เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

www.almoslim.net

วันที่ :

Tue, Oct 25 2016

ประเภท :

For New Muslim

บางประเด็นว่าด้วยกุนูตวิติรฺ


บางประเด็นว่าด้วยกุนูตวิติรฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [

 


ฝ่ายวิชาการเว็บ อัล-มุสลิม

 


แปลโดย :  ซุฟอัม อุษมาน, รุสดี การีสา
ตรวจทานโดย :  ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : เว็บไซต์อัลมุสลิม http://www.almoslim.net

 


2013 - 1434
 


مسائل في دعاء قنوت الوتر
« باللغة التايلاندية »

 

 

اللجنة العلمية في موقع المسلم

 


ترجمة: صافي عثمان، رشدي كاريسا
مراجعة: صافي عثمان، رشدي كاريسا
المصدر:  موقع المسلم  http://www.almoslim.net

 


2013 - 1434
 


 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

บางประเด็นว่าด้วยกุนูตวิติรฺ

ประเด็นที่หนึ่ง หุก่มการกุนูตในละหมาดวิติรฺ
บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นตรงกันว่ามีบัญญัติให้อ่านดุอาอ์กุนูตในละหมาดฟัจญ์รฺ(ละหมาดศุบหฺ)เมื่อมี อัน-นะวาซิล หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นเกิดขึ้น (ดู อัสฮัล อัล-มะดาริก ของ อัล-กัชนาวีย์ 1/303) ส่วนในกรณีอื่นๆ นั้นพวกเขามีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ซึ่งจะขอสรุปสั้นๆ เฉพาะประเด็นของกุนูตในละหมาดวิติรฺเท่านั้น ความเห็นในประเด็นนี้แตกออกเป็นสี่ทัศนะด้วยกัน ดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง มักรูฮฺที่จะให้อ่านกุนูตในละหมาดวิติรฺ นี่คือทัศนะที่รู้กันแพร่หลายในมัซฮับมาลิกีย์ พวกเขาอ้างว่าไม่มีรายงานยืนยันจากสุนนะฮฺว่าให้อ่านกุนูตในละหมาดวิติรฺ แต่ที่ปรากฏในสุนนะฮฺก็คือให้อ่านในละหมาดศุบหฺเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นเท่านั้น อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ใน อัต-ตัลคีศ (ตัลคีศ อัล-หะบีรฺ 2/18) ว่า อัล-ค็อลลาล ได้รายงานจากอะห์มัดว่า ไม่มีรายงานที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เลย แต่ที่มีปรากฏก็คือเป็นแบบอย่างการกระทำของท่านอุมัรฺ ซึ่งท่านเคยอ่านกุนูต ในขณะที่อิบนุ คุซัยมะฮฺ ได้กล่าวว่า  ฉันไม่เคยจำว่ามีรายงานที่ยืนยันได้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการอ่านกุนูตในละหมาดวิติรฺ  (ดู เศาะฮีหฺ อิบนิ คุซัยมะฮฺ 2/151)

ทัศนะที่สอง สุนัตให้อ่านกุนูตวิติรฺในช่วงครึ่งหลังของเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น เป็นรายงานที่เล่าจากท่านอะลีย์และอุบัยย์ บิน กะอับ (ดู อัล-มุฆนีย์ 1/820) และจากอัซ-ซุฮรีย์ (รายงานโดยอับดุรร็อซซากในอัล-มุศ็อนนัฟ 3/121) และเป็นทัศนะที่อิบนุ วะฮฺบ์ รายงานจากอิมามมาลิก (ในอัล-อิซติซการฺ 5/166) เป็นทัศนะของอิบนุ นาฟิอฺจากมัซฮับมาลิกีย์ (อัสฮัล อัล-มะดาริก ของ อัล-กัชนาวีย์ 1/303) และเป็นทัศนะที่แพร่หลายในมัซฮับชาฟิอีย์ (ดู อัล-มัจญ์มูอฺ ของอัน-นะวะวีย์ 4/15) เป็นทัศนะที่อิมามอะห์มัดระบุไว้อย่างชัดเจนเมื่ออบู ดาวูดได้ถามท่านว่า การอ่านกุนูตให้อ่านตลอดทั้งปีหรือไม่? ท่านตอบว่า ได้ถ้าท่านต้องการ, อบู ดาวูดถามต่อไปว่า อะไรที่ท่านเลือกเป็นการส่วนตัว? ท่านตอบว่า สำหรับฉัน ฉันจะไม่กุนูตนอกจากในครึ่งหลังที่เหลือของเดือนเราะมะฎอน เว้นแต่เวลาที่ฉันละหมาดหลังอิมามที่อ่านกุนูตฉันก็จะกุนูตพร้อมกับเขาด้วย (มะสาอิล อะห์มัด ของอบู ดาวูด 66) บรรดาผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ยังอ้างหลักฐานที่รายงานจากอิบนุ อุมัรฺ ซึ่งบันทึกโดยอิบนุ อบี ชัยบะฮฺด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง (ใน อัล-มุศ็อนนัฟ 2/98)

ทัศนะที่สาม สุนัตให้อ่านกุนูตวิติรฺในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น ไม่รวมเดือนอื่นๆ ทัศนะนี้เป็นการอธิบายอีกแง่หนึ่งในมัซฮับมาลิกีย์และชาฟิอีย์ (ดู อัล-มัจญ์มูอฺ 4/15)

