เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

Muhammad Bin Ibrahim Al-Tuwajre

วันที่ :

Tue, Aug 23 2016

ประเภท :

Jurisprudence

อิหฺรอม (การเริ่มเข้าสู่พิธีอุมเราะฮฺหรือหัจญ์)

อิหฺรอม (การเริ่มเข้าสู่พิธีอุมเราะฮฺหรือหัจญ์)
[ ไทย ]


الإحرام
[ باللغة التايلاندية ]

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

 

แปลโดย: อัสรอน  นิยมเดชา
ترجمة: عصران    نئيوم ديشا
ตรวจทาน: ฟัยซอล  อับดุลฮาดี
مراجعة: فيصل  عبد الهادي
จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

 


สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008

 

 

 อิหฺรอม

อิหฺรอม คือ การเนียต (ตั้งเจตนา) เพื่อเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ
เหตุที่ต้องมีการเนียตอิหฺรอม : อัลลอฮฺตะอาลาทรงให้บัยตุลลอฮฺมีขอบเขตหะร็อม และมีกอตต่างๆ ที่ไม่มีผู้ใดสามารถเดินทางล้ำผ่านเข้าไปยังเขตหะร็อมได้นอกจากจะต้องมีลักษณะเฉพาะ และด้วยเจตนาเฉพาะ

ขอบเขตของหะร็อมมักกะฮฺ :
จากทิศตะวันตก : อัล-ชะมีสีย์ (อัล-หุดัยบิยะฮฺ) ห่างจากมัสยิดหะรอม 22 ก.ม. โดยใช้ถนนเส้นญิดดะฮฺ
จากทิศตะวันออก : ชายทุ่งอุเราะนะฮฺตะวันตก ห่างจากมัสยิดหะรอม 15 ก.ม. มีถนนเส้นฏออิฟตัดผ่าน ส่วนทางอัล-ญิอฺรอนะฮฺ เขตหะร็อมเริ่มที่ชะรออิอุลมุญาฮิดีน ซึ่งห่าง 16 ก.ม. โดยประมาณ
จากทิศเหนือ : ตันอีม ซึ่งอยู่ห่าง 7 ก.ม. โดยประมาณ
จากทิศใต้ : อะฎอต ลีน ถนนเส้นเยเมน อยู่ห่าง 12 ก.ม. โดยประมาณ

วิธีการเนียตเริ่มครองอิหฺรอม
ถือเป็นสุนัตสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเนียตเริ่มครองอิหฺรอมเพื่อประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺให้อาบน้ำชำระล้างร่างกาย พรมน้ำหอมที่ตัว สวมใส่ผ้าขาวสะอาดที่ไม่ได้เย็บเข้ารูป 2 ผืน และสวมรองเท้าแตะ        
    ส่วนสตรีก็สุนัตให้อาบน้ำเพื่อเริ่มครองอิหฺรอมแม้ว่าจะมีรอบเดือน หรืออยู่ในช่วงมีเลือดออกหลังคลอดบุตรก็ตาม และอนุญาตให้นางสวมใส่เสื้อผ้าชนิดใดก็ได้ที่ปกปิดร่างกายมิดชิด แต่ต้องไม่เด่นสะดุดตา คับรัดรูป หรือลอกเลียนแบบบุรุษหรือผู้ปฏิเสธศรัทธา และต้องไม่ใส่นิกอบปิดหน้าหรือสวมถุงมือ
    สุนัตให้เริ่มเนียตอิหฺรอมภายหลังการละหมาดในมัสยิด หรือเมื่อเริ่มขึ้นนั่งบนยานพาหนะ โดยหันไปทางกิบลัต ซึ่งการตัลบิยะฮฺนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของหัจญ์
    สุนัตให้ผู้เนียตครองอิหฺรอมกล่าวถึงประเภทของพิธีกรรมของตน ผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีอุมเราะฮฺก็ให้กล่าวว่า"لَبَّيْكَ عُمْرَةً"  (ลับบัยกะอุมเราะฮฺ = ฉันจะประกอบพิธีอุมเราะฮฺ) หากประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์แบบอิฟรอด (หัจญ์เพียงอย่างเดียว) ก็ให้กล่าวว่า "لَبَّيْكَ حَجّاً" (ลับบัยกะหัจญัน = ฉันจะประกอบพิธีหัจญ์) ถ้าหากประกอบพิธีหัจญ์แบบกิรอน (หัจญ์พร้อมอุมเราะฮฺ) ก็ให้กล่าวว่า "لَبَّيْكَ عُمْرَةً وَحَجّاً" (ลับบัยกะอุมเราะตันวะหัจญัน = ฉันจะประกอบพิธีอุมเราะฮฺพร้อมหัจญ์) และถ้าหากทำแบบตะมัตตุอฺ (อุมเราะฮฺก่อนเมื่อเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วค่อยเริ่มหัจญ์) ก็ให้กล่าวว่า "لَبَّيْكَ عُمْرَةً" และขณะทำการเนียตอาจจะกล่าวดังนี้ก็ได้
اللَّهُمَّ هَذِهِ حِجَّةٌ لاَ رِيَاءَ فِيْهَا وَلاَ سُمْعَةَ
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ นี่คือหัจญ์ซึ่งปราศจากการริยาอ์หรือสุมอะฮฺ”


