกโดย มุสลิม  อัตติรมิซีย์ 295, อบู ดาวูด 996,  อิบนุมาญะฮฺ 914, และอะหมัด 1/409)
14. การเรียบเรียงตามลำดับระหว่างรุก่นต่างๆ

8. สิ่งที่เป็นวาญิบของการละหมาด มี 8 ประการ
 วาญิบคือ สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ หากละทิ้งโดยเจตนา การละหมาดจะเป็นโมฆะ และเป็นที่อนุโลม หากเกิดจากความสะเพร่าหรือไม่รู้
1. การกล่าวคำตักบีรฺ อื่นจากตักบีรฺเข้าพิธีละหมาด (ตักบีรฺในการเปลี่ยนอิริยาบท)
2. การกล่าวคำว่า สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ สำหรับผู้ที่เป็นอิมาม และผู้ที่ละหมาดคนเดียว
3. การกล่าวคำว่า ร็อบบะนา วะละกัลหัมดุ
4.  กล่าวคำตัสบีห์หนึ่งครั้งในขณะรุกูอ์ (สุบหานะร็อบบิยัลอะซีม)
5. กล่าวตัสบีห์หนึ่งครั้งในขณะสุญูด (สุบหานะร็อบบิยัลอะลา)
6. กล่าวคำว่า “ร็อบบิฆฟิรลี” ระหว่างสองสุญูด
7. การอ่านตะชะฮุดครั้งแรก
8.  การนั่งเพื่ออ่านตะชะฮุดครั้งแรก

9. เงื่อนไขของการละหมาด
เงื่อนไขตามหลักภาษา คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์
 และในทางบทบัญญัติ คือ สิ่งที่มีผลผูกพันให้สิ่งอื่นมีความถูกต้องหรือสมบูรณ์
1.  การตั้งเจตนาละหมาด
2. เป็นมุสลิม
3. มีสติสัมปชัญญะ
4. รู้เดียงสา (บรรลุวัยที่สามารถแยกแยะเรื่องต่างๆ ได้)
5. เข้าเวลาละหมาด
6. มีน้ำละหมาด (ปราศจากหะดัสเล็กและหะดัสใหญ่)
7. ผินหน้าไปทางกิบละฮฺ (กะอฺบะฮฺ)
8. ปกปิดเอาเราะฮฺ (ส่วนของร่างกายที่ต้องปกปิดตามบทบัญญัติ)
9. สะอาดจากสิ่งปฏิกูล (นะญิส)

10. เวลาละหมาด
 คือกรอบเวลา เพราะเวลานั้นเป็นสาเหตุที่จำเป็นต้องละหมาด และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ละหมาดถูกต้องใช้ได้
  มีหะดีษหลายๆบท ซึ่งท่านเราะสูลได้กำหนดเวลาละหมาด เช่น จาก อิบนิอับบาส กล่าวว่า
  “ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ญิบรีลได้นำละหมาดฉัน ณ กะอฺบะฮฺ สองครั้ง(ในสองวัน) และได้กล่าว (ระบุ) ถึงเวลาละหมาดต่างๆ หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า “แล้วญิบรีลได้หันมายังฉัน พลางกล่าวว่า โอ้มุหัมมัด เวลาละหมาดนี้เหมือนเวลาละหมาดของบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าเจ้า เวลาละหมาดนั้น อยู่ระหว่างละหมาดทั้งสองนี้”  (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ 148, อบู ดาวูด 393, และอะหมัด 1/333)

  เวลาละหมาดทั้งห้านั้นถูกแบ่งระหว่างกลางวันและกลางคืน เมื่อมนุษย์ได้นอนพักผ่อน เขาย่อมมีความกระฉับกระเฉง และเมื่อถึงเวลาเช้า คือเวลาทำงาน ก็มีละหมาดศุบห์ (ยามรุ่งอรุณ) เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขามีความแตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นๆ  และเพื่อต้อนรับวันใหม่โดยที่เขาได้เตรียมเสบียงแห่งความศรัทธา  
  และเมื่อเที่ยงวัน เขาจะหยุดพักจากการทำงาน เพื่อเขาได้ใช้เวลาพิจารณา ใคร่ครวญมุ่งหน้าสู่ ผู้อภิบาลของเขา โดยการละหมาดซุฮรฺ  และได้ปรับปรุงสิ่งที่เขาได้ทำในช่วงเช้า แล้วเมื่อเข้าสู่ยามบ่ายของวัน เขาจะละหมาดอัศริ จากนั้น  เมื่อเวลาพลบค่ำและค่ำคืน   ก็ละหมาดมัฆริบและอิชาอ์ ซึ่งละหมาดทั้งสองนี้ เป็นแสงสว่างและทางนำจะนำพาเขาในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นที่เงียบสงัดไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง
 เช่นกัน การละหมาดในเวลาต่างๆ เป็นโอกาสในการใคร่ครวญในอำนาจและความประณีตของอัลลอฮฺ ที่มีต่อสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ในยามกลางวันและกลางคืน  
เวลาละหมาดซุฮริ
เริ่มเข้าเวลาเมื่อตะวันคล้อย (จากตรงกลางของฟ้า ซึ่งรับรู้ได้โดยมันจะมีความยาว จากที่มันสั้นก่อนนั้น (เที่ยงวัน)   และหมดเวลาเมื่อเงาของสิ่งต่างๆ มีความยาวเท่ากับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เงาตอนที่ตะวันกำลังจะคล้อย (หลักการคือ จะรับรู้ถึงเงาของสิ่งที่ตะวันได้คล้อยผ่าน จากนั้นก็สังเกตปริมาณที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีปริมาณเท่าตัว เวลาซุฮริก็หมด )
เวลาละหมาดอัศริ
เริ่มเข้าเวลา เมื่อ เงาของสิ่งต่างๆ มีความยาวเท่ากับตัวเอง (ไม่นับตอนที่ตะวันกำลังคล้อย) และจะหมดเมื่อ เงาของสิ่งหนึ่งมีความยาวสองเท่าตัว (นี่คือเวลาปกติ) และเมื่อตะวันลับขอบฟ้า  (เวลาคับขัน)
เวลาละหมาดมัฆริบ
เริ่มเข้าเวลาเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า  จนกระทั่งดวงดาวเต็มท้องฟ้า (ดาวประสานกัน เห็นได้เพราะมืด) และเวลาสุดท้าย แต่น่ารังเกียจ เมื่อเมฆสีแดงหายหมดไป
เวลาละหมาดอิชาอ์ เริ่มเมื่อเมฆสีแดงหมดไป จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน
เวลาละหมาดศุบห์ หรือฟัจญ์รฺเริ่มเข้าเวลาเมื่อแสงอรุณขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น
11.  การกำหนดเวลาละหมาดในประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร (ขั้วโลกเหนือ)
ประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนสูตรมี สูงแบ่งออกเป็น สามประเภท
หนึ่ง ประเทศที่อยู่ระหว่าง 45 และ 48 องศา เหนือ และใต้  ประเทศเหล่านี้ เครื่องหมายบอกเวลาละหมาดจะปรากฏชัด ไม่ว่ากลางคืนและ กลางวันจะสั้นหรือยาว
สอง ประเทศที่อยู่ระหว่างเส้น 48 และ 66 องศาเหนือและใต้  ประเทศเหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์บอกเวลาละหมาดในบางช่วงของปี เช่น เมฆสีแดงจะไม่หายไปจนกว่าจะเข้าเวลาละหมาดศุบห์
สาม ประเทศที่อยู่เหนือเส้น 66 องศาเหนือและใต้ และสัญญาณเวลาละหมาดไม่ปรากฏเป็นระยะเวลานานของปี ไม่ว่าจะเป็นกลางคืนหรือกลางวัน

ข้อชี้ขาดเรื่องเวลาละหมาดของแต่ละประเภท
 ประเภทที่หนึ่ง
 ต้องละหมาดตามเวลาที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ประเภทที่สาม
 ต้องใช้การคำนวณ โดยไม่มีความเห็นขัดแย้ง  โดยใช้การเปรียบเทียบการคำนวณที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษที่เกี่ยวข้องกับดัจญาล ซึ่งในตอนหนึ่งคือ :
«قُلنَا: يَا رَسُولَ اللّه، وَمَا لَبِثَه فِي الأرضِ؟ أَي الدَجَّال. قَال: "يَوْم كَسَنَة"، قُلْنَا: يَا رَسُولَ اللّه، هَذا اليَوْمُ الذِّي كَسَنَة أَتَكْفِيْنَا فِيْهِ صَلَاة يَوْم وَلَيْلَة؟ قَال: "لَا. اقْدُروا لَه قَدْرَه »
“พวกเรากล่าวว่า โอ้เราะสูลของอัลลอฮฺ ดัจญาลจะอยู่นานเท่าไร ? ท่านตอบว่า วันหนึ่ง ซึ่งเท่ากับหนึ่งปี  พวกเรากล่าวว่า โอ้เราะสูลของอัลลอฮฺ วันที่เท่ากับหนึ่งปีนั้นเพียงพอไหมที่ เราจะละหมาดแค่ห้าเวลา ท่านตอบว่า ไม่ พวกท่านจงคำนวณเวลาละหมาด”  (บันทึกโดย มุสลิม 2937, อัตติรมิซีย์ 2240, อบูดาวูด 4321, อิบนุมาญะฮฺ  4075,  และอะหมัด  4/182)

  ผู้รู้มีความเห็นต่างกันในวิธีการคำนวณเวลาละหมาด บางทัศนะเห็นว่าใช้เวลาของประเทศที่ใกล้เคียงมากที่สุด ที่สามารถแยกแยะระหว่างกลางคืนกับกลางวันได้ และรับรู้เวลาละหมาดได้ตามสัญลักษณ์ที่ศาสนาบัญญัติ  
 และหวังว่านี่คือทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุด และบางทัศนะเห็นว่า ใช้เวลาสากลในการคำนวณ โดยให้นับกลางวันสิบสองชั่วโมง และกลางคืนก็เช่นเดียวกัน  และบางทัศนะเห็นว่าใช้เวลาของเมืองมักกะฮฺ หรือเมืองมะดีนะฮฺ
สำหรับประเภทที่สอง ก็เหมือนกับประเภทที่หนึ่ง  นอกจากละหมาดอิชาอ์กับศุบห์ ส่วนละหมาดอิชาอ์และศุบห์นั้น ก็เหมือนกับประเภทที่สามในการใช้วิธีคำนวณ  


การละหมาดญะมาอะฮฺ
1. เหตุผลการบัญญัติละหมาดญะมาอะฮฺ
การละหมาดแบบญะมาอะฮฺ เป็นการเคารพภักดีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการแสดงออกอันประจักษ์ถึงความรักและความเมตตาที่มีต่อกัน และความเสมอภาคระหว่างบรรดาผู้ศรัทธา เนื่องจากมีการรวมตัวกันเล็กๆ จำนวนห้าครั้ง ในหนึ่งวัน (วันกับคืน)  ซึ่งมีความหมายมาก และภายใต้การนำหนึ่งเดียว ในทิศทางเดียวกัน เป็นเหตุให้หัวใจมีความสามัคคี บริสุทธิ์ และนำมาซึ่งความรักและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และทำลายความแตกต่างระหว่างกัน
2. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติเกี่ยวกับการละหมาดญะมาอะฮฺ
การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) สำหรับผู้ชายที่เป็นอิสระ(ไม่ใช่ทาส) ที่มีความสามารถ ในยามที่เดินทางและไม่เดินทาง  
﴿ وَإِذَا كُنتَ فِيهِمۡ فَأَقَمۡتَ لَهُمُ ٱلصَّلَوٰةَ فَلۡتَقُمۡ طَآئِفَةٞ مِّنۡهُم مَّعَكَ وَلۡيَأۡخُذُوٓاْ أَسۡلِحَتَهُمۡۖ فَإِذَا سَجَدُواْ فَلۡيَكُونُواْ مِن وَرَآئِكُمۡ وَلۡتَأۡتِ طَآئِفَةٌ أُخۡرَىٰ لَمۡ يُصَلُّواْ فَلۡيُصَلُّواْ مَعَكَ ﴾ [النساء : 102]
“และเมื่อเจ้าอยู่ในหมู่พวกเขา แล้วเจ้าได้ให้พวกเขาละหมาด ก็จงให้มีกลุ่มหนึ่งจากพวกเขาละหมาดพร้อมกับเจ้า และให้พวกเขามีอาวุธของพวกเขาไว้พร้อมด้วย ต่อมาเมื่อพวกแรกได้ละหมาดเสร็จแล้ว ก็ให้พวกเขาไปยืนป้องกันอยู่เบื้องหลังของพวกเจ้า และให้อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ละหมาดได้มาละหมาดพร้อมกับเจ้าต่อ” (อันนิสาอ์ 102)

   นี่คือการละหมาดญะมาอะฮฺในยามที่มีความหวาดกลัวหรือยามสงคราม ฉะนั้นในยามปกติและปลอดภัยจึงเป็นความจำเป็นยิ่งกว่า ขณะเดียวกันคำสั่งนั้นบ่งชี้ว่าต้องปฏิบัติ

3. จำนวนที่ละหมาดญะมาอะฮฺจะมีผล
«الاثْنَانِ فَمَا فَوْقَهُمَا جَمَاعَة»
“สองคนขึ้นไปคือญะมาอะฮฺ” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ 972)

4. สถานที่ละหมาดญะมาอะฮฺ   
    ส่งเสริมให้ละหมาดญะมาอะฮฺ ที่มัสญิด และอนุโลมให้ละหมาดที่อื่นได้ในกรณีมีความจำเป็นและส่งเสริมให้ผู้หญิงละหมาดแยกจากผู้ชาย
เนื่องจากมีหลักฐานการจากการปฏิบัติของท่านหญิงอาอิชะฮฺและอุมมุ สะละมะฮฺ (ได้กล่าวไว้โดย อัดดาเราะกุฏนีย์) และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้อุมมุ วะเราะเกาะฮฺ นำละหมาดแก่คนในครอบครัวของนาง (บันทึกโดย อบู ดาวูด 591 และอะหมัด 6/405)


การละหมาดย่อ
1. ความหมาย
การละหมาดย่อเนื่องจากเดินทาง คือ การทำให้ละหมาดสี่ร็อกอะฮฺเหลือสองร็อกอะฮฺ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อความหมายว่าบทบัญญัติอิสลามเอาใจใส่ต่อสภาพของมุสลิม และบรรลุถึงการให้ความสะดวกอย่างแท้จริง
   การละหมาดย่อ มีหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ และอนุมัติให้กระทำได้โดยมติเอกฉันท์ของประชาชาติมุสลิม

2. การละหมาดย่อในยามปกติและอื่นๆ
การละหมาดย่อทำได้ในทุกสภาพ ในภาวะที่มีความปลอดภัย หรือภาวะที่มีความหวาดกลัว  ความหวาดกลัวที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานนั้น คือสภาพโดยมาก เนื่องจากโดยมากแล้วการเดินทางย่อมมีความหวาดกลัว
  ท่านอะลีได้กล่าวแก่อุมัรฺว่า ท่านจะละหมาดย่ออีกหรือ ? เราอยู่ในภาวะปลอดภัยแล้ว  อุมัรฺตอบว่า “ฉันก็เคยแปลกใจเช่นเดียวกับท่าน ฉันเลยถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านเราะสูลก็ตอบว่า “นั่นคือทานที่อัลลอฮฺมอบแก่พวกท่าน จงรับไว้เถิด” (บันทึกโดย มุสลิม 686,  อัตติรมิซีย์ 3034, อันนะสาอีย์ 1433, อบู ดาวูด 1199,  อิบนุมาญะฮฺ 1065, อะหมัด 1/36,  และอัดดาริมีย์ 1505)

3. ระยะทางที่อนุโลมให้ละหมาดย่อ
คือทุกระยะทางที่เรียกว่าการเดินทางโดยปกติวิสัย และมีการเตรียมเสบียงสัมภาระ

4. จุดที่เริ่มละหมาดย่อ
เริ่มละหมาดย่อได้เมื่อเดินทางออกจากอาคารบ้านเรือนในถิ่นที่เขาอยู่อาศัย โดยยึดตามจารีต เนื่องจากอัลลอฮฺให้ละหมาดย่อเกี่ยวพันกับการท่องไปในแผ่นดิน และจะไม่ถูกเรียกว่าท่องไปในแผ่นดิน จนกว่าจะแยกออกจากอาคารถิ่นที่อยู่อาศัยของเขา

การละหมาดรวม
การละหมาดรวมเป็นการอนุโลมเฉพาะกรณี (บางครั้งบางคราว) เนื่องจากมีความจำเป็น และผู้รู้ส่วนมากเห็นว่าควรละทิ้งการละหมาดรวม นอกจากกรณีที่มีความจำเป็นที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เนื่องจากท่านเราะสูลไม่ได้ละหมาดรวม นอกจากเพียงไม่กี่ครั้ง
   และทุกคนที่ได้รับการอนุโลมให้ละหมาดย่อ ย่อมได้รับการอนุโลมให้ละหมาดรวมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่ได้รับการอนุโลมให้ละหมาดรวม จะได้รับการอนุโลมให้ละหมาดย่อ (ละหมาดย่อในกรณีเดินทางเท่านั้น)

การละหมาดรวมแบบตักดีมและตะคีร
•    ทางที่ดีให้ละหมาดรวมตามสภาพที่สะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรวมแบบตักดีมและตะคีร เนื่องจากเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ของการละหมาดรวมนั้น คือการผ่อนปรนและให้มีความสะดวก
•    หากว่าการละหมาดรวมทั้งสองรูปแบบมีความสะดวกเท่ากันๆ ทางที่ดีควรละหมดรวมแบบตะคีร
•    เมื่อคนเดินทางหยุดอยู่ที่พัก ทางที่ดี( ตามสุนนะฮฺ ) ให้ละหมาดตามเวลา ( ย่อโดยไม่รวม )  


การสุญูดสะวีย์
คือการลืมในละหมาด การสุญูดสะวีย์เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่มีการลืมขณะละหมาด โดยมติเอกฉันของประชาติอิสลาม เนื่องจากมีแบบอย่างและคำสั่งจากท่านเราะสูล การสุญูดสะวีย์เนื่องในกรณีที่มีการกระทำเพิ่มเติม หรือบกพร่อง หรือในกรณีที่เกิดความลังเล การสุญูดสะวีย์นั้นก่อนสะลามหรือหลังจากสะลาม  นั่นคือการสุญูดสองครั้ง โดยไม่มีการอ่านตะชะฮุด และให้มีการกล่าวคำตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัรฺ)ในทุกๆ ครั้งที่สุญูด และจากนั้นมีการกล่าวสลาม (อัสสะลามุอะลัยกุม) เมื่อสุญูดเสร็จ

การละหมาดตะเฏาวุอฺ ( ภาคสมัครใจ )
1. เหตุผลการบัญญัติ
  ส่วนหนึ่งจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ นั่นคือให้บ่าวมีการเคารพภักดีที่สอดคล้องกับ ธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ และการเคารพภักดีที่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่พระองค์ต้องการ โดยการปฏิบัติที่ถูกต้อง เนื่องจากมนุษย์นั้นถูกชักนำสู่ความผิดพลาดและบกพร่อง พระองค์จึงบัญญัติสิ่งที่มาเติมเต็มให้สมบูรณ์และทดแทน
  ส่วนหนึ่งจากนั้นก็คือการละหมาดภาคสมัครใจ ดังที่มีรายงานจากท่านเราะสูล ว่าการละหมาดตะเฏาวุอฺจะเติมเต็มให้ละหมาดฟัรฎูมีความสมบูรณ์ หากเขากระทำบกพร่อง

2. ตะเฏาวุอฺที่ประเสริฐที่สุด (การกระทำภาคสมัครใจที่ดีเลิศ)
   การกระทำภาคสมัครใจที่ประเสริฐสุดคือ การเสียสละต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ต่อจากนั้นคือ การศึกษาหาความรู้ และการสอน
﴿ وَإِذَا قِيلَ ٱنشُزُواْ فَٱنشُزُواْ يَرۡفَعِ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡعِلۡمَ دَرَجَٰتٖۚ ﴾ [المجادلة : 11]

“และเมื่อถูกกล่าวแก่พวกท่านว่า จงลุกออกไป ( เพื่อกระทำสิ่งที่ดี) จงออกไปเถิด แน่นอนอัลลอฮฺจะยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาและผู้ได้รับความรู้ในหมู่พวกเจ้าหลายระดับชั้น” (อัลมุญาดิละฮฺ 11)
  ต่อจากนั้นคือ  การละหมาด และขณะเดียวกันการละหมาดเป็นการเคารพภักดีของร่างกายที่ประเสริฐสุด เนื่องจากท่านเราะสูลกล่าวว่า  
«استَقِيمُوا وَلَنْ تُحْصُوا وَاعْلَمُوا أَنْ خَيْرَ أَعْمَالِكم الصَّلاة»
“พวกท่านจงยืนหยัดเถิด และพวกท่านไม่สามารถทำได้ครบถ้วน และพึงทราบเถิด แท้จริงการงานที่ประเสริฐสุดของพวกท่านคือการละหมาด” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ 277 อะหมัด 5/282 และอัดดาริมีย์ 655)
 หรือ จงยืนหยัดเถิด หากพวกเจ้าทำไม่สามารถทำได้ครบถ้วน จงยึดการละหมาดไว้ เพราะการงานที่ประเสริฐยิ่งคือการละหมาด   
 
ส่วนหนึ่งจากการละหมาดตะเฏาวุอฺ
1. การละหมาดยามค่ำคืน
  การละหมาดยามค่ำคืนประเสริฐกว่าการละหมาดตอนกลางวัน และส่วนหลังของยามค่ำคืนนั้นดีที่สุด
«يَنْزِلُ رَبُّنَا تَبَارَكَ وَتَعَالى كُلَّ لَيْلَةٍ إلى السَّمَاءِ الدُّنْيَا إِذَا مَضَى شَطْرُ اللَّيْل»
“พระผู้อภิบาลของเราผู้ทรงจำเริญ ทรงสูงส่ง จะลงมายังฟ้าชั้นต่ำในทุกค่ำคืน เมื่อเลยเที่ยงคืนแล้ว” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1094, มุสลิม 758, อัตติรมิซีย์ 446, อบูดาวูด 1315)

การละหมาดตะฮัจญุด นั้นหมายถึงละหมาดที่ปฏิบัติหลังจากการนอนหลับ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า อันนาชิอะฮฺ(ที่ระบุให้อายะฮฺที่เกี่ยวข้องกับละหมาดกลางคืน) คือ การละหมาดหลังจากการนอนหลับ
2. ละหมาดฎุหา
  ส่งเสริมให้ปฏิบัติบางครั้งบางคราว (ไม่กระทำสม่ำเสมอ) เนื่องจากหะดีษจากอบีสะอีด    
كَانَ النَّبِي  يُصَلِّي الضُحَى حَتَّى نَقُول لَا يَدَعهَا، وَيَدَعها حَتَّى نَقُول لَا يُصَلِّيها
“ท่านนบีเคยละหมาดฎุฮาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่า ท่านจะไม่ละทิ้งอีกแล้ว และท่านละทิ้ง จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่า ท่านจะไม่กระทำอีกเลย”  (บันทึกโดย อะหมัด 3/36,  และอัตติรมิซีย์ 477 และกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน เฆาะรีบ )

จำนวนน้อยสุดคือสองร็อกอะฮฺ และท่านเราะสูลเคยละหมาดสี่ หก และมากสุดคือ แปดร็อกอะฮฺ และไม่มีเงื่อนไขว่าต้องทำแบบนั้นเป็นประจำ

3. ละหมาดตะหิยะตุลมัสญิด (เคารพมัสญิด)
  ส่งเสริมให้ปฏิบัติ เนื่องจากหะดีษ จากอบีเกาะตาดะฮฺ
«إذا دخل أحدكم المسجد فلا يجلس حتى يصلي ركعتين»
“เมื่อคนใดจากพวกเจ้าได้เข้ามัสญิด เขาอย่านั่งจนกว่าจะได้ละหมาดสองร็อกอะฮฺ”  (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์1114, มุสลิม 714,  อัตติรมิซีย์ 316,  อันนะสาอีย์ 730, อบูดาวูด 467, อิบนุมาญะฮฺ 1012,  อะหมัด 5/311)

4. สุญูดุตติลาวะ (สุญูดเนื่องจากการอ่านอัลกุรอาน)
   ส่งเสริมให้ผู้ที่อ่าน ผู้ที่ฟังหรือได้ยินอัลกุรอานทำการสุญูด โดยมีการตักบีรฺขณะลงสุญูด  (กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ) และกล่าวสะลามเมื่อเงยศีรษะขึ้นมาแล้ว คำกล่าวขณะสุญูด  
 سُبْحَانَ رَبِّيَ الأَعْلى
สุบหานะ ร็อบบิยัล อะอฺลา
หรืออื่นๆ ตามที่มีรายงาน

5. สุญูด ชุกูรฺ (ขอบคุณในความโปรดปราน)
   ส่งเสริมให้สุญูดเมื่อได้รับสิ่งใหม่ๆ และปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เนื่องจากมีหะดีษ จากอบีบักเราะฮฺ  
أن النبي  كان إذا أتاه أمر يُسَرُّ به خرّ ساجدا
“แท้จริงแล้ว เมื่อมีสิ่งที่ทำให้สบายใจมายังท่านนบี ท่านก็จะลงสุญูดขอบคุณ” (บันทึกโดย อบู ดาวูด 2774 อัตติรมิซีย์ 1578 และอิบนุ มาญะฮ 1374)
และท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ก็ได้สุญูด เมื่อพบ ซุล ษะดียะฮฺ ถูกฆ่าตายในหมู่เคาะวาริจญ์ (บันทึกโดยอะหมัด) และท่านกะอับ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ก็ได้สุญูดเมื่อรู้ข่าวว่าอัลลอฮฺอภัยแก่เขาแล้ว ( เรื่องราวของท่านเป็นที่รับรู้กัน )

ลักษณะและรายละเอียดการสุญูด เหมือนกับสุญูดุตติลาวะฮฺ

6. ละหมาดตะรอวีห์
เป็นละหมาดที่ท่านเราะสูลเน้นย้ำให้ปฏิบัติ  โดยละหมาดรวมกันในมัสญิด หลังละหมาดอิชาอ์ ในเดือนเราะมะฎอน ดังที่ท่านกระทำเป็นแบบอย่างไว้ และเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺได้ฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยของท่าน
  และทางที่ดีให้ละหมาดสิบเอ็ดร็อกอะฮฺ และหากจะเพิ่มมากกว่านี้ก็ไม่เป็นไร และให้เพิ่มการละหมาด บทรำลึก การขอพรให้มากขึ้น ในช่วงสิบวันสุดท้าย
7. ละหมาดวิติรฺ
เป็นละหมาดที่เน้นย้ำให้ปฏิบัติ ซึ่งท่านเราะสูลได้ปฏิบัติและได้สั่งให้ปฏิบัติ จำนวนน้อยสุดคือ หนึ่งร็อกอะฮฺ และน้อยที่สุดของความสมบูรณ์ คือสาม และมากสุดคือ สิบเอ็ด
เวลาของละหมาดวิตร คือ หลังจากละหมาดอิชาอ์ จนถึงเวลาละหมาดศุบห์ และส่งเสริมให้อ่านดุอาอ์กุนูตหลังจากรุกูอ์

