เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

عبد الرزاق بن عبد المحسن العباد البدر

วันที่ :

Mon, Oct 24 2016

ประเภท :

For New Muslim

หัจญ์ คือ โรงเรียนอันยิ่งใหญ่


หัจญ์ คือโรงเรียนอันยิ่งใหญ่
] ไทย – Thai – تايلاندي [

 

 


อับดุรร็อซซาก บิน อับดุลมุหฺสิน อัล-บัดรฺ

 

แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทานโดย : อุษมาน อิดรีส
ที่มา : เว็บไซต์เชคอับดุลร็อซซาก อัลบัดรฺ http://www.al-badr.net

 


2013 - 1434
 

الحج مدرسة عظيمة
« باللغة التايلاندية »

 

 

 

عبدالرزاق بن عبدالمحسن البدر

 


ترجمة: أنور إسماعيل
مراجعة: عثمان إدريس
المصدر: موقع الشيخ عبد الرزاق البدر http://www.al-badr.net

 


2013 - 1434
 


 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

บทเรียนด้านหลักศรัทธาจากการทำหัจญ์
(ตอนที่ 1)

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และพรอันประเสริฐ ความศานติจงประสบแด่ นบีผู้ประเสริฐที่สุด และผู้นำบรรดาศาสนทูต นบีมูหัมหมัด ตลอดจนบรรดาวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน
แท้จริง หัจญ์เป็นโรงเรียนขัดเกลาความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ บรรดามุสลิมจะได้รับบทเรียนจากหัจญ์ ประโยชน์ และประสบการณ์ ในด้านต่างๆมากมายครอบคลุมทุกมิติของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นด้านหลักศรัทธา การประกอบศาสนากิจ และความประพฤติ ฯลฯ แต่ละคนจะได้รับประโยชน์จากหัจญ์ที่แตกต่างกันไป ตามพลังความพยายามและการแสวงหาที่ดีของแต่ละคน ส่วนทางนำนั้นอยู่พระหัตถ์ของอัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียว
ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากมีการรวบรวมบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากการประกอบพิธีหัจญ์ โดยเฉพาะในด้านหลักศรัทธา เนื่องจากความศรัทธาคือฐานรากของการงานทุกอย่าง และทุกสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาถูกสร้างขึ้นมาบนฐานของความศรัทธา ซึ่งเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงบทเรียนบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากบทเรียนที่มุสลิมได้รับจริงจากหัจญ์นั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าได้รวบรวมบทเรียนจำนวนทั้งหมด 13 บท โดยคำนึงถึงความใกล้เคียงกันของขนาดข้อมูลแต่ละบท และแนวทางการนำเสนอ ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทำให้ความพยายามของข้าพเจ้าครั้งนี้เป็นประโยชน์ และขอพระองค์ทรงตอบรับการงานชิ้นนี้ของข้าพเจ้าด้วยเทอญ

 

 

 

บทเรียนที่ 1
หัจญ์ คือโรงเรียนขัดเกลาจิตใจที่ยิ่งใหญ่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหัจญ์นั้นเป็นการภักดีต่ออัลลอฮประเภทหนึ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มุสลิมจะได้ทำความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา  เพราะหัจญ์เป็นหนึ่งในบรรดาอิบาดะฮฺที่อัลลอฮได้บัญชาให้ปฏิบัติ และกำหนดให้หัจญ์เป็นหนึ่งในบรรดาเสาหลักของศาสนาอิสลามที่มีทั้งหมดห้าประการ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อธิบายไว้ในหะดีษเศาะฮีหฺว่า  
«بُنِيَ الإِسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ شَهَادَةِ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُول الله وَإِقَامِ الصَّلاَةِ وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ وَصَيامِ رَمَضَانَ وَحَجِّ الْبَيْتِ» [أخرجه البخاري رقم: ٨، ومسلم برقم: ١٦]
ความว่า "อิสลามนั้นตั้งอยู่บนหลักการห้าประการ คือการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด  การจ่ายซะกาต  การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการทำหัจญ์ ณ บัยติลละฮฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 8 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 16 )
    
