Acerca del artículo

Autor :

Muhammad Bin Ibrahim Al-Tuwajre

Fecha :

Sun, Apr 30 2017

Categoría :

Jurisprudencia

Descargar

อัต-เฏาะฮาเราะฮฺ (การชำระทำความสะอาด)

อัต-เฏาะฮาเราะฮฺ (การชำระทำความสะอาด)
 [ ไทย ]


الطهارة
[ باللغة التايلاندية ]


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري


แปลโดย: ดานียา เจะสนิ
ترجمة: دانيا  جيء سنيك
ตรวจทาน: อัสรอน นิยมเดชา
مراجعة: عصران نيئيوم ديشا
จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي


สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008

 

 


เฏาะฮาเราะฮฺ (ความสะอาด)

เฏาะฮาเราะฮฺ ความหมายตามคำอธิบายศัพท์ภาษาอาหรับแปลว่า ความสะอาดและปราศจากสิ่งสกปรกทั้งที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น  2 ประเภท
1.    ความสะอาดภายนอก ซึ่งจะต้องทำความสะอาดโดยการทำวุฎูอ์ (อาบน้ำละหมาด)   และทำฆุสลุ(อาบน้ำชำระร่างกาย) นอกจากนี้เครื่องนุ่งห่ม ร่างกายและสถานที่ก็ต้องมีความสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกโสมมด้วย
2.    ความสะอาดภายใน ซึ่งจะต้องทำความสะอาดใจให้ปลอดจากคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆเช่น การชิริก(ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ) การกุฟุร(การปฏิเสธศรัทธา) การหยิ่งถือตัว การหลงตัวเอง การอิจฉาริษยา การตลบแตลง การโอ้อวดฯลฯ และเติมเต็มหัวใจด้วยคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ต่างๆเช่นการยึดมั่นกับอัลลอฮฺองค์เดียว การศรัทธา การมีสัจจะ การบริสุทธิ์ใจ มั่นใจและการมอบตนต่ออัลลอฮฺ ฯลฯซึ่งจะกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยการเตาบะฮฺ(ขออภัยโทษ กลับตัวกลับใจ) อิสติฆฺฟารฺ(ขอลุแก่โทษ)และการรำลึกอัลลอฮฺอยู่เสมอ

การเตรียมพร้อมของบ่าวคนหนึ่งในขณะที่จะแสดงการเคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้าของเขา
เมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งมีความสะอาดภายนอกหลังจากการชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆด้วยน้ำและมีความสะอาดภายในด้วยการยึดมั่นในอัลลอฮฺองค์เดียวและมีศรัทธาแล้วจิตวิญญานของเขาก็จะมีความบริสุทธ์ผุดผ่อง จิตใจของเขาจะสงบ หัวใจของเขาจะตื่นตัวมีพลัง มีความพร้อมที่จะแสดงการเคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้าของเขาในสภาพที่ดีที่สุด ทั้งนี้ด้วยใจที่สะอาด ร่างกายที่สะอาด เครื่องนุ่งห่มที่สะอาดและสถานที่ที่สะอาด นี่คือมรรยาทที่สูงส่ง คือการแสดงถึงการเทิดทูน การน้อมรับถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งย่อมดีกว่าการที่เขาจะไปทำอิบาดะฮฺในสภาพที่ตรงกันข้ามกันกับสิ่งที่กล่าวมา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความสะอาดจะถือเป็นครึ่งหนึ่งของความศรัทธา
1-อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะโปรดผู้ที่สำนึกตัวและชอบผู้ที่รักษาความสะอาด” [อัลบะเกาะเราะฮฺ :222]

2- มีรายงานจากท่านมาลิก อัลอัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า    
الطُّهُورُ شَطْرُ الْإِيمَانِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ تَمْلَأُ الْمِيزَانَ
 
ความว่า “แท้จริงความสะอาดนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธาและการกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮฺนั้นเป็นสิ่งที่จะเติมเต็มตาชั่ง” [รายงานโดยมุสลิม  : 223]

มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
อัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยองค์ประกอบสองส่วนคือร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งในส่วนของร่างกายนั้นอาจเป็นที่สะสมของความสกปรกได้จากสองทางคือมาจากภายในร่างกายเอง เช่น เหงื่อ หรือมาจากภายนอก เช่นฝุ่นละอองต่างๆ ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพของร่างกายให้ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้างชำระร่างกายจากสิ่งสกปรกต่างๆให้เป็นประจำ ส่วนจิตวิญญานนั้นอาจได้รับผลกระทบมาจากสองทางเช่นกันคือมาจากโรคที่มีภายในจิตวิญญานเอง เช่น การอิจฉาริษยา การหยิ่งยโส และมาจากการแสวงหาของมนุษย์ในสิ่งที่เป็นบาปต่างๆจากภายนอก เช่นการก่อกรรมทำเข็ญ การผิดประเวณี ดังนั้นเพื่อรักษาสุขภาพของจิตวิญญานให้ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขออภัยโทษ ขอลุแก่โทษ จากบาปต่างๆให้มากที่สุด
ความสะอาด คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของอิสลามอย่างหนึ่ง ซึ่งกระทำได้ด้วยการใช้น้ำสะอาดชำระล้างอวัยวะที่ได้กำหนดไว้ ด้วยวิธีการที่เฉพาะ เพื่อปลดเปลื้องจาก“หะดัษ”และเพื่อชำระสิ่งโสโครก ซึ่งความหมายนี้ คือความหมายของเฏาะฮาเราะฮฺ  ที่ได้กล่าวถึงในบทนี้

ประเภทของน้ำ
น้ำแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
1- น้ำฏอฮิรฺ คือน้ำที่สะอาด คือน้ำทั่ว ๆ ไปที่ยังคงสภาพเดิมตามธรรมชาติ ปราศจากสิ่งสกปรกเจือปน กล่าวคือไม่เปลี่ยนสี ไม่เปลี่ยนกลิ่น และไม่เปลี่ยนรสเช่นน้ำฝน น้ำทะเล น้ำแม่น้ำลำธาร น้ำคลอง น้ำพุ น้ำบ่อ น้ำบาดาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ออกมาตามธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างหรือน้ำที่นำออกมาใช้ด้วยเครื่องมือของมนุษย์   น้ำจืดหรือน้ำเค็ม น้ำร้อนหรือน้ำเย็น น้ำเหล่านี้ล้วนใช้ชำระสิ่งโสโครกได้ทั้งสิ้น
2- น้ำนะญิสคือน้ำที่ไม่สะอาด คือน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี กลิ่น หรือรส เพราะมีสิ่งสกปรกเจือปน ไม่ว่าปริมาณน้ำจะน้อยหรือมาก น้ำในกรณีเช่นนี้จะใช้ชำระล้างทำความสะอาดไม่ได้
•    น้ำที่ไม่สะอาด สามารถกลายเป็นน้ำสะอาดได้โดยการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสภาพเดิมด้วยตัวของมันเอง และไม่มีร่องรอยของสิ่งเจือปน หรือกลายเป็นน้ำสะอาดด้วยการตักหรือวิดน้ำที่ไม่สะอาดออก หรือด้วยการเพิ่มน้ำที่สะอาดลงไปจนกว่าคุณสมบัติของน้ำที่เปลี่ยนนั้นหายไป
•    หากมุสลิมคนหนึ่งมีความลังเลว่าน้ำที่เขาจะใช้นั้นเป็นน้ำที่สะอาดหรือไม่ ให้ถือเป็นสภาพเดิม กล่าวคือ เดิมทีแล้วสิ่งที่ใช้ทำความสะอาดนั้นคือสิ่งที่สะอาด
•    ในกรณีที่แยกแยะไม่ออกระหว่างน้ำที่ไม่สะอาดกับน้ำที่สะอาด และไม่สามารถหาน้ำอื่นนอกเหนือจากสองแหล่งนี้ได้ ก็ให้ตัดสินใจเลือกทำความสะอาดด้วยน้ำที่คิดว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าว่าจะเป็นน้ำสะอาด
•    หากมีความสงสัยว่าผ้าผืนใดไม่สะอาดหรือหะรอม และผืนใดเป็นเสื้อผ้าที่สะอาด โดยไม่สามารถหาเสื้อผ้าอื่นนอกเหนือจากสองผืนนี้ได้ ก็ให้ตัดสินใจเลือกใส่เสื้อผ้าที่คิดว่าน่าจะมีความสะอาดมากกว่าใช้ทำละหมาด การละหมาดถือว่าใช้ได้อินชาอัลลอฮฺ
•    การทำความสะอาดเพื่อปลดเปลื้องหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่โดยทั่วไปจะใช้น้ำทำความสะอาด แต่ในกรณีที่หาน้ำไม่ได้ หรือกลัวอันตรายเมื่อใช้น้ำ ก็อนุญาตให้ทำความสะอาดด้วยการตะยัมมุมได้เป็นกรณีพิเศษ
•    การทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งโสโครกต่างๆ ที่อยู่บนร่างกาย เครื่องแต่งกายและสถานที่ของบุคคล จะใช้น้ำทำความสะอาด หรืออาจใช้วัตถุเหลวหรือแข็งที่สะอาดและสามารถขจัดสิ่งโสโครกออกได้ ใช้ทำความสะอาดแทนน้ำ
•    อนุญาตให้ใช้ภาชนะที่สะอาดทุกชนิดในขณะทำวุฎูอ์ (อาบน้ำละหมาด)หรือทำความสะอาดอื่นๆ หากว่าภาชนะนั้นๆมิใช่ภาชนะที่ได้มาโดยการลักขโมยหรือมิใช่ภาชนะที่ทำมาจากโลหะทองหรือโลหะเงิน เพราะภาชนะเหล่านี้เป็นสิ่งที่หะรอม ไม่อนุญาตให้ใช้ แต่ถ้าใช้ทำวุฎูอ์แล้ว วุฎูอ์นั้นถูกต้องและใช้ได้ แต่ถือว่าเป็นบาป
•    อนุญาตให้ใช้ภาชนะของคนกาฟิรฺและเสื้อผ้าของพวกได้หากไม่รู้ว่าสะอาดหรือไม่ เพราะเดิมทีนั้นเป็นสิ่งที่สะอาด แต่ถ้ารู้ว่าไม่สะอาดก็ให้ล้างด้วยน้ำก่อนที่จะใช้