รูปแบบการละหมาด
1. ละหมาดติดต่อกันโดยไม่นั่งตะชะฮุดเลย นอกจากร็อกอะฮฺสุดท้าย
2. ละหมาดติดต่อกันแล้วนั่งอ่านตะชะฮุดก่อนร็อกอะสุดท้าย โดยไม่สลาม แล้วยืนต่ออีกร็อกอะฮฺ และอ่านตะชะฮุด และสะลาม
3. สลามทุกสองร็อกอะฮฺ และปิดด้วยร็อกอะฮฺเดียว โดยมีการอ่านตะชะฮุด และสลาม และลักษณะนี้ดีที่สุด เพราะท่านเราะสูลได้ปฏิบัติ และทำอย่างสม่ำเสมอ

8. ละหมาดเราะวาติบ (ละหมาดที่ติดต่อกับละหมาดฟัรฎุห้าเวลา)
  ละหมาดเราะวาติบที่ประเสริฐสุดคือ สุนนะฮฺก่อนศุบห์  เนื่องจากหะดีษ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ จากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«رَكْعَتَا الفَجْرِ خَيْرٌ مِنَ الدُّنْيَا وَمَا فِيْهَا»
“สุนนะฮฺสองร็อกอะฮฺของละหมาดศุบห์นั้น ประเสริฐกว่าโลกนี้และสิ่งที่อยู่ในโลกนี้” (บันทึกโดย มุสลิม 725  และอัตติรมิซีย์ 416 และให้การรับรองว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

ที่เน้นย้ำให้ปฏิบัตินั้น สิบสองร็อกอะฮฺ  สี่ร็อกอะฮฺก่อนซุฮริ  และหลังอีกสอง สองร็อกอะฮฺหลังมัฆริบ สองร็อกอะฮฺหลังอิชาอ์ และสองร็อกอะฮฺก่อนศุบห์
ควรชดเชยละหมาดเราะวาติบเมื่อไม่ได้ละหมาด และการชดเชยละหมาดวิติรฺนั้นให้ละหมาดจำนวนคู่ นอกจากว่าไม่ได้ละหมาดรอวาติบเป็นจำนวนมากและพร้อมกับละหมาดฟัรฎู ทางที่ดีไม่ต้องชดเชย เนื่องจากเกิดความยากลำบาก  นอกจากเราะวาติบก่อนศุบห์ ควรชดเชยในทุกกรณี เนื่องจากเน้นย้ำมาก
การละหมาดเราะวาติบให้กระทำที่บ้านดีที่สุด ซึ่งต่างกับละหมาดฟัรฎู และละหมาดที่ศาสนาบัญญัติให้ละหมาดรวมกัน

ละหมาดวันศุกร์
1. ความประเสริฐของวันศุกร์
    วันศุกร์เป็นวันที่ดีที่สุดจากวันต่างๆ ซึ่งอัลลอฮฺคัดเลือกให้เป็นวันที่อุมมะฮฺรวมตัวกัน และส่วนหนึ่งจากเหตุผลคือ ให้มุสลิมได้ทำความรู้จักกัน คุ้นเคย ช่วยเหลือ ให้ความเมตตาแก่กัน วันศุกร์เป็นวันตรุษของสัปดาห์ และดีที่สุดของทุกๆ วัน
2. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติของละหมาดวันศุกร์
  การละหมาดวันศุกร์เป็นบัญญัติบังคับ
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَوٰةِ مِن يَوۡمِ ٱلۡجُمُعَةِ فَٱسۡعَوۡاْ إِلَىٰ ذِكۡرِ ٱللَّهِ وَذَرُواْ ٱلۡبَيۡعَۚ ﴾ [الجمعة : 9]
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เมื่อมีเสียงเรียกสู่การละหมาดวันศุกร์ จงรีบเร่งสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขาย” (อัลญุมุอะฮฺ 9)  

•    ละหมาดสองร็อกอะฮฺ
•    ส่งเสริมให้อาบน้ำเพื่อละหมาดวันศุกร์
•    ไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ

3. บุคคลที่ต้องละหมาดวันศุกร์
 คือ มุสลิมชายทุกคน ที่บรรลุศาสนภาวะ เป็นอิสระ ( มิใช่ทาส) ซึ่งไม่มีอุปสรรคที่ได้รับการอนุโลม

4. เวลาละหมาด
  ละหมาดวันศุกร์ถือว่าใช้ได้ก่อนและหลังตะวันคล้อย และหลังตะวันคล้อยดีกว่า เนื่องจากเป็นเวลาที่ท่านเราะสูลละหมาดเป็นส่วนมาก
 
5. จำนวนที่ละหมาดจะมีผล
 ละหมาดวันศุกร์จะมีผลเมื่อมีคนจำนวนมากรวมตัวกันตามจารีต (ปกติวิสัย)

6. เงื่อนไขที่ทำให้ละหมาดถูกต้องใช้ได้ 5 ประการ
1. เข้าเวลา
      2. การตั้งเจตนา
      3.  เป็นการละหมาดของคนที่อยู่ในท้องที่
     4. มีผู้ร่วมละหมาดที่อยู่ในเกณฑ์มากตามจารีต
      5. เริ่มด้วยสองคุฏบะฮฺ ที่ประกอบด้วย
         5.1 การสรรเสริญอัลลอฮฺ
        5.2 การสดุดีและขอพรแก่ท่านเราะสูล
        5.3 อ่านหนึ่งโองการจากอัลกุรอาน
        5.4 และสั่งเสียกันให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
        5.5 อ่านเสียงดังให้จำนวนผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้ยิน
        5.6 ห้ามพูดขณะอิมามอ่านคุฏบะฮฺ
        5.7 และห้ามข้ามบ่าผู้คน และ
        5.8 ละหมาดวันศุกร์ทดแทนละหมาดซุฮริ
        5.9 บุคคลใดทันอิมามหนึ่งร็อกอะฮฺ ก็ทันละหมาดวันศุกร์ หากทันน้อยกว่านั้น ให้เจตนาละหมาดซุฮริ และละหมาดสี่ร็อกอะฮฺ

ละหมาดอีดทั้งสอง
เหตุผลการทางบทบัญญัติ
  การละหมาดอีดเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดของศาสนาอิสลาม และเป็นลักษณะพิเศษของประชาชาตินี้ เพื่อบรรลุการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ในการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน และการปฏิบัติพิธีกรรมหัจญ์  และนอกจากนี้ ในอีดนั้นมีการเรียกร้องสู่ความรัก ความเมตตาต่อกันระหว่างมุสลิม เรียกร้องความสามัคคี และให้จิตใจบริสุทธิ์แก่กัน
ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
 การละหมาดอีดเป็นการบังคับภาพรวม (ฟัรฎูกีฟายะฮฺ มิใช่รายบุคคล)
 ท่านเราะสูลและบรรดาเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เป็นละหมาดที่เน้นย้ำให้มุสลิมทุกคนปฏิบัติ และบัญญัติให้คนที่ไม่ได้อยู่ในการเดินทางปฏิบัติ

เงื่อนไขของละหมาดอีด
  มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับละหมาดวันศุกร์ เพียงแต่คุฏบะฮฺทั้งสองอยู่หลังละหมาด และมิใช่เป็นข้อบังคับ วาญิบ
เวลาละหมาด เริ่มจากดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณเท่ากับความยาวของหอก  จนถึงตะวันคล้อย แต่หากรู้ว่าเป็นวันอีดหลังจากที่ตะวันคล้อยแล้ว ให้ชดเชยในวันรุ่งขึ้นในเวลาของละหมาดอีด

วิธีละหมาด
 คือละหมาดสองร็อกอะฮฺ เนื่องจากคำกล่าวของอุมัรฺ
صَلَاةُ الفِطر والأَضْحى رَكْعَتَان، رَكعَتَان، تَمَام غَيْر قَصْر عَلى لِسَان نَبِيِّكُم، وَقَد خَابَ مَن افْتَرَى
“ละหมาดอีดฟิตริสองร็อกอะฮฺ และอีดอัฎหา สองร็อกอะฮฺ ละหมาดปกติมิใช่ละหมาดย่อ ซึ่งตามแบบอย่างของท่านนบี และแท้จริงบุคคลที่ใส่ร้ายย่อมขาดทุน”  (บันทึกโดย อะหมัด 1/37,  และอิบนุมาญะฮฺ 1064)

  และละหมาดก่อนคุฏบะฮฺ  ในร็อกอะฮฺแรกตักบีรฺหกครั้ง หลังจากตักบีรฺเข้าพิธี (ตักบีเราะตุลอิห์รอม) และก่อนที่จะอ่านอะฮุซุบิลลาฮฺ ในร็อกอะฮฺที่สองตักบีรฺห้าครั้งก่อนที่จะอ่านฟาติหะฮฺ

สถานที่ละหมาด
คือ มุศ็อลลา (สนามที่เตรียมไว้เพื่อละหมาด)
 
 สิ่งควรปฏิบัติในอีดทั้งสอง
  ควรกล่าวตักบีรฺ มุฏลัก (ทั่วไปมิใช่กรณีหลังละหมาดห้าเวลา) และกล่าวเสียงดัง ในคืนอีดทั้งสอง และอิมามอะหมัดกล่าวว่า อิบนุ อุมัรฺเคยกล่าวตักบีรฺในอีดทั้งสอง
และในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺนั้น มีหลักฐานว่า
﴿وَيَذۡكُرُواْ ٱسۡمَ ٱللَّهِ فِيٓ أَيَّامٖ مَّعۡلُومَٰتٍ﴾ [الحج : ٢٨]  
“และเพื่อให้พวกเขารำลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺในวันต่างๆ ที่รู้กัน” (อัลหัจญ์ 28)
   
ส่วนการตักบีรฺ มุก็อยยัด (เฉพาะที่) คือ หลังละหมาดฟัรฎู ในอีดอัฎฮา สำหรับคนที่ไม่ได้ทำหัจญ์  เริ่มจากหลังละหมาดศุบห์ ในวันอะเราะฟะฮฺ จนถึงวันตัชรีกวันสุดท้าย
•    ส่งเสริมให้มะมูมออกไปรอละหมาดตั้งแต่เช้าตรู่ ส่วนอิมามนั้น ให้ออกล่าช้าจนถึงใกล้เวลาละหมาด
•    และส่งเสริมให้ผู้จะที่ออกไปละหมาดชำระร่างกายให้สะอาดและสวมเสื้อผ้าที่ดีที่สุดตามสภาพที่เขามีอยู่  
•    และสตรีไม่นั้นไม่อวดโฉมด้วยเครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับ

สิ่งควรปฏิบัติเกี่ยวกับอีด
ควรละหมาดอีดอัฎฮาตั้งแต่เช้าตรู่ ให้ล่าช้าในละหมาดอีดฟิฏรฺ
ควรรับประทานอินทผลัมก่อนออกไปละหมาดอีดฟิฏรฺ  และไม่ควรรับประทานก่อนออกไปละหมาดอีดอัฎฮา เพื่อที่จะรอรับประทานเนื้อกุรบ่านเป็นลำดับแรกก่อนจะทานอย่างอื่น

ละหมาดขอฝน
1. เหตุผลการบัญญัติ
 อัลลอฮฺได้บังเกิดมนุษย์ และให้มีสัญชาตญาณที่ต้องหันหน้าสู่พระองค์ เมื่อเขาประสบกับความเดือดร้อน และการขอฝนก็เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดจากสัญชาตญาณ ซึ่งมุสลิมจะหันหน้าสู่พระเจ้าของเขาเพื่อขอน้ำ เมื่อเขาประสบกับความเดือดร้อน

2. ความหมาย การอิสติสกออ์  
คือการขอน้ำฝนจากอัลลอฮฺ ให้กับบ้านเมืองและผู้คน โดยการละหมาด วิงวอน และขออภัยโทษ

3. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
 เป็นสิ่งที่เน้นหนักให้ปฏิบัติ ดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยปฏิบัติ และประกาศให้ผู้คนออกไปละหมาดที่มุศอลลา (ที่เตรียมไว้สำหรับการละหมาด)
 
4. เวลา รูปแบบ และบัญญัติต่างๆ ของการละหมาด
 เช่นเดียวกับการละหมาดอีด

5. อิมามควรประกาศละหมาดล่วงหน้า
   อิมามควรประกาศละหมาดล่วงหน้าหลายๆ วัน และเรียกร้องให้มีการสำนึกผิดจากบาปและการละเมิดต่างๆ เชิญชวนให้มีการถีอศีลอด บริจาคทาน และละเลิกความบาดหมางกัน เพราะบาปต่างๆ เป็นสาเหตุของความแห้งแล้ง ดังที่การภักดีก็เป็นเหตุของความดีและความจำเริญ  

 


ละหมาดสุริยะคราสและจันทรคราส

1. นิยาม เหตุผลแห่งการบัญญัติ
  กุสูฟ คือ การที่แสงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หายไป เป็นส่วนหนึ่งจากสัญญาณของอัลลอฮฺ ซึ่งเรียกร้องให้มนุษย์สู่การเตรียมตัว และพึงระวังการสอดส่องของอัลลอฮฺ และให้พึ่งพาต่อพระองค์ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และให้ใคร่ครวญในความยิ่งใหญ่ในการที่พระองค์สร้างโลกนี้อย่างประณีต และพระองค์เท่านั้นที่ได้รับการเคารพภักดี  ดังนั้นเมื่อเกิดสุริยะคราสหรือจันทรคราส จึงส่งเสริมให้ละหมาดกุสูฟแบบญะมาอะฮฺ  
﴿ وَمِنۡ ءَايَٰتِهِ ٱلَّيۡلُ وَٱلنَّهَارُ وَٱلشَّمۡسُ وَٱلۡقَمَرُۚ لَا تَسۡجُدُواْ لِلشَّمۡسِ وَلَا لِلۡقَمَرِ وَٱسۡجُدُواْۤ لِلَّهِۤ ٱلَّذِي خَلَقَهُنَّ إِن كُنتُمۡ إِيَّاهُ تَعۡبُدُونَ ٣٧﴾ [فصلت : 37]
“และส่วนหนึ่งจากสัญญาณของพระองค์ คือกลางคืนและกลางวัน ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ พวกเจ้าอย่าได้กราบแก่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แต่จงกราบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงสร้างพวกมัน ถ้าหากพวกเจ้านั้นเป็นผู้ที่เคารพภักดีพระองค์” (ฟุศศิลัต : 37)
2. รูปแบบการละหมาด
 คือ สองร็อกอะฮฺ ในร็อกอะฮฺแรกอ่านสูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ และสูเราะฮฺยาวๆ อ่าน เสียงดัง จากนั้นก็ให้รุกูอ์นานๆ แล้วก็เงยศีรษะขึ้น กล่าวสะมิอัลลอฮู ลิมันหะมิดะฮฺ และอ่านตะห์มีด (ร็อบบะนา วะละกัลหัมดฺ)แล้วอ่านฟาติหะฮฺและสูเราะฮฺยาวๆ จากนั้นก็รุกูอ์ แล้วก็เงยศีรษะขึ้น จากนั้นก็สุญูดสองครั้งนานๆ ละหมาดในร็อกอะฮฺที่สองเหมือนกับร็อกอะฮฺที่หนึ่ง แต่ให้สั้นกว่าในทุกๆ การกระทำ
    และยังมีการละหมาดในรูปแบบอื่นๆ แต่นี่คือรูปแบบที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า และมีสายรายงานแข็งแรงกว่า  และหากจะละหมาดสามหรือสี่หรือห้าร็อกอะฮฺ ก็ไม่เป็นไร เมื่อจำเป็นต้องทำเช่นนั้น    

บทบัญญัติเกี่ยวกับศพ
1. มนุษย์ทุกคนต้องตายแม้อายุยืนยาวก็ตาม
และต้องเคลื่อนย้ายจากโลกแห่งการปฏิบัติสู่โลกแห่งการตอบแทน
   ส่วนหนึ่งจากหน้าที่ของมุสลิมที่มีต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกันคือ
•    เยี่ยมเยียนเมื่อเขาเจ็บป่วย
•    ไปส่งศพเมื่อเขาตาย
•    ส่งเสริมให้เยี่ยมผู้ป่วย ตักเตือนให้เขาสำนึกผิด และให้สั่งเสีย
•    ควรให้ผู้ที่ใกล้จะตายหันหน้าสู่กิบลัต โดยให้นอนตะแคงขวาและหันหน้าสู่กิบลัต หากไม่ลำบาก แต่ถ้ามีความลำบากก็ให้นอนหงาย และยื่นเท้าไปทางกิบลัต  และยกศีรษะสูงเล็กน้อย เพื่อให้หันหน้าสู่กิบลัต จากนั้นก็สอนให้กล่าวคำปฏิญาณตน ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ และใช้น้ำหรือเครื่องดื่มหยดที่กระเดือก  และให้อ่านสูเราะฮฺ ยาสีน ใกล้ๆ เขา
•    เมื่อมุสลิมเสียชีวิต ควรปิดตาทั้งสองของเขา และผูกขากรรไกรทั้งสองของเขาด้วยผ้า และขยับข้อพับต่างๆ เบาๆ  และวางให้สูงจากพื้นดิน เปลื้องเสื้อผ้าออก ปกปิดเอาเราะฮฺ และวางบนเตียงที่อาบน้ำศพเขาโดยหันไปทางกิบลัต ให้ตะแคงขวา หากสะดวก ถ้าไม่สะดวกก็ให้นอนหงาย ยื่นเท้าไปทางกิบลัต
2. การอาบน้ำศพ
•    ผู้ที่สมควรยิ่งในการอาบน้ำศพ คือผู้เขาสั่งเสียไว้ จากนั้นคือพ่อของเขา จากนั้นปู่ จากนั้นบุคคลที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุด
•    ส่วนผู้ที่สมควรยิ่งในการอาบน้ำศพแก่ผู้หญิงคือ ผู้ที่เขาได้สั่งเสียไว้ จากนั้นคือมารดา ต่อมาคือย่า จากนั้นญาติใกล้ชิดที่เป็นผู้หญิง
•    สามีและภรรยาที่เป็นมุสลิมอาบน้ำศพแก่กันได้

เงื่อนไขผู้ที่อาบน้ำศพ
•     มีสติสัมปชัญญะ
•    รู้เดียงสา
•    รู้บทบัญญัติการอาบน้ำศพ
•    ไม่อนุญาตให้มุสลิมอาบน้ำศพ หรือฝังศพต่างศาสนิก แต่อนุญาตให้ฝังศพต่างศาสนิกเมื่อไม่มีใครฝังเขา

3. ลักษณะการอาบน้ำศพ
  เมื่อทำการเริ่มอาบน้ำศพ ให้ปิดเอาเราะฮฺของศพ จากนั้นยกศีรษะของศพให้สูงขึ้น จนใกล้เคียงกับการนั่ง และรีดท้องเบาๆ และรดน้ำเยอะๆ จากนั้นใช้ผ้าชิ้นเล็กพันมือถูทำความสะอาด จากนั้นควรอาบน้ำละหมาดให้ศพ หลังจากที่ใช้ผ้าชิ้นอื่นพันมือ แล้วก็เจตนาอาบน้ำศพ และกล่าวบิสมิลละฮฺ แล้วล้างด้วย น้ำใบพุทรา หรือสบู่ เริ่มจากศีรษะและเครา จากนั้นก็ด้านขวา ต่อมาด้านซ้าย จากนั้นอาบซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองและสาม เหมือนกับครั้งแรก
•    หากไม่สะอาดต้องเพิ่มจำนวนครั้งอีกจนสะอาด และครั้งสุดท้ายให้ใช้น้ำผสมการบูรหรือเครื่องหอม
•    หากหนวดหรือเล็บยาวให้ตัดออก แล้วห่อด้วยผ้า
•    ผมของผู้หญิงให้ผูกจัดทำเป็นสามส่วนและปล่อยไปด้านหลัง  

4. การห่อศพ
    ผู้ชายควรห่อด้วยผ้าสามชั้น สีขาว ผสมด้วยเครื่องหอม ทับซ้อนกันระหว่างชั้น จากนั้นนำศพมาวางนอนหงายบนผ้า
เอาสำลีปิดที่ทวารหนักและทวารเบา แล้วผูกมัดด้วยเศษผ้า เหมือนกับกางเกงตัวเล็ก และใช้เครื่องหอมในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จากนั้นก็ให้ดึงชายผ้าส่วนบนด้านซ้ายไปทางด้านขวา ด้านขวาไปซ้าย ชั้นที่สองและสามก็ทำเช่นเดียวกัน และให้ผูกชายผ้าส่วนที่เหลือด้านศีรษะ และจะแก้ออกเมื่อตอนฝัง
ศพเด็กผู้ชายห่อด้วยผ้าผืนเดียว (ชั้นเดียว) และอนุญาตให้ห่อด้วยผ้าสามผืน
ศพผู้หญิงนั้นต้องสวมเสื้อ ผ้านุ่ง และใช้ผ้าคลุม(คิมารฺ) และผ้าอีกสองชั้น  
ศพเด็กผู้หญิงห่อด้วยเสื้อและผ้าสองชั้นการอาบน้ำศพเพียงครั้งเดียวซึ่งทั่วทุกส่วนของร่างกาย ถือว่าใช้ได้ จะเป็นศพชายหรือหญิงก็ตาม
การห่อศพด้วยผ้าผืนเดียวซึ่งปกปิดทุกส่วนของร่างกาย ถือว่าใช้ได้ จะเป็นศพชายหรือหญิงก็ตาม
เด็กที่เสียชีวิตจากการแท้ง เมื่อครบอายุครรภ์สี่เดือน จะต้องตั้งชื่อ อาบน้ำศพ และละหมาดศพให้

5. การละหมาดศพ
•    อิมามควรยืนตรงที่ส่วนอกของศพผู้ชาย และตรงส่วนกลางของศพหญิง
•    กล่าวคำตักบีรฺสี่ครั้ง โดยยกมือทั้งสองในการตักบีรฺทุกครั้ง
•    ตักบีรฺครั้งแรก แล้วอ่านอะอูซุบิลลาฮฺ อ่านบิสมิลลาฮฺ และสูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ (อ่านเบา) โดยไม่อ่านดุอาอ์อิสติฟตาห์
•    ตักบีรฺครั้งที่สอง และอ่านเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม   
«اللَّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ، وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ، كَمَا صَلَّيْتَ عَلَى إِبْرَاهِيمَ، وَعَلَى آلِ إِبْرَاهِيمَ، إِنَّكَ حَمِيدٌ مَجِيدٌ، اللَّهُمَّ بَارِكْ عَلَى مُحَمَّدٍ، وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ، كَمَا بَارَكْتَ عَلَى إِبْرَاهِيمَ، وَعَلَى آلِ إِبْرَاهِيمَ، إِنَّكَ حَمِيدٌ مَجِيدٌ»
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 3190, มุสลิม 406, อัตติรมิซีย์ 483, อันนะสาอีย์ 1288, อบูดาวูด 976, อิบนุมาญะฮฺ 604, อะหมัด 4/244, และอัดดาริมีย์ 1324)
•    ตักบีรฺครั้งที่สาม และอ่านดุอาอ์
« اللهم اغفر لحيّنا وميّتنا، وشاهدنا وغائبنا، وصَغِيرِنا وكَبِيرِنا، وَذَكَرِنا وأُنْثَانا، إِنكَ تَعْلَم منقلبنا وَمَثْوانا، وأنت عَلى كُلِّ شَيءٍ قَدِير، اللهم من أحْيَيْتَه مِنا فأحيه على الإسلامِ والسُنة، ومن تَوَفَّيْتَه مِنّا فتوفه عليهما، اللهم اغفر لَه وارحَمْه، وَعَافِه واعْفُ عَنْه، وَأَكْرِم نُزُلَه وأوسِع مَدْخَله، واغْسِله بِالماء والثَلْج والبَرَد، ونقّه من الذُنوب والخَطَايا كمَا يُنَقَّى الثَوْب الأَبْيَض من الدَنَس، وَأَبْدِلهُ دَارًا خيرا من دارِه، وَزَوْجًا خَيرا مِن زَوجه، وأَدْخِله الجَنة، وأَعِذه من عَذَابِ القَبْر وعَذابِ النَّار، وَأَفْسِح له في قَبْرِه ونوّر له فيه»
(บันทึกโดย อัติรมิซีย์ 1042, อันนะสาอีย์ 1986, และอะหมัด5 / 412 )
•    หากเป็นศพของเด็กให้กล่าวดุอาอ์หลังจากประโยค มันตะวัฟฟัยตะฮุมินนา ฟะตะวัฟฟะฮุอะลัยฮิมา ว่า
«اللهم اجعله ذخرًا لوالِدَيْهِ، وفُرُطًا وشَفِيْعًا مجابا، اللهم ثقل بِهِ مَوَازِيْنَهما وأعْظِمْ بِه أُجورَهُما وألحقه بصالح سلف المؤمنين، واجْعَلْه في كفالة إبراهيم، وقِهِ بِرَحْمَتِكَ عَذَابَ الجَحِيم»
•    จากนั้น ตักบีรฺครั้งที่สี่ และหยุดครู่หนึ่ง จากนั้นสลาม ครั้งเดียว ทางด้านขวา

6. ความประเสริฐของการละหมาดศพ
•    ผู้ที่ละหมาดศพจะได้ผลบุญ หนึ่งกีรอฏ (กีรอฏหนึ่งเท่ากับภูเขาอุหุด) และหากเขาตามไปส่งจนกระทั่งฝัง เขาจะได้ผลบุญสองกีรอฏ
•    ส่งเสริมให้ผู้ชายสี่คนแบกศพ โดยจับคนละมุมของเตียงที่วางศพ และควรรีบนำศพไปฝัง คนที่เดินเท้าให้นำหน้าศพ ส่วนคนที่ขับขี่พาหนะให้ตามหลัง
7. การฝัง และสิ่งที่ห้ามปฏิบัติในสุสาน
•    ต้องขุดหลุมให้ลึก และให้ขุดลูกหลุม (โพรง) เพื่อวางศพด้านที่หันไปทางกิบลัต ซึ่งดีกว่าขุดตรงกลางหลุม
•    ผู้ที่นำศพลงหลุมกล่าวว่า
«بِسْمِ اللّهِ وَعَلى مِلِّةِ رَسُولِ اللهِ»
•    และวางศพในลูกหลุม ตะแคงขวา หันหน้าไปทางกิบลัต จากนั้นให้วางก้อนดิน (อิฐ หิน)แล้วกลบดิน  
•    ยกหลุมฝังศพให้สูงกว่าพื้นประมาณหนึ่งคืบ แล้วรดน้ำ
•    ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ประดับ   เดินเหยียบย่ำ ละหมาด สร้างมัสญิด บูชา ประดับไฟ โปรยดอกไม้ และเดินวนรอบเพื่อทำพิธีกรรม
•    ส่งเสริมให้ปรุงอาหารแก่ครอบครัวของผู้ตาย  
•    ครอบครัวของผู้ตายปรุงอาหารแก่ผู้คนนั้นน่ารังเกียจ
•    ผู้ที่เยี่ยมสุสานควรกล่าวว่า
«السَّلام عَلَيْكُم دَارِ قَوْم مُؤمنينَ وَإِنَّا إِنْ شَاءَ اللّهُ بِكُم لَاحِقُون، يَرْحَمُ اللّهُ المُسْتَقْدمِيْن مِنكم والمُسْتَأْخِرِيْنَ، نَسْأَلُ اللّهَ لَنَا وَلَكُمُ العَافِيَة، اللهم لا تَحْرِمنَا أَجْرَهُم، ولا تَفْتِنَّا بَعْدَهُم، واغْفِرْ لَنَا وَلَهُم»
(บันทึกโดย  มุสลิม 149, อันนะสาอีย์ 150,  อบูดาวูด 3237, อิบนุมาญะฮฺ 4306, อะหมัด 2/300, และมาลิก 60)
•    ส่งเสริมให้ปลอบโยนญาติผู้ตายก่อนและหลังจากการฝัง สามวันสามคืน นอกจากผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมขณะจัดการศพ
•    ผู้ที่ประสบความเดือดร้อน หรือมีทุกข์ ควรกล่าวว่า
«إنا للّه وإنا إليه راجعون، اللهم أجرني في مصيبتي، واخلف لي خيرا منها»
(บันทึกโดย มุสลิม 918, อัตติรมิซีย์ 977, อบูดาวูด 3119, อิบนุมาญะฮฺ 1667, อะหมัด 6/307, และมาลิก 558)
•    อนุญาตให้ร้องไห้เงียบๆ เนื่องจากอาลัยผู้ตาย และห้ามฉีกผ้า ตบแก้ม พรรณนา โหยหวน และอื่นๆ