ทัศนะที่สี่ สุนัตให้อ่านกุนูตวิติรฺทุกคืนตลอดทั้งปี เป็นรายงานจากอิบนุ มัสอูด และอิบรอฮีม อัน-นะเคาะอีย์ (อัล-มุฆนีย์ 1/820) เป็นความเห็นหนึ่งของมัซฮับหะนะฟีย์ (บะดาอิอฺ อัศ-เศาะนาอิอฺ 1/273) เป็นคำอธิบายอีกแง่หนึ่งของมัซฮับชาฟิอีย์ (อัล-มัจญ์มูอฺ 4/15) และเป็นความเห็นหนึ่งที่รายงานจากอิมามอะห์มัดด้วย (อัล-อินศอฟ ของ อัล-มัรดาวีย์ 2/270) บรรดาผู้ที่มีความเห็นกับทัศนะนี้อ้างถึงรายงานต่างๆ ดังนี้
หะดีษที่หนึ่ง หะดีษของอัล-หะซัน บิน อะลีย์ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนให้ฉันอ่านถ้อยคำบางอย่างในกุนูตวิติรฺ คือ
«اللَّهُمَّ اهْدِنِي فِيمَنْ هَدَيْتَ، وَعَافِنِي فِيمَنْ عَافَيْتَ، وَتَوَلَّنِي فِيمَنْ تَوَلَّيْتَ، وَبَارِكْ لِي فِيمَا أَعْطَيْتَ، وَقِنِي شَرَّ مَا قَضَيْتَ، فَإِنَّكَ تَقْضِي وَلَا يُقْضَى عَلَيْكَ، إِنَّهُ لَا يَذِلُّ مَنْ وَالَيْتَ، تَبَارَكْتَ رَبَّنَا وَتَعَالَيْتَ»
(บันทึกโดย อะห์มัด ใน อัล-มุสนัด 1/200, อบู ดาวูด หมายเลข 1425 และท่านก็เงียบเฉยไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ, อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 464 ท่านบอกว่าเป็นหะดีษหะสัน, อัน-นะสาอีย์ 3/248, อิบนุ มาญะฮฺ 1/199, อัล-หากิม 3/172 ท่านบอกว่าเศาะฮีหฺตามเงื่อนไขของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม, อัซ-ซัยละอีย์ ได้อ้างถึงอัน-นะวาวีย์ว่าท่านได้วินิจฉัยสายรายงานหะดีษนี้ว่าเศาะฮีหฺ ใน นัศบ์ อัร-รอยะฮฺ 2/125, เชคอะห์มัด ชากิรฺ ได้วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ใน ตะห์กีก อัล-มุสนัด หมายเลข 1718, อัล-อัลบานีย์ ได้วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ใน อัล-อิรวาอ์ 2/172 แต่สำนวนที่เพิ่มขึ้นมาว่า ในกุนูตวิติรฺ นั้นเป็นการเพิ่มที่ ชาซฺ (ผิดแผกแปลกไปจากรายงานของคนอื่นๆ) เพราะเป็นรายงานที่อบู อิสหากและยูนุส ลูกชายของท่านได้รายงานจากบุร็อยดฺ มันไม่ได้ถูกรายงานโดยชุอฺบะฮฺจากบุร็อยดฺ ซึ่งชุอฺบะฮฺนั้นมีความน่าเชื่อถือกว่าพ่อลูกทั้งสองคน เช่นนี้แหละคือการอธิบายของอิบนุ คุซัยมะฮฺ ในตำราอัศ-เศาะฮีหฺของท่าน 2/152 ดูเพิ่มเติมได้จาก ริสาละฮฺ ฟี อะห์กาม กิยามิลลัยล์ ของอัล-อุลวาน 45)
หะดีษที่สอง หะดีษของอุบัยย์ บิน กะอฺบ์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กุนูตในละหมาดวิติรฺ (บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 1427, อัน-นะสาอีย์ 1/148, อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1182, อัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน ใน อัล-อิรวาอ์ 2/167)
หะดีษที่สาม มีรายงานยืนยันจากการปฏิบัติของเศาะหาบะฮฺบางท่าน เช่นท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ตามที่ได้อ้างแล้วจากบันทึกของอิมามอะห์มัด

ทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุดก็คือ การอ่านกุนูตในวิติรฺนั้นเป็นสุนนะฮฺ เพราะมีรายงานยืนยันจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ เพียงแต่ไม่ต้องอ่านบ่อย การละทิ้งไม่อ่านกุนูตนั้นให้เยอะกว่าการอ่านมัน โดยอ้างถึงรายงานของอิบนุ อุมัรฺ ที่บอกว่ามีบัญญัติให้อ่านกุนูตในช่วงครึ่งหลังของเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น