หุก่มการใช้ภาชนะจากเงินหรือทอง
ไม่อนุญาตให้หญิงหรือชายกินและดื่มในภาชนะที่ทำมาจากโลหะทองหรือโลหะเงิน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ใช้ในทุกกรณียกเว้นใช้สวมเป็นเครื่องประดับสำหรับผู้หญิง และสวมแหวนเงินสำหรับผู้ชาย ส่วนทองนั้นผู้ชายจะใช้ได้ในบางกรณีเนื่องจากความจำเป็นเท่านั้นเช่นใช้กับฟัน หรือจมูกเป็นต้น
1- มีหะดีษรายงานจากท่านหุซัยฟะฮฺ อิบนฺ อัลยะมานเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
لَا تَلْبَسُوا الْحَرِيرَ وَلَا الدِّيبَاجَ وَلَا تَشْرَبُوا فِي آنِيَةِ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَلَا تَأْكُلُوا فِي صِحَافِهَا فَإِنَّهَا لَهُمْ فِي الدُّنْيَا وَلَنَا فِي الْآخِرَةِ
ความว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้สวมใส่ผ้าไหมหะรีรฺและดีบาจ และอย่าได้ดื่มด้วยภาชนะที่ทำจากโลหะทองหรือเงิน และอย่าได้กินด้วยภาชนะเหล่านั้นเพราะมันเป็นเครื่องใช้ของพวกเขา (กาฟิรฺ) บนโลกนี้แต่สำหรับเราเป็นเครื่องใช้ในโลกหน้า” [มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ :5426 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 2067]

2- มีรายงานจากท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ภรรยาของท่านนบีกล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเคยกล่าวว่า
الَّذِي يَشْرَبُ فِي إِنَاءِ الْفِضَّةِ إِنَّمَا يُجَرْجِرُ فِي بَطْنِهِ نَارَ جَهَنَّمَ
ความว่า “ผู้ที่ดื่มด้วยภาชนะที่ทำจากโหละเงินนั้น ในโลกหน้าไฟนรกญะฮันนัมจะเดือดในท้องของเขา” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 5634สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺและมุสลิม เลขที่: 2065)