มีหะดีษฺเศาะฮีหจำนวนมากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ส่งเสริมให้ประชาชาติของท่านประกอบพิธีหัจญ์  พร้อมกับชี้แจงให้พวกเขาทราบถึงสิ่งต่างๆที่พวกเขาสามารถจะกอบโกยในช่วงประกอบพิธีหัจญ์ ทั้งการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ ผลบุญอันมากมาย และการอภัยโทษจากปวงบาป
อิมามมุสลิมได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งในตำราหะดีษเศาะฮีหฺของท่าน ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวแก่อัมรฺ เบ็น อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เมื่อตอนที่เขาจะเข้ารับอิสลาม ว่า   
«أَمَا عَلِمْتَ أَنَّ الْإِسْلَامَ يَهْدِمُ مَا كَانَ قَبْلَهُ وَأَنَّ الْهِجْرَةَ تَهْدِمُ مَا كَانَ  قَبْلَهَا وَأَنَّ الْحَجَّ يَهْدِمُ مَا كَانَ قَبْلَه» [ صحيح مسلم برقم: ١٢١]
ความว่า “ท่านไม่ทราบดอกหรือ (โอ้ อัมรฺ) ว่าอิสลามจะขจัดความผิดและบาปต่างๆที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านั้น การอพยพจะขจัดความผิดและบาปต่างๆที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านั้น และการทำหัจญ์ก็จะขจัดความผิดและบาปต่างๆที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านั้น” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 121 )

และอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม ได้บันทึก หะดีษที่รายงานโดย อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ حَجَّ ، فَلَـمْ يَرْفُثْ وَلَـمْ يَفْسُقْ، رَجَعَ كَيَومِ وَلَدَتْـهُ أُمُّهُ» [صحيح البخاري رقم: ١٥٢١، ومسلم رقم: ١٣٥٠]
ความว่า “ผู้ใดประกอบพิธีหัจญ์ โดยที่เขาไม่พูดจาหยาบโลน (หรือมีเพศสัมพันธ์) และไม่กระทำบาปความผิดใดๆ เขาจะกลับ (จากการทำหัจญ์ในสภาพที่ปราศจากบาป) ประดุจวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 1521 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 1350 )

และมุสลิม ได้บันทึก หะดีษที่รายงานโดย อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«العُمْرةُ إلى العُمْرةِ كفَّارةٌ لِما  بَيْنَهُمَا والحجُّ المبْرورُ ليسَ لَهُ جَزَاءٌ إلا الجنَّة» [صحيح مسلم رقم: ١٣٤٩]
ความว่า “การไปทำพิธีอุมเราะฮฺจากครั้งหนึ่งไปยังอีกครั้งหนึ่งเป็นการชำระบาปที่ได้กระทำผิดในช่วงระหว่างทั้งสองนั้นและหัจญ์ที่มับรูรนั้นไม่มีการตอบแทนใดๆ นอกจากสวนสวรรค์เท่านั้น” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 1349 )

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ประกอบพิธีหัจญ์พร้อมกับบรรดาผู้คนในปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 10 ซึ่งเป็นหัจญ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้วางรูปแบบและวิธีการประกอบพิธีหัจญ์ด้วยการปฏิบัติจริงสำหรับประชาชาติของท่านเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และท่านยังได้เรียร้องให้ประชาชาติของท่านทำการศึกษาศึกษาถึงรูปแบบและวิธีการต่างๆในการทำหัจญ์ตามที่ท่านได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำกล่าวต่างๆ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
«خُذُوْا عَنِّي مَنَاسِكَكُمْ فَلَعَلِّي لَا أَلْقَاكُمْ بَعْدَ عَامِيْ هَذَا» [صحيح مسلم رقم: ١٢٩٧]
ความว่า "พวกท่านจงยึดเอาแบบอย่างการบำเพ็ญหัจญ์ของพวกท่านจากฉัน เพราะฉันเกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้มาพบกับพวกท่านอีกหลังจากปีนี้" (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ  : 1297)
    
ดังนั้นการประกอบพิธีหัจญ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในครั้งนั้นจึงถูกเรียกว่า “ฮัจญะฮฺ อัล-วะดาอ์” (หัจญ์แห่งการอำลา) ในพิธีหัจญ์ครั้งนั้น อัลลอฮฺได้ประทานโองการหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า
﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ﴾ [المائ‍دة: ٣]  
ความว่า “วันนี้ข้าได้ให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้วแก่พวกเจ้า และข้าได้ให้ความกรุณาเมตตาของข้าแก่พวกเจ้าอย่างครบถ้วนแล้ว  และข้าได้พอใจให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า”  (อัล-มาอิดะฮฺ : 3 )