ประเด็นที่สอง ช่วงขณะไหนที่ให้อ่านกุนูต?
บรรดานักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันออกเป็นสามทัศนะ คือ
ทัศนะที่หนึ่ง ให้อ่านก่อนรุกูอฺ เป็นรายงานจากท่านอุมัรฺ, อะลีย์, อิบนุ มัสอูด, อบู มูซา, อัล-บะรออ์ บิน อาซิบ, อิบนุ อุมัรฺ, อิบนุ อับบาส, อะนัส และอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ (ดู อัล-มัจญ์มูอฺ 4/24, อัล-มุฆนีย์ 1/821) เป็นทัศนะของมัซฮับมาลิกีย์และหะนะฟีย์ (อัล-มุฆนีย์ 1/821) ทัศนะนี้อ้างถึงรายงานของอับดุรเราะห์มาน บิน อับซา เล่าว่า ฉันได้ละหมาดศุบหฺตามหลังท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ และฉันก็ได้ยินท่านอ่านดุอาอ์ก่อนรุกูอฺว่า “อัลลอฮุมมะ อิยยากะ นะอฺบุดุ ... จนจบ” (บันทึกโดยอัล-บัยฮะกีย์ 2/210, อัล-อัลบานีย์ได้วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ในอัล-อิรวาอ์ 2/271) และยังได้อ้างถึงหะดีษมัรฟูอฺอีกหลายหะดีษซึ่งทั้งหมดมีสายรายงานที่อ่อนทั้งสิ้น (ดู อัล-มัจญ์มูอฺ 2/24)

ทัศนะที่สอง ให้อ่านหลังจากรุกูอฺ เป็นรายงานที่เล่าโดยอิบนุล มุนซิรฺ จาก อบู บักรฺ อัศ-ศิดดีก, อุมัรฺ, อะลีย์ และอุบัยย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม และจากสะอีด บิน ญุบัยรฺ ด้วยเช่นกัน เป็นทัศนะที่เศาะฮีหฺ(ยืนยันถูกต้อง)จากมัซฮับชาฟิอีย์ (อัล-มุฆนีย์ 1/821, อัล-มัจญ์มูอฺ 4/24) และเป็นความเห็นแง่หนึ่งในมัซฮับหันบะลีย์ด้วย (อัล-ฟุรูอฺ 2/171)

ทัศนะที่สาม สุนัตให้อ่านหลังรุกูอฺ แต่อนุญาตให้อ่านก่อนรุกูอฺได้ เป็นความเห็นของอัยยูบ อัส-สุคตียานีย์ (อัล-มัจญ์มูอฺ 2/24) เป็นความเห็นที่เศาะฮีหฺ(ยืนยันถูกต้อง)ในมัซฮับหันบะลีย์ (อัล-ฟุรูอฺ 2/171, อัล-มุฆนีย์ 1/821)

สาเหตุที่มีทัศนะแตกต่างกันเช่นนี้อันเนื่องมาจากไม่มีรายงานที่เศาะฮีหฺในเรื่องดังกล่าวนี้เลย ทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดก็คือ อนุญาตให้กุนูตทั้งก่อนและหลังรุกูอฺได้ โดยกิยาสเปรียบเทียบจากกุนูตนาซิละฮฺในละหมาดฟัรฎู โดยมีรายงานยืนยันจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านได้กุนูตก่อนที่จะรุกูอฺ (อบู ดาวูด ในกิตาบ อัศ-เศาะลาฮฺ บรรพการกุนูตในวิติรฺ หมายเลข 1427, อัน-นะสาอีย์ 1/148, อิบนุ มาญะฮฺ ใน อิกอมะฮฺ อัศ-เศาะลาฮฺ บรรพว่าด้วยกุนูตก่อนรุกูอฺ หมายเลข 1182, อัล-บัยฮะกีย์ 2/38 จากอุบัยย์ บิน กะอฺบ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ และอัล-อัลบานีย์ได้กล่าวว่าเศาะฮีหฺ ใน อัล-อิรวาอ์) เช่นเดียวกับที่มีรายงานว่าท่านนบีกุนูตหลังรุกูอฺ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ใน อัล-มะฆอซีย์ บรรพสงครามอัร-เราะญีอฺ หมายเลข 4089, มุสลิมใน อัล-มะสาญิด บรรพสนับสนุนในกุนูตในละหมาดทุกประเภท หมายเลข 677 และ 604 จากอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) แต่ที่ให้ทำบ่อยกว่าก็คือให้อ่านหลังจากรุกูอฺเสร็จแล้ว
และถ้าหากว่าจะอ่านกุนูตก่อนรุกูอฺ ก็ให้เริ่มหลังจากอ่านสูเราะฮฺเสร็จ โดยไม่ต้องกล่าวตักบีรฺแต่อย่างใด (อัล-มุมติอฺ ของ เชคอัล-อุษัยมีน 4/26)

ประเด็นที่สาม การเริ่มต้นกุนูตด้วยการสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺ
บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นต่างกันว่า การกุนูตนั้นให้เริ่มด้วยการกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮฺ - สรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺก่อน หรือว่าให้เริ่มด้วยสำนวนตามที่มีปรากฏในรายงานของอัล-หะสัน บิน อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เลย นั่นคือสำนวนที่ว่า “อัลลอฮุมมะฮฺดินี ฟี มัน ฮะดัยต์...” ? ซึ่งแบ่งออกเป็นสองทัศนะ ดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง สุนนะฮฺก็คือไม่ต้องเริ่มด้วยการสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺก่อนแต่อย่างใด พวกเขาอ้างด้วยเหตุผลต่างๆ อาทิ
- หะดีษของอัล-หะสัน บิน อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่กล่าวถึงสำนวนของดุอาอ์กุนูตว่า “อัลลอฮุมมะฮฺดินี ฟี มัน ฮะดัยต์...” ซึ่งไม่ได้ระบุว่าท่านนบีสอนให้หะสันเริ่มด้วยการสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺก่อนที่จะอ่านดุอาอ์นี้แต่อย่างใด ดังนั้นมันจึงชี้ให้เห็นว่าไม่มีบัญญัติให้ต้องเริ่มต้นด้วยการสดุดีในการอ่านกุนูต
- ไม่มีรายงานยืนยันจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านเริ่มกุนูตด้วยการสดุดีก่อน
- กุนูตเป็นอิบาดะฮฺแบบเตากีฟียะฮฺ คือต้องรอยืนยันปฏิบัติตามหลักฐาน จะต้องไม่มีการปฏิบัตินอกจากด้วยวิธีการที่มีบัญญัติจากอัลลอฮฺเท่านั้น ดังนั้น ความเห็นที่ว่าให้เริ่มด้วยการสดุดีก่อนนั้นจำเป็นต้องมีหลักฐานเฉพาะมายืนยันสนับสนุน และปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันเหมือนกับดุอาอ์อื่นๆ ที่ใช้อ่านในละหมาด เช่น ดุอาอ์ระหว่างสองสุญูด เป็นต้น
ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ เห็นชอบตามนั้นด้วย (ฟะตาวา บิน บาซ 4/293)