ตอนที่ 3
ซะกาต
الزكاة

1. เหตุผลบางประการของการบัญญัติซะกาต
1. ชำระจิตใจให้สะอาดจากความต่ำช้าของความตระหนี่ ความตะกละ และความละโมบ
2. เอาใจใส่คนยากจน แก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนขัดสน และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
3. พิทักษ์รักษาประโยชน์ส่วนรวมซึ่งทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควบคุมมิให้ทรัพย์สินกระจุกอยู่เฉพาะคนที่ร่ำรวย และพ่อค้า หรือหมุนเวียนอยู่ระหว่างคนร่ำรวย

2. นิยามซะกาต
คือปริมาณของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายแก่ผู้มีสิทธิ์ เมื่อครบพิกัด โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ถูกบัญญัติไว้ เป็นการชำระและขัดเกลาจิตใจให้สะอาด
﴿خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِمْ﴾ [التوبة : 103]
“โอ้มุหัมมัด เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทาน เพื่อเจ้าจะทำให้พวกเขาบริสุทธิ์จากมลทินบาปต่างๆ และเพื่อเพิ่มพูนคุณงามความดีแก่พวกเขาด้วยทานนั้น”  (อัตเตาบะฮ์ 103)
 
3. สถานะของซะกาตในอิสลาม
ซะกาตเป็นองค์ประกอบหลัก (รุก่น) ของอิสลาม ซึ่งถูกระบุพร้อมกับการละหมาดในหลายๆ โองการ

4. บทบัญญัติเกี่ยวกับซะกาต
ซะกาตนั้นเป็นภาคบังคับเหนือมุสลิมผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ครบพิกัด โดยมีเงื่อนไขต่างๆ  
ซึ่งอัลลอฮฺได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้ปฏิบัติ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้เยาว์หรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง สุขภาพดี พิการ หรือวิกลจริต
﴿خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِمْ﴾ [التوبة : 103]
“โอ้มุหัมมัด เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทาน เพื่อเจ้าจะทำให้พวกเขาบริสุทธิ์จากมลทินบาปต่างๆ และเพื่อเพิ่มพูนคุณงามความดีแก่พวกเขาด้วยทานนั้น”  (อัตเตาบะฮ์ 103)

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَنفِقُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا كَسَبۡتُمۡ وَمِمَّآ أَخۡرَجۡنَا لَكُم مِّنَ ٱلۡأَرۡضِۖ ﴾ [البقرة : 267]
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริจาคจงส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ดีๆจากสิ่งที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ และจากสิ่งที่เราให้แก่พวกเจ้า ซึ่งเราให้ออกมาจากดิน” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 267)
 
﴿ وَأَقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتُواْ ٱلزَّكَوٰةَ ﴾ [المزمل : 20]
“และพวกเจ้าจงดำรงละหมาด และจงจ่ายซะกาต” (อัลมุซซัมมิล 20)

และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«بُنِيَ الإِسْلامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَة أَنْ لَا إِله إِلّا اللَّه وَأَنْ مُحَمّدًا رَسُوْلُ اللّهِ، وإِقَامِ الصَّلاة، وَإِيْتَاءِ الزَّكَاة»
“อิสลามถูกวางอยู่บนโครงสร้าง 5 ประการ หนึ่ง การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกเคารพภักดีโดยแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ สอง ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และสาม จ่ายซะกาต” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 8, มุสลิม 16,  อัตติรมิซีย์ 2609)

ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต
ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาตมี 4 ประเภท คือ
 เงินตรา  ปศุสัตว์ พืชผลที่งอกเงยจากดิน และซะกาตในการค้าขาย
1. เงินตรา คือ ทองคำ เงิน และธนบัตรต่างๆ
ทองคำ เมื่อครบพิกัด น้ำหนัก 20 มิษกอล อัตราการจ่าย  2.5%
โลหะเงิน เมื่อครบพิกัด  200 ดิรฮัม  จ่าย 2.5% เช่นเดียวกับทองคำ
ธนบัตรตระกูลต่างๆ ณ ปัจจุบัน เมื่อมีราคาเทียบเท่าพิกัดทองคำหรือโลหะเงิน จ่ายในอัตรา 2.5%  เมื่อครบรอบปี

2. ปศุสัตว์ คือ อูฐ วัว แพะหรือแกะ
ต้องจ่ายซะกาตถ้าปล่อยให้เล็มหญ้าตามท้องทุ่ง หรือทะเลทราย เป็นเวลาทั้งปีหรือส่วนมากของปี เมื่อครบพิกัดและครบรอบปี เมื่อเลี้ยงไว้เพื่อนมและขยายพันธุ์ ตามพิกัดดังนี้
    2.1 แพะและแกะ
        เมื่อครบ 40-120 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะหนึ่งตัว
        เมื่อครบ 121-200  ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะสองตัว
        201 จ่ายซะกาตเป็นแกะสามตัว   จากนั้นในทุกหนึ่งร้อยตัว ให้จ่ายเป็นแกะหนึ่งตัว

    2.2 วัว
        วัว 30-39 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น ตะบีอฺ หรือตะบีอะฮ์ หนึ่งตัว (วัวตัวผู้หรือตัวเมียที่มีอายุครบหนึ่งปี)
        วัว 40-59 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น มุสินนะฮ์ หนึ่งตัว (วัวตัวเมียที่อายุครบสองปี)
        วัว 60 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นวัวที่มีอายุครบหนึ่งปีสองตัว
จากนั้นในทุกสามสิบตัว ให้จ่ายวัวที่มีอายุครบอายุหนึ่งปีหนึ่งตัว  และในทุกสี่สิบตัว ให้จ่ายวัวตัวเมียที่มีอายุครบสองปีหนึ่งตัว
    2.3 อูฐ
        อูฐ 59  ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะ 1 ตัว
        อูฐ 10 14 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะ 2 ตัว  
        อูฐ 15  19 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะ 3 ตัว
        อูฐ 20 24 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นแกะ  4 ตัว
        อูฐ 25  35 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น บินตุมะคอฎ 1 ตัว (อูฐตัวเมียที่มีอายุครบหนึ่งปี)
        อูฐ 36 45  ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น บินตุละบูน  1 ตัว (อูฐตัวเมียที่มีอายุครบสองปี)
        อูฐ 46   60 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น หิกเกาะฮ์  1 ตัว (อูฐตัวเมียที่มีอายุครบสามปี)
        อูฐ 61  75 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น ญะซะอะฮ์  1 ตัว (อูฐตัวเมียที่อายุครบสี่ปี)
        อูฐ 76  90 ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น อูฐตัวเมียที่มีอายุครบสองปี  2 ตัว
        อูฐ 91 120  ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็น อูฐตัวเมียที่มีอายุครบสามปี 2 ตัว
        อูฐ 121  ตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นอูฐตัวเมียที่อายุครบสองปี  3 ตัว
จากนั้นในทุกสี่สิบตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นอูฐตัวเมียที่มีอายุครบสองปี  1 ตัว และในทุกห้าสิบตัว ให้จ่ายซะกาตเป็นอูฐตัวเมียที่มีอายุครบสามปี  1 ตัว
•    ถ้าหากปศุสัตว์มีไว้เพื่อการค้าขาย และเพื่อหากำไร เมื่อครบรอบปีให้ประเมินราคา แล้วจ่ายในอัตรา 2.5% และถ้ามิใช่เพื่อการค้าขาย ก็ไม่ต้องจ่ายซะกาตค้าขาย
•    ต้องจ่ายซะกาตเป็นตัวเมียเท่านั้น ส่วนการจ่ายตัวผู้นั้นใช้ไม่ได้ นอกจากซะกาตวัว และอูฐที่เป็นตัวผู้สองปี สามปี หรือสี่ปี ซึ่งใช้จ่ายทดแทนอูฐตัวเมีย ในกรณีที่มีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น

3. สิ่งที่งอกเงยจากดิน (พืชผล)
     ต้องจ่ายซะกาตพืชผลทุกชนิดที่เป็นเม็ดและผลไม้ลูกเล็กๆ ซึ่งใช้การวัดตวงและเก็บไว้ได้นาน เช่นอินทผลัม และองุ่นแห้ง  เมื่อครบพิกัด 300 ทะนาน เท่ากับ  624 กิโลกรัม โดยประมาณ
     พืชผลในปีเดียวกัน  ถ้าเป็นชนิดเดียวกันจะถูกเอามารวมกันเพื่อให้ครบพิกัด เช่น อินทผลัมต่างพันธุ์ชนิดต่างๆ

อัตราที่ต้องจ่าย
1. สำหรับพืชผลที่รดน้ำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นใช้น้ำฝน ให้จ่ายซะกาต 10%
2. พืชผลที่มีค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ เช่น ใช้น้ำจากบ่อ จ่ายซะกาต 5%
3. พืชที่ใช้น้ำโดยมีค่าใช้จ่ายเป็นบางครั้ง จ่ายซะกาต 7.5%
• จำเป็นต้องจ่ายเมื่อเม็ดเริ่มแข็ง และผลไม้เริ่มสุก ( เช่นมีสีเหลืองหรือแดง)
• ผักและผลไม้อื่นๆ ไม่ต้องจ่ายซะกาต นอกจากมีไว้เพื่อทำการค้าขาย หากเป็นเช่นนั้น ต้องจ่าย 2.5% จากมูลค่า เมื่อครบพิกัดและครบรอบปี
• สิ่งที่ได้มาจากทะเล เช่น ไข่มุก  หินปะการัง  และปลา ไม่ต้องจ่ายซะกาต  แต่หากมีไว้เพื่อการค้าขายก็ให้จ่ายซะกาตการค้า  2.5% จากมูลค่า เมื่อครบรอบปี และครบพิกัด
• อัรริกาซ คือสมบัติที่เจอถูกฝังอยู่ในดิน ต้องจ่ายหนึ่งส่วนห้า หรือ 20%  มีค่ามากหรือน้อยก็ตาม และต้องจ่ายเหมือนกับทรัพย์ที่ยึดได้จากสงครามโดยไม่ต้องใช้กำลัง (คือหนึ่งส่วนห้าจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เครือญาติของท่านเราะสูล เด็กกำพร้า คนขัดสน และคนเดินทางที่ขาดเสบียง) และอีกสี่ส่วนก็เป็นสิทธิ์ของผู้ค้นพบ

4. สินทรัพย์ในการค้าขาย
     คือสิ่งที่มีไว้เพื่อการค้าขายและหากำไร ได้แก่ อาคารที่อยู่อาศัย สัตว์ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องมือต่างๆ และอื่นๆ
สินทรัพย์เพื่อการค้า ต้องจ่ายซะกาตเมื่อครบพิกัด และครบรอบปี ในอัตรา 2.5% จากมูลค่าทั้งหมด และอนุญาตให้ใช้ตัวสินทรัพย์นั้นจ่ายเป็นซะกาตได้ ซะกาตค้าขายนั้น ควรแจกจ่ายแก่คนขัดสน
หากสินทรัพย์มีไว้เพื่อครอบครอง มิได้มีเป้าหมายทำการค้าขาย ก็ไม่ต้องจ่ายซะกาต
ผลผลิตจากปศุสัตว์และกำไรจากการค้าขายนั้น ให้นับรอบปีพร้อมกับส่วนที่เป็นต้นทุน เมื่อต้นทุนมีปริมาณครบพิกัด

เงื่อนไขที่ต้องจ่ายซะกาต
1. เป็นไท
2. เป็นมุสลิม
3. ครบพิกัด
4. ถือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์
5. ครบรอบปี นอกจาก ริกาซ และสิ่งที่งอกเงยจากดิน คือ ริกาซจะจ่ายเมื่อค้นพบ และพืชผลจะจ่ายเมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยว

การจ่ายซะกาต
1. เวลา
จำเป็นต้องจ่ายซะกาตโดยเร็ว เช่นเดียวกับการบนบาน และกัฟฟาเราะฮ์ (สิ่งไถ่โทษ) เพราะสำนวนคำสั่งโดยทั่วไปแล้ว คือ ต้องทำทันทีโดยเร็วเช่น
﴿ وَءَاتَوُاْ ٱلزَّكَوٰةَ ﴾ [البقرة : 277]
“และพวกเจ้าจงจ่ายซะกาต”  (อัลบะเกาะเราะฮ์  277)

และอนุโลมให้ล่าช้าได้เพื่อเก็บไว้จ่ายในยามที่มีเหตุผลจำเป็น หรือเพื่อให้แก่ญาติใกล้ชิด หรือแก่เพื่อนบ้าน

2. ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการไม่จ่ายซะกาต
       บุคคลใดปฏิเสธบัญญัติซะกาต โดยมีความรู้และตั้งใจ เขาย่อมเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แม้ว่าเขาจ่ายซะกาตก็ตาม เนื่องจากเขาได้ปฏิเสธอัลลอฮฺ เราะสูล และปฏิเสธมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์  เขาต้องกลับตัวสำนึกผิด  หากไม่สำนึกผิด เขาต้องโทษประหารชีวิต
     และบุคคลใดไม่จ่ายซะกาตเพราะความตระหนี่ และเลินเล่อ ต้องเก็บซะกาตจากเขา และต้องสั่งสอนและตักเตือน  เนื่องจากเขากระทำสิ่งที่ต้องห้าม
   ผู้ปกครองโดยชอบธรรมต้องจ่ายซะกาตแทนคนบ้าและเด็ก

3. ข้อควรปฏิบัติขณะจ่ายซะกาต
3.1 ควรจ่ายอย่างเปิดเผย เพื่อให้พ้นจากข้อกล่าวหา
3.2 ให้แจกจ่ายด้วยตัวเอง เพื่อให้ถึงผู้มีสิทธิ์อย่างแท้จริง
3.3 กล่าวดุอาอ์ ขณะจ่ายซะกาต
«اللهم اجْعَلْها مغنمًا وَلَا تَجْعَلْهَا مغرَمًا»
“โอ้อัลลอฮฺโปรดให้ทานนี้เป็นกำไรและความสบายใจ อย่าให้เป็นค่าปรับ” (บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์)  
3.4 ผู้รับควรกล่าวว่า
«أجرك اللّهُ فِيْمَا أَعْطَيْت. بَارَكَ لَكَ فِيمَا أَبْقَيْت وَجَعَلَهُ لَكَ طهُورًا»
“ขออัลลอฮฺตอบแทนผลบุญแก่ท่านในสิ่งที่ท่านให้ ขออัลลอฮฺให้ท่านมีความจำเริญในสิ่งที่ท่านเก็บไว้ และขอต่อพระองค์ให้เป็นการขัดเกลาแก่ท่าน”
3.5 ควรจ่ายซะกาตแก่เครือญาติที่ขัดสน ที่ไม่ได้อยู่ในการอุปการะตามหน้าที่

ผู้มีสิทธิรับซะกาต 8 จำพวก
﴿إِنَّمَا الصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاءِ وَالْمَسَاكِينِ وَالْعَامِلِينَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمْ وَفِي الرِّقَابِ وَالْغَارِمِينَ وَفِي سَبِيلِ اللَّهِ وَابْنِ السَّبِيلِ فَرِيضَةً مِنَ اللَّهِ وَاللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ ﴾ [التوبة : 60]
“แท้จริง ทานทั้งหลาย (ซะกาต) นั้น เป็นสิทธิสำหรับบรรดาผู้ที่ยากจน บรรดาผู้ขัดสน บรรดาเจ้าหน้าที่จัดเก็บ บรรดาผู้ที่ต้องโน้มน้าวจิตใจของพวกเขา ใช้ในการไถ่ทาส บรรดาผู้มีหนี้สิน ใช้ในหนทางของอัลลอฮฺ และผู้เดินทางที่ขาดเสบียง นั่นเป็นบัญญัติจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ ทรงปรีชาญาณ” (อัตเตาบะฮฺ 60)

1. บรรดาผู้ที่ยากจน (ฟะกีรฺ) คือ ผู้ที่ไม่มีรายได้แม้สักเล็กน้อยของความจำเป็น
3. บรรดาผู้ที่ขัดสน (มิสกีน) คือ ผู้ที่มีรายได้ครึ่งของความจำเป็น หรือมากกว่าครึ่ง
3. เจ้าหน้าที่ คือ ผู้จัดเก็บ ผู้ดูแล เมื่อไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือน
4. ผู้ที่ต้องโน้มน้าวจิตใจ คือ หัวหน้าหรือแกนนำกลุ่ม ซึ่งคาดหวังว่าเขาจะรับอิสลาม หรือยับยั้งความชั่วร้ายของเขา หรือการศรัทธาของเขาจะมั่นคง หรือคนอื่นจะรับอิสลามเพราะเขา
5. การไถ่ทาส คือ ทาสที่ทำสัญญากับนายว่าจะไถ่ตัวให้เป็นอิสระ
6. ผู้มีหนี้สิน มี 2 ประเภท
- มีหนี้สินเพราะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี
    - มีหนี้สินเพราะตัวเอง โดยมีภาระหนี้สินมาก และไม่มีทรัพย์สินที่จะใช้หนี้
7. ในหนทางของอัลลอฮฺ คือนักรบผู้เสียสละในหนทางของอัลลอฮฺ การเรียกร้องเชิญชวนสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ และสิ่งที่ช่วยหรือส่งเสริมการเผยแพร่ศาสนา
8. คนเดินทาง คือ คนเดินทางที่ขาดปัจจัย ที่จะกลับสู่ภูมิลำเนา

ซะกาตตุลฟิฏรฺ
1. เหตุผลทางบทบัญญัติ
     ส่วนหนึ่งจากเหตุผล คือการขัดเกลาจิตใจผู้ที่ถือศีลอด จากสิ่งไร้สาระ และการพูดจาหยาบคาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้น และยังเป็นอาหารแก่คนขัดสนและยากจน โดยที่พวกเขาไม่ต้องขอผู้อื่นในวันอีด

2. ปริมาณและชนิดอาหารที่เป็นซะกาตุลฟิฏรฺ
    1 ทะนาน คือ 4 ลิตร และเท่ากับ  3  กิโลกรัม โดยประมาณ  โดยใช้อาหารหลักของผู้คนในเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาเล่ย์ อินทผลัม ข้าว องุ่นแห้ง หรือเนยแห้ง

3. เวลาที่ต้องจ่าย
   จำเป็นต้องจ่ายเมื่อเข้าสู่คืนของวันอีดิลฟิฏรฺ  เวลาจ่าย คือ
    • เวลาที่อนุญาต คือ หนึ่งวัน หรือสองวัน ก่อนวันอีด เนื่องจากอับดุลลอฮุ บิน อุมัรฺ ได้ปฏิบัติเช่นนั้น
    • เวลาที่ประเสริฐ คือ เริ่มจากรุ่งอรุณของวันอีด จนถึงเวลาใกล้ละหมาดอีด เนื่องจากท่านเราะสูลได้สั่งให้จ่ายก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาด

4. ผู้ที่ต้องจ่าย
     คือ ทุกคนที่เป็นมุสลิม เป็นอิสระ หรือทาสชายหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งมีเหลือเพียงพอสำหรับเป็นอาหารของเขาในวันและคืนของวันอีด
   และควรจ่ายแทนทารกที่อยู่ในครรภ์

5. ผู้มีสิทธิรับซะกาตุลฟิฏรฺ
คือ  ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตทั้ง 8 จำพวก เพียงแต่คนขัดสนและยากจนสมควรยิ่งกว่าจำพวกอื่นๆ เพราะท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าว่า
«أغنوهُمْ عَن السُؤَالِ فِيْ هَذَا اليَوْمِ»
“จงให้พวกเขามีเพียงพอในวันนี้โดยไม่ต้องขอจากผู้ใด”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ตอนที่ 4
การถือศีลอด

الصيام

นิยามและประวัติการบัญญัติการถือศีลอด
    1. นิยามการถือศีลอด
    ทางภาษา คือการระงับ
    ทางวิชาการ การตั้งเจตนาเพื่ออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺโดยการละเว้นจากการกิน ดื่ม มีเพศสัมพันธ์ และทุกสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสีย นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้นกระทั่งดวงอาทิตย์ตก

    2. ประวัติการบัญญัติการถือศีลอด
    อัลลอฮฺได้บัญญัติการถือศีลอดดังที่พระองค์ได้บัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้านี้
    พระองค์ตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣ ﴾ [البقرة: ١٨٣]  
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าดังที่ได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 183)
    
การบัญญัติการถือศีลอดเกิดขึ้นในเดือนชะอฺบาน ปีที่สองหลังจากฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ประโยชน์ของการถือศีลอด
    การถือศีลอดศีลอดมีประโยชน์ทั้งในด้านจิตใจ สังคม และสุขภาพ
    ประโยชน์ในด้านจิตใจคือ เป็นการฝึกให้ผู้ถือศีลอดคุ้นชินกับความอดทนและยับยั้งชั่งใจ อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มความยำเกรงในกับตัวของเขาด้วย
    ประโยชน์ในด้านสังคมคือ เป็นการฝึกประชาชาติมุสลิมให้มีระบบระเบียบและร่วมเป็นหนึ่ง รักความเสมอภาคและยุติธรรม มีความเมตตาและจริยธรรมที่ดี ซึ่งทั้งหมด เป็นช่องทางป้องกันสังคมจากความชั่วต่าง ๆ ได้
    ส่วนประโยชน์ในด้านสุขภาพคือ เป็นการช่วยชะล้างกระเพาะให้มีประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้น ชำระล้างร่างกายจากสิ่งปฏิกูล และช่วยลดไขมันและพุง

การกำหนดเดือนเราะมะฎอน
    การกำหนดเดือนเราะมะฎอนมีสองวิธี คือ
    1. นับเดือนชะอฺบานให้ครบจำนวนสามสิบวัน กล่าวคือ หากเดือนชะอฺบานมีจำนวนสามสิบวัน วันที่สามสิบเอ็ดก็คือวันที่หนึ่งของเดือนเราะมะฎอน
    2. การเห็นเดือน     เมื่อมีการเห็นเดือนของเราะมะฎอนในคืนที่สามสิบของเดือนชะอฺบานแล้ว จำเป็นที่ต้องถือศีลอด ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ ٱلشَّهۡرَ فَلۡيَصُمۡهُۖ ﴾ [البقرة : 185]
“ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185)
    
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِذَا رَأَيْتُم الهِلالَ فَصُومُوا وَإِذَا رَأَيْتُمُوه فَأفْطِرُوا فَإِن غُمَّ عَلَيْكُم فَأَكْمِلُوا العدَّةَ ثَلَاثين يَومًا»
“เมื่อพวกท่านเห็นเดือน (เราะมะฎอน) ก็จงถือศีลอด และเมื่อพวกท่านเห็นมันอีก (เดือนเชาวาล) พวกท่านก็จงละศีลอด หากมีเมฆปกคลุม (จนไม่อาจเห็นเดือน) พวกท่านก็จงทำให้เดือนนั้นมีจำนวนสามสิบวันเต็ม” (บันทึกโดยมุสลิม)
    เมื่อมีการเห็นเดือนในประเทศหนึ่ง จำเป็นสำหรับประชาชนในประเทศนั้นต้องถือศีลอด กล่าวคือ ในแต่ละพื้นที่มีมัฏละอฺ (เวลาการขึ้นและตกของเดือน) ต่างกัน มัฏละอฺของทวีปเอเชียไม่ใช่มัฏละอฺเดียวกันกับทวีปยุโรป มัฏละอฺของทวีปแอฟริกาไม่ใช่มัฏละอฺเดียวกันกับทวีฟอเมริกา เป็นต้น ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับพวกเขา แต่ถ้าหากมุสลิมทั่วโลกถือศีลอดพร้อมเพรียงกันโดยยึดการดูเดือนเพียงแห่งเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องดี และคือสัญลักษณ์ของความรวมใจเป็นหนึ่งและภราดรภาพ
    สำหรับการดูเดือนของเราะมะฎอน พยานเพียงคนเดียวหรือสองคนก็เป็นที่พอเพียงแล้ว ทั้งนี้ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อนุญาตให้มีพยานเพียงคนเดียวในการกำหนดเดือนเราะมะฎอน (บันทึกโดยมุสลิม) ส่วนการกำหนดเดือนเชาวาลนั้นจำเป็นต้องมีพยานสองคน เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่อนุญาตให้มีออกจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเพื่อจะเข้าเดือนเชาวาลนอกจากต้องมีพยานสองคน (บันทึกโดยมุสลิม)

วาญิบต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน
    การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นวาญิบ ดังที่มีหลักฐานจากอัลกุรอาน หะดีษ และอิจญ์มาอฺของประชาชาติ และเป็นหนึ่งในหลักการของศาสนาอิสลาม
    อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ هُدٗى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَٰتٖ مِّنَ ٱلۡهُدَىٰ وَٱلۡفُرۡقَانِۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ ٱلشَّهۡرَ فَلۡيَصُمۡهُۖ ﴾ [البقرة : 185]
“เดือนเราะมะฎอน เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนนั้น เพื่อเป็นทางนำแก่มนุษยชาติ และหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«بُنِيَ الإِسْلامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَة أَنْ لَا إِله إِلّا اللَّه وَأَنْ مُحَمّدًا رَسُوْلُ اللّهِ، وإِقَامِ الصَّلاة، وَإِيْتَاءِ الزَّكَاة»
“อิสลามถูกวางอยู่บนโครงสร้าง 5 ประการ หนึ่ง การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกเคารพภักดีโดยแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ สอง ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และสาม จ่ายซะกาต” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 8, มุสลิม 16,  อัตติรมิซีย์ 2609)

องค์ประกอบ (รุก่น) ของการถือศีลอด
    1. ตั้งเจตนาถือศีลอด เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและสร้างความใกล้ชิดกับพระองค์
    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إنَّمَا الأَعْمَال بَالنِّيات»
“แท้จริง การงานทั้งหลายนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา” (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)
    2. ละเว้นจากสิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอด เช่น การกิน ดื่ม และมีเพศสัมพันธ์
    3. เวลา กล่าวคือ ถือศีลอดในช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นกระทั่งดวงอาทิตย์ตก

เงื่อนไขที่วาญิบต้องถือศีลอด
    1. เป็นมุสลิม
    2. บรรลุศาสนะภาวะ
    3. มีสติสัมปะชัญญะ
    4. มีความสามารถ
    ส่วนสตรีนั้น การถือศีลอดของนางจะถือว่าใช้ได้โดยต้องไม่มีรอบเดือนและเลือดนิฟาส