มุสลิมทุกคนที่เดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์จำเป็นต้องพยายามอย่างสุดความสามารถในการทำความเข้าใจกับรูปแบบและวิธีการประกอบพิธีหัจญ์ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบฉบับ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแบบอย่างของท่าน แล้วเราจะได้ประกอบพิธีหัจญ์อย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะการงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประกอบศาสนกิจจะถือว่าไม่สมบูรณ์ ยกเว้นเมื่อการงานนั้นได้ปฏิบัติถูกต้องตรงกับแบบฉบับของท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าในช่วงเวลาอันจำเริญนี้จิตใจของชาวมุสลิมทุกคนในโลกใบนี้จะเคลื่อนไหว ด้วยความถวิลหาที่จะปฏิบัติการภักดีอันยิ่งใหญ่นี้  มุ่งมั่นที่จะให้ได้รับหัจญ์ที่ประเสริฐ และปรารถนาที่จะได้เชยชมบัยตุลลอฮฺ(บ้านของอัลลอฮฺ) เนื่องเพราะชาวมุสลิมทุกคนต่างมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับบัยตุลลอฮฺ ณ แผ่นดินอัล-หะรอม ความรู้สึกดังกล่าวมีมาตั้งแต่ที่มุสลิมเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และความรู้สึกนี้จะคงฝังอยู่ในจิตวิญญาณของมุสลิมทุกคนตราบใดที่เขายังมีลมหายใจอยู่ ดังนั้นข้อบังคับอิสลามลำดับแรกที่จะถูกกรอกหูเด็กที่เกิดในอิสลามคือหลักการอิสลามห้าประการ ซึ่งหนึ่งในห้าหลักการนั้นคือการประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยติลละฮฺ รวมอยู่ด้วย ส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธาเมื่อเข้ารับอิสลาม และได้กล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมหมัดคือศาสนทูตของพระองค์แล้ว ข้อบังคับอิสลามประการแรกที่เขาต้องปฏิบัติคือหลักการอิสลามที่เหลือหลังจากกล่าวคำปฏิญาณตน นั่นคือ การดำรงละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยติลละฮฺ อัล-หะรอม
และหลักการอิสลามข้อแรกหลังจากการกล่าวปฏิญาณตน คือการดำรงละหมาดห้าเวลา ซึ่งอัลลลอฮฺได้บัญญัติไว้ในทุกวันคืน และพระองค์ได้กำหนดให้การผินหน้าไปยังทิศกิบละฮฺ (บัยติลละฮฺ) เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการละหมาด พระองค์ตรัสว่า
﴿ قَدۡ نَرَىٰ تَقَلُّبَ وَجۡهِكَ فِي ٱلسَّمَآءِۖ فَلَنُوَلِّيَنَّكَ قِبۡلَةٗ تَرۡضَىٰهَاۚ فَوَلِّ وَجۡهَكَ شَطۡرَ ٱلۡمَسۡجِدِ ٱلۡحَرَامِۚ وَحَيۡثُ مَا كُنتُمۡ فَوَلُّواْ وُجُوهَكُمۡ شَطۡرَهُۥۗ﴾ [البقرة: ١٤٤]  
ความว่า “แท้จริงเราเห็นใบหน้าของเจ้าแหงนไปในฟากฟ้าบ่อยครั้ง แน่นอนเราจะให้เจ้าผินไปยังทิศที่เจ้าพึงใจ ดังนั้นเจ้าจงผินใบหน้าของเจ้าไปทางมัสยิดอัล-หะรอมเถิด และที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่ ก็จงผินใบหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศนั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 144 )

ดังนั้นความสัมพันธ์ของมุสลิมกับบัยติลละฮฺนั้นจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวันและคืน ซึ่งเขาต้องผินหน้าไปยังบัยติลละฮฺในทุกเวลาที่เขาดำรงละหมาดตราบใดที่เขายังมีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือสุนัต เช่นเดียวกับเวลาที่เขาขอดุอาอ์ (วิงวอนต่ออัลลอฮฺ) ก็จะผินหน้าสู่กิบละฮฺเช่นกัน (โปรดดูหนังสือ เกาะบัส มิน ฮัดยิ อัล-อิสลาม หน้า : 128-133 หัวข้อ ประโยชน์ของหัจญ์ โดยบิดาของผู้แต่งเอง-ชัยคฺอับดุลมุหฺสิน อัล-อับบาด)
ดังนั้นความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างหัวใจของมุสลิมและบ้านของพระผู้เป็นเจ้า จะผลักดัน –อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้- ให้มุสลิมเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปยังบัยติลละฮฺ (แม้สักครั้งหนึ่งในชีวิต) เพื่อที่ได้สัมผัสและเชยชมบ้านของอัลลอฮฺด้วยสายตาของตนเอง และเพื่อประกอบพิธีหัจญ์ตามคำสั่งของอัลลอฮฺเมื่อมีความสามารถที่จะเดินทางไปถึง ดังนั้นเมื่อใดที่มุสลิมคนใดมีความสารถที่จะเดินทางไประกอบพิธีหัจญ์ เขาก็จะรีบเดินทางไปยังบัยติลละฮฺ เพื่อประกอบพิธีหัจญ์ และเชยชมบัยติลละฮฺทเขาจะผินหน้าไปหามันในทุกเวลาละหมาดของเขา
﴿ فِيهِ ءَايَٰتُۢ بَيِّنَٰتٞ مَّقَامُ إِبۡرَٰهِيمَۖ ﴾ [آل عمران: ٩٧]  
ความว่า “ในบ้านนั้น (บัยติลละฮฺ) มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง (ส่วนหนึ่งนั้น) คือมะกอมอิบรอฮีม” (อาล อิมรอน :97)