หากผู้ครองอิหฺรอมเกิดเจ็บป่วยหรือเกิดความกลัว ก็สุนัตให้เขากล่าวขณะที่เริ่มเนียตครองอิหฺรอมว่า   
 إِنْ حَبَسَنِيْ حَابِسٌ فَمَحِلِّيْ حَيْثُ حَبَسْتَنِيْ
ความว่า “ถ้าหากมีอุปสรรคใดมาขวางกั้น ก็ให้ได้พ้นสภาพการครองอิหฺรอม ณ ตรงนั้น”
    
    เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว หากมีอุปสรรคใดเกิดขึ้นเขาก็จะพ้นสภาพการครองอิหฺรอมทันที
    
วิธีการตัลบิยะฮฺ
    1. สุนัตให้ผู้ครองอิหฺรอม หลังจากเนียตครองอิหฺรอมและขึ้นนั่งบนพาหนะพร้อมกล่าวอัลหัมดุลิลลาฮฺ สุบหานัลลอฮฺ อัลลอฮุอักบัรฺแล้ว ให้กล่าวว่า
«لَبَّيْكَ اللَّـهُـمَّ لَبَّيْكَ، لَبَّيْكَ لا شَرِيكَ لَكَ لَبَّيْكَ، إنَّ الحَـمْدَ وَالنِّعْمَةَ لَكَ وَالمُلْكَ، لا شَرِيكَ لَكَ»
    ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ฉันตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์ ฉันตอบสนองพระองค์ ฉันตอบสนองพระองค์ ไม่มีสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์ แท้จริงมวลการสรรเสริญ ความโปรดปราน และอำนาจเป็นสิทธิของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 1549  และมุสลิม : 1184)

    2.จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺเล่าวว่า:
    "ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวตัลบิยะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือ "لبيك إله الحق" (ลับบัยกะ อิลาฮัล ฮัก)  (บันทึกโดยอันนะสาอีย์ 2752 และอิบนุมาญะฮฺ 2920)

ความประเสริฐของการตัลบิยะฮฺ
    จากสะหฺล์ บิน สะอฺด์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«ما مِنْ مُسْلِـمٍ يُلبي إلا لبَّي مَنْ عنْ يَـمينِـه أو عَنْ شِمَالِـهِ مِنْ حَجرٍ أو شَجرٍ أو مَدَرٍ حتَّى تَنْقَطِعَ الأرضُ مِنْ هَاهُنَا وَهَاهُنَا»
ความว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดทำการกล่าวคำตัลบิยะฮฺนอกจากสิ่งที่อยู่ทางขวามือและซ้ายมือของเขาไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ต้นไม้ หรือดิน จะร่วมกล่าวคำตัลบิยะฮฺด้วย” (บันทึกโดย อัตตัรฺมิซีย์ : 828 และอิบนุ มาญะฮฺ : 2021)