ทัศนะที่สอง แท้จริงแล้วสุนนะฮฺนั้นให้เริ่มอ่านกุนูตด้วยการกล่าวสดุดีอัลลอฮฺก่อน นี่เป็นความเห็นของมัซฮับหันบะลีย์ ซึ่งพวกเขาอ้างหลักฐานต่างๆ เช่น
- หะดีษของฟะฎอละฮฺ บิน อุบัยดฺ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ยินชายคนหนึ่งขอดุอาอ์ในละหมาดแต่ไม่ได้เริ่มด้วยการกล่าวสดุดีอัลลอฮฺและไม่ได้กล่าวเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านนบีจึงกล่าวว่า “คนผู้นี้รีบร้อนเกินไป เมื่อใดที่พวกท่านขอดุอาอ์ ให้เขาเริ่มด้วยการสดุดีและยกย่องพระผู้อภิบาลของเขาก่อน จากนั้นก็ให้เศาะละวาตแก่นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วจึงขอดุอาอ์ตามที่เขาต้องการ”
- หะดีษของอับดุรเราะห์มาน บิน อับซา เล่าว่า ฉันได้ละหมาดตามอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ในละหมาดศุบหฺ ท่านได้อ่านดุอาอ์หลังจากอ่านสูเราะฮฺเสร็จก่อนที่จะรุกูอฺว่า
اللهم إياك نعبد ولك نصلي ونسجد وإليك نسعى ونحفد نرجو رحمتك ونخشى عذابك إن عذابك الجد بالكفار ملحق، اللهم إنا نستعينك ونستغفرك ونثني عليك الخير ولا نكفرك، ونؤمن بك، ونخضع لك، ونخلع من يكفرك.
(รายงานโดยอัล-บัยฮะกีย์ แต่อัล-อัลบานีย์ มีทัศนะว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ ดู อัล-อิรวาอ์ 2/271)
อิมามอะห์มัดได้กล่าวว่า ให้อ่านด้วยดุอาอ์ของอุมัรฺ “อัลลอฮุมมะ อินนา นัสตะอีนุกะ ...” และดุอาอ์ของอัล-หะสัน “อัลลอฮุมมะฮฺ ดีนี ฟีมัน ฮะดัยต์ ...” (ดู อัล-อินศอฟ 2/171)
- เพราะว่าโดยหลักการดั้งเดิมแล้ว การขอดุอาอ์นั้นต้องเริ่มด้วยการสดุดีอัลลอฮฺและการเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก่อน
ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่เชคมุหัมมัด บิน อุษัยมีน เห็นชอบตามนั้นด้วย และน่าจะเป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับความถูกต้องมากที่สุด เพราะหลักฐานต่างๆ ที่มีน้ำหนักกว่า วัลลอฮุอะอฺลัม