เงื่อนไขที่จะถือว่าการถือศีลอดใช้ได้
    1. เป็นมุสลิม
    2. ตั้งเจตนาในตอนกลางคืน
    3. มีสติสัมปะชัญญะ
    4. รู้เดียงสา
    5. ไม่มีรอบเดือน
    6. ไม่มีเลือดนิฟาส

สิ่งที่เป็นสุนัตขณะถือศีลอด
    1. รีบเร่งในการละศีลอด นั่นคือการละศีลอดโดยทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ตก
    2. ละศีลอดด้วยผลอินทผลัมสดหรือแห้ง หรือละด้วยน้ำเปล่า ที่ประเสริฐที่สุดคือ การละศีลอดด้วยผลอินทผลัมสด หลังจากนั้นคือผลอิทผลัมแห้ง และหลังจากนั้นคือด้วยน้ำเปล่า และส่งเสริมให้ละโดยรับประทานในจำนวนคี่ คือ สาม ห้า หรือเจ็ดผล
    3. กล่าวดุอาอ์ละศีลอด ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะกล่าวขณะละศีลอดว่า
«اللهم لَكَ صُمْنَا وَعَلى رِزْقِكَ أَفْطَرْنَا، فَتَقَبَّل منَّا إنَّكَ أَنْتَ السَّمِيعُ العَلِيْمُ»
“ข้าแด่อัลลอฮฺ พวกเราได้ถือศีลอดเพื่อพระองค์ และเราก็ได้ละศีลอดด้วยริซกีของพระองค์ ฉะนั้น ได้โปรดทรงตอบรับการถือศีลอดของพวกเรา แท้จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้” (บันทึกโดยอบูดาวูด 2358)  
    4. รับประทานสะหูรฺ คือการกินหรือดื่มในช่วงท้ายของเวลากลางคืนโดยมีเจตนาเพื่อถือศีลอด
    5. ให้ล่าช้าในการรับประทานสะหูรฺกระทั่งช่วงท้ายของกลางคืน

การกระทำที่น่ารังเกียจในขณะถือศีลอด
    คือการกระทำสิ่งที่อาจทำให้การถือศีลอดเสีย ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นโดยตัวของมันเองไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเสีย นั่นคือ
    1. บ้วนปากหรือสูดนำเข้าจมูกอย่างแรงจนเกินไป
    2. การจูบที่อาจส่งผลให้เกิดอารมณ์และเสียศีลอด โดยการมีมะซีย์เคลื่อนออกหรืออาจมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ
    3. การเพ่งมองภรรยาด้วยอารมณ์ใคร่
    4. คิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์
    5. จับมือหรือสัมผัสร่างกายของสตรี

ข้อผ่อนปรนในการละศีลอด
    1. ผู้หญิงมีรอบเดือนและนิฟาสจำเป็นต้องละศีลอด
    2. ผู้ที่จำเป็นต้องบริโภคอาหารเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอื่น เช่น คนจมน้ำ เป็นต้น
    3. อนุญาตให้ผู้เดินทางละหมาดย่อและละศีลอดได้
    4. ผู้ป่วยที่เกรงว่าจะเกิดอันตราย
    5. ผู้ที่เริ่มออกเดินทางในเวลากลางวันของเดือนเราะมะฎอน ทางที่ดีแล้วเขาไม่ควรละศีลอด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงจากพิสัยของการคิลาฟ
    6. สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรที่เกรงว่าหากถือศีลอดแล้วจะเกิดอันตรายต่อตัวนางและทารก หรือต่อทารกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งหากเกรงว่าจะเกิดอันตรายเฉพาะกับทารก ผู้เป็นวะลียฺของทารกจำเป็นต้องให้อาหารแก่คนยากจนเท่ากับวันที่ขาดศีลอด แต่ในทั้งสองกรณี นางจำเป็นต้องถือศีลอดชด

สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียมีดังนี้
    1. เป็นมุรตัด
    2. เสียชีวิต
    3. ตั้งใจละศีลอด
    4. ไม่แน่ใจในการจะถือศีลอดต่อ
    5. อาเจียนโดยเจตนา
    6. ใช้ยาสวนทวารและฉีดยาบำรุง
    7. มีรอบเดือนหรือเลือดนิฟาส
    8. กลืนเสมหะที่ออกมาถึงปาก
    9. กรอกเลือด ทั้งผู้ถูกกรอกและผู้ทำการกรอก
    10. มีอสุจิเคลื่อนออก โดยเกิดจากการตั้งใจเพ่งมอง
    11. มีอสุจิหรือมะซีย์ออก โดยเกิดจากการสัมผัส ช่วยตัวเอง หรือเล้าโลม
    12. มีวัตถุตกถึงลำคอ หรือซึมเข้าถึงสมอง ไม่ว่าจะเป็นของเหลวหรือของแข็ง

หมายเหตุ
    1. ผู้ที่เจตนามีเพศสัมพันธ์ในเดือนเราะมะฎอนไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กันด้านหน้าหรือด้านหลัง จำเป็นต้องถือศีลอดชดพร้อมกับจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ส่วนผู้ที่ไม่มีเจตนา (ลืม) ไม่ต้องถือศีลอดชดและจ่ายกัฟฟาเราะฮฺแต่ประการใด
    2. สตรีที่ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ในเดือนเราะมะฎอน หรือไม่รู้บทบัญญัติ หรือลืม การถือศีลอดของนางใช้ได้ ในกรณีที่ถูกบังคับนางจำเป็นต้องถือศีลอดชดอย่างเดียว แต่ถ้าหากนางเจตนายินยอม ก็จำเป็นต้องถือศีลอดชดพร้อมกับจ่ายกัฟฟาเราะฮฺด้วย
    3. กัฟฟาเราะฮฺคือ การปล่อยทาสหนึ่งคนให้เป็นอิสระ หากไม่มีความสามารถ ให้ถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน หากไม่มีความสามารถ ให้จ่ายอาหารแก่ยากจนจำนวน 60 คน และหากไม่มีความสามารถอีก ก็ไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ
    4. ผู้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาโดยทางอื่นที่ไม่ใช่ทางอวัยวะเพศ จำเป็นต้องถือศีลอดชดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ
    5. ส่งเสริมให้รีบเร่งในการถือศีลอดชดและถือติดต่อกัน หากประวิงเวลาจนเลยเดือนเราะมะฏอนโดยใช่เหตุ จำเป็นต้องให้อาหารแก่คนยากจนต่อหนึ่งวันที่ขาดศีลอดพร้อมกับการถือศีลอดใช้
    6. ผู้เสียชีวิตโดยยังไม่ได้ถือศีลอดที่ได้บนบานไว้หรือถือศีลอดในช่วงหัจญ์ ให้ผู้เป็นวะลียฺถือศีลอดแทน

 

การถือศีลอดที่เป็นสุนัต มักรูฮฺ (น่ารังเกียจ) และหะรอม (ต้องห้าม)
การถือศีลอดที่สุนัต
    ส่งเสริมให้ถือศีลอดในวันต่อไปนี้
-    วันอะเราะฟะฮฺ (วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ) นอกจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์
-    วันที่ 9, 10, 11 ของเดือนมุหัรร็อม
-    หกวันในเดือนเชาวาล
-    สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
-    การถือศีลอดในเดือนมุหัรร็อม
-    บรรดาวันสีขาว (วันที่ 13-15) ของทุกเดือน
-    วันจันทร์และวันพฤหัสบดี
-    ถือศีลอดวันเว้นวัน
-    การถือศีลอดของคนโสดที่ไม่มีความสามารถจะแต่งงาน

การถือศีลอดที่มักรูฮฺ (น่ารังเกียจ)
-    การถือศีลอดของผู้ประกอบพิธีหัจญ์ในวันอะเราะฮฺ
-    การถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์วันเดียวเป็นเอกเทศ
-    การถือศีลอดวันสุดท้ายของเดือนชะอฺบาน
ข้างต้น คือการถือศีลอดที่เป็นมักรูฮฺในเชิงน่ารังเกียจ ส่วนการถือศีลอดที่เป็นมักรูฮฺเชิงต้องห้ามคือ
-    การถือศีลอดสองวันติดต่อกันหรือมากกว่าโดยไม่ได้ละศีลอด
-    ถือศีลอดในวันสงสัย (30 ชะอฺบาน)
-    ถือศีลอดตลอดทั้งปี
-    การถือศีลอดสุนัตของสตรีที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสามีของนาง ในขณะที่สามีนั้นอยู่กับนาง

การถือศีลอดที่ต้องห้ามคือ การถือศีลอดในวันต่อไปนี้
    1. ถือศีลอดในวันอีดทั้งสอง
    2. ถือศีลอดในวันตัชรีก (11-13 ซุลหิจญะฮฺ) นอกจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์ประเภทตะมัตตุอฺและไม่มีความสามารถในการครอบครองสัตว์เพื่อทำฟิดยะฮฺ
    3. วันที่มีรอบเดือนหรือเลือดนิฟาสสำหรับสตรี
    4. การถือศีลอดของผู้ป่วยที่คาดว่าอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้

 


ตอนที่ 5
การอิอฺติกาฟ

الاعتكاف وأحكامه

นิยาม
    ตามหลักภาษา
    คือ การพำนัก, การอยู่ประจำ, การเก็บตัว, หรือการยับยั้ง
    ตามหลักวิชาการ
    คือ การตั้งเจตนาพำนักอยู่ในมัสญิด เพื่อการเคารพภักดี โดยมีรูปแบบเฉพาะ
    
ประโยชน์ของการบัญญัติการอิอฺติกาฟ  
    1. ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ปราศจากการหมกมุ่นอยู่กับกิจการโลกดุนยา โดยมุ่งสู่การเคารพภักดีและรำลึกถึงอัลลอฮฺ
    2. ถวายใจให้กับอัลลอฮฺ โดยการมอบหมายและพำนักอยู่ที่ประตูแห่งความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์

ประเภทของการอิอฺติกาฟ
    การอิอฺติกาฟมี 2 ประเภท
    1. ภาคบังคับ
     คือ การอิอฺติกาฟที่บนบานไว้ เช่นกล่าวว่า หากฉันสำเร็จในกิจการนั้น ฉันจะอิอฺติกาฟสามวัน หรือหากฉันได้รับความสะดวกในกิจการนั้น ฉันจะอิอฺติกาฟเท่านั้น เท่านี้
    2. ภาคสมัครใจและส่งเสริม
    ที่ดีที่สุดคือ สิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน

องค์ประกอบ (รุก่น) ของการอิอฺติกาฟ
    1. ผู้ที่อิอฺติกาฟ (มุอฺตะกิฟ)
    2. การพำนักอยู่ในมัสญิด เนื่องจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لاَ اعْتِكَافَ إِلّا فِيْ مَسْجِدِ جَمَاعَةٍ»
“ไม่มีการอิอฺติกาฟ นอกจากในมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺเท่านั้น”
     เนื่องจาก การอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีละหมาดญะมาอะฮฺ จะเป็นการเตรียมตัวเพื่อละหมาดในลักษณะที่สมบูรณ์ยิ่ง และที่สมบูรณ์ยิ่งของการละหมาดนั้น อยู่ที่การละหมาดญะมาอะฮฺ  
    3. สถานที่อิอฺติกาฟ (มุอฺตะกัฟ)
เงื่อนไขที่ทำให้การอิอฺติกาฟถูกต้อง (ใช้ได้)
    1. ผู้อิอฺติกาฟต้องเป็นมุสลิม
    2. รู้เดียงสา ฉะนั้น การอิอฺติกาฟของคนวิกลจริต และเด็กจึง ใช้ไม่ได้
    3. ผู้ชายต้องอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ
    4. สะอาดจากมูลเหตุที่ต้องอาบน้ำ (ญะนาบะฮฺ เลือดประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร)

สิ่งที่ทำให้การอิอฺติกาฟเป็นโมฆะ
    1. การร่วมประเวณี แม้ว่าน้ำอสุจิไม่หลั่งก็ตาม
﴿ وَلَا تُبَٰشِرُوهُنَّ وَأَنتُمۡ عَٰكِفُونَ فِي ٱلۡمَسَٰجِدِۗ ﴾ [البقرة: ١٨٧]
“และพวกเจ้าอย่ามีเพศสัมพันธ์กับภรรยา ขณะที่พวกเจ้าอิอฺติกาฟอยู่ในมัสญิด”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ  187)
    2. การเล้าโลมระหว่างสามีภรรยา
    3. เป็นลม และวิกลจริต เนื่องจากมึนเมา หรืออื่นๆ
    4. สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม
    5. ออกจากมัสญิด โดยไม่มีเหตุที่ได้รับการอนุโลม  
เหตุที่อนุโลมให้ออกจากมัสญิด (สถานที่อิอฺติกาฟ)
    แบ่งออกเป็น  3  ประเภท
    1. เหตุตามบทบัญญัติ
     เช่น ออกไปละหมาดวันศุกร์ หรือ ละหมาดอีดทั้งสอง หากมัสญิดที่อิอฺติกาฟไม่มีการละหมาดวันศุกร์ และไม่มีละหมาดอีด  
   เหตุผลที่อนุโลมให้ออก เนื่องจากการอิอฺติกาฟนั้น เป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺโดยการสมัครใจ และออกห่างจากการฝ่าฝืน ขณะที่การละทิ้งละหมาดวันศุกร์ หรือละหมาดอีด เป็นการฝ่าฝืน
    2. เหตุตามปกติวิสัย
    เช่น การขับถ่าย หรือ มีญะนาบะฮฺ (เหตุที่ต้องอาบน้ำ ) โดยการฝันเปียก เมื่อไม่สามารถอาบน้ำชำระร่างกายในมัสญิดได้  แต่มีข้อแม้ว่า ไม่อยู่นอกสถานที่อิอฺติกาฟ นอกจากเวลาที่ทำภารกิจเท่านั้น
    3. อุปสรรคเพราะเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉิน
     เช่น เกรงว่าทรัพย์สินหรือเสบียงจะได้รับความเสียหาย  หรือเกรงว่าตัวเขาจะได้รับอันตราย หากเขายังคงอยู่ในสถานที่อิอฺติกาฟ


ตอนที่ 6
การทำหัจญ์
الحج

เป็นองค์ประกอบหลักของอิสลาม
1. ความหมายของหัจญ์
2. สถานภาพของหัจญ์ในอิสลาม

หัจญ์
เป็นองค์ประกอบหรือโครงสร้างหลักข้อที่ห้าของอิสลาม ถูกบัญญัติในปีที่เก้าฮิจญ์เราะฮฺศักราช
﴿ وَلِلَّهِ عَلَى ٱلنَّاسِ حِجُّ ٱلۡبَيۡتِ مَنِ ٱسۡتَطَاعَ إِلَيۡهِ سَبِيلٗاۚ ﴾ [آل عمران : 97]
“และหน้าที่ของมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ คือการทำหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮุนั้น สำหรับผู้ที่มีความสามารถในการเดินทาง” (อาล อิมรอน 97)
และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«بُنِيَ الإِسْلامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَة أَنْ لَا إِله إِلّا اللَّه وَأَنْ مُحَمّدًا رَسُوْلُ اللّهِ، وإِقَامِ الصَّلاة، وَإِيْتَاءِ الزَّكَاة»
“อิสลามถูกวางอยู่บนโครงสร้าง 5 ประการ หนึ่ง การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกเคารพภักดีโดยแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ สอง ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และสาม จ่ายซะกาต” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 8, มุสลิม 16, อัตติรมิซีย์ 2609)

3. ข้อชี้ขาด หรือบทบัญญัติของหัจญ์
การทำหัจญ์เป็นข้อบังคับครั้งเดียวในชีวิต เนื่องจากท่านเราะสูลกล่าวว่า
«الحَجّ مَرَّة، فَمَن زَادَ فَهُوَ تَطَوُّع»
“การทำหัจญ์ที่บังคับ คือหนึ่งครั้งในชีวิต หากผู้ใดทำมากกว่าหนึ่งครั้งก็เป็นการสมัครใจ” (บันทึกโดย อันนะสาอีย์ 2620,  อบูดาวูด 1721,  อิบนุมาญะฮฺ 2886,  อะหมัด 1/291, อัดดาริมีย์ 1788)

การทำหัจญ์ คือ การมุ่งสู่มักกะฮฺ เพื่อปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ ในเวลาที่ถูกบัญญัติ

4. การทำอุมเราะฮฺ
ตามหลักภาษา คือ การเยี่ยมเยียน การเยือน
ตามบทบัญญัติ  คือ การปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกบัญญัติ ในสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้
อุมเราะฮฺ  ต้องปฏิบัติหนึ่งครั้งในชีวิต
5. เหตุผลเกี่ยวกับการบัญญัติหัจญ์และอุมเราะฮฺ
ส่วนหนึ่ง คือ การชำระจิตใจให้สะอาดจากร่องรอยของบาป เพื่อให้เขาเป็นผู้ที่มีเกียรติ ณ ที่อัลลอฮฺ ในวันปรโลก
«مَن حَجَّ هذا البَيْتَ فَلَم يَرْفُث وَلَم يَفْسُق رَجَعَ كَيَوْمِ وَلَدَتْهُ أُمُّه»
“บุคคลใดได้ทำหัจญ์ ณ วิหารแห่งนี้ โดยที่เขาไม่ทำการร่วมประเวณี หรือทำอนาจาร และไม่ละเมิด  เขากลับไปดั่งวันที่เขาออกจากครรภ์ของมารดา” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1724, มุสลิม 1350,  อัตติรมิซีย์ 811, และท่านอื่นๆ)

6. เงื่อนไขที่จำเป็นต้องทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ
1. เป็นมุสลิม
2. มีสติสัมปชัญญะ
3. บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
4. มีความสามารถ คือ มีเสบียงและพาหนะ
5. เป็นไท ( อิสระ)
6. สำหรับผู้หญิง ต้องมี มะห์รอม (ญาติที่แต่งงานกันมิได้) หากเขาทำหัจญ์โดยไม่มีมะห์รอม หัจญ์ก็ถือว่าใช้ได้
• การทำหัจญ์ของเด็ก ถือว่าใช้ได้ แต่ถือว่าเป็นภาคสมัครใจ และต้องทำอีกครั้ง เมื่อบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
• เมื่อผู้ที่จำเป็นต้องทำหัจญ์เสียชีวิต โดยยังไม่ได้ทำหัจญ์  ให้เอาทรัพย์ของเขาที่เป็นมรดก ให้ผู้อื่นทำหัจญ์แทน
 • ผู้ที่ยังไม่ทำหัจญ์ ไม่สามารถทำหัจญ์แทนผู้อื่นได้ ส่วนหัจญ์หรืออุมเราะฮฺภาคสมัครใจสำหรับผู้ที่มีความสามารถและไม่มีความสามารถนั้นอนุญาตให้ผู้อื่นทำแทนได้

ประเภทของหัจญ์และอุมเราะฮฺ
1. อุมเราะฮฺอย่างเดียว
2. หัจญ์อย่างเดียว (อิฟรอด)
3. หัจญ์และอุมเราะฮฺควบคู่กัน (กิรอน)
4. อุมเราะฮฺแล้วต่อด้วยหัจญ์ (ตะมัตตุอฺ)
 • อุมเราะฮฺอย่างเดียว ทำได้ตลอดทั้งปี  ที่ดีที่สุดคือ ทำควบคู่กับหัจญ์ หรือในเดือนเราะมะฎอน
 • การทำหัจญ์อย่างเดียว (อิฟรอด) คือ การตั้งเจตนาทำหัจญ์ โดยไม่ทำอุมเราะฮฺมาก่อน หรือทำหัจญ์โดยไม่ควบคู่กับอุมเราะฮฺ
•  หัจญ์ควบคู่กับอุมเราะฮฺ (กิรอน) คือ การเข้าพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺพร้อมกัน การปฏิบัติต่างๆ ก็ผนวกรวมกัน เพียงพอด้วยกับการเฏาะวาฟเพียงครั้งเดียว สะแอครั้งเดียว
• อุมเราะฮฺแล้วต่อด้วยหัจญ์ (ตะมัตตุอฺ) ซึ่งแบบนี้ดีที่สุดในจำนวนรูปแบบการทำหัจญ์ทุกประเภท คือ การเข้าพิธีอุมเราะฮฺในเดือนหัจญ์ เฏาะวาฟ สะแอ และตะหัลลุลออกจากอุมเราะฮฺ และต่อมา ในวันที่แปดเดือนซุลหิจญะฮฺ ในปีเดียวกัน ให้เข้าพิธีหัจญ์ต่อ และปฏิบัติภารกิจทำพิธีหัจญ์จนเสร็จสมบูรณ์
• จะต้องเชือดสัตว์พลี (ดัม หรือ ฮัดย์) สำหรับตะมัตตุอฺและกิรอน

องค์ประกอบหลัก (รุก่น) ของหัจญ์และอุมเราะฮฺ
องค์ประกอบหลักของหัจญ์ มี 4 ประการ
1. อิห์รอม (การตั้งเจตนาเข้าพิธี)
2. เฏาะวาฟ  (การเดินวนรอบอัลกะบะฮฺ)
3. สะแอ (การเดินไปมาระหว่างเศาะฟาและมัรวะฮฺ)
4. วุกุฟที่อะเราะฟะฮฺ  (การไปอยู่ที่อะเราะฟะฮฺ)
หากขาดองค์ประกอบประการใด หัจญ์ก็เป็นโมฆะ

องค์ประกอบหลักของอุมเราะฮฺ มี 3 ประการ
1. อิห์รอม
2. เฏาะวาฟ
3. สะแอ

การทำอุมเราะฮฺจะไม่สมบูรณ์ หากขาดข้อหนึ่งข้อใด
ประการที่หนึ่ง : อิห์รอม
คือ การตั้งเจตนาเข้าพิธีหัจญ์ หรือพิธีอุมเราะฮฺ หลังจากที่มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วใส่ชุดอิห์รอม
สิ่งที่วาญิบในการอิห์รอม (สิ่งที่ต้องปฏิบัติ หากละเลยต้องมีการชดใช้) มี 3 ประการ คือ
1. อิห์รอมจากเขตที่กำหนด (มีกอต)
   คือ สถานที่ที่ถูกกำหนดเพื่อการอิห์รอม กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ผ่านโดยไม่อิห์รอม
2. การเปลื้องเสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นชุดออกจากร่างกาย  
     ผู้ชายจะไม่สวมใส่เสื้อชุดยาว เสื้อ เสื้อคลุมศรีษะ ไม่ใช้ผ้าโพกศรีษะ และไม่เอาสิ่งใดคลุมติดศรีษะ และไม่สวมรองเท้าหุ้มส้น นอกจากไม่มีรองเท้าแตะ  ส่วนผู้หญิงจะไม่สวมถุงมือ และจะไม่ปิดหน้า
3. การกล่าวตัลบียะฮฺ  คือ
«لَبَّيْكَ اللهم لَبَّيْكَ، لَبَّيْكَ لَا شَرِيْكَ لَكَ لَبَّيْكَ، إِنَّ الحَمْدَ وَالنِّعْمَةَ لَكَ وَالمُلْك، لَا شَرِيْكَ لَكَ»
“ฉันตอบรับการเรียกร้องของพระองค์ ไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์ แท้จริง การสรรเสริญ ความโปรดปราน และอำนาจ เป็นสิทธิ์ของพระองค์ ไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์”

จะกล่าวเมื่อเริ่มเข้าพิธี ขณะอยู่ที่มีกอต โดยไม่เลยเขตมีกอต  และส่งเสริมให้กล่าวซ้ำหลายๆ ครั้ง ผู้ชายควรกล่าวเสียงดัง ควรกล่าวอยู่เสมอ เมื่อขึ้นหรือลงจากพาหนะ  หรือตอนจะละหมาด เสร็จสิ้นจากการละหมาด หรือเมื่อพบกับกลุ่มผู้อิห์รอม และคำตัลบียะฮฺของอุมเราะฮฺนั้น จะสิ้นสุดเมื่อเริ่มเฏาะวาฟ  ส่วนตัลบียะฮฺของหัจญ์ จะสิ้นสุดเมื่อเริ่มขว้างเสาหิน

ประการที่สอง  การเฏาะวาฟ
เฏาะวาฟ คือ การเดินวนรอบกะบะฮฺเจ็ดรอบ และมีเงื่อนไข 7 ประการ
1. ตั้งเจตนาเมื่อเริ่มเฏาะวาฟ
2. สะอาดจากสิ่งสกปรก (นะญิส) และสะอาดจากหะดัส (เหตุที่ต้องอาบน้ำและอาบน้ำละหมาด)
3. ปกปิดเอาเราะฮฺ (ส่วนของร่างกายที่ต้องปกปิด) เนื่องจากการเฏาะวาฟนั้น เหมือนกับการละหมาด
4. ต้องเฏาะวาฟในมัสญิด แม้ว่าจะห่างจากกะอฺบะฮฺก็ตาม
5. ให้กะอฺบะฮฺอยู่ด้านซ้ายมือ
6. เฏาะวาฟเจ็ดรอบ
7. ต่อเนื่องกันในแต่ละรอบ นอกจากจะมีเหตุจำเป็น

ข้อควรปฏิบัติของการเฏาะวาฟ
1. วิ่งเหยาะๆ ส่งเสริมเฉพาะผู้ชายเท่านั้น นั่นคือการเดินเร็ว พร้อมกับยกย่างก้าวเป็นจังหวะ ดังมีบันทึกของมุสลิม จากอิบนุ อุมัรฺว่า แท้จริงท่านเราะสูลวิ่งเหยาะๆ รอบหินดำ สามรอบ และเดินสี่รอบ และส่งเสริมให้ปฏิบัติในการเฏาะวาฟกุดูมเท่านั้น (เฏาะวาฟแรกถึง) และในสามรอบแรกของการเฏาะวาฟเท่านั้น
 2. อิฎฏิบาอฺ คือ เปิดไหล่ หรือบ่าข้างขวา และส่งเสริมให้ปฏิบัติในการเฏาะวาฟกุดูมเท่านั้น และส่งเสริมเฉพาะผู้ชาย และให้ทำดังกล่าวทั้งเจ็ดรอบ (ดังมีบันทึกของอะหมัด แท้จริงท่านเราะสูลและบรรดาสาวกของท่าน ได้เข้าพิธีอุมเราะฮฺ จากอัลญะรอนะฮฺ โดยพาดสไบเฉียงให้อยู่ใต้รักแร้ แล้วชายผ้าอยู่บนบ่าด้านซ้าย)
3. การจูบหินดำ ขณะเริ่มเฏาะวาฟในทุกๆรอบ หากมีความสามารถ และการจับมุมยะมานีย์
4. กล่าวคำดุอาอ์ (เมื่อเริ่มรอบแรก)
بِسْمِ اللّهِ وَاللّه أكبر، اللهم إِيْمَانًا بِكَ وَتَصْدِيقًا بِكِتَابِك وَوَفَاءً بِعَهْدِك وَاتِبَاعًا لِسُنَّةِ نَبِيِّكَ
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ  อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ โอ้อัลลอฮฺ เพราะการศรัทธาต่อพระองค์ การเชื่อต่อคำภีร์ของพระองค์ รักษาพันธะสัญญาของพระองค์  และเพราะปฏิบัติตามแบบอย่างนบีของพระองค์”
5. การขอพรขณะเฏาะวาฟ ซึ่งไม่มีบทขอพรเฉพาะ แต่ขอได้ทุกบทขอพร เพียงแต่ส่งเสริมให้กล่าวตอนจบทุกๆ รอบว่า
﴿ رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا حَسَنَةٗ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ حَسَنَةٗ وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ ٢٠١ ﴾ [البقرة : 201]
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดให้สิ่งดีแก่เรา ในโลกนี้และปรโลก และโปรดปกป้องเราจากการลงโทษของไฟนรก”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ 201)
 