สุนัตให้ผู้ครองอิหฺรอมกล่าวคำตัลบิยะฮฺให้มาก เพราะการกล่าวคำตัลบิยะฮฺนั้นถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของการประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ โดยให้กล่าวเสียงดังไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี(หากปราศจากฟิตนะฮฺ) โดยอาจกล่าวคำตัลบิยะฮฺ สลับกับตะฮฺลีล (ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) หรือ ตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัรฺ)
ในการประกอบพิธีอุมเราะฮฺให้หยุดกล่าวคำตัลบิยะฮฺเมื่อเริ่มเข้าสู่เขตหะร็อม ส่วนในหัจญ์นั้นให้หยุดเมื่อเสร็จสิ้นการขว้างเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺในวันอีด
ผู้บรรลุศาสนภาวะเมื่อเริ่มเนียตครองอิหฺรอมเพื่อประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺแล้วจำเป็นที่เขาต้องปฏิบัติให้เสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ส่วนเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้เสร็จ เนื่องจากเขายังไม่อยู่ในเงื่อนไขของผู้ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อบังคับทางศาสนา    
    
สิ่งที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์จำเป็นต้องกระทำ
    จำเป็นที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องพยายามกระทำความดีและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นบาปความผิด
    อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า :
(ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ ﭨ ﭩ ﭪ ﭫ ﭬ ﭭ ﭮ ﭯ ﭰ ﭱ ﭲ)
ความว่า “(ช่วงเวลาของ) การประกอบพิธีหัจญ์นั้นมีหลายเดือนอันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใดที่หัจญ์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรัลเขาในเดือนเหล่านั้นแล้ว ก็ต้องไม่มีการสมสู่ ไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใดๆ ใน (ช่วงเวลาแห่ง) การประกอบพิธีหัจญ์ และความดีใดๆ ที่พวกเจ้ากระทำนั้นอัลลอฮฺทรงรู้ดี และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิด โอ้ ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย“   (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 197)

สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอม
สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอม คือ สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ผู้ครองอิหฺรอมกระทำภายหลังจากที่ได้เริ่มเนียตครองอิหฺรอมแล้ว
จากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า มีชายคนหนึ่งถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ผู้ครองอิหฺรอมนั้นสามารถสวมใส่เสื้อผ้าชนิดใดได้บ้าง?” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ตอบว่า
«لا يَلْبَسُ القُمُصَ، وَلا العَمَائِمَ، وَلا السَّرَاوِيلاتِ، وَلا البَرَانِسَ، وَلا الخِفَافَ، إلا أَحَدٌ لا يَـجِدُ نَعْلَيْنِ فَلْيَلْبَسْ خُفَّيْنِ، وَلْيَـقْطَعْهُـمَا أَسْفَلَ مِنَ الكَعْبَيْنِ، وَلا تَلْبَسُوا مِنَ الثِّيَابِ شَيْئاً مَسَّهُ زَعْفَرَانٌ أَوْ وَرْسٌ»
ความว่า “เขาอย่าได้สวมใส่เสื้อ ผ้าโพกหัว กางเกง หมวก หรือรองเท้าหุ้มส้น เว้นแต่ว่าเขาจะไม่สามารถหารองเท้าแตะได้ก็ให้ใส่รองเท้าหุ้มส้น โดยตัดมันให้เหลือเพียงส่วนที่อยู่ใต้ตาตุ่ม และพวกท่านอย่าได้สวมใส่ผ้าที่ย้อมด้วยหญ้าฝรั่น หรือวัรสฺ” (อัล-บุคอรีย์ : 1546 และมุสลิม : 1177)

สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอมไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี
1.โกนหรือตัดผม
2.ตัดเล็บ
3.ปิดศีรษะ (สำหรับบุรุษ)
4.สวมใส่เสื้อผ้าที่เย็บเข้ารูป (เฉพาะบุรุษ) เช่น เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด กางเกง ถุงมือ รองเท้าหุ้มส้น ผ้าโพกศีรษะ หรือหมวก เป็นต้น
5.ใส่เครื่องหอม ที่ร่างกายหรือผ้าอิหฺรอม ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม
6.ฆ่าหรือล่าสัตว์บกที่รับประทานได้
7.การสมรส
8.การปิดหน้าด้วยผ้าปิดหน้า หรือสวมถุงมือ
9.การมีเพศสัมพันธ์ : ถือเป็นข้อห้ามของการครองอิหฺรอมที่ร้ายแรงที่สุด หากเกิดขึ้นก่อนตะหัลลุลเบื้องต้นถือว่าหัจญ์ของเขานั้นเป็นโมฆะและยังเป็นบาป อีกทั้งต้องเชือดอูฐหนึ่งตัว และให้ทั้งสองทำตามขั้นตอนพิธีหัจญ์ต่อไป โดยต้องประกอบพิธีหัจญ์ชดใช้ในปีถัดไป
แต่ถ้าการมีเพศสัมพันธ์นั้นมีขึ้นภายหลังการตะหัลลุลเบื้องต้นก็ไม่ถือว่าหัจญ์ของเขาเป็นโมฆะ แต่ก็ถือว่าเป็นบาป และจำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮฺและอาบน้ำ (ยกหะดัษ)
10.การเล้าโลมที่ไม่ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ หากมีการหลั่งเกิดขึ้น ก็ไม่ถือว่าหัจญ์หรือการครองอิหฺรอมของเขาเป็นโมฆะ แต่ก็ถือว่าเป็นบาป และต้องจ่ายฟิดยะฮฺเหมือนกับผู้ที่มีเหตุจำเป็น

ไม่อนุญาตให้บุรุษเนียตครองอิหฺรอมในสภาพที่สวมใส่ถุงเท้า หรือรองเท้าหุ้มส้น นอกเสียจากว่าจะหารองเท้าแตะไม่ได้ก็ให้สวมใส่รองเท้าหุ้มส้นโดยที่ไม่ต้องตัดให้ต่ำลงแต่อย่างใด รองเท้าหุ้มส้นคือรองเท้าที่ปกปิดตาตุ่ม อนุญาตให้สตรีที่เนียตครองอิหฺรอมสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นได้ ส่วนถุงมือนั้นถือว่าไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีและบุรุษดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ข้อห้ามต่างๆที่กล่าวมานั้นครอบคลุมถึงสตรีด้วย ยกเว้นการสวมใส่ผ้าที่เย็บเข้ารูปซึ่งนางสามารถสวมใส่ได้ตราบใดที่ไม่รัดรูปหรือเปิดเผยเอาเราะฮฺ และควรหลีกเลี่ยงการปิดหน้า แต่ในกรณีที่มีชายที่ไม่ใช่มะหฺรอมอยู่ด้วยก็อนุญาตให้ดึงผ้าลงปิดหน้าได้ ไม่อนุญาตให้สวมใส่ถุงมือ และอนุญาตให้สวมใส่เครื่องประดับได้
การตะหัลลุลเบื้องต้นในการประกอบพิธีหัจญ์จะมีผลให้สิ่งที่เคยเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์นั้นเป็นที่อนุญาตนอกจากสตรี(การมีเพศสัมพันธ์) ซึ่งการตะหัลลุลเบื้องต้นนั้นก็ต่อเมื่อได้ขว้างเสาหินเรียบร้อยแล้ว
ส่วนผู้ใดที่นำสัตว์ฮัดย์ไปพร้อมกับเขา การตะหัลลุลของเขาก็ต่อเมื่อเขาได้เชือดสัตว์และขว้างเสาหินเรียบร้อยแล้ว

หุก่มของสตรีที่ครองอิหฺรอมที่มีรอบเดือน
หากสตรีผู้ครองอิหฺรอมแบบตะมัตตุอฺมีรอบเดือนก่อนทำการเฏาะวาฟ และเกรงว่าจะไม่สามารถประกอบพิธีหัจญ์ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ ก็ให้นางเนียตครองอิหฺรอมในสภาพนั้นโดยเปลี่ยนเป็นการครองอิหฺรอมแบบกิรอน เช่นเดียวกับในกรณีของผู้มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งสตรีผู้มีรอบเดือนหรือมีเลือดหลังการคลอดบุตรให้นางปฏิบัติขั้นตอนต่างๆทั้งหมดยกเว้นการเฏาะวาฟ ถ้าหากมีรอบเดือนขณะกำลังทำการเฏาะวาฟก็ให้นางออกจากการเฏาะวาฟและให้เนียตหัจญ์แบบกิรอน