ประเด็นที่สี่ การขอดุอาอ์กุนูตด้วยเสียงที่เป็นจังหวะและท่วงทำนอง
สิ่งที่มีบัญญัติสำหรับผู้ขอดุอาอ์ก็คือ ให้ขอด้วยดุอาอ์ที่เป็นสำนวนกระชับและไม่เกินขอบเขตในการขอดุอาอ์ ดังนั้น จึงสมควรที่ผู้ขอดุอาอ์ต้องพยายามมุ่งเน้นกับดุอาอ์ที่มีปรากฏในอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี หรือดุอาอ์ที่มีสำนวนกระชับอื่นๆ และถือว่าไม่เป็นไรถ้าหากว่าจะเพิ่มดุอาอ์อื่นๆ ที่ไม่ปรากฏในรายงานถ้าหากว่าปลอดจากสิ่งที่พึงระวังและควรหลีกเลี่ยง และไม่พยายามอ่านแบบมีจังหวะท่วงทำนองและทำเสียงสูงต่ำจนเกินขอบเขตในการขอดุอาอ์กุนูต เหมือนกับเราที่เห็นผู้คนทั้งหลายได้ทำขึ้นมาในอิบาดะฮฺนี้ การขอดุอาอ์นั้นแต่เดิมให้ขอด้วยอาการสงบเสงี่ยมนอบน้อมโดยไม่ต้องเสแสร้งหรือแกล้งทำให้มากจนเกินเลย
อัล-กะมาล บิน อัล-ฮัมมาม ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ผู้คนทั้งหลายคุ้นชินกันในยุคนี้ ด้วยการลากเสียงยาวในการขอดุอาอ์ การเปล่งเสียงดังและเน้นเสียงจนเกินเลยเพื่อแสดงให้เห็นถึงท่วงทำนองเป็นจังหวะจะโคลง ซึ่งไม่ใช่ภาพแห่งการฟื้นฟูอิบาดะฮฺ แท้จริงแล้วสิ่งนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ตอบรับดุอาอ์ ทว่ามันเป็นการกระทำที่มีแนวโน้มว่าจะถูกปฏิเสธมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวและการไม่ได้รับสิ่งที่ดีงาม” (ฟัยฎ์ อัล-เกาะดีรฺ 1/229) ท่านยังกล่าวอีกว่า “ฉันไม่เห็นว่าการขอดุอาอ์เป็นท่วงทำนองเหมือนที่บรรดานักอ่านในปัจจุบันทำกันอยู่นั้นจะเป็นพฤติกรรมที่ออกมาจากผู้ที่เข้าใจความหมายของดุอาอ์และการวิงวอนขอ การกระทำแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งอื่นเลยนอกจากเป็นการทำเล่นๆ ประเภทหนึ่งเท่านั้น เพราะลองสมมุติดูในความเป็นจริงว่า ถ้าเกิดเขาจะขออะไรสักอย่างจากพระราชาหรือกษัตริย์สักคน แล้วเขาก็ขอโดยทำเสียงเป็นจังหวะขึ้นลงสูงต่ำเหมือนทำนองร้องเพลง แน่นอนเขาจะถูกมองว่ากำลังเหยียดหยามและทำเป็นเล่นอยู่ เพราะการวิงวอนขอนั้นเป็นที่แห่งการนอบน้อมไม่ใช่ที่แห่งการขับขานทำนอง”
ในหนังสือ ตัศฮีหฺ อัด-ดุอาอ์ ของเชคบักรฺ อบู ซัยดฺ หน้า 83 ท่านได้กล่าวว่า “ท่านจะได้ยินดุอาอ์กุนูตของอิมามบางคนในเราะมะฎอน ด้วยเสียงที่ดังมาก แล้วยังมีการทำเสียงต่ำเสียงสูงตามแต่ช่วงจังหวะของดุอาอ์ มีการเกินเลยในการหน่วงเสียง ขับทำนอง ออกเสียงตามตัจญ์วีดและตัรตีล ประหนึ่งเหมือนกับว่ากำลังอ่านสูเราะฮฺใดสูเราะฮฺหนึ่งจากอัลกุรอานอยู่ ทั้งนี้เพื่อเรียกอารมณ์ความรู้สึกของบรรดามะอ์มูมและทำให้พวกเขาต้องเปล่งเสียงร้องไห้ดังระงม”
ท่านยังกล่าวในหน้า 469 อีกว่า “การทำเสียงเป็นทำนอง ทำจังหวะ ขับขาน โหยหวนและลากยาวในการขอดุอาอ์นั้นเป็นสิ่งที่มุงกัรฺอย่างร้ายแรง ค้านกับสภาพที่ต้องนอบน้อม การวิงวอนและการแสดงตนเป็นบ่าว พฤติกรรมดังกล่าวอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความโอ้อวด หลงตัวเอง และสะสมจำนวนคนชอบและผู้ติดตาม แท้จริงแล้วบรรดาอุละมาอ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างก็ห้ามเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นใครที่อัลลอฮฺทรงให้เขาได้เป็นอิมามละหมาด และได้อ่านกุนูตในวิติรฺ จงพยายามแก้ไขเจตนาให้ดี ให้กล่าวขอดุอาอ์ด้วยเสียงปกติ ด้วยความนอบน้อมและอ้อนวอนด้วยใจจริง ให้พ้นจากการกระทำที่เกินเลยที่ได้กล่าวไปแล้ว หลีกเลี่ยงการเสแสร้งที่ทำให้หันเหออกจากการยึดโยงกับอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลของเขา”
ส่วนใหญ่แล้วการทำจังหวะและทำนองในการขอดุอาอ์นั้นมักจะต้องทำด้วยเสียงที่ดัง ในอดีตการอ่านดุอาอ์ด้วยเสียงดังนั้นถูกเรียกว่า “อัต-ตักลีศ” ซึ่งอุละมาอ์สมัยก่อนต่างก็ปฏิเสธการกระทำนี้ (อัล-หะวาดิษ วะ อัล-บิดะอฺ ของ อัฏ-ฏ็อรฏูชีย์ หน้า 155 อ้างใน บิดะอฺ อัล-กุรรออ์ ของเชคบักรฺ อบู ซัยดฺ หน้า 15-16 และตัศฮีหฺ อัด-ดุอาอ์ หน้า 82)
แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามและปฏิเสธไม่ให้บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านยกเสียงดังเวลาขอดุอาอ์ เช่นที่มีปรากฏในหะดีษของอบู มูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ครั้งหนึ่งเราได้เดินทางร่วมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เวลาที่เราเดินขึ้นเนินเขาเราก็จะยกเสียงตักบีรฺจนดังไปทั่ว ท่านจึงกล่าวกับเราว่า “ผู้คนทั้งหลาย พึงผ่อนปรนต่อตัวพวกท่านเองด้วยเถิด เพราะพวกท่านไม่ได้วิงวอนขอต่อผู้ที่หูหนวกหรือคนไกล แต่แท้จริงแล้วพวกท่านกำลังวิงวอนขอกับพระองค์ผู้ทรงได้ยินและใกล้ชิดพวกท่านยิ่ง พระองค์ที่พวกท่านวิงวอนขอนั้นทรงใกล้ชิดพวกท่านมากกว่าคอของสัตว์พาหนะพวกท่านเสียอีก”
อิบนุ ญุร็อยจญ์ กล่าวว่า “มักรูฮฺที่จะยกเสียงดัง การเรียกอย่างโหยหวนและตะโกนเวลาขอดุอาอ์ แต่ที่เป็นคำสั่งให้ทำก็คือ ให้ขอดุอาอ์ด้วยความนอบน้อมและเจียมตน” (ดู ตัฟสีรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ 10/249 และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จาก ฟะตาวา ชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ 15/19, อัล-มัจญ์มูอฺ ของ อัน-นะวะวีย์ 8/136)
อัล-อะลูสีย์ ใน ตัฟสีรฺ รูห์ อัล-มะอานีย์ 8/139 ได้กล่าวว่า “ท่านจะเห็นคนในยุคของท่านมากมายที่ใช้เสียงดังตะโกนขอดุอาอ์ โดยเฉพาะในมัสยิดใหญ่ๆ จนกระทั่งเสียงดังระงมไปทั่ว เสียงดังจนทำให้หูอื้อ พวกเขาไม่รู้ตัวว่ากำลังรวมสองบิดอะฮฺเข้าด้วยกันอยู่ คือ บิดอะฮฺในการขอดุอาอ์และยังทำบิดอะฮฺนี้ในมัสยิดอีกด้วย”
ส่วนประเด็นการอ่านดุอาอ์ให้ลงท้ายคล้องจองแต่ละท่อนเป็นจังหวะนั้น บรรดาสะลัฟรังเกียจและห้ามที่จะให้ทำอย่างนั้นด้วย ซึ่งอันนี้หมายถึงการมุ่งเน้นจนเกินปกติ (ถ้าเป็นจังหวะคล้องจองปกติโดยไม่เสแสร้งแกล้งทำก็ถือว่าไม่เป็นไร – ผู้แปล) อิบนุ อับบาสได้กล่าวแก่อิกริมะฮฺตามที่มีระบุในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ว่า “พึงระวังการลงท้ายแบบคล้องจองในการขอดุอาอ์ จงหลีกเลี่ยงมันเสีย เพราะแท้จริงฉันอยู่ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและเศาะหาบะฮฺของท่าน พวกเขาไม่เคยทำสิ่งนี้ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือหลีกเลี่ยงไม่ทำอย่างนั้น”
การแสร้งทำจังหวะให้ลงท้ายคล้องจองนั้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุอาอ์ไม่ถูกตอบรับก็ได้ ดังที่อัล-กุรฏุบีย์ได้กล่าวไว้ในตัฟสีรฺของท่าน (7/226) ตอนที่ท่านพูดถึงประเภทต่างๆ ของการเลยขอบเขตในการขอดุอาอ์ว่า “หนึ่งในจำนวนประเภทต่างๆ ของมันก็คือ การขอดุอาอ์ที่ไม่มีในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ด้วยการเลือกสรรประโยคที่เป็นโคลงและถ้อยคำที่คล้องจองซึ่งได้ไปพบเจอมาจากแผ่นกระดาษในหนังสือที่ไหนสักเล่ม โดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีแหล่งอ้างอิงรับรอง แล้วก็ทำให้สำนวนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเวลาขอดุอาอ์ และละทิ้งดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยใช้วิงวอนขอ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ดุอาอ์ไม่ถูกตอบรับ”
อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในฟัตหุลบารีย์ (8/148) ว่า “การเลยขอบเขตในการขอดุอาอ์นั้น เห็นได้จากการยกเสียงเกินความจำเป็น หรือขอในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตามบทบัญญัติศาสนา หรือขอในสิ่งที่เป็นบาป หรือขอด้วยสิ่งที่ไม่ปรากฏในหลักฐาน โดยเฉพาะการขอสิ่งที่มีรายงานบอกว่าเป็นการขอที่น่ารังเกียจ เช่น การมุ่งเน้นให้ลงท้ายแบบคล้องจองเกินปกติ และละทิ้งสิ่งที่ถูกสั่งใช้ให้ขอ”
การพยายามให้ลงท้ายคล้องจองจนเกินพอดีในดุอาอ์นั้น อาจจะทำให้ผู้ขอดุอาอ์นำตัวบทดุอาอ์ที่คิดขึ้นมาเองมาใช้วิงวอนขอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้านกับสุนนะฮฺจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ท่านได้สอนให้เลือกสรรดุอาอ์ที่กระชับหรือที่เรียกว่า ดุอาอ์ญามิอฺ ... วัลลอฮุอะอฺลัม