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของท่าน โอ้พี่น้องผูประกอบพิธีหัจญ์ที่จะต้องกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺให้มากในความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้มอบให้กับท่าน ด้วยการอนุมัติให้ท่านได้ประกอบการภักดีประเภทในครั้งนี้ (ประกอบพิธีหัจญ์)  และเดินทางไปปฎิบัติอิบาดะฮฺดังกล่าว และได้รับเกียรติด้วยการเชยชมบัยติลละฮฺ ทิศกิบละฮฺของบรรดามุสลิมทั่วโลก และท่านต้องทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มทีเพื่อให้การประกอบพิธีหัจญ์ของท่านเสร็จสิ้นในรูปแบบที่สวยงาม ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีขาดตก หรือบกพร่องใดๆ ไม่เคร่งครัดจนเกินขอบเขตและไม่หย่อนยานจนละเลยไป แต่การประกอบพิธีหัจญ์ของท่านต้องดำเนินอยู่บนทางนำอันเรียบง่าย และเส้นทางอันเที่ยงตรง ปฏิบัติตาม(แบบอย่างการประกอบพิธีหัจญ์) ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง โดยท่าน (ต้องตั้งเจตนาในการประกอบพิธีหัจญ์ของท่าน) เพื่อคาดหวังในความพอพระทัยของอัลลอฮฺ เพื่อให้ได้รับผลบุญ และการอภัยโทษจากพระองค์ เพื่อที่ท่านจะได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของท่านหลังจากการเดินทางอันเป็นมงคลนี้ในสภาพที่ปลอดจากปวงบาป การแสวงหาที่ได้รับการขอบคุณ และอะมัลศอลิหฺที่ถูกตอบรับและได้รับหัจญ์มับรูรฺ และเดินทางกลับพร้อมกับชีวิตใหม่ที่ศอลิหฺ เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาและความยำเกรง อุดมด้วยความดีงาม และดำรงอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรง เพียบพร้อมด้วยความมุ่งมั่น และเพียรมานะในการภักดีต่ออัลลลอฮอย่างสม่ำเสมอ
หัจญ์เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับเก็บตุนเสบียงสำหรับวันอาคิเราะฮฺ ด้วยการเตาบะฮฺ (ขออภัยโทษ  ต่ออัลลอฮฺ กลับตัวสู่พระองค์ หมั่นทำการ ภักดีต่อพระองค์ และแสวงหาความพอพระทัยจากพระองค์
ในช่วงระหว่างการประกอบพิธีหัจญ์ผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะมีโอกาสมากมายที่จะได้รับบทเรียนอันเป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องหลักศรัทธาและการประกอบศาสนกิจและมารยาท เริ่มจากการงานแรกที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องปฏิบัติ ณ มีกอต (สถานที่เริ่มต้นตั้งเจตนาและครองผ้าอิหฺรอม) จนกระทั้งการงานสุดท้ายของหัจญ์คือการเวียนรอบกะอฺบะฮฺเจ็ดเที่ยวเพื่อเป็นการอำลา (เฏาะวาฟ วะดาอ์) บัยติลละฮฺ
หัจญ์คือโรงเรียนสำหรับขัดเกลาความศรัทธาที่แท้จริง ซึ่งได้ผลิตบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความยำเกรง ดังนั้นพวกเขาจึงได้พบเห็นผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ บทเรียนที่หลากหลาย และคำตักเตือนที่ฝังใจตลอดช่วงการประกอบพิธีหัจญ์ทำให้จิตวิญญาณของเขากลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการศรัทธา พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَأَذِّن فِي ٱلنَّاسِ بِٱلۡحَجِّ يَأۡتُوكَ رِجَالٗا وَعَلَىٰ كُلِّ ضَامِرٖ يَأۡتِينَ مِن كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٖ ٢٧ لِّيَشۡهَدُواْ مَنَٰفِعَ لَهُمۡ﴾ [الحج: ٢٧- ٢٨]  
ความว่า “และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำหัจญ์ แล้วพวกเขาจะเดินทางไปหาเจ้าโดยทางเท้า และโดยทางอูฐเพรียวทุกตัว จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา” (อัล-หัจญ์ : 27-28)

ประโยชน์ของหัจญ์นั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน บทเรียนที่เป็นประโยชน์มีมากมายไร้ขีดจำกัด ซึ่งต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้บรรยายผ่านหนังสือเล่มเล็กฉบับนี้ ถึงคุณประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับในการประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยติลละฮฺ แผ่นดินอัล-หะรอม ด้วยความอนุมัติและพระประสงค์ของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺเท่านั้นผู้ทรงประทานทางนำ

จากหนังสือ