    
สิ่งที่ผู้ครองอิหฺรอมสามารถกระทำได้
อนุญาตให้ผู้ครองอิหฺรอมเชือดปศุสัตว์ และสัตว์จำพวกไก่ได้ และอนุญาตให้ฆ่าแมลงหรือสัตว์ที่อาจทำอันตรายต่อเขา เช่น สิงโต สุนัขจิ้งจอก เสือ งู แมงป่อง หรือหนู ได้ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเขตหะร็อมก็ตาม และอนุญาตให้ฆ่าจิ้งจกได้ โดยฆ่าให้ตายในการตีครั้งแรกจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งจะได้รับ 100 ผลบุญ และอนุญาตให้จับสัตว์ทะเลได้
1.อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
(ﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖ ﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﭜ ﭝ ﭞ ﭟ ﭠ ﭡ ﭢ ﭣ ﭤ ﭥ ﭦ ﭧ)
ความว่า “ได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้า ซึ่งสัตว์ล่าในทะเลและอาหารจากทะเล ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่พวกเจ้า และแก่บรรดาผู้เดินทาง และได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้า ซึ่งสัตว์ล่าบนบกตราบใดที่พวกเจ้าครองอิหฺรอมอยู่ และจงยำเกรงอัลลอฮฺผู้ที่พวกเจ้าจะถูกรวบรวมนำไปสู่พระองค์” (อัล-มาอิดะฮฺ : 96)

2.จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : «خَـمْسٌ فَوَاسِقُ يُـقْتَلْنَ فِي الحَرَمِ: العَقْرَبُ، وَالفَأرَةُ، والحُديَّا، وَالغُرَابُ، وَالكَلْبُ العَقُورُ»
ความว่า : ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “สัตว์ไม่ดีห้าชนิดที่อนุญาตให้ฆ่าในเขตหะร็อมได้ : แมงป่อง หนู อีกา และสุนัขดำ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ : 1829 และมุสลิม : 1198)

    อนุญาตให้ผู้ครองอิหฺรอมอาบน้ำ ล้างศีรษะ ซักหรือเปลี่ยนผ้าอิหฺรอมได้ และอนุญาตให้สวมแหวนเงิน แว่นตา เครื่องช่วยฟัง นาฬิกา เข็มขัด รองเท้าแตะแม้ว่าจะมีรอยเย็บ และอนุญาตให้ทำการกรอกเลือดหรือทาตาเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือกรณีใกล้เคียง
    อนุญาตให้ผู้ครองอิหฺรอมดมเครื่องหอม หลบแดดใต้เต็นท์ ร่ม หรือรถยนต์ และอนุญาตให้เกาศีรษะได้แม้ว่าจะมีเส้นผมหลุดร่วงออกมาบ้างเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร
    ผู้ใดประสงค์จะเชือดกุรบานและเนียตประกอบพิธีหัจญ์ หลังจากเนียตครองอิหฺรอมแล้วไม่ควรตัดขนหรือเล็บ โดยอนุญาตให้โกนหรือตัดผมหากเขาประกอบพิธีแบบตะมัตตุอฺเท่านั้น เนื่องจากการโกนและตัดถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีหัจญ์

สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อผู้ครองอิหฺรอมในกรณีที่เสียชีวิต
จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ชายคนหนึ่งถูกอูฐเหยียบทับขณะที่เขาครองอิหฺรอมโดยที่เราอยู่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงกล่าวว่า :
«اغْسِلُوهُ بِمَاءٍ وَسِدْرٍ وَكَفِّنُوهُ فِي ثَوبَيْنِ، وَلا تُـمِسُّوُه طِيباً، وَلا تُـخَـمِّرُوا رَأْسَهُ، فَإنَّ الله يَبْعَثُهُ يَومَ القِيَامَةِ مُلَبِّياً»
ความว่า “พวกท่านจงอาบน้ำเขาด้วยน้ำและใบพุทรา และจงห่อเขาด้วยผ้าสองผืน และอย่าได้ใส่เครื่องหอม และอย่าปิดศีรษะเขา แท้จริงอัลลอฮฺตะอาลาจะให้เขาฟื้นขึ้นมาในวันกิยามะฮฺในสภาพที่เขากล่าวคำตัลบิยะฮฺ” (อัล-บุคอรีย์ : 1267 และมุสลิม : 1206)