ประเด็นที่ห้า หุก่มการเจาะจงตัวบุคคลในดุอาอ์กุนูต
เดิมทีนั้นหลักในการอ่านดุอาอ์กุนูตอิมามจะอ่านกุนูตด้วยบทดุอาอ์ที่ได้ถูกบัญญัติไว้ในลักษณะที่ครอบคลุมกว้างๆ ส่วนการอ่านดุอาอ์กุนูตในรูปแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน
รูปแบบที่หนึ่ง การเจาะจงกลุ่มๆ หนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิเสธ(กาเฟร)ในดุอาอ์กุนูตอันเนื่องจากความโหดร้ายทารุณที่กลุ่มนั้นๆ ได้ปฏิบัติในการต่อต้านอิสลาม การดุอาอ์ในลักษณะเช่นนี้นั้นได้มีบัญญัติอนุญาตให้กระทำได้ เนื่องจากได้มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้ดุอาอ์ลักษณะเช่นนี้ ว่า
«اللهم اشْدُدْ وَطْأَتَكَ على مُضَرَ، وَاجْعَلْهَا عَلَيْهِمْ سِنِيْنَ كَسِنِيْ يُوْسُفَ»
"โอ้ อัลลอฮฺ โปรดลงโทษอย่างหนักแก่พวก มุฎ็อรฺ  โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้พวกเขาประสบกับความแห้งแล้งเหมือนกับความแห้งแล้งที่ได้ประสบในสมัยนบียูซุฟ"

และมีรายงานจากท่าน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านได้อ่านดุอาอ์กุนูตไว้ดังนี้
".. اللهم الْعَنْ كَفَرَةَ أَهْلِ الكِتَابِ الَّذِين يُكَذِّبُوْنِ رُسُلَكَ وَيُقَاتِلُونَ أَوْلِيَاءَكَ، اللهم خَالِفْ بَيْنَ كَلِمَتِهِمْ وَزَلْزِلْ أَقْدَامَهُمْ، وَأَنْزِلْ بِهِمْ بَأْسَكَ الَّذِيْ لَا تَرُدُّهُ عَنِ الْقَوْمِ الْمُجْرِمِيْنَ"
“โอ้อัลลอฮฺ ! ขอพระองค์ทรงสาปแช่งบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในหมู่ชาวคัมภีร์ ซึ่งปฏิเสธไม่เชื่อฟังบรรดาเราะสูลของพระองค์ และต่อต้านบรรดาวะลี(มิตรสหายผู้ทรงคุณธรรม)ของพระองค์ โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงทำให้คำพูดของพวกเขาขัดแย้งกัน โปรดทำให้เท้าของพวกเขาสั่นไหว และโปรดลงโทษทัณฑ์บนพวกเขา ซึ่งพระองค์ไม่ทรงละมันจากบรรดาผู้อธรรม“ (บันทึกโดย อับดุรร็อซซาก ใน อัล-มุศ็อนนัฟ หมายเลข 4969)

รูปแบบที่สอง เจาะจงตัวบุคคลโดยการกล่าวชื่อของเขาในบทดุอาอ์ เช่นนี้ก็เป็นที่อนุญาตเช่นเดียวกันในกรณีที่จำเป็น ทัศนะนี้เป็นทัศนะของญุมฮูรฺ (ทัศนะส่วนใหญ่) ซึ่งขัดกับทัศนะของอบู หะนีฟะฮฺ มีรายงานจาก ท่านอะนัส และอบู ฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า
أن النبي صلى الله عليه وسلم  قنت بعد الركعة في صلاته شهراً  : « اللَّهُمَّ أَنْجِ الْوَلِيدَ بْنَ الْوَلِيدِ، اللَّهُمَّ أَنْجِ سَلَمَةَ بْنَ هِشَامٍ، اللَّهُمَّ أَنْجِ عَيَّاشَ بْنَ أَبِي رَبِيعَةَ، اللَّهُمَّ أَنْجِ الْمُسْتَضْعَفِينَ مِنْ الْمُؤْمِنِينَ، اللَّهُمَّ اشْدُدْ وَطْأَتَكَ عَلَى مُضَرَ ،اللَّهُمَّ اجْعَلْهْا عَلَيْهِمْ سِنِينَ كَسِنِي يُوسُفَ»  متفق عليه.
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ทำการอ่านดุอาอ์กุนูตหลังการรุกูอฺในละหมาดของท่านตลอดหนึ่งเดือนว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงโปรดให้อัยยาซบินอาบีร่อบีอฺ อัลวะลีดบินอัลวะลีด สะละมะฮฺบินฮิชาม และบรรดา ผู้ศรัทธาที่อ่อนแอได้รับความ ปลอดภัยโอ้ อัลลอฮฺ โปรดลงโทษอย่างหนักแก่พวก มุฎ็อรฺ (เป็นชื่อของเผ่าหนึ่งในสมัยท่านนบี แต่เมื่อใช้อ่านจริงๆ ให้ระบุชื่อศัตรูในปัจจุบันแทน) โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้พวกเขาประสบกับความแห้งแล้งเหมือนกับความแห้งแล้งที่ได้ประสบในสมัยนบียูซุฟ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

และจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “แท้จริงเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมต้องการที่จะขอดุอาอ์ให้กับใครคนหนึ่งท่านจะกุนูตหลังรุกูอฺ...” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
ท่าน อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ได้จัดหัวข้อหนึ่งในหนังสือ อัล-มุศ็อนนัฟของท่าน ว่า เรื่อง “การขานชื่อชายคนหนึ่งในกุนูต”
อัล-อีรอกีย์ ได้วิจารณ์ในหนังสือ ฏ็อรหุ อัต-ตัษรีบ ระหว่างที่ท่านได้กล่าวถึงประโยชน์จากหะดีษที่รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ว่า “ลำดับที่ 5 ในหะดีษดังกล่าว เป็นหลักฐาน(หักล้าง)ต่ออบู หะนีฟะฮฺในการที่ท่านได้ห้ามไม่ให้มีการดุอาอ์โดยการเจาะจงให้กับบุคคลๆ หนึ่งหรือเจาะจงกลุ่มๆ หนึ่งในละหมาด ซึ่งอุละมาอ์ส่วนใหญ่ได้เห็นต่างจากเขา โดยเห็นว่าอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ ด้วยกับหะดีษบทนี้และหะดีษอื่นๆ ที่เศาะฮีหฺ”

รูปแบบที่สาม การที่อิมามได้ขอดุอาอ์ด้วยการเจาะจงเฉพาะมะอ์มูมที่มาร่วมละหมาดตามหลังเขาเท่านั้น เช่น อิมามได้ขอดุอาอ์โดยการกล่าว  “โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงให้อภัยแก่บรรดาผู้มาละหมาด(ณ ที่นี้) หรือ ให้แก่ผู้ที่มาละหมาดร่วมกับเรา ... เป็นต้น การขอเช่นนั้นก็เป็นที่อนุญาต แต่จะให้ดีควรขอในลักษณะที่ครอบคลุมโดยรวม เช่น “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงอภัยให้เรา และเมตตาเราด้วยเถิด ..” โดยให้เนียตขอให้กับมุสลิมทั้งหมด เป็นต้น
ข้อสังเกตคือ การขอดุอาอ์ในลักษณะของการเจาะจงตัวบุคคลที่มีบัญญัติให้กระทำได้นั้น ให้ทำในกรณีที่มีเหตุเกิดขึ้นตามหะดีษต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว และไม่ได้เป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำได้ตลอดเวลาหรือทุกกรณีในการละหมาด (ดู มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 23/109)

ประเด็นที่หก การกล่าว อามีน ในดุอาอ์ด้วยการออกเสียงดัง
สิ่งที่ควรกระทำคือ การกล่าว อามีน ในจุดที่เหมาะสม บางคนกล่าวอามีนตลอดเวลาไม่ว่าอิมามจะกล่าวอะไรโดยไม่แยกแยะว่า ส่วนไหนที่เป็นดุอาอ์และส่วนไหนที่เป็นเคาะบัรฺ(สำนวนการเล่าที่ไม่ใช่การขอ) มะอ์มูมควรที่จะแยกแยะให้ออกในสิ่งที่เขาได้ยินจากการดุอาอ์ของอิมาม แล้วให้กล่าวอามีนในจุดที่ควรจะกล่าว และให้เงียบไว้ในส่วนที่ควรจะเงียบ ท่าน มุอาซฺ อัล-กอรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านเป็น เศาะหาบะฮฺรุ่นเล็ก (ศีฆอรุศเศาะหาบะฮฺ) ท่านอุมัรฺได้ใช้ให้ท่านเป็นอิมามละหมาดตะรอวีหฺ ท่านได้กล่าวในดุอาอ์กุนูตว่า  اللهم قَحَط الْمَطَر “โอ้อัลลอฮฺ เกิดฝนแล้งแล้ว” ผู้คนที่เป็นมะอ์มูมก็กล่าวว่าอามีน หลังจากที่เสร็จจากการละหมาด ท่านก็กล่าวว่า
  قلت: اللهم قحط المطر فقلتم: آمين، ألا تسمعون ما أقول ثم تقولون: آمين.
ความว่า ฉันได้กล่าวในดุอาอ์กุนูตว่า โอ้อัลลอฮฺ ได้เกิดฝนแล้ง แล้วพวกท่านก็กล่าวอามีนกระนั้นหรือ? พวกท่านน่าจะฟังสิ่งที่ฉันได้กล่าวให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยกล่าวกันว่า “อามีน” ! (เรื่องนี้อัล-มิรวะซีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ มุคตะศ็อรฺ กิยามุลลัยล์)
และสิ่งที่ได้บัญญัติไว้ในการกล่าว อามีน จากดุอาอ์ที่นอกเหนือจากฟาติหะฮฺในเวลาละหมาดนั้น คือ การกล่าวอามีนด้วยเสียงที่เบา  เพราะการกล่าวเช่นนั้นคือดุอาอ์หนึ่ง ที่มีความหมายว่า “โอ้อัลลอฮขอพระองค์ตอบรับเถิด” และสิ่งที่บัญญัติให้กระทำในการดุอาอ์นั้นคือ การนอบน้อมและขอด้วยเสียงที่เบา อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴿ادْعُوا رَبَّكُمْ تَضَرُّعاً وَخُفْيَةً﴾ [الأعراف: من الآية 55]
ความว่า : “เจ้าทั้งหลายจงวอนขอองค์อภิบาลของพวกเจ้า โดยอาการอันนอบน้อมและแผ่วเบาเถิด” (อัล-อะอฺรอฟ 55)

และเนื่องจากการขอด้วยเสียงเบานั้นคือต้นแบบของการดุอาอ์ ซึ่งจะต่างจากการกล่าวอามีนในละหมาดหลังจากการอ่านฟาติหะฮฺที่บัญญัติไว้ให้มีการกล่าวด้วยการออกเสียง ดังปรากฏจากหะดีษที่รายงานโดย วาอิล บิน หุจญ์รฺ ที่บันทึกโดยอบู ดาวูด กล่าวว่า
سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم قرأ «غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلا الضَّالِّينَ» [الفاتحة: من الآية 7]، فقال: آمين ورفع بها صوته.
ฉันได้ยินท่านรอซูลุลลอฮฺ อ่าน "غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلا الضَّالِّينَ" แล้วท่านก็กล่าว อามีน ด้วยการออกเสียงที่ดัง”