เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

عمر بن عبد الله المقبل

วันที่ :

Wed, Aug 31 2016

ประเภท :

About Quran & Hadith

ควรเร่งอ่านอัลกุรอานให้จบหรือเน้นใคร่ครวญความหมาย?


ควรเร่งอ่านอัลกุรอานให้จบ
หรือเน้นใคร่ครวญความหมาย?

أختم أم أتدبر؟

< تايلاندية >

        
ดร.อุมัร บิน อับดุลลอฮฺ อัลมุกบิล


د. عمر بن عبد الله المقبل

 

 




 
ผู้แปล: อัสรัน นิยมเดชา
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
 
ترجمة: عصران  نيومديشا
مراجعة: صافي عثمان

ควรเร่งอ่านอัลกุรอานให้จบหรือเน้นตะดับบุร/ใคร่ครวญความหมาย?