บทบัญญัติว่าด้วยสิ่งสกปรก โสโครก “นะญาสาต
สิ่งสกปรก โสโครกหรือสิ่งอื่นๆ ที่น่ารังเกียจ ซึ่งศาสนาได้บัญญัติไว้ว่าต้องชำระสิ่งโสโครกต่างๆเหล่านี้ให้สะอาดหมดจดเสียก่อน ซึ่งอาจจะล้างครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้จนกว่าจะสะอาด สิ่งโสโครกเหล่านี้ได้แก่
•    ปัสสาวะหรืออุจจาระมนุษย์
•    เลือดที่ไหลออกมามาก ๆ
•    เลือดระดูและน้ำคาวปลาหลังจากคลอดบุตร
•    วะดีย์ (คือน้ำขุ่น ข้น ที่ออกจากอวัยวะเพศชายและหญิงหลังปัสสาวะ)
•    มะซีย์ (คือน้ำใส ๆ เหนียวๆ ที่ออกจากอวัยวะเพศชาย และหญิงขณะมีความกำหนัด)
•    สัตว์ที่ตายโดยมิได้ถูกเชือดตามศาสนบัญญัติ ยกเว้นปลา และตั๊กแตน
•    เนื้อสุกร
•    ปัสสาวะและมูลสัตว์ที่กินเนื้อไม่ได้ เช่น ล่อ ลา เป็นต้น
•    น้ำลายสุนัข ซึ่งต้องล้างถึงเจ็ดครั้งโดยครั้งแรกต้องล้างด้วยน้ำปนดิน

1.    รายงานจากท่านอิบนุอับบาสเราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า    
أَنَّهُ مَرَّ بِقَبْرَيْنِ يُعَذَّبَانِ فَقَالَ إِنَّهُمَا لَيُعَذَّبَانِ وَمَا يُعَذَّبَانِ فِي كَبِيرٍ أَمَّا أَحَدُهُمَا فَكَانَ لَا يَسْتَتِرُ مِنَ الْبَوْلِ وَأَمَّا الْآخَرُ فَكَانَ يَمْشِي بِالنَّمِيمَةِ ثُمَّ أَخَذَ جَرِيدَةً رَطْبَةً فَشَقَّهَا بِنِصْفَيْنِ ثُمَّ غَرَزَ فِي كُلِّ قَبْرٍ وَاحِدَةً فَقَالُوا يَا رَسُولَ اللَّهِ لِمَ صَنَعْتَ هَذَا فَقَالَ لَعَلَّهُ أَنْ يُخَفَّفَ عَنْهُمَا مَا لَمْ يَيْبَسَا
ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้เดินผ่านหลุมฝังศพสองหลุมแล้วท่านกล่าวว่าแท้จริงเขาทั้งสองกำลังถูกลงโทษและเขามิได้ถูกลงโทษในความผิดที่ใหญ่หลวงร้ายแรง คนหนึ่งถูกลงโทษในความผิดที่มิได้ทำความสะอาดให้เรียบร้อยหลังถ่ายปัสสาวะ ส่วนอีกคนถูกลงโทษในความผิดที่ได้ตระเวนยุแหย่ใส่ร้ายผู้อื่น หลังจากนั้นท่านก็ได้เอาก้านอิทผลัมสดมาท่อนหนึ่ง หักออกเป็นสองส่วนแล้วนำมาปักไว้บนหลุมๆละอัน บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงถามท่านศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่าเพราะเหตุใดท่านจึงทำเช่นนั้น ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงตอบว่าเผื่อว่าโทษของพวกเขาจะเบาบางลงตราบใดที่ก้านทั้งสองยังสดอยู่” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 1361 สำนวนนี้เป็นของอัลบุคอรียฺ ส่วนในมุสลิม เลขที่: 292)

2.    มีรายงานจากท่านอะบีฮุร็อยเราะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
طَهُورُ إِنَاءِ أَحَدِكُمْ إِذَا وَلَغَ فِيهِ الْكَلْبُ أَنْ يَغْسِلَهُ سَبْعَ مَرَّاتٍ أُولَاهُنَّ بِالتُّرَابِ
ความว่า “การทำความสะอาดภาชนะของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเมื่อสุนัขได้เลียในภาชนะนั้น คือเขาต้องล้างมันเจ็ดครั้ง ครั้งที่หนึ่งจากเจ็ดครั้งนั้นเป็นน้ำปนดิน” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรียฺ เลขที่ : 172และมุสลิม เลขที่: 279 สำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

•    การทำความสะอาดรองเท้าแตะและรองเท้าคุฟนั้นโดยการเช็ดบนดินจนกว่าร่องรอยของสิ่งสกปรกจะหายไป
•    ควรปิดภาชนะและขวดบรรจุน้ำให้ดี และควรดับไฟในก่อนเข้านอน