6. การขอพรที่มุลตะซัมเมื่อเสร็จจากการเฏาะวาฟ (คือบริเวณระหว่างประตูของกะบะฮฺ และหินดำ)
7. ละหมาดสองร็อกอะฮฺหลังจากเฏาะวาฟ ณ บริเวณหลังมะกอมอิบรอฮีม โดยอ่านซูเราะฮฺอัลกาฟิรูน ในร็อกอะฮฺที่หนึ่ง และซูเราะฮฺอัลอิคลาศ ในร็อกอะฮฺที่สอง (หลังจากซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ)
8. ดื่มน้ำซัมซัม หลังจากละหมาดสองร็อกอะฮฺ และดื่มเยอะๆจนอิ่ม
9. กลับไปจับหินดำอีกครั้ง ก่อนที่จะไปสะแอ

ประการที่สาม  การสะแอ
การสะแอ คือ การเดินไปมาระหว่างเนินเขาเศาะฟาและมัรวะฮฺ โดยตั้งเจตนาทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ การสะแอนั้น เป็นองค์ประกอบหลักของการทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ
เงื่อนไขของการสะแอ
1. การตั้งเจตนา เนื่องจากท่านเราะสูลกล่าวว่า
«إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَات»
“แท้จริงการปฏิบัติความดีทั้งหลายจะถูกตอบรับ เพราะเจตนา” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1, มุสลิม 1907, อัตติรมิซีย์ 1607,  อันนะสาอีย์ 75,  อบูดาวูด 2201, อิบนุมาญะฮฺ 4227, และอะหมัด 1/43)
2. เรียบเรียงตามลำดับ โดยเฏาะวาฟก่อนสะแอ
3. ต่อเนื่องกันระหว่างรอบ แต่การเว้นระยะเพียงเล็กน้อยไม่เป็นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีมีเหตุจำเป็น
4. ครบเจ็ดรอบ หากขาดรอบหนึ่งรอบใด หรือขาดครึ่งรอบ ก็ใช้ไม่ได้ เนื่องจากต้องครบทุกรอบ
5. ต้องสะแอหลังจากเฏาะวาฟที่ถูกต้อง (ใช้ได้) ไม่ว่าจะเป็นเฏาะวาฟวาญิบ (บังคับ)  หรือเฏาะวาฟสมัครใจ

ข้อควรปฏิบัติในการสะแอ
ข้อควรปฏิบัติ คือ
1. การเดินเร็ว (อัลเคาะบับ) ระหว่างสัญลักษณ์ไฟสีเขียว ซึ่งอยู่ที่สองฝั่งที่ราบลุ่มเดิม ซึ่งฮาญัรฺมารดาของอิสมาอีลได้วิ่งไปมา ส่งเสริมให้ผู้ชายที่แข็งแรงปฏิบัติ แต่ไม่ส่งเสริมคนอ่อนแอและผู้หญิง
2. ยืนบนภูเขาเศาะฟาและมัรวะฮฺ เพื่อขอพร
3. ขอพรบนเขาเศาะฟาและมัรวะฮฺ ในทุกๆ รอบของการสะแอ
4. กล่าว (สามครั้ง) ว่า
«اللّه  أَكْبَر  لا إله إلا اللّه  وحده لا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ المُلْك وَله الحَمْدُ وَهُوَ عَلى كُلِّ شَيْء قَدِير. لَا إلهَ إِلا اللّه، وَحْدَه صَدَقَ وَعْدَه وَنَصَرَ عَبْدَه وَهَزَمَ الأَحْزَابَ وَحْدَه»
“อัลลอฮฺผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากพระองค์เท่านั้น  ไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์ การสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของพระองค์  พระองค์ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่ง ไม่มีพระเจ้านอกจากพระองค์  ผู้ทรงรักษาสัญญา ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ และทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ แต่พระองค์เดียว”
กล่าวสามจบทุกครั้งขณะขึ้นภูเขาเศาะฟาและมัรวะฮฺในทุกๆ รอบของการสะแอ
5. ให้ต่อเนื่องกันระหว่างสะแอและเฏาะวาฟ คือไม่เว้นระยะเวลาระหว่างกัน โดยไม่มีอุปสรรคที่อนุโลมตามบทบัญญัติ
ประการที่สี่  การวุกุฟที่อะเราะฟะฮฺ
วุกูฟ คือ การมาอยู่ ณ สถานที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่าอะรอฟาต เพียงครู่เดียวหรือมากกว่า โดยตั้งเจตนาวุกูฟ  เริ่มตั้งแต่เวลาละหมาดซุฮริ  ในวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺ จนถึงรุ่งอรุณของวันที่ 10
  บุคคลใดพลาด โดยไม่ได้ทำการวุกูฟ เขาย่อมพลาดการทำหัจญ์ ให้เขาออกจากพิธีหัจญ์ (ตะหัลลุล) เปลี่ยนเป็นอุมเราะฮฺ และชดเชยในปีต่อไป และต้องเชือดสัตว์พลีถ้าหากเขาไม่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนหน้านี้  
และบุคคลใดถูกกีดกันไม่ให้เขาไปถึงกะบะฮฺ ให้เขาเชือดสัตว์พลี แล้วให้เขาออกจากพิธี (ตะหัลลุล)
และถ้าเขาเจออุปสรรค โดยเจ็บป่วย หรือขาดเสบียง  หากเขาตั้งเงื่อนไขว่า  
وَمَحِلِّيْ حَيْثُ حَبَسْتَنِيْ
ความว่า “หากมีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง ก็ให้ที่ปลดเปลื้องของฉัน เป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงกักฉัน”
 แล้วให้เขาออกจากพิธี และไม่ต้องชดใช้ด้วยสิ่งใด และหากเขาไม่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ ให้เขาออกจากพิธี และชดใช้ด้วยการเชือดสัตว์พลีตามที่เขามีความสะดวก

ประการวาญิบของการทำหัจญ์ มี 7 ประการ
1.  ตั้งเจตนาเข้าพิธีตั้งแต่มีกอต (เขตที่ถูกกำหนดไว้)
2. วุกูฟที่อะเราะฟะฮฺจนตะวันตกดิน (สำหรับผู้ที่วุกูฟกลางวัน)
3. การค้างคืน (มะบีต) ที่มุซดะลิฟะฮฺ จนถึงหลังเที่ยงคืน
4. การค้างคืนที่มินา ในค่ำคืนของวันตัชรีก (11, 12 และ 13 ซุลหิจญะฮฺ)
5. การขว้างเสาหินโดยเรียงตามลำดับ
6. การโกนศรีษะหรือตัดผม
7. การเฏาะวาฟวะดาอฺ (เฏาะวาฟอำลา)
 
ประการวาญิบของอุมเราะฮฺ
ตั้งเจตนาเข้าพิธีจากมีกอต ส่วนชาวมักกะฮฺนั้น ให้ตั้งเจตนาจากนอกเขตหะรอม

คำเตือน
•  บุคคลใดละทิ้งองค์ประกอบหลัก (รุก่น) การทำหัจญ์จะไม่สมบูรณ์
• บุคคลใดละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบ ต้องชดใช้ด้วยดัม (เชือดสัตว์พลี)
• ผู้ใดละทิ้งข้อควรปฏิบัติ ไม่ต้องชดใช้สิ่งใด
 
สิ่งต้องห้ามของการครองอิห์รอม
คือ การกระทำต่างๆ ที่ต้องห้ามสำหรับบุคคลที่ทำหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ  หากกระทำ ต้องมีการชดใช้โดยการเชือดสัตว์พลี หรือถือศีลอด หรือเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน ซึ่งสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ที่อยู่ในการครองอิห์รอม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง มีดังต่อไปนี้
1. การกำจัดขนออกจากร่างกาย
2. การตัดเล็บ
3. การคลุมศรีษะ (สำหรับผู้ชาย) การปิดหรือคลุมหน้า (สำหรับผู้หญิง) นอกจากในกรณีที่มีผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอมผ่านมา
4. การสวมใส่อาภรณ์ที่ตัดเย็บเป็นชุด (คือตัดเป็นทรวดทรง เช่น เสื้อยาว กางเกง และอื่นๆ)
5. การใช้เครื่องหอม
6. การล่าสัตว์บก (สัตว์ป่าที่อนุญาตให้บริโภค)
7. ทำพิธีแต่งงาน
8. การมีเพศสัมพันธ์
•    หากมีเพศสัมพันธ์ก่อนเปลื้องจากการอิห์รอมครั้งแรก (ตะหัลลุลเอาวัล) การทำหัจญ์ก็เป็นโมฆะ  จำเป็นต้องเชือดอูฐหนึ่งตัว  และจะต้องทำหัจญ์ต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์ และชดเชยหัจญ์ในปีต่อไปด้วย
•    หากมีเพศสัมพันธ์หลังจากการเปลื้องครั้งแรก (ตะหัลลุลเอาวัล) การทำหัจญ์ไม่เป็นโมฆะ แต่ต้องเชือดแพะหนึ่งตัว
9. การเล้าโลม การหยอกล้อด้วยอารมณ์ทางเพศ แต่ไม่ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ
•    หากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่การหลั่งอสุจิ ต้องเชือดอูฐหนึ่งตัว และการทำหัจญ์ก็ไม่เป็นโมฆะ
•    หากไม่มีการหลั่งอสุจิ ต้องเชือดแพะหนึ่งตัว และการทำหัจญ์ก็ไม่เป็นโมฆะ
    ผู้หญิงก็มีสิ่งต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ชาย นอกจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นชุด สวมใส่ได้ตามต้องการ โดยไม่เผยโฉม และให้คลุมศรีษะ ให้เปิดหน้า นอกจากกรณีที่มีผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอมอยู่ด้วย

การเปลื้องจากอิห์รอมครั้งแรก (ตะหัลลุลเอาวัล)
โดยการปฏิบัติลุล่วงสองในสามประการต่างๆ ดังนี้
1. เฏาะวาฟ
2. ขว้างเสาหิน
3. โกนศีรษะหรือตัดผม
•  หากผู้หญิงที่ทำหัจญ์แบบตะมัตตุอฺมีประจำเดือนก่อนจะเฏาะวาฟ (เฏาะวาฟอุมเราะฮฺ) และเกรงว่าจะพลาดโอกาสในการทำหัจญ์ ให้ตั้งเจตนาทำหัจญ์ควบคู่กับอุมเราะฮฺ เป็นการทำหัจญ์แบบกิรอน
• ผู้หญิงที่มีประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร อนุญาตให้ทำได้ทุกพิธีกรรม นอกจากการเฏาะวาฟ
•  อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในการอิห์รอม ทำการเชือดสัตว์ที่เลี้ยง อูฐ วัว แกะ ไก่ และอื่นๆ และอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ดุร้าย เช่นสิงโต หมาป่า เสือ หนู งู  และสัตว์ดุร้ายทุกชนิด
 • และอนุญาตให้ล่าสัตว์ทะเล และอาหารทะเล (สัตว์ทะเลที่ตาย)
 • ไม่อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในอิห์รอม หรือไม่อยู่ในอิห์รอม ตัดต้นไม้และหญ้า ในเขตหะรอมมักกะฮฺ นอกจากต้นอิซคิรฺ
• และห้ามล่าสัตว์ป่าในเขตหะรอมมักกะฮฺเช่นกัน หากผู้ใดกระทำเช่นนั้น ต้องจ่ายค่าชดใช้
• และห้ามตัดต้นไม้ ห้ามล่าสัตว์ป่าในเขตหะรอมมะดีนะฮฺ  แต่ไม่ต้องจ่ายค่าชดใช้                          
• ผู้ใดที่มีอุสรรค และจำเป็นต้องทำในสิ่งต้องห้าม (ยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์) เช่น การกำจัดขน สวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นชุด และอื่นๆ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดใช้ ซึ่งสามารถเลือกระหว่าง จะถือศีลอดสามวัน หรือเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนหกคน คนละหนึ่งลิตร เป็นข้าวสาลี ข้าวบาเล่ หรืออื่นๆ หรือเชือดแพะหนึ่งตัว
•ผู้ใดกระทำสิ่งต้องห้ามเพราะขาดความรู้ ลืม หรือถูกบังคับ จะไม่เป็นบาป และไม่ต้องจ่ายค่าชดใช้ แต่ต้องสลัดจากสิ่งนั้นโดยเร็ว เนื่องจาก อัลลอฮฺกล่าวว่า
﴿ رَبَّنَا لَا تُؤَاخِذۡنَآ إِن نَّسِينَآ أَوۡ أَخۡطَأۡنَاۚ ﴾ [البقرة : 286]
“โอ้พระผู้อภิบาลของเราอย่าเอาโทษแก่เรา หากเราลืมหรือผิดพลาด”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ 286)
• ผู้ใดฆ่าสัตว์บก (สัตว์ป่าที่อนุมัติให้บริโภค) ขณะที่อยู่ในการอิห์รอม หากเขามีปศุสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่ถูกฆ่า ให้เขาเลือกระหว่างการเชือดสิ่งที่เหมือนกัน แล้วแจกจ่ายเพื่อเป็นอาหารแก่คนจนในเขตหะรอม หรือจะประเมินเป็นราคา แล้วซื้ออาหารแก่คนยากจนคนละหนึ่งลิตร หรือจะถือศีลอดทดแทน (ถือศีลอดหนึ่งวันทดแทนอาหารหนึ่งลิตร) หากเขาไม่มีปศุสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนกัน ให้เขาเลือกระหว่างประเมินราคา แล้วซื้อเป็นอาหารแจกจ่ายแก่คนจนในเขตหะรอม หรือจะถือศีลอดทดแทน (ถือศีลอดหนึ่งวันทดแทนอาหารหนึ่งลิตร)
• ค่าชดใช้ในการเล้าโลมโดยไม่มีการหลั่งอสุจิ ก็เช่นเดียวกับค่าชดใช้ในกรณีมีสิ่งรำคาญบนศรีษะ (เช่นมีเหาแล้วต้องโกนศรีษะ )  คือ ถือศีลอดสามวันหรือแจกจ่ายอาหารแก่คนจนหกคน หรือเชือดแพะหนึ่งตัว
• ค่าชดใช้ในกรณีมีเพศสัมพันธ์ ในการทำหัจญ์ หากมีเพศสัมพันธ์ก่อนการเปลื้องครั้งแรก (ตะหัลลุลเอาวัล ) คือ เชือดอูฐหนึ่งตัว หากไม่มี ก็ให้ถือศีลอดสามวัน ในระหว่างการทำหัจญ์ และอีกเจ็ดวันเมื่อกลับภูมิลำเนา หากมีเพศสัมพันธ์หลังจากตะหัลลุลเอาวัล ก็ให้ชดใช้โดยการถือศีลอดสามวัน หรือจ่ายอาหารแก่คนจนหกคน หรือเชือดแพะหนึ่งตัว
• ผู้ที่ทำหัจญ์แบบตะมัตตุอฺและกิรอน (ยกเว้นชาวมักกะฮฺ)  ต้องเชือดสัตว์พลี คือ แพะหนึ่งตัว หรือ หนึ่งจากเจ็ดส่วนของอูฐ หรือหนึ่งจากเจ็ดส่วนของวัว หากผู้ใดไม่มีสัตว์พลี ก็ให้ถือศีลอดสามวันระหว่างการทำหัจญ์ และเจ็ดวันเมื่อกลับภูมิลำเนา
• ผู้ที่ถูกกีดกันจนมิสามารถทำหัจญ์ให้เสร็จสมบูรณ์ หากไม่มีสัตว์พลี ก็ให้ถือศีลอดสิบวัน จากนั้นก็เปลื้องจากการอิห์รอมได้
• ผู้ที่ทำในสิ่งต้องห้ามซ้ำหลายครั้ง     
-    ทำสิ่งต้องห้ามชนิดเดียวกันหลายครั้ง แต่ยังไม่จ่ายค่าชดใช้ ให้จ่ายครั้งเดียว ซึ่งต่างกับค่าชดใช้ในการล่าสัตว์ (ต้องจ่ายตามจำนวนครั้งที่ทำ )
-    ทำสิ่งต้องห้ามหลายครั้ง แต่ต่างชนิด เช่น โกนศรีษะ แล้วตัดเล็บ ก็ต้องจ่ายค่าชดใช้ชนิดละหนึ่งครั้ง

มีกอต (เขตกำหนด)
มีกอต มีสองประเภท
1. มีกอตเวลา
    คือ เดือนแห่งการทำหัจญ์ เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮฺ และซุลหิจญะฮฺ
2. มีกอตสถานที่
คือ สถานที่ที่ผู้ทำหัจญ์หรืออุมเราะฮฺตั้งเจตนาเข้าพิธี ซึ่งมี 5 แห่ง
    1. ซุลหุลัยฟะฮฺ เป็นมีกอตของชาวมะดีนะฮฺ และผู้ที่ผ่านมาทางมะดีนะฮฺ ห่างจากมักกะฮฺ 435 กิโลเมตร ซึ่งไกลที่สุดจากบรรดามีกอต
    2. อัลญุห์ฟะฮฺ เป็นมีกอตของชาวชาม อียิปต์ และผู้ที่อยู่ในบริเวณหรือผู้ที่ผ่านมาทางนั้น คือหมู่บ้านหนึ่งใกล้กับ รอบิฆฺ ห่างจากมักกะฮฺ 180 กิโลเมตร ณ ปัจจุบัน ผู้คนจะทำการอิห์รอมจาก รอบิฆฺ
    3. ยะลัมลัม เป็นมีกอตของชาวเยเมน และผู้ที่อยู่ในบริเวณ หรือผ่านมาทางนั้น  ยะลัมลัม คือ ที่ราบลุ่ม ห่างจากมักกะฮฺ ประมาณ 92 กิโลเมตร
    4. ก็อรนุลมะนาซิล เป็นมีกอตของชาวนัจญ์ดฺ ฏออิฟ และผู้ที่ผ่านมาทางนั้น ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ อัสสัยลุลกะบีร ห่างจากมักกะฮฺ 75 กิโลเมตร  และจุดที่อิห์รอมคือ สถานที่ที่อยู่บนสุดของก็อรนุลมะนาซิล
    5. ซาตุ อิรกฺ  เป็นมีกอตของชาวอิรัก คุรอซาน ชาวนัจญ์ดฺส่วนกลางและเหนือ และผู้ที่อยู่ในบริเวณ และผู้ที่ผ่านมาทางนั้น เป็นที่ราบลุ่มมีชื่อว่า ฎอรีบะฮฺ ห่างจากมักกะฮฺประมาณ 100 กิโลเมตร
• มีกอตเหล่านี้ เป็นมีกอตของชาวเมืองต่างๆ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และเป็นมีกอตของผู้ที่ผ่านมาทางนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการทำหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ
• ผู้ที่อาศัยอยู่ในระหว่างเขตมีกอตและมักกะฮฺ ก็ให้ยึดมีกอตของเขา ณ จุดที่เขาต้องการอิห์รอมสำหรับหัจญ์และอุมเราะฮฺ  แม้กระทั่งชาวมักกะฮฺให้อิห์รอมหัจญ์จากมักกะฮฺ
• ชาวมักกะฮฺ เมื่อต้องการทำหัจญ์ ก็อิห์รอมจากมักกะฮฺ ส่วนอุมเราะฮฺนั้น ให้อิห์รอมจากนอกเขตหะรอมมักกะฮฺจากทิศใดก็ได้
• หากเขาไม่ผ่านไปทางมีกอต ให้เขาอิห์รอมจากจุดที่มีระยะทางเท่ามีกอตที่เขาอยู่ใกล้ที่สุด (ระยะทางระหว่างมักกะฮฺกับมีกอต ) เมื่อเขาผ่านไปทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ รถยนต์ หรือทางเรือ
• ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ทำหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ ผ่านมีกอตโดยไม่ตั้งเจตนาเข้าพิธี (อิห์รอม) และผู้ใดเลยมีกอตโดยไม่มีการอิห์รอม จำเป็นต้องกลับไปอิห์รอมที่มีกอต  หากเขาไม่กลับไป แต่อิห์รอมจากจุดนั้น จำเป็นที่เขาต้องจ่ายดัม(สัตว์พลี) หัจญ์และอุมเราะฮฺของเขาใช้ได้ หรือหากจะอิห์รอมก่อนถึงมีกอตก็ใช้ได้ แต่ไม่ควรปฏิบัติเช่นนั้น


ตอนที่ 7
การเชือดอุฎหิยะฮฺและอะกีเกาะฮฺ

الأضحية والعقيقة

อัลอุฎหิยะฮฺ (กุรบาน)  
  คือ อูฐ วัว แพะหรือแกะ ที่เชือดในวันนะหัรฺและวันตัชรีก (10-13 เดือนซุลหิจญะฮฺ) เพื่อเป็นทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ

เวลาเชือด คือ
หลังจากละหมาดอีด ในวันที่สิบ จนถึงสิบสาม เดือนซุลหิจญะฮฺ
ควรแบ่งเนื้อเป็นสามส่วน เพื่อรับประทานเองหนึ่งส่วน เพื่อเป็นของมอบให้(ฮะดียะฮฺ)หนึ่งส่วน และบริจาคแก่คนจนอีกหนึ่งส่วน
การทำอุฎหิยะฮฺนั้น  มีความประเสริฐอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้เกิดความสะดวก ยังประโยชน์แก่คนจน และขจัดความเดือดร้อนของพวกเขา
การเชือดสัตว์พลีจะใช้ไม่ได้ นอกจากอูฐที่ครบห้าปีบริบูรณ์  วัวครบสองปีบริบูรณ์ แกะครบหกเดือน และแพะครบหนึ่งปี
แพะหนึ่งตัวสำหรับหนึ่งคน อูฐหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วน และวัวหนึ่งตัวได้เจ็ดส่วน และอนุญาตให้แพะหนึ่งตัว หรืออูฐ หรือวัว เป็นกุรบานของตัวเขาและคนในครอบครัว และสัตว์ที่จะเชือด ควรเป็นสัตว์ที่ปราศจากตำหนิต่างๆ

อัลอะกีเกาะฮฺ
 คือ สัตว์ที่เชือดในกรณีที่คลอดบุตร ส่งเสริมให้ปฏิบัติ  แพะสองตัวสำหรับทารกชาย หนึ่งตัวสำหรับทารกหญิง จะเชือดในวันที่เจ็ด (นับจากวันคลอด) และให้ตั้งชื่อเด็กในวันที่เจ็ด และโกนศรีษะทารก แล้วบริจาคเงินตามราคาทองที่มีน้ำหนักเท่ากับผมของทารก หากพลาด(เลยเวลา)วันที่เจ็ด ก็ให้ทำในวันที่สิบสี่ หากพลาดอีกก็ให้ทำวันที่ยี่สิบเอ็ด หลังจากนั้นให้ทำในเวลาใดก็ได้ และไม่ควรทำให้กระดูกของมันหักหรือแตก
   อะกีเกาะฮฺ เป็นการขอบคุณในความปรดปรานใหม่ๆ ของอัลลอฮฺ และในโอกาสที่มีบุตร

 

ตอนที่ 8
การญิฮาด

الجهاد

1. นิยาม
การญิฮาด คือ การทุ่มเทพละกำลังและความสามารถในการต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

2. เหตุผลทางบทบัญญัติ
การญิฮาดนั้น คือจุดสูงสุดแห่งโดมของอิสลาม เป็นการเสียสละอันประเสริฐยิ่ง ถูกบัญญัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่อไปนี้
1. เพื่อเชิดชูดำรัสของอัลลอฮฺให้สูงส่ง และให้มีการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว
2. เพื่อคืนความสุขแก่มนุษยชาติ และนำพวกเขาออกจากความมืดสู่แสงสว่าง
3. เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมบนแผ่นดิน ให้สัจธรรมปรากฏและความเท็จต้องเสื่อมสลาย อันจะเป็นการยับยั้งมิให้ความวิบัติเกิดขึ้น
4. เพื่อเผยแพร่ศาสนา เพื่อปกป้องมุสลิม และตอบโต้แผนการชั่วร้ายของผู้ปฏิเสธศรัทธา

3. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติเกี่ยวกับการญิฮาด
การญิฮาด โดยทั่วไปนั้นเป็นภาคบังคับส่วนรวม (ฟัรฎูกิฟายะฮฺ) แต่จะเป็นภาคบังคับรายบุคคล (ฟัรฎูอัยน์) ในกรณีต่อไปนี้ สำหรับทุกคนที่มีความสามารถ
1. เมื่ออยู่ในแถวทหารเพื่อทำสงคราม
2. เมื่อศัตรูบุกประชิดบ้านเมือง
3. เมื่อผู้นำสั่งเคลื่อนทัพ

4. เงื่อนไขที่จำเป็นต้องญิฮาด
• เป็นมุสลิม
• มีสติสัมปชัญญะ
• บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
• เพศชาย
• ปราศจากความอุปสรรคหรือความลำบาก (เช่น เจ็บป่วย ตาบอด และพิการ)
• มีเสบียง

5. ประเภทของการญิฮาด
 การญิฮาดมี 4 ประเภท
1. เสียสละกำลังกาย โดยการเรียนรู้บัญญัติศาสนา แล้วปฏิบัติ และเผยแพร่ และการอดทนต่อความลำบากในการเรียกร้องเชิญชวน
2. ต่อสู้กับชัยฏอนมารร้าย คือการขจัดความคลุมเครือและอารมณ์ใฝ่ต่ำ ซึ่งมาจากการยุยงของมารร้าย
3. ต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกกลับกลอก (มุนาฟิก) ด้วยวาจา  พละกำลัง และใจ
4. ต่อสู้กับเหล่าผู้อธรรม ผู้ทำอุตริกรรม และความชั่วทั้งหลาย ดีที่สุดต่อสู้ด้วยการใช้มือหรือกำลังกายหากมีความสามารถ หากไม่สามารถก็ด้วยวาจา หากไม่สามารถก็ด้วยใจ

6. ความประเสริฐของผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม
สำหรับผู้เสียชีวิตในสงครามนั้น ณ ที่อัลลอฮฺมีผลบุญ 7 ประการ
1.    ได้รับการอภัยโทษตั้งแต่เลือดหยดแรก
2.    จะได้เห็นที่พำนักของเขาในสวรรค์
3.    จะได้รับการคุ้มครองจากการลงโทษ
4.    เขาจะปลอดภัยจากการตื่นตระหนกครั้งยิ่งใหญ่ (ในปรโลก )
5.    จะได้สวมอาภรณ์แห่งศรัทธา
6.    จะมีสาวสวรรค์เป็นภรรยา
7.    จะได้รับการขออุทธรณ์ให้แก่เครือญาติถึงเจ็ดสิบคน  

7. หลักปฏิบัติในการทำสงคราม
  ส่วนหนึ่งจากหลักปฏิบัติในการทำสงครามนั้นคือ ไม่ตีตลบหลังข้าศึก ไม่ฆ่าเด็กและสตรี หากพวกเขาไม่ร่วมทำสงครามด้วย ไม่ลำพองตน ไม่หลงตน ไม่คาดหวังอยากจะเจอศัตรู ต้องขอดุอาอ์จากอัลลอฮฺให้พระองค์ช่วยเหลือ เช่น
«اللهم منزل الكتاب، ومجري السحاب، وَهَازِمَ ا لأَحْزاب اهْزِمهم وَانْصُرنا عَلَيْهِم»
“โอ้อัลลอฮฺ ผู้ทรงประทานคัมภีร์ ผู้ขับเคลื่อนก้อนเมฆ ผู้ทำให้ศัตรูปราชัย โปรดให้พวกเขาพ่ายแพ้ และโปรดให้การช่วยเหลือแก่พวกเรา”
• ห้ามหันหลังหนีขณะเผชิญหน้ากับศัตรู นอกจากในสองกรณี
1. ถอยหนีเพื่อการสู้รบ (ถอยเพื่อตั้งหลัก)
2. ถอยเพื่อไปรวมกับอีกกลุ่ม

8. เชลยสงคราม
1. สตรีและเด็กจะถูกจับเป็นทาส
2. ผู้ชายที่เป็นนักรบ ผู้นำมีสิทธิ์เลือกระหว่าง ปล่อยพวกเขาไป หรือเอาค่าไถ่ หรือประหารชีวิต
ผู้นำ (แม่ทัพ) ต้องตรวจตราทหารเมื่อออกรบ ห้ามมิให้ผู้ที่ชักจูงยุยงผู้อื่นให้ละทิ้งสงครามออกไปกับกองทหาร และห้ามผู้ที่ก่อกวนทำให้ทหารเสียขวัญกำลังใจออกรบ  และไม่อาศัยความช่วยเหลือจากต่างศาสนิก (กาฟิร) นอกจากในภาวะคับขันเท่านั้น  ให้จัดเตรียมเสบียง และสั่งเคลื่อนทัพโดยสุภาพ และจัดหาที่พำนักที่ดีแก่ทหาร และหักห้ามมิให้ทหารกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติ สร้างขวัญกำลังใจ กำชับให้มีความอดทน  แบ่งทหารเป็นหมู่เหล่า อาศัยผู้มีประสบการณ์ ให้จัดเวรยาม ส่งกองสอดแนมไปยังศัตรู ให้ทรัพย์เชลยเป็นรางวัลแก่ทหาร ปรึกษาหารือกับสภาที่ปรึกษาในการทำสงคราม

9. หน้าที่ของทหารต่อผู้นำ(แม่ทัพ)
ทหารต้องเชื่อฟังผู้นำ มีความอดทน อดกลั้น ไม่ทำสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่ในกรณีที่ศัตรูจู่โจม และเกรงว่าจะได้รับอันตราย และหากศัตรูขอเจรจาพักรบหรืออยู่ในเดือนต้องห้าม (เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮฺ ซุลหิจญะฮฺ และเราะญับ) ก็สามารถทำได้

 

 

 

 

 

 

        หมวดที่ 2 การทำธุรกรรม
القسم الثاني : المعاملات

 

 

 

 


ตอนที่ 1
การซื้อขาย
البيع
1. คำนิยาม
เชิงภาษา   มาจากคำว่า บาอา คือ การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกับทรัพย์สิน หรือการให้สิ่งแลกเปลี่ยนแก่กัน
เชิงบทบัญญัติ  คือ การทำนิติกรรม (หรือข้อตกลง) แลกเปลี่ยนทรัพย์สิน โดยให้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง หรือให้ใช้ประโยชน์อย่างถาวร และไม่ใช่เพื่อการกุศล
ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ 
    การซื้อขายเป็นสิ่งอนุมัติ โดยอิงหลักฐานจากอัลกุรอาน หะดีษ มติเอกฉันของปวงปราชญ์ และสอดคล้องกับสติปัญญา

2. เหตุผลจากการอนุมัติการซื้อขาย
เนื่องจากเงินตราและสินค้านั้น อยู่กระจัดกระจายในหมู่ผู้คนทั่วไป  ขณะที่ผู้หนึ่งมีความต้องการสิ่งที่อยู่ในการครอบครองของอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเขาจะไม่ได้รับ เว้นแต่จะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน
   การซื้อขายเป็นการขจัดความเดือดร้อน และบรรลุในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นศาสนาจึงอนุมัติการซื้อขาย เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม

องค์ประกอบหลักของการซื้อขาย
1. คำเสนอและสนอง
2. ผู้ซื้อและผู้ขาย
3. สินค้าและราคา

สำนวนการซื้อขาย
คือ คำเสนอและคำสนองตอบรับ และทุกๆ สิ่งที่บ่งบอกถึงความพึงพอใจ เช่น ฉันขายแก่ท่าน ฉันมอบสิ่งนี้แก่ท่าน หรือฉันให้เป็นกรรมสิทธิ์ของท่าน และผู้ซื้อกล่าวว่า ฉันซื้อ ฉันรับเป็นกรรมสิทธิ์ ฉันตกลง หรือคำอื่นๆ ในทำนองนี้
และการซื้อขายสมบูรณ์ได้เพียงการกระทำจากฝ่ายเดียว (เช่น คำพูด หรือการมอบให้ ) และจากทั้งสองฝ่าย (ผู้ซื้อ ผู้ขาย)

การซื้อขายทางโทรศัพท์
การสนทนาทางโทรศัพท์นั้น ให้ถือว่าเป็นสถานที่ทำการซื้อขาย และการซื้อขายจะสิ้นสุดลงเมื่อจบการสนทนา เพราะสถานที่ในการซื้อขาย ให้ยึดธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเกณฑ์
เงื่อนไขที่ทำให้การซื้อขายสมบูรณ์  7 ประการ
1. ความพึงพอใจจากทั้งสองฝ่าย (ผู้ซื้อ ผู้ขาย) หรือความพึงพอใจของตัวแทน
2. ทั้งสองฝ่ายอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ (คือ   เป็นไท บรรลุนิติภาวะและมีสติสัมปชัญญะ)
3. สินค้าต้องเป็นสิ่งที่อนุมัติให้ใช้ประโยชน์  ดังนั้น ไม่อนุญาตให้ซื้อขายสิ่งที่ไม่มีประโยชน์  สิ่งที่ประโยชน์เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)  เช่น เหล้า และหมู และสิ่งที่ประโยชน์ของมันไม่เป็นที่อนุมัติ นอกจากในภาวะคับขัน เช่น ซากสัตว์
4. สินค้าต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย  หรือผู้ขายได้รับอนุญาตให้ขาย ขณะทำสัญญา
5. สินค้าต้องรู้ชัดเจนโดยการเห็น หรือระบุลักษณะรูปพรรณ
6. ราคาเป็นที่ทราบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
7. สินค้าและราคาสามารถส่งมอบแก่กันได้ ดังนั้น การขายสิ่งที่เตลิด (เช่น สัตว์ หรือทาส) ขายนกในอากาศ หรือทำนองเดียวกันนี้ ใช้ไม่ได้

เงื่อนในการซื้อขาย
เงื่อนไขในการซื้อขายมี  2 ประเภท
1. เงื่อนไขถูกต้องซึ่งมีผลบังคับ
2. เงื่อนไขไม่ถูกต้องซึ่งส่งผลให้การทำสัญญาเป็นโมฆะ
สำหรับเงื่อนไขถูกต้อง เช่น มีเงื่อนไขว่าให้ผ่อน หรือจ่ายก่อนเพียงบางส่วน หรือให้มีสิ่งค้ำประกัน หรือมีหลักประกัน เพราะส่งผลดีต่อพันธะสัญญา  หรือมีเงื่อนไขเกี่ยวกับลักษณะของสินค้า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«المُسْلِمُون عَلى شُرُوْطِهِم»
“บรรดามุสลิมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อกัน” (บันทึกโดย อะหมัด และอบู ดาวูด 3594)

 และการที่ผู้ขายตั้งเงื่อนไขต่อผู้ซื้อว่า จะใช้ประโยชน์ของสินค้าสักระยะ เช่น อาศัยในบ้านหลังนั้นเป็นเวลาหนึ่งเดือน เงื่อนไขเช่นนี้ก็ถูกต้อง

สำหรับเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่
• เงื่อนไขไม่ถูกต้อง และการซื้อขายเป็นโมฆะ เช่น ฝ่ายหนึ่งตั้งเงื่อนไขแก่อีกฝ่ายโดยมีสัญญาซ้อน เช่น ซื้อขายพร้อมกู้ยืม และให้เช่าพร้อมกับซื้อขาย    
• เงื่อนไขเป็นโมฆะแต่เพียงลำพัง  แต่การซื้อขายไม่เป็นโมฆะ เช่น ผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าหากซื้อสินค้าไปแล้วเกิดขาดทุน ก็จะคืนสินค้า หรือตั้งเงื่อนไขว่าอย่าไปขายต่อหรือมอบให้แก่ผู้ใด
      แต่เมื่อเงื่อนไขนั้นส่งผลดีต่อสัญญาซื้อขาย เงื่อนไขนั้นก็ถูกต้อง
การค้าขายที่ต้องห้าม
   อิสลามได้อนุมัติการค้าขายทุกประเภทที่จะนำมาซึ่งความดีและความจำเริญ และห้ามการซื้อขายบางประเภท เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียด และมีความเสี่ยง  หรือเกิดผลเสียต่อวงการตลาด หรือเกิดผลต่อความรู้สึก เป็นเหตุให้มีการริษยาต่อกัน และพิพาทกัน ได้แก่
1. บัยอุลมุลามะสะฮฺ (การซื้อขายโดยการสัมผัส) เช่นผู้ขายกล่าวว่า ผ้าชิ้นใดที่ท่านสัมผัส ก็จะเป็นของท่าน ด้วยราคาเท่านั้นเท่านี้ การขายเช่นนี้ เป็นโมฆะ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนและมีความเสี่ยง
2. บัยอุนมุนาบะซะฮฺ (การโยนสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ) เช่นกล่าวว่า ผ้าชิ้นใดที่ท่านโยนมายังฉัน ก็จะเป็นของฉัน ด้วยราคาเท่านั้นเท่านี้  การซื้อขายเช่นนี้ก็เป็นโมฆะ เนื่องจากมีความเสี่ยงและไม่ชัดเจน
3. บัยอุนหะศอต (โยนก้อนหิน) เช่นผู้ขายกล่าวว่า จงโยนก้อนหิน หากโดนชิ้นใด ก็จะเป็นของท่าน ด้วยราคาเท่านั้นเท่านี้ การซื้อขายเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีความชัดเจนและมีความเสี่ยง
4. บัยอุนนัจญ์ชฺ (แบบมีหน้าม้า) คือการเพิ่มราคาจากผู้ที่ไม่ต้องการซื้อสินค้า (เพื่อให้ผู้ซื้อหลงกล และซื้อในราคาที่สูง) เป็นการซื้อขายที่ต้องห้าม เพราะเกิดผลเสียต่อผู้ซื้อ และเป็นการหลอกลวง
5. สองขายในหนึ่งขาย (ขายสองแบบ)  เช่น ผู้ขายกล่าวว่า ฉันขายสิ่งนี้แก่ท่าน โดยที่ท่านต้องขายสิ่งนั้นแก่ฉัน หรือ ฉันขายสิ่งนี้แก่ท่านด้วยราคาสด 10  หรือราคาผ่อน 20 แล้วก็แยกย้ายจากกันก่อนที่จะตกลงกันในราคาใด การกระทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการซื้อขายยังผูกพันอยู่กับเงื่อนไข (ในตัวอย่างแรก)  และเนื่องจากราคาไม่แน่นอน (ในตัวอย่างที่สอง)
6. ผู้ที่อยู่ในเมืองขายแทนผู้มาจากชนบท  นั่นก็คือ นายหน้า (ตัวกลาง) ซึ่งจะขายสินค้าด้วยราคาสูงกว่าราคาทั่วไป (ปกติ)
7. การขายตัดหน้า เช่น เขากล่าวแก่คนที่จะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งในราคา 10 เหรียญ โดยกล่าวว่า ณ ที่ฉันก็มีสิ่งเหมือนกันแต่ขายแค่ 9 เหรียญ
8. ขายสินค้าที่ยังมิได้ครอบครอง
9. บัยอุลอีนะฮฺ คือ ขายสินค้าในราคาผ่อน (หรือเครดิต) แล้วซื้อคืนด้วยราคาสด ในราคาที่น้อยกว่า
10. การซื้อขายหลังจากอะซานครั้งที่สองในละหมาดวันศุกร์ (สำหรับคนที่วาญิบต้องละหมาดวันศุกร์)


ตอนที่ 2
บทบัญญัติเกี่ยวกับดอกเบี้ย
احكام الربا
1. นิยามของดอกเบี้ย
เชิงภาษา คือ การเพิ่มเติมและงอกเงย และจะถูกนำมาใช้กับการซื้อขายที่ต้องห้ามทุกประเภท
เชิงบทบัญญัติ คือ การเพิ่มในสิ่งต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ หรือการทำนิติกรรมในการแลกเปลี่ยน โดยที่ไม่มีความเท่าเทียมกันตามกรอบของศาสนา หรือ สิ่งแลกเปลี่ยนของอีกฝ่ายยังคงค้างจ่าย หรือค้างจ่ายทั้งสองฝ่าย

2. เหตุผลการห้ามดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจาก
1. มีความไม่สมดุล (ไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยนกัน) ระหว่างความเหน็ดเหนื่อยกับผลที่ได้รับ เพราะเจ้าหนี้ที่เอาดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ต้องทำอะไร และไม่ต้องรับภาระการขาดทุนในสิ่งที่จะเป็นรายได้ของเขา หรือกำไรที่เขาจะได้รับ
2. ระบบเศรษฐกิจจะพังทลาย เพราะเจ้าหนี้ ไม่ทำงานและอยู่อย่างสบาย เกียจคร้าน เพียงเพราะมีความละโมบในผลตอบแทนที่เป็นกำไร และเพิ่มภาระแก่ลูกหนี้ โดยที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของระบบดอกเบี้ย
3. ทำลายจริยธรรมของสังคม เพราะขาดการร่วมมือระหว่างกัน เป็นเหตุนำพาสู่การเอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว แทนที่จะมีการเสียสละ ความรัก และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
4. มีการแยกชนชั้นในสังคม ระหว่างคนทำงาน คนจน กับกลุ่มนายทุน ซึ่งแรงงานและความเหน็ดเหนื่อยของพวกเขาถูกเอาเปรียบ

3. ประเภทของดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยตามทัศนะของผู้รู้ส่วนมาก มี 2 ประเภท
1. ดอกเบี้ยเชิงเวลา (ริบา อันนะสีอะฮฺ)
    คือ การยืดระเวลาในการชำระหนี้ นั่นก็คือ ฝ่ายหนึ่งต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อทดแทนกับการยืดระยะเวลาในการจ่าย ซึ่งเรียกว่า ผ่อน (หรือ เซ็น หรือ เครดิต)
2. ดอกเบี้ยเชิงปริมาณ หรือความเหลื่อมล้ำ ( ริบา อัลฟัฎลฺ )
     คือ ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสิ่งแลกเปลี่ยนชนิดเดียวกัน เช่น ทองคำแลกเปลี่ยนกับทองคำที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน ข้าวบาเล่กับข้าวบาเล่ที่มีปริมาณไม่เท่ากัน หรืออื่นๆ ในทำนองนี้ จากทรัพย์สินที่มีมูลเหตุดอกเบี้ยเชิงปริมาณ (คือ ทองคำ เงิน ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ อินทผลัม และเกลือ) ดอกเบี้ยประเภทนี้ถูกเรียกว่า “ดอกเบี้ยการซื้อขาย และดอกเบี้ยที่ซ่อนเร้น (มองไม่เห็น)”
- ดอกเบี้ยประเภทที่สามตามทัศนะของอัชชาฟิอียะฮฺ (ผู้รู้มัซฮับชาฟิอีย์)  คือ ดอกเบี้ยในการครอบครองกรรมสิทธิ์  คือ การยืดระยะเวลาในการครอบครองสิ่งแลกเปลี่ยนจากทั้งสองฝ่าย หรือจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
- ดอกเบี้ยประเภทที่สี่ (ตามทัศนะของบางส่วน) คือดอกเบี้ยในการกู้ยืม คือ การกู้ยืมที่เรียกร้องผลประโยชน์
แต่ในความเป็นจริง การแบ่งประเภทของดอกเบี้ยยังคงอยู่ในสองประเภทหลักข้างต้น
นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่แบ่งดอกเบี้ยเป็น 2 ประเภท
1. ดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาใช้ในการบริโภค
 คือ ส่วนเพิ่มที่ถูกเก็บจากการกู้ยืมที่นำไปซื้อสิ่งจำเป็นพื้นฐาน  เช่นอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค และในทำนองนี้
2. ดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาลงทุน
คือ  เพื่อใช้ในการผลิต เช่นสร้างโรงงาน โรงเรือน หรือเพื่อเป้าหมายในการค้า
และดอกเบี้ยยังแบ่งได้อีก   2 ประเภท
    1. ดอกเบี้ยทบเท่าทวี คือ ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มในอัตราหลายเท่า
    2. ดอกเบี้ยธรรมดา คือ ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มเพียงเล็กน้อย
     ดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้ามในทุกๆ การทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเชิงปริมาณ ดอกเบี้ยเชิงเวลา  ดอกเบี้ยทบเท่าทวี  หรือดอกเบี้ยธรรมดา ดอกเบี้ยเพื่อการบริโภคหรือลงทุน
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَأَحَلَّ ٱللَّهُ ٱلۡبَيۡعَ وَحَرَّمَ ٱلرِّبَوٰاْۚ  ﴾ [البقرة : 275]  
“อัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขาย และห้ามดอกเบี้ย”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ 275)

3. แนวทางที่จะปลอดภัยจากดอกเบี้ย  มีหลายประการ
อิสลามได้วางหลายแนวทางเพื่อให้บริสุทธิ์จากดอกเบี้ย ได้แก่
1. อนุมัติให้มีการหุ้นส่วน (ร่วมทุน) คือการหุ้นส่วนจากสองคน คนหนึ่งมีต้นทุน และอีกคนเป็นผู้ลงมือทำ กำไรแบ่งตามที่ตกลงกัน การขาดทุนจะเกิดแก่เจ้าของทุน ส่วนผู้ปฏิบัติการไม่ต้องรับผิดชอบในการขาดทุน แต่เขาขาดทุนในแรงงาน
2. อนุญาตให้มีการซื้อขายล่วงหน้า คือ (สะลัม) คือจ่ายก่อนและจะส่งมอบสินค้าภายหลัง
ผู้ใดมีความเดือดร้อนต้องการทรัพย์ ก็ให้ขายผลผลิตตามฤดูกาล ด้วยราคาที่เหมาะสม (ตามเงื่อนไขที่ถูกกล่าวไว้ในตำราฟิกฮฺ)
3. อนุญาตให้มีการขายผ่อน (เซ็น หรือเครดิต) คือ ราคาจะสูงกว่าราคาสด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวก และปราศจากดอกเบี้ย
4. ส่งเสริมให้มีกองทุนเพื่อการยืม เป็นรายบุคคล หรือแบบกลุ่ม หรือระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อให้มีการช่วยกันอย่างแท้จริง
5. อิสลามบัญญัติให้ผู้ที่มีหนี้สินซึ่งมีความเดือดร้อน คนยากจน คนเดินทางที่ขาดปัจจัยเป็นผู้มีสิทธิ์รับซะกาต  ทั้งนี้เพื่อขจัดความเดือดร้อนของพวกเขา และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น
 เหล่านี้คือช่องทางที่สำคัญเพื่อรักษาไว้ซึ่งความดีงามและประโยชน์แก่มนุษยชาติ และบรรลุเป้าหมายในการขจัดความเดือดร้อนต่างๆ

4. กำไรหรือรายได้ที่เกิดจากธนาคาร
หมายถึง (ตามนักเศรษฐศาสตร์)  คือ  ส่วนเกินหรือส่วนเพิ่มที่ธนาคารจ่ายให้แก่ผู้ที่ฝากเงิน และเรียกเก็บจากผู้กู้ยืม นั่นเป็นส่วนหนึ่งจากดอกเบี้ย ยิ่งกว่านั้น มันคือตัวตนของดอกเบี้ยโดยแท้เลยทีเดียว แม้จะมีชื่อเป็นอย่างอื่นก็ตามแต่ ดังนั้นมิต้องสงสัยเลยว่า นั่นคือดอกเบี้ยที่ต้องห้าม (หะรอม) ตามอัลกุรอาน หะดีษ และมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์
และส่วนเพิ่มจากการกู้ยืมที่มีการตั้งเงื่อนไขไว้นั้น เป็นสิ่งต้องห้าม โดยมติเอกฉันท์ ส่วนชื่อที่เรียกว่ากู้ยืมนั้น ไม่ใช่การกู้ยืมที่แท้จริง   ดังที่เชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม มุฟตี ประเทศซาอุดิอาระเบียได้กล่าวไว้ว่า  “ในความเป็นจริงสิ่งที่ถูกเรียกว่าการกู้ยืมนั้น ไม่ใช่การกู้ยืม  เนื่องจากการกู้ยืมที่แท้จริงคือ การทำทาน การช่วยเหลือและให้ความสะดวก แต่นี่คือการแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน คือการซื้อขายเงินตราด้วยเงินตราในราคาผ่อน และมีกำไรตามที่ตั้งเงื่อนไขไว้”
    ด้วยเหตุนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า กำไรที่ธนาคารเรียกเก็บจากการกู้ยืม และที่ธนาคารจ่ายแก่ผู้ฝากนั้น มีสถานะเท่าเทียมกับดอกเบี้ยทุกประการ

 

 

 

 

 


ตอนที่ 3
การเช่าและการจ้าง
الإجارة

1. ความหมาย อัลอิญาเราะฮฺ
คือ การทำนิติกรรมให้ใช้ประโยชน์ หรือให้ทำประโยชน์ในสิ่งที่อนุมัติและเป็นที่ทราบกันทั้งสองฝ่าย

2. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
การเช่าและการจ้างเป็นสิ่งที่อนุมัติ คือการทำนิติกรรมที่มีผลบังคับทั้งสองฝ่าย (ผู้ว่าจ้างและลูกจ้าง/ผู้ให้เช่าและผู้ขอเช่า)

3. เหตุผลแห่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ้างและการเช่า
ในการเช่าและการว่าจ้างเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะบางคนมีความต้องการคนที่ชำนาญทำงานแก่เขา สร้างอาคารและโรงเรือน  รถยนต์ เครื่องมือในการบรรทุก ขนส่ง และใช้ประโยชน์ และในการว่าจ้าง เช่า เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้คนที่จะจัดการกับความเดือดร้อนต่างๆ

4. ประเภทของการเช่าและการว่าจ้าง มี 2 ประเภท
• การเช่าสิ่งของ เช่น “ฉันให้ท่านเช่าบ้านหลังนี้ หรือรถยนต์คันนี้”
• การว่าจ้างให้ทำงาน เช่น ว่าจ้างให้ก่อสร้างกำแพง หรือไถดิน หรืออื่นๆ

5. เงื่อนไขการว่าจ้างและเช่า
1. การว่าจ้างและเช่าผู้ที่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ (มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นทาส และบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ)
2. มีความชัดเจนในการใช้ประโยชน์ หรือให้ทำประโยชน์ เช่น เช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัย ว่าจ้างเพื่อเป็นคนรับใช้ หรือเพื่องานสอน
3. ค่าเช่าหรือค่าจ้างมีต้องมีความชัดเจน
4. การใช้หรือทำประโยชน์ในสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ เช่น บ้านเพื่ออยู่อาศัย ดังนั้นไม่อนุญาตให้ว่าจ้างในสิ่งต้องห้าม เช่น การซินา (ผิดประเวณี) ร้องเพลง เช่าบ้านเพื่อทำเป็นโบสถ์ หรือเพื่อเป็นที่ขายเหล้า เหล่านี้เป็นต้น
ประเด็น การโดยสารรถยนต์ เครื่องบิน หรือเรือ หรือจ้างตัดเย็บผ้า หรือว่าจ้างให้แบกสัมภาระ โดยไม่มีการทำการตกลงกัน (สัญญา) ก็เป็นอันใช้ได้ ด้วยราคาเช่าหรือจ้างตามจารีตประเพณี

 

6. เงื่อนไขสิ่งที่ให้เช่า
   มีเงื่อนไขว่าสิ่งที่ให้เช่า ต้องทราบชัดเจน โดยการเห็นหรือการบ่งบอกลักษณะ และทำสัญญาตกลงกันให้ใช้ประโยชน์ในสิ่งนั้น  โดยไม่ใช่ตัวของมัน  และสามารถส่งมอบแก่กันได้ และต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า หรือผู้ให้เช่าได้รับอนุญาตในสิ่งนั้น

7. ประเด็นต่างๆ ในการให้เช่า
• สิ่งที่เป็นวะกัฟสามารถให้เช่าได้ หากผู้ให้เช่าเสียชีวิต กรรมสิทธิ์จะตกแก่ทายาท ค่าเช่าก็เป็นของทายาท การเช่าจะไม่ถูกยกเลิก
• ไม่อนุญาตให้เช่าในสิ่งที่ห้ามซื้อขาย ยกเว้นเช่าสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ (วะกัฟ) ว่าจ้างคนที่เป็นอิสระ (ไม่ใช่ทาส) และจ้างทาสที่เป็นแม่ของลูก (สามประการนี้ห้ามขายแต่ว่าจ้างหรือเช่าได้ )
• การเช่าจะถูกยกเลิก เนื่องจากสิ่งที่ให้เช่าเกิดชำรุด เสียหาย หรือหมดประโยชน์
• อนุญาตให้เอาค่าจ้างในการสอน การก่อสร้างมัสยิด และอื่นๆ ในทำนองนี้ ส่วนค่าจ้างในการทำหัจญ์ สามารถเอาได้เมื่อจำเป็น
• ผู้ทำหน้าที่อิมาม ครูสอนอัลกุรอาน และ ผู้ทำหน้าที่อะซาน สามารถเอาค่าจ้างหรือรับค่าตอบแทนจากกองคลังได้  โดยไม่ต้องมีการตั้งเงื่อนไขไว้ก่อน
• ลูกจ้างหรือผู้เช่าไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหาย หากไม่เกิดจากการละเลย หรือใช้เกินขอบเขต
• จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าเช่า เมื่อมีการทำสัญญา และจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าเมื่อมีการส่งมอบสิ่งที่ให้เช่า และหากทั้งสองฝ่ายยินยอมที่ให้มีการยืดเวลา หรือผ่อนชำระ ก็สามารถทำได้ ส่วนลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเมื่อทำงานเสร็จ

 

 

 

ตอนที่ 4
วะกัฟ

الوقف

1. คำนิยาม
เชิงภาษา คือมาจากคำว่า วะ กอ ฟา แปลว่า สงวน ระงับ และบริจาค
เชิงวิชาการ คือ การสงวนทรัพย์สินหลักที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ไว้  และนำประโยชน์ไปบริจาคเพื่อเป็นทาน

2. หลักฐานการทำวะกัฟ
มีหลักฐานจากหะดีษ และมติเอกฉันของปวงปราชญ์
หลักฐานจากหะดีษ
أَنَّ عُمَر قال: يَا رَسُولَ اللّه، إِني أَصَبْتُ مَالًا بِخَيْبَر لَمْ أُصِبْ قَط مَالًا أَنفَس عِندي مِنهُ، فَمَا تَأْمُرنِي فِيه؟ قَال: «إِن شِئْتَ حَبست أَصلَها وَتَصَدّقْت بِهَا، غَيرَ أَنَّه لَا يُبَاع أَصلُها وَلَا يُوهَب ولَا يُورَث»
อุมัรฺ บิน อัลค็อฏฏอบ กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลของอัลลอฮฺ ฉันได้ครอบครองทรัพย์สิน (ที่ดินได้มาโดยการซื้อ) ที่เมืองค็อยบัรฺ ฉันไม่เคยได้รับทรัพย์สินที่มีค่าเช่นนี้มาก่อน ท่านจะสั่งให้ฉันทำสิ่งใด  ท่านเราะสูลกล่าวว่า “หากท่านต้องการก็จงระงับสิทธิ์ไว้ (ห้ามถ่ายโอนกรรมสิทธิ์) โดยไม่ขายและไม่มอบให้คนอื่น และไม่เป็นมรดก แล้วนำผลประโยชน์มาบริจาคเป็นทาน”
 
فَتَصَدَّق بِهَا عُمَر علَى الفُقَرَاء وَذَوِي القُربَى وَالرِّقَاب وَفِي سَبِيل اللّهِ وَابْن السَبِيل والضَيْف، وَلَا جُنَاحَ علَى مَن وَلِيَها أَنْ يَأْكُلَ مِنهَا بِالمَعْرُوف أَوْ يطْعم صَدِيقًا غَيْرَ متمول فِيه.
“แล้วอุมัรฺก็บริจาคเป็นทานแก่คนยากจน ญาติใกล้ชิด ในการไถ่ทาส และแก่นักรบในศาสนา คนเดินทางที่ขาดเสบียง และผู้ที่เป็นแขก และไม่เป็นบาปแก่ผู้ที่ดูแลที่จะบริโภคตามปกติวิสัย (ธรรมเนียม )หรือให้ผู้อื่นบริโภคโดยไม่ถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 2586,  มุสลิม 1633, อัตติรมิซีย์ 1375, อันนะสาอีย์ 3640, อบูดาวูด 2878, และท่านอื่น)

การทำวะกัฟเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของมุสลิม
ญาบิรฺ กล่าวว่า “ไม่มีสาวกของเราะสูลคนใดที่มีความสามารถ นอกจากเขาจะทำการวะกัฟ  
จากหะดีษบทนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า ผู้คนในปัจจุบันนี้ มีความแตกต่างกับยุคของบรรดาเศาะหาบะฮฺ เพราะโดยมากในปัจจุบันจะไม่รู้จักสิ่งใด นอกจากการทำพินัยกรรม พวกเขาไม่รู้จักการทำวะกัฟ

3. เหตุผลการบัญญัติการทำวะกัฟ
 1. ส่งเสริมให้ผู้ที่มีฐานะดีเตรียมเสบียงเพื่อโลกหน้า โดยการทำความดีให้มากๆ โดยให้ทำการบริจาคทรัพย์สินเพื่อเป็นทาน เพราะเกรงว่าหลังจากที่เขาตายไปแล้ว ทรัพย์สินของเขาจะถูกถ่ายโอนไปยังผู้ที่ไม่รู้จักรักษา แล้วการงานของเขาจะถูกลบล้าง และลูกหลานของเขาจะยากจน และเพื่อป้องกันมิให้เกิดเช่นนั้น และเพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำความดี ศาสนาจึงบัญญัติให้มีการทำวะกัฟ เพื่อที่เขาจะทำความดีด้วยตัวเอง และจัดการตามความประสงค์ และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เหมือนกับตอนที่เขามีชีวิต
2. การทำวะกัฟเป็นสาเหตุหลัก (ปัจจัยหลัก) ที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งมัสญิด โรงเรียน และอื่นๆ ที่เป็นการกุศล เพราะตามประวัติศาสตร์มัสญิดโดยมากดำรงอยู่ด้วยกับสิ่งวะกัฟ ยิ่งกว่านั้น สิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับมัสญิด เช่น การทำความสะอาด เครื่องปู และปัจจัยยังชีพของผู้ดูแล ยังต้องอาศัยสิ่งวะกัฟ

4. ถ้อยคำวะกัฟ
ถ้อยคำที่ชัดเจน เช่น ฉันได้สงวนสิทธิไว้  ฉันทำการวะกัฟ ฉันทำทานในหนทางแห่งอัลลอฮฺ
และถ้อยคำที่เป็นนัย เช่น ฉันทำทาน ฉันหวงห้ามไว้มิให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ ฉันให้มันอยู่ตลอดไปโดยไม่เป็นสิทธิ์ของผู้ใด
ถ้อยคำที่เป็นนัยจะบ่งชี้ถึงการทำวะกัฟได้ โดยอย่างหนึ่งอย่างใดหนึ่งจากสามกรณี
1. ถ้อยคำเป็นนัยและเจตนาทำวะกัฟ
2. ถ้อยคำที่เป็นนัยพร้อมกับถ้อยคำที่ชัดเจน หรือพร้อมกับถ้อยคำที่เป็นนัยเช่น ฉันสงวนสิ่งนี้ไว้ หรือสิ่งนี้เพื่อหนทางแห่งอัลลอฮฺ หรือให้อยู่ตลอดไปโดยไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด
3. การระบุลักษณะของสิ่งของ เช่น สิ่งนี้ห้ามขายและห้ามมอบให้ และเช่นเดียวกัน การวะกัฟจะสมบูรณ์โดยการกระทำ เช่น สร้างมัสญิดในที่ดินตนเองแล้วอนุญาตให้คนอื่นละหมาด

5. ประเภทของการทำวะกัฟ
การทำวะกัฟโดยแบ่งตามผู้รับประโยชน์ มี 2 ประเภท
• การกุศล
• เพื่อส่วนตัวหรือลูกหลาน
1. วะกัฟเพื่อการกุศล
คือ ในเบื้องต้นวะกัฟเพื่อการกุศล แม้ว่าเพียงระยะเวลาหนึ่งก็ตาม จากนั้นจะวะกัฟแก่คนใด หรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น บริจาคที่ดินแก่โรงพยาบาล หรือโรงเรียน ต่อจากนั้นจะเป็นของลูกหลาน
2. วะกัฟเพื่อส่วนตัวหรือลูกหลาน
คือ สิ่งที่วะกัฟในเบื้องต้นแก่ตัวเอง หรือคนใด หรือกลุ่มใด เป็นการเฉพาะ แล้วต่อมาจะวะกัฟเพื่อการกุศล เช่น วะกัฟแก่ตัวเองเมื่อเขาเสียชีวิตจะเป็นของลูกๆ และเมื่อพวกเขาเสียชีวิตจะวะกัฟเพื่อการกุศล

6. สิ่งที่ทำวะกัฟ
สิ่งที่ทำวะกัฟคือ ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ (สิ่งปลูกสร้าง)  เช่น อาคาร ที่ดิน หรือบ้าน โดยมติเอกฉันท์ หรือสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์เคลื่อนย้ายได้) เช่น หนังสือ เสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง และอาวุธ
   ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَأَمَّا خَالِد فَإِنَّكُم تَظْلمون خَاِلدًا فَإِنَّه احْتَبَس أَدْرَعه وَأعْتَدَه فِي سَبِيلِ اللّه»
“สำหรับคอลิดนั้น  แท้จริงพวกท่านอธรรมต่อคอลิด (โดยกล่าวหาว่าไม่จ่ายซะกาตเสื้อเกราะ เพราะเข้าใจว่ามีไว้เพื่อค้าขาย) เนื่องจากเขาได้บริจาคเสื้อเกราะและอาวุธของเขาเพื่ออัลลอฮฺแล้ว” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1399,  มุสลิม 983,  อัตติรมิซีย์ 3761,  อันนะสาอีย์ 2464,  อบู ดาวูด 1623, และอะหมัด 2/323)
และมติเอกฉันท์ของประชาชาตินี้ ในการวะกัฟเสื่อ และโคมไฟ แก่มัสยิด โดยไม่มีการคัดค้าน
การวะกัฟเครื่องประดับเพื่อการสวมใส่และยืม (เช่น ชุดเจ้าสาวเพื่อให้ยืม)  ก็ใช้ได้ เนื่องจากการวะกัฟ คือถาวรวัตถุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ก็เช่นเดียวกับอาคาร
 
7. เงื่อนไขผู้วะกัฟ
ผู้ที่ทำวะกัฟต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้ หากขาดข้อหนึ่งข้อใด การทำวะกัฟใช้ไม่ได้
1. ต้องมีคุณสมบัติที่จะบริจาคได้ การทำวะกัฟของทรัพย์ที่ปล้น  หรือซื้อแต่ยังไม่ได้สิทธิ์ครอบครองโดยสมบูรณ์ ก็ใช้ไม่ได้
2. ผู้วะกัฟต้องมีสติสัมปชัญญะ ดังนั้นการทำวะกัฟของคนวิกลจริต คนปัญญาอ่อน และในทำนองนี้ ใช้ไม่ได้
3. ต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ ดังนั้นการวะกัฟของเด็ก ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะรู้เดียงสาหรือไม่ก็ตาม
4. เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ทรัพย์ (เป็นผู้ที่มีความปราดเปรื่อง) ดังนั้นการวะกัฟของผู้ที่ถูกอายัดใช้ไม่ได้ (อายัดเพราะสติไม่สมประกอบ หรือล้มละลาย)

8. เงื่อนไขสิ่งวะกัฟ
เพื่อให้สิ่งวะกัฟดำเนินอย่างต่อเนื่อง ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้
1 ต้องเป็นทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ (สิ่งปลูกสร้าง)  เช่น อาคาร หรืออื่นๆ  
2. เป็นทรัพย์สินที่ทราบตัวตน ปริมาณอย่างชัดเจน
3. เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้วะกัฟ ขณะที่วะกัฟ
4. จะต้องเจาะจง ดังนั้นการวะกัฟสิ่งที่ไม่เจาะจงใช้ไม่ได้
5.  สิ่งที่วะกัฟจะต้องไม่เกี่ยวพันกับกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
6. สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติวิสัย
7. ใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ

9. การใช้ประโยชน์จากสิ่งวะกัฟ
การใช้ประโยชน์จากสิ่งวะกัฟ เช่น บ้านโดยการอยู่อาศัย พาหนะโดยการขับขี่ และสัตว์โดยการตัดเอาขน นม ไข่ หรืออื่นๆ ไปใช้ประโยชน์
       
10. ความแตกต่างระหว่างวะกัฟและวะศียะฮฺ(พินัยกรรม)
1. วะกัฟ คือการสงวนไว้ซึ่งสิทธิ์ของทรัพย์สินหลัก และบริจาคผลประโยชน์ (ผลผลิต) ไว้เป็นทาน ขณะที่วะศียะฮฺ(พินัยกรรม) คือการโอนกรรมสิทธิ์ให้โดยสมัครใจหลังจากที่เจ้าของเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือผลประโยชน์ต่างๆ
2. วะกัฟมีผลบังคับ จะกลับคำหรือยกเลิกไม่ได้ (ตามทัศนะของผู้รู้โดยรวม) เนื่องจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่อุมัรฺว่า
«إِنْ شِئْتَ حَبِسْتَ أَصْلَهَا وَتَصَدَّقْتَ بِهَا»
“หากท่านต้องการ (ประสงค์) ก็จงสงวนสิทธิ์ไว้ และนำผลประโยชน์บริจาคเป็นทาน”  (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 2586, มุสลิม 1633  และท่านอื่น ๆ)
ส่วนพินัยกรรมนั้น จะมีผลบังคับ และอนุญาตให้เจ้าของพินัยกรรมกลับคำพูดได้ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน
3. สิ่งที่วะกัฟจะไม่มีผู้ใดถือสิทธิ์ครอบครอง ส่วนประโยชน์เป็นสิทธิ์ของผู้รับวะกัฟ ขณะที่พินัยกรรมนั้น สิทธิ์และประโยชน์ จะเป็นของผู้รับพินัยกรรม
4. การให้สิทธิ์ใช้ประโยชน์ในสิ่งวะกัฟ จะเกิดขึ้นขณะผู้วะกัฟมีชีวิตและหลังจากที่เสียชีวิต ส่วนสิทธิ์ในพินัยกรรมจะเกิดขึ้นหลังจากเจ้าของพินัยกรรมเสียชีวิตเท่านั้น  
5. ในการวะกัฟจะไม่มีการจำกัดปริมาณ ส่วนพินัยกรรม จะต้องไม่เกินหนึ่งในสาม เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากทายาท
6. อนุญาตให้วะกัฟแก่ทายาท ส่วนพินัยกรรมนั้น ไม่อนุญาต เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบรรดาทายาท

 

ตอนที่ 5
พินัยกรรม
الوصية
1. นิยาม
วะศียะฮฺ หรือพินัยกรรม คือ คำสั่งให้จัดการทรัพย์สินหลังจากที่เขาเสียชีวิต รวมถึงการคืนของฝาก การบริจาคและภาระต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน การจัดงานแต่งให้ลูกสาว การอาบน้ำและละหมาดศพ การจัดการหนึ่งส่วนสามของทรัพย์สิน และอื่นๆ

2. หลักฐานทางบทบัญญัติการทำพินัยกรรม
อัลกุรอาน หะดีษ และมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์
﴿ كُتِبَ عَلَيۡكُمۡ إِذَا حَضَرَ أَحَدَكُمُ ٱلۡمَوۡتُ إِن تَرَكَ خَيۡرًا ٱلۡوَصِيَّةُ لِلۡوَٰلِدَيۡنِ وَٱلۡأَقۡرَبِينَ بِٱلۡمَعۡرُوفِۖ حَقًّا عَلَى ٱلۡمُتَّقِينَ ١٨٠ ﴾  [البقرة : 180]
“การทำพินัยกรรมให้แก่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดโดยชอบธรรมนั้นได้ถูกำหนดขึ้นแก่พวกเจ้าแล้ว เมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเจ้า หากเขาได้ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ ทั้งนี้เป็นหน้าที่แก่ผู้ยำเกรงทั้งหลาย”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ 180)
    และหะดีษ     
«مَا حَق امرئ مُسْلِم لَه شَيءٌ يُوصي بِهِ يبيت لَيْلَتين إِلَّا وَوَصِيَّته مكتوبة»
“ไม่บังควรแก่มุสลิมคนใดที่เขามีภาระต้องสั่งเสียโดยที่เขานอนโดยไม่เอาใจใส่ (เผอเรอ) เพียงสองคืน นอกจากว่าต้องมีพินัยกรรมของเขาถูกจารึกไว้ ณ ที่เขา” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 2587, มุสลิม 1627,  อัตติรมิซีย์ 974, อันนะสาอีย์ 3616, อบูดาวูด 2862, อิบนุมาญะฮฺ  2699,  อะหมัด 2/80, และมาลิก 1492)
 
3. พินัยกรรมมีผลบังคับโดย
1. วาจา
2. ลายลักษณ์อักษร
3. สัญญาณบ่งชี้ที่เข้าใจได้
หนึ่ง  วาจา
    นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นพ้องกันว่าพินัยกรรมมีผลบังคับโดยคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ เช่น สิ่งนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของคนนั้น หรือคำพูดที่เป็นนัยแต่เข้าใจได้ว่าเป็นพินัยกรรมโดยมีพยานแวดล้อมประกอบ เช่น หลังจากฉันตายฉันให้เขาสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือจงเป็นพยานด้วยว่าฉันสั่งเสียสิ่งนี้แก่คนนั้น
สอง  ลายลักษณ์อักษร
ลายลักษณ์อักษรจากคนที่ไม่สามารถพูดได้ เช่นเป็นใบ้ หรือผู้ที่ลิ้นหนักพูดไม่ได้ หรือผู้ที่หมดหวังที่จะพูด
สาม  สัญญาณ
คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการสั่งเสีย  และพินัยกรรมของคนเป็นใบ้ และคนที่พูดไม่ได้มีผลบังคับโดยสัญญาณที่เข้าใจได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาไม่สามารถพูด และหมดหวังที่จะพูดได้

4. ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
พินัยกรรมเป็นคำสั่งที่ถูกบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ شَهَٰدَةُ بَيۡنِكُمۡ إِذَا حَضَرَ أَحَدَكُمُ ٱلۡمَوۡتُ حِينَ ٱلۡوَصِيَّةِ ٱثۡنَانِ ذَوَا عَدۡلٖ مِّنكُمۡ أَوۡ ءَاخَرَانِ مِنۡ غَيۡرِكُمۡ إِنۡ أَنتُمۡ ضَرَبۡتُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَأَصَٰبَتۡكُم مُّصِيبَةُ ٱلۡمَوۡتِۚ تَحۡبِسُونَهُمَا مِنۢ بَعۡدِ ٱلصَّلَوٰةِ فَيُقۡسِمَانِ بِٱللَّهِ إِنِ ٱرۡتَبۡتُمۡ لَا نَشۡتَرِي بِهِۦ ثَمَنٗا وَلَوۡ كَانَ ذَا قُرۡبَىٰ وَلَا نَكۡتُمُ شَهَٰدَةَ ٱللَّهِ إِنَّآ إِذٗا لَّمِنَ ٱلۡأٓثِمِينَ ١٠٦ ﴾ [المائدة : 106]
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การเป็นพยานระหว่างพวกเจ้า เมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเจ้า ขณะมีการทำพินัยกรรมนั้น คือสองคนที่เป็นผู้เที่ยงธรรมในหมู่พวกเจ้า หรือคนอื่นสองคนที่มิใช่ในหมู่พวกเจ้า  หากพวกเจ้าได้เดินทางไปในผืนแผ่นดิน แล้วได้มีเหตุภัยแห่งความตายประสบกับพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะต้องกักตัวเขาทั้งสองไว้หลังจากละหมาด แล้วทั้งสองนั้นก็จะสาบานต่ออัลลอฮฺ หากพวกเจ้าคลางแคลงใจ ด้วยการให้พวกเขากล่าวว่า เราจะไม่นำการสาบานนั้นไปแลกเปลี่ยนกับราคาใด ๆ และแม้ว่าเขาจะเป็นญาติใกล้ชิดก็ตาม และเราจะไม่ปกปิดหลักฐานของอัลลอฮฺ มิเช่นนั้นแล้ว แน่นอน เราก็จะอยู่ในหมู่ผู้ที่กระทำบาป”  (อัลมาอิดะฮฺ 106)

5. ประเภทของพินัยกรรม
1. พินัยกรรมภาคบังคับ (วาญิบ)
2. พินัยกรรมภาคสมัครใจ (ส่งเสริมให้ปฏิบัติ)
หนึ่ง  ภาคบังคับ
ผู้ที่มีหนี้สิน ผู้ที่มีภาระต้องรับผิดชอบและมีพันธะสัญญา จำเป็นต้องทำพินัยกรรมให้ชัดเจน โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุหนี้สิน จะเป็นหนี้ที่ด่วน หรือหนี้ที่จ่ายตามระยะ และระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับพันธะสัญญาต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นที่ประจักษ์แก่ทายาทในการจัดการให้ดำเนินตามพินัยกรรม
สอง  ภาคส่งเสริม (สมัครใจ)
คือการทำพินัยกรรมแก่บุคคลที่ไม่ใช่ทายาท โดยอัตราหนึ่งในสามของทรัพย์สิน หรือน้อยกว่านั้น และทำพินัยกรรมในด้านการกุศล ไม่ว่าจะเป็นการกุศลที่จำกัดเฉพาะ เช่น ให้แก่ญาติ หรือคนอื่นๆ หรือแก่องค์กรใดเป็นการเฉพาะ  เช่น มัสญิดนั้นๆ หรือแก่องค์กรการกุศลสาธารณะ เช่น มัสญิดต่างๆ โรงเรียน หอสมุด ค่ายลี้ภัย โรงพยาบาล และอื่นๆ

6. อัตราทรัพย์สินในการทำพินัยกรรม
    ไม่อนุญาตให้ทำพินัยกรรมเกินกว่าหนึ่งในสามของทรัพย์สิน เนื่องจากหะดีษของสะอัด บิน อบี วักกอศ ที่ได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า    
أوصي بمالي كله؟ قال: «لا» قال: بالشطر؟ قال: «لا» قال: بالثلث؟ قال: «الثلث والثلث كثير»
“ได้หรือไม่ที่ฉันจะบริจาคทรัพย์สินทั้งหมด ? ท่านเราะสูลตอบว่า “ไม่” สะอัด ก็กล่าวว่า “ครึ่งหนึ่งล่ะ?” ท่านเราะสูลตอบว่า “ไม่ได้” สะอัดก็กล่าวว่า “หนึ่งในสามล่ะ?” ท่านเราะสูลก็ตอบว่า “ได้ และหนึ่งในสามนั้นก็มากแล้ว” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 2591, มุสลิม 1628,  อัตติรมิซีย์ 2116,  อันนะสาอีย์ 3628,  อบูดาวูด 2864 และท่านอื่นๆ)
  และไม่อนุญาตให้ทำพินัยกรรมให้กับผู้ที่ไม่ใช่ทายาท ในอัตรามากกว่าหนึ่งในสาม หรือทำพินัยกรรมแก่ทายาทผู้มีสิทธิ์ในมรดก  เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากทายาทคนอื่นๆ

7.  พินัยกรรมจะสมบูรณ์โดย
1. พินัยกรรมต้องมีความชอบธรรม คือมีความเป็นธรรม
2. ต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติ
3. เจ้าของพินัยกรรมต้องกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ และตั้งใจว่าพินัยกรรมดังกล่าวขอให้เป็นการกระทำความดีและการกุศล

8. เงื่อนไขผู้ทำพินัยกรรม (เจ้าของพินัยกรรม)
1. เป็นผู้ที่อยู่ในวิสัยบริจาคได้ (มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นทาส บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ)
2. เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์  
3. ยินยอมและสมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ)

9. เงื่อนไขผู้รับพินัยกรรม
    1. รับพินัยกรรมไปใช้ในสิ่งที่ดี หรืออนุมัติ
    2. ผู้รับพินัยกรรมต้องมีชีวิตขณะทำพินัยกรรม มีอยู่จริงหรือโดยการคาดการณ์ (เช่นเด็กในครรภ์) และตามเงื่อนไขนี้ พินัยกรรมแก่ผู้ที่ยังไม่มีอยู่ จะสมบูรณ์ใช้ได้
    3. ระบุผู้รับอย่างชัดเจน
    4. เป็นผู้ที่ครอบครองสิทธิ์ได้ (เช่น ไม่ใช่ญิน สัตว์ หรือคนตาย)
    5. จะต้องไม่เป็นฆาตกรฆ่าเจ้าของพินัยกรรม
    6. มิใช่ทายาท

10. เงื่อนไขสาระแห่งพินัยกรรม (สิ่งที่เป็นพินัยกรรม)
    1. เป็นทรัพย์สินที่เป็นมรดกได้
    2. ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นสิ่งปลูกสร้าง ตามนิยามของบทบัญญัติ
    3.  เป็นทรัพย์สินที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ แม้ว่าไม่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรมก็ตาม
    4.  เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของพินัยกรรมขณะที่ทำพินัยกรรม
    5. จะต้องไม่เป็นสิ่งที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ


11. การยืนยันพินัยกรรม
เป็นประเด็นที่มีมติเอกฉันท์ว่าควรเขียนพินัยกรรมโดยเริ่มด้วยบัสมะละฮฺ และการสรรเสริญอัลลอฮฺ และเศาะละวาตนบี และประกาศชื่อพยาน โดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร

12. ผู้รับผิดชอบพินัยกรรม (หรือผู้จัดการพินัยกรรม)
ผู้รับผิดชอบพินัยกรรมมี 3 ประเภท
1. ผู้ปกครองรัฐ หรือเจ้าหน้าที่
2. ผู้พิพากษา
3. สามัญชน
13. สิ่งที่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ
1. การกลับคำ หรือ ยกเลิกพินัยกรรม โดยวาจา หรือพยานแวดล้อม
2. พินัยกรรมถูกวางเงื่อนไขไว้กับสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น
3. ไม่มีมรดกให้ดำเนินตามพินัยกรรม
4. เจ้าของพินัยกรรมไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ (เช่น วิกลจริต ส่วนเด็กสามารถทำพินัยกรรมได้)
5. เจ้าของพินัยกรรมสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (ตามทัศนะของบางส่วน)
6. ผู้รับพินัยกรรมปฏิเสธไม่ยอมรับพินัยกรรม (ส่งคืน)
7. ผู้รับพินัยกรรมเสียชีวิตก่อนเจ้าของพินัยกรรม
8. ทรัพย์ที่ถูกระบุในพินัยกรรมเกิดชำรุด หรือส่งสัญญาณว่าจะชำรุด
9. ผู้รับพินัยกรรมเป็นฆาตกรฆ่าเจ้าของพินัยกรรม
10. ทำพินัยกรรมแก่ทายาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุก ๆ คน

 

 

 

 

 

 

 

 


หมวดที่ 3 กฎหมายครอบครัว
القسم الثالث : الأحوال الأسرية

 

 


การแต่งงาน

เหตุผลบัญญัติการนิกาหฺ
      การนิกาหฺ (การสมรส) เป็นวิถีของอิสลาม เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ، مَن اسْتَطَاعَ مِنْكُم البَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ فَإِنَّهُ أَغَض لِلْبَصَرِ وَأَحْصَن للفَرْجِ، وَمَن لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لَهُ وَجَاءٌ»
“โอ้คนหนุ่มทั้งหลาย คนใดในหมู่พวกเจ้ามีความสามารถในค่าสินสอดและการอุปการะเลี้ยงดู เขาจงแต่งงานเถิด เพราะการแต่งงานนั้นจะช่วยยับยั้ง (ลด) สายตาจากการมองสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เป็นอย่างยิ่ง และช่วยรักษาอวัยวะสืบพันธุ์ให้บริสุทธิ์ยิ่ง (จากการผิดประเวณี) หากคนใดไม่มีความสามารถ เขาจงถือศีลอด เพราะการถือศีลอดจะลดกำหนัดของเขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 4778,  มุสลิม 1400, อัต-ติรมิซียฺ 1081, อันนะสาอียฺ 2240, อบู ดาวูด 2046, อิบนุมาญะฮฺ 1845, และอะหมัด 1/378)
ส่วนหนึ่งจากเหตุผล
    1. การแต่งงานเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว มอบความรักแก่กัน ทำให้ชีวิตมีความบริสุทธิ์ และป้องกันจากสิ่งที่ต้องห้าม (เช่น มองสิ่งต้องห้ามหรือผิดประเวณี)
    2. การสมรสเป็นปัจจัยในการกำเนิดบุตร และเพิ่มผู้สืบทายาท พร้อมกับรักษาไว้ซึ่งวงศ์ตระกูล
    3. การสมรสเป็นปัจจัยที่ดียิ่งในการขจัดอารมณ์ทางเพศที่อาจนำไปสู่การกระทำที่ต้องห้าม พร้อมกับปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์
    4. การมีบุตรจะเติมเต็มความรักระหว่างสามีและภรรยา
    5. ในการแต่งงานทำให้จิตใจสงบและมีสมาธิ ปกป้องรักษาสามีและภรรยาให้มีความบริสุทธิ์จากสิ่งต้องห้าม

ความหมายของการนิกาหฺ
ตามหลักภาษา คือ การมีเพศสัมพันธ์ และการรวมสองสิ่งไว้ด้วยกัน และจะใช้กับการทำสัญญาหรือข้อตกลง
ตามบทบัญญัติ คือ การทำข้อตกลง ซึ่งยึดบรรทัดฐานคำว่า นิกาหฺ หรือสมรส เป็นเกณฑ์ ซึ่งตกลงกันในการหาประโยชน์ในการเสพสุข ในการใช้ชีวิตคู่หรือยู่ร่วมกัน

ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
•  ส่งเสริมให้ปฏิบัติ (สุนนะฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความรู้สึกในอารมณ์ทางเพศ และไม่กลัวว่าจะเกิดการผิดประเวณี
•  เป็นภาคบังคับ (วาญิบ) สำหรับผู้ที่เกรงว่าจะเกิดการผิดประเวณี (หากไม่แต่งงาน)
•  และเป็นที่อนุมัติ สำหรับผู้ที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เช่น คนชราและผู้ที่อวัยวะสืบพันธุ์อ่อนแอ
• เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ขณะที่อยู่ในประเทศคู่สงคราม โดยไม่มีความจำเป็น (ไม่อยู่ในภาวะคับขัน)
ถ้อยคำในการนิกาหฺ
การนิกาหฺจะมีผลโดยทุกถ้อยคำที่บ่งบอกถึงการแต่งงาน จะเป็นภาษาใดก็ได้ เช่น ฉันแต่งงาน ฉันสมรส ฉันตอบรับการสมรสนี้ ฉันรับนางเป็นภรรยา หรือฉันพึงพอใจ และควรใช้ภาษาอาหรับ ส่วนคนที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ก็ให้ใช้ภาษาของตัวเอง
องค์ประกอบหลักของการนิกาหฺ
1. อัลอีญาบ (คำเสนอ) คือ ถ้อยคำของผู้ปกครองฝ่ายหญิง หรือผู้ทำหน้าที่แทน โดยใช้คำว่า อินกาหฺ หรือ ตัซวีจญ์ (แต่งงาน) สำหรับผู้ที่รู้ภาษาอาหรับ เพราะสองคำนี้มีระบุในอัลกุรอาน
﴿ وَإِنۡ خِفۡتُمۡ أَلَّا تُقۡسِطُواْ فِي ٱلۡيَتَٰمَىٰ فَٱنكِحُواْ مَا طَابَ لَكُم مِّنَ ٱلنِّسَآ﴾ [النساء : ٣]  
“และหากพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้หญิงที่กำพร้า ( โดยไม่ให้สินสอดแก่พวกนาง ) จงปล่อยพวกนางไป แล้วจงแต่งงานกับผู้หญิงอื่นจากพวกนาง ที่ดีๆสำหรับพวกเจ้า” (อันนิสาอ์ 3)

﴿ فَلَمَّا قَضَىٰ زَيۡدٞ مِّنۡهَا وَطَرٗا زَوَّجۡنَٰكَهَا ﴾ [الأحزاب : ٣٧]  
“ครั้นเมื่อเขาได้หย่ากับนาง เราได้ให้เจ้าแต่งงานกับนางต่อ” (อัลอะห์ซาบ  37)

2. อัลเกาะบูล (คำสนอง) คือ ถ้อยคำตอบรับของฝ่ายชาย หรือตัวแทน เช่น ฉันตอบรับ หรือฉันพึงพอใจการสมรสนี้ หรือจะใช้เพียงคำว่า ฉันตอบรับ ก็ใช้ได้ คำเสนอต้องอยู่ก่อนคำสนอง นอกจากจะมีพยานแวดล้อมที่บ่งชี้ให้เข้าใจ ก็สามารถเอาคำสนองขึ้นก่อนได้

เงื่อนไขที่ทำให้การนิกาหฺสมบูรณ์
1. ต้องระบุคู่สมรสให้ชัดเจน
2. ความพึงพอใจ (ยินยอม) จากคู่สมรส ดังนั้น ไม่อนุญาตให้มีการบังคับแก่ฝ่ายใด ต้องขอความยินยอมจากสาวพรหมจันทร์และหญิงหม้าย การยินยอมของสาวพรหมจันทร์คือ การนิ่งเฉย ส่วนหญิงหม้ายนั้น ต้องมีการเปล่งวาจา
และเงื่อนไขนี้จะไม่ใช้กับคนวิกลจริต และคนที่สติปัญญาไม่สมประกอบ
3. ผู้ปกครองของฝ่ายหญิง โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้
    • เป็นชาย
    • ไม่เป็นทาส
    • มีสติสัมปชัญญะ ปราดเปรื่อง
    • บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญัติ
    • เป็นผู้มีคุณธรรม (คือ เป็นมุสลิม บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะ ไม่ทำบาปใหญ่ หรือบาปเล็กเป็นประจำ ไม่กระทำสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียบุคลิกภาพ)
    • ศาสนาเดียวกันกับเจ้าสาว  
และผู้ที่มีสิทธิ์จะเป็นผู้ปกครอง ให้เรียงตามลำดับต่อไปนี้
    1. พ่อ
    2. ผู้รับหน้าที่ตามพินัยกรรม (ตามคำสั่งเสียของพ่อ)
    3. ปู่ (พ่อของพ่อ แม้ว่าจะลำดับสูงขึ้นไปก็ตาม)
    4. ลูกชาย หลานชาย (แม้ว่าจะต่ำลงไปก็ตาม โดยสืบสายโลหิตทางฝ่ายชาย)
    5. พี่น้องชายที่ร่วมพ่อร่วมแม่
    6. พี่น้องชายที่ร่วมพ่อเดียวกัน
    7. ลูกชายของพี่น้องชายที่ร่วมพ่อร่วมแม่
    8. ลูกชายของพี่น้องชายที่ร่วมพ่อ
    9. พี่น้องชายของพ่อ ที่ร่วมพ่อร่วมแม่ (ลุงหรืออา)
    10. พี่น้องชายของพ่อ ที่ร่วมพ่อเดียวกัน
    11. ลูกชายของพี่น้องชายของพ่อ ที่ร่วมพ่อร่วมแม่ (ลูกชายของลุงหรืออา)
    12. ลูกชายของพี่น้องชายของพ่อ ที่ร่วมพ่อ (ลูกชายของลุงหรืออา)
    13. เครือญาติใกล้ชิดที่รับมรดกส่วนเหลือของนาง
    14. สุลต่านหรืออัลหากิม (ผู้มีอำนาจปกครองในรัฐหรือตัวแทน)
4. พยานชายสองคนที่มีคุณธรรม (คือ เป็นมุสลิม บรรลุศาสนภาวะ ไม่ทำบาปใหญ่ ไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียบุคลิกภาพ) และ
5. คู่สมรสต้องปราศจากอุปสรรคที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ ( เช่น ผู้หญิงเป็นภรรยาของผู้อื่น หรืออยู่ในอิดดะฮฺ หรือฝ่ายชายเป็นต่างศาสนิก ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นมุสลิม  หรือฝ่ายชายมีภรรยาอยู่สี่คน  เหล่านี้เป็นต้น )
สิ่งควรปฏิบัติและห้ามปฏิบัติ
• ผู้ที่เกรงว่าจะไม่มีความยุติธรรมระหว่างภรรยา ควรมีภรรยาเพียงคนเดียว  ควรหาผู้หญิงที่เคร่งครัดศาสนา ไม่เป็นเครือญาติ ควรแต่งกับสาวพรหมจันทร์ เผ่าพันธุ์ลูกดก และหน้าตาดี
• ควรมองผู้หญิงที่จะสู่ขอ โดยมองส่วนที่ไม่ใช่เอาเราะฮฺ (ส่วนที่ต้องปกปิด) และมองในสิ่งที่ดึงดูดเขาเพื่อการแต่งงาน โดยไม่อยู่กันตามลำพัง (ต้องอยู่หน้ามะห์รอม) เพื่อให้ประจักษ์ชัด และผู้หญิงก็ควรมองฝ่ายชายเช่นกัน
• หากไม่สะดวกที่จะมองด้วยตนเอง ก็ให้ส่งผู้หญิงที่มีความน่าเชื่อถือไปดูแทน
•ไม่อนุญาตให้สู่ขอ (หรือทาบทาม) ผู้หญิงที่มีผู้อื่นสู่ขอแล้ว จนกว่าเขาจะบอกเลิก หรือเขาอนุญาต
• อนุญาตให้ใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน หรือถ้อยคำที่เป็นนัยยะ ในการสู่ขอผู้ที่อยู่ในอิดดะฮฺ( อิดดะฮฺ คือระยะเวลาที่ต้องรอเพื่อการคืนดีหรือแต่งงานใหม่ ) สำหรับสามีที่หย่าขาดกับนาง แต่ยังไม่ครบสามครั้ง
• ห้ามใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน หรือถ้อยคำที่เป็นนัยยะในการทาบทามสู่ขอผู้หญิงที่ถูกหย่าที่มีการคืนดีได้ ซึ่งยังอยู่ในอิดดะฮฺ
• ส่งเสริมให้ทำพิธีนิกาหฺในบ่ายวันศุกร์ เนื่องจากช่วงนั้น มีเวลาที่การวิงวอนขอจะถูกตอบรับ และหากสะดวกควรทำพิธีในมัสญิด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมวดที่ 4 บทบัญญัติเกี่ยวกับสตรี
القسم الرابع  : أحكام خاصة بالمرأة المسلمة

 

 

 

 

 

 

 

 


บทบัญญัติเฉพาะสตรี

คำสั่งแห่งบทบัญญัติแก่ผู้ปฏิบัติมี สาม ประเภท
1. เฉพาะผู้ชาย
2. เฉพาะสตรี
3. เกี่ยวพันทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ที่กล่าวแล้วข้างต้นส่วนมากเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวพันทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ต่อไปนี้จะอธิบายบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสตรีเป็นการเฉพาะ

ประเด็นที่หนึ่ง  การลูบหรือเช็ดบน (ขณะอาบน้ำละหมาด) บนผมปลอม ที่อนุโลมให้สวมใส่ในกรณีที่มีความจำเป็น
เมื่อผู้หญิงมีความจำเป็นต้องสวมใส่ผมปลอม ไม่อนุโลมให้ลูบหรือเช็ดบนผมปลอมขณะอาบน้ำละหมาด เพราะไม่ใช่ผ้าคลุม และไม่อยู่ในขอบข่ายหรือข้อบัญญัติของผ้าคลุม และจำเป็นต้องเช็ดบนศีรษะโดยตรง หรือบนผมแท้เท่านั้น

ประเด็นที่สอง  ทาเล็บ ย้อมเล็บ
ผู้หญิงบางคนย้อมเล็บด้วยผลิตภัณฑ์ที่ห้ามมิให้น้ำเข้าถึงผิวหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต  ยิ่งกว่านั้นจำเป็นต้องขจัดออกขณะอาบน้ำละหมาด

ประเด็นที่สาม   อัลหัยฎุ (เลือดประจำเดือน)
  คือ เลือดที่ออกจากมดลูกของสตรี ขณะที่มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย และมิใช่เลือดที่ออกมาเนื่องจากการคลอดบุตรและบาดแผล
ผู้รู้ส่วนมากมีความเห็นว่า เลือดประจำเดือนจะเริ่มเมื่ออายุครบเก้าขวบ ดังนั้นเมื่อเห็นเลือดก่อนเก้าขวบ ก็ไม่ใช่เลือดประจำเดือน แต่เป็นเลือดเนื่องจากเจ็บป่วยหรือเลือดเสีย และจะมีจนถึงวัยชรา โดยที่ส่วนมากจะหมดเลือดประจำเดือนตอนอายุห้าสิบปี
และเลือดประจำเดือนมี 6 ประเภท สีดำ แดง เหลือง ขุ่น เขียว สีดิน

ระยะเวลาของเลือดประจำเดือน
• น้อยสุด คือ วันกับคืน  
• ปานกลาง 5 วัน
• มากสุด 15 วัน
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว คือหกถึงเจ็ดวัน ระยะเวลาระหว่างเลือดประจำเดือนสองครั้ง น้อยที่สุด คือสิบสามวัน (โดยส่วนมาก) และบางทีอาจจะน้อยกว่านั้นหรือมากกว่า
ข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีเลือดประจำเดือน
• ละหมาด
• ถือศีลอด
• เข้ามัสญิด
• อ่านอัลกุรอานโดยสัมผัสคัมภีร์
• เฏาะวาฟ
• มีเพศสัมพันธ์
 และเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกการบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ

ประเด็นที่สี่  นิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร)      
คือ เลือดที่ออกจากมดลูก หลังจากการคลอด หรือแท้ง
ระยะเวลาของนิฟาส โดยมาก 40 วัน ส่วนจำนวนวันน้อยที่สุดนั้นไม่มีเวลาที่แน่นอน หากคลอดลูกแฝด ให้นับระยะจากการคลอดคนแรก
ข้อห้ามสำหรับนิฟาส ก็เช่นเดียวกับข้อห้ามของเลือดประจำเดือน เช่นละหมาด การถือศีลอด และอื่นๆ

ประเด็นที่ห้า  อัลอิสติหาเฎาะฮฺ เลือดเสีย)
   คือ เลือดที่ออกมาจากมดลูกในช่วงระยะเวลาที่ไม่ใช่เวลาของเลือดประจำเดือนและเลือดหลังการคลอดบุตร  ดังนั้น เลือดที่เลยระยะเวลา หรือน้อยกว่าระยะเวลาที่น้อยสุดของเลือดประจำเดือน หรือนิฟาส หรือก่อนอายุเก้าขวบ คือ เลือดเสีย
ข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติ
• ผู้ที่มีเลือดเสีย เป็นผู้มีหะดัษประจำซึ่งไม่เป็นอุปสรรคหักห้ามการละหมาดและการถือศีลอด
• ผู้ที่มีเลือดเสีย ต้องอาบน้ำละหมาดทุกๆ ครั้งก่อนละหมาด
• ผู้ที่มีเลือดเสีย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
• เลือดของหญิงที่กำลังตั้งครรภ์นับว่าเป็นเลือดเสีย

ประเด็นที่หก  การโกนขนหรือผม
ไม่อนุญาตให้สตรีโกนขนและผมของนาง เว้นแต่ในกรณีจำเป็น และไม่อนุญาตให้โกนหรือวาดคิ้ว สัก ต่อผม ดัดฟัน เนื่องจากหะดีษ
«لَعَنَ الفَاعِلة والمَفْعول بها»
“แท้จริงท่านเราะสูลสาปแช่งผู้ที่กระทำและผู้รับกระทำ” (บันทึกโดยนักบันทึกทั้งเจ็ด  คือ อัลบุคอรีย์, มุสลิม, อัตติรมิซีย์, อบู ดาวูด, อันนะสาอีย์, อิบนุมาญะฮฺ และอะหมัด)
 และไม่อนุญาตให้สตรีใส่น้ำหอม นอกจากเพื่อสามี และระหว่างที่อยู่กับผู้หญิงด้วยกัน
ประเด็นที่เจ็ด  เอาเราะฮฺ ( สิ่งที่ต้องปกปิด )
 เอาเราะฮฺของผู้หญิง คือ ทุกส่วนของร่างกาย ขณะที่อยู่พร้อมกับผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอม  ดังนั้นนางต้องสวมใส่หิญาบ และเช่นเดียวกันไม่อนุญาตให้อยู่ตามลำพังกับผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอม
และจะต้องไม่เดินทางโดยที่ไม่มีมะห์รอม  นั่นคือ บุคคลที่ห้ามแต่งงานตลอดไป เนื่องจากเป็นเครือญาติ การเกี่ยวดอง (แต่งงาน) และการร่วมแม่นม
และเวลาละหมาดจะต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกาย  นอกจากใบหน้า มือทั้งสอง และเท้าทั้งสอง แต่จำเป็นต้องปกปิดทุกส่วน หากอยู่ต่อหน้าผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอม และส่งเสริมให้ปกปิดมือและเท้าทั้งสองในทุกๆ กรณี
อาภรณ์ที่สวมใส่จะต้องหนา ไม่ลอกเลียนแบบบุรุษเพศ  ไม่ดึงดูดสายตา ไม่เลียนแบบต่างศาสนิก และไม่เป็นที่โดดเด่น   

ประเด็นที่แปด  เครื่องประดับ
เครื่องประดับของผู้หญิงมีสองประเภท คือที่อนุญาตและต้องห้าม
ที่อนุญาต น้ำหอม ทองคำ เงิน ผ้าไหม และผ้าย้อมสีเหลืองหรือแสด
และที่ห้าม คืออาภรณ์ที่ใส่เพื่อให้เป็นที่โดดเด่นและโอ้อวด และดึงดูดสายตาของผู้คน และน้ำหอมที่กลิ่นฟุ้งกระจาย และเปิดเผยต่อหน้าผู้ชายที่ไม่ใช่มะห์รอม

ประเด็นที่เก้า  เสียง
  เสียงของผู้หญิงมิใช่เอาเราะฮฺ (สิ่งที่ต้องปกปิด) นอกจาก การพยายามพูดอ่อนโยน และยั่วยวนผู้คน  และเลยขอบเขตของการอ่อนโยน
  ส่วนการขับร้องเพลง เป็นสิ่งต้องห้าม ผู้คนส่วนมากในสมัยนี้ได้หลงใหลในเสียงเพลง  และยึดเอาเป็นช่องทางในการดึงดูดและแสวงหาทรัพย์สิน
การขับร้องเพลง เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็ต้องห้ามมากยิ่งกว่า จะอนุโลมในโอกาสงานรื่นเริงต่างๆ และในวันอีด และอยู่ท่ามกลางผู้หญิงเท่านั้น
และด้วยเนื้อร้องที่ไม่ขัดหลักศาสนา และปราศจากดนตรี

ประเด็นที่สิบ 
•  อนุญาตให้ผู้หญิงอาบน้ำศพให้สามี และลูกชายที่ยังเล็ก  และเช่นกัน อนุญาตให้ละหมาดศพ  เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ไม่อนุญาตให้ตามไปส่งศพที่สุสาน
 • และไม่อนุญาตให้เยี่ยมสุสาน และไม่อนุญาตให้ร้องคร่ำครวญ ตบหน้า ฉีกผ้า ถอนผม เพราะนั่นเป็นวิถีปฏิบัติของยุคก่อนอิสลาม (ญาฮิลียะฮฺ) และเป็นบาปใหญ่
• และไม่อนุญาตให้ไว้ทุกข์เกินสามวัน ในกรณีที่ไม่ใช่สามี ส่วนในกรณีสามีเสียชีวิตนั้น ต้องไว้ทุกข์สี่เดือนกับสิบวัน และต้องพำนักอยู่ในบ้านที่เคยอยู่กับสามี และต้องเลี่ยงการใส่เครื่องประดับและน้ำหอม และการไว้ทุกข์นั้น ไม่มีอาภรณ์เป็นการเฉพาะ

ประเด็นที่สิบเอ็ด 
การใส่เครื่องประดับทองคำ และเงิน ตามปกติวิสัยนั้น เป็นที่อนุโลมแก่สตรี และจะต้องหลีกเลี่ยงการฟุ่มเฟือย และการโอ้อวด
เครื่องประดับทองและเงินที่ผู้หญิงสวมใส่ตามปกติประจำวัน หรือตามโอกาสต่างๆ ไม่ต้องจ่ายซะกาต
 
ประเด็นที่สิบสอง 
• อนุญาตให้ผู้หญิงบริจาคทานจากทรัพย์สินของสามีตามจารีต(ปกติวิสัย) โดยไม่ต้องขออนุญาต  หากรู้ว่าสามียินยอม
• และอนุญาตให้นางจ่ายซะกาตของนาง (ทานบังคับ) แก่สามี หากเขาเป็นผู้มีสิทธิ์รับซะกาต
• หากสามีเป็นคนตระหนี่ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเป็น นางสามารถเอาจากทรัพย์สินของสามีได้ตามจำนวนที่เพียงพอกับการใช้จ่ายของนางและลูก โดยมิต้องขออนุญาต

ประเด็นที่สิบสาม 
• อนุโลมให้ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรละศีลอดได้  หากเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ตัวเองและเด็ก หรือเกรงจะเกิดอันตรายแก่ตัวเองเท่านั้น ทั้งสองกรณีนี้ ให้ชดใช้โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺ แต่หากเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่เด็กเท่านั้น ต้องชดเชยและจ่ายฟิดยะฮฺ นี่สำหรับคนตั้งครรภ์
• ส่วนผู้ที่ให้นมบุตร หากเด็กดื่มนมของหญิงอื่นได้ และสามารถจ่ายค่าจ้าง หรือมีทรัพย์สินที่จะจ้างได้ ก็ไม่อนุโลมให้ละศีลอด
• แม่นมก็ใช้บทบัญญัติเดียวกับผู้เป็นแม่ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
• ภรรยาไม่มีสิทธิ์ถือศีลอดภาคสมัครใจ (สุนนะฮฺ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี หากสามีอยู่บ้าน

ประเด็นที่สิบสี่ 
• สามีไม่มีสิทธิ์ที่จะหักห้ามภรรยามิให้ทำหัจญ์ที่เป็นภาคบังคับ และเมื่อนางขออนุญาต จำเป็นต้องอนุญาตแก่นาง และให้การสนับสนุนตามความสามารถ
• ส่วนการทำหัจญ์ภาคสมัครใจ สามีมีสิทธิ์หักห้าม เมื่อการทำหัจญ์นั้น มีผลเสียต่อสามีและลูกๆ

ประเด็นที่สิบห้า 
   ขณะอยู่ในพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ จะสวมใส่อาภรณ์ใดก็ได้ นอกจาก
    1. เสื้อผ้าที่เปื้อนหรือโดนน้ำหอม
    2.  ถุงมือ
    3. ผ้าคลุมหน้า
    4. ผ้าที่ย้อมสีเหลืองหรือสีแสด (ย้อมด้วยพืชชนิดหนึ่งซึ่งมีกลิ่นหอม)

ประเด็นที่สิบหก 
  ผู้ที่มีเลือดประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร จะอาบน้ำชำระร่างกาย เข้าพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ และปฏิบัติทุกพิธีกรรม นอกจากการเฏาะวาฟ ต้องรอจนกว่าจะสะอาด

ประเด็นที่สิบเจ็ด 
• ผู้หญิงกล่าวคำตัลบียะฮฺด้วยเสียงเบา ๆ ขณะที่ผู้ชายส่งเสริมให้กล่าวเสียงดัง
•  สำหรับผู้หญิงไม่มีการวิ่งเหยาะๆ ในการเฏาะวาฟ และในการสะแอ     
• ไม่อ่านดุอาอ์ด้วยเสียงดัง
• ไม่แทรกเข้าไปอยู่อย่างแออัดในมุมหินดำ และที่อื่นๆ

ประเด็นที่สิบแปด 
การโกนศีรษะหรือตัดผมเป็นองค์ประกอบในพิธีกรรมหัจญ์และอุมเราะฮฺ ซึ่งเฉพาะผู้หญิงนั้นจะไม่มีการโกนศีรษะ แต่จะมีการตัดผมแทน ซึ่งอยู่ในสถานะเดียวกับการโกนสำหรับผู้ชาย
และลักษณะการตัดของผู้หญิงนั้น ให้ตัดจากทุกเปียผมประมาณหนึ่งข้อนิ้ว หรือถ้าไม่มีเปียก็ให้รวบผมแล้วตัดประมาณนั้นเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่สิบเก้า 
 • ผู้หญิงควรรีบในการตอวาฟอิฟาเฎาะฮฺ (เฏาะวาฟหัจญ์) ในวันที่สิบซุลหิจญะฮฺ หากเกรงว่าเลือดประจำเดือนมาเร็ว ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้สั่งให้ทำเช่นนั้น เพราะเกรงว่าเลือดประจำเดือนจะมาเสียก่อน
• เมื่อเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺแล้ว ผู้ที่มีเลือดประจำเดือนไม่ต้องเฏาะวาฟอำลา หากออกจากมักกะฮฺในสภาพที่มีประจำเดือน

ประเด็นที่ยี่สิบ 
ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับชายต่างศาสนิก ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม เนื่องจากสามีมีสิทธิ์เหนือภรรยาและภรรยาต้องเชื่อฟัง นี่คือแก่นแท้ของการปกครอง ดังนั้นผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ปกครอง และมีอำนาจเหนือผู้ศรัทธา

ประเด็นที่ยี่สิบเอ็ด 
  หน้าที่ของแม่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังเยาว์วัย หรือสติไม่สมประกอบ ที่ยังไร้เดียงสา หากนางปฏิเสธ ต้องมีการบังคับ จากนั้นเป็นหน้าที่ของบุคคลเหล่านี้ตามลำดับ
• แม่ของนาง
• แม่ของแม่ ตามลำดับความใกล้ชิด
• พ่อ
• แม่ของพ่อ (ตามลำดับความใกล้ชิด)
• พ่อของพ่อ (ปู่) จากนั้นแม่ของปู่ (ตามลำดับความใกล้ชิดเช่นเดียวกัน)
• พี่น้องสาวร่วมพ่อร่วมแม่
• พี่น้องสาวร่วมแม่
• พี่น้องสาวร่วมพ่อ
• พี่น้องสาวของพ่อ
• พี่น้องสาวของแม่
• ป้าหรือน้าของแม่
• ป้าหรือน้าของพ่อ
• ลูกสาวของพี่น้อง
• ลูกสาวของลุงและป้า
• ลูกสาวของลุงและป้าของพ่อ
• ผู้ที่มีสิทธิ์รับมรดกในส่วนเหลือตามเครือญาติของเขา
• เครือญาติที่ไม่มีสิทธิ์ในมรดกของเขา
• อัลหากิม (ผู้มีอำนาจการปกครองในรัฐ)
และผู้เป็นพ่อต้องจ่ายค่าจ้างในการเลี้ยงดูแก่ผู้ที่ขอค่าจ้าง

เงื่อนไขผู้ที่เลี้ยงดู
• บรรลุนิติภาวะ
• มีสติสัมปชัญญะ
• มีความสามารถในการอบรมสั่งสอน
• มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
• มารยาทดี
• เป็นมุสลิม
• เป็นโสด หากมีสามี หน้าที่จะตกไป
• เมื่อเด็กมีอายุครบเจ็ดปีบริบูรณ์ ให้เขาเลือกว่าจะอยู่กับพ่อหรือแม่ (ในกรณีหย่าร้าง) ส่วนเด็กผู้หญิงนั้น หลังจากเจ็ดปี พ่อจะมีสิทธิ์เลี้ยงดูมากกว่า จนกว่านางจะแต่งงานมีครอบครัว
ประเด็นที่ยี่สิบสอง 
ปวงปราชญ์ในทุกมัซฮับมีความเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องปกปิดทุกส่วนของร่างกายจากชายที่ไม่ใช่มะห์รอม แม้กระทั่งผู้ที่มีทัศนะว่าใบหน้าและฝ่ามือทั้งสองของผู้หญิงไม่ใช่เอาเราะฮฺก็ตาม  เนื่องจากยุคนี้มีผู้คนส่วนมากมีความวิบัติ ไม่เคร่งครัด ไม่ยับยั้งการมองในสิ่งที่ต้องห้าม

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้ามีความสามารถจะรวบรวมและเรียบเรียงไว้ในโอกาสนี้อย่างรีบเร่ง ซึ่งขอพรต่ออัลลอฮฺผู้สูงส่งและปรีชาสามารถให้ทรงอำนวยประโยชน์จากผลงานชิ้นนี้ด้วยเถิด พระองค์นั้นอยู่เบื้องหลังทุกเจตนา และทรงเป็นผู้ชี้ทางสู่ทางที่เที่ยงตรง

ดร.ศอลิห์ บิน ฆอนิม อัสสัดลาน
อาจารย์สาขาฟิกฮฺ คณะชะรีอะฮฺ กรุงริยาด
เสร็จสิ้นจากการเรียบเรียงเมื่อต้นเดือนซุลหิจญะฮฺ ปี ฮ.ศ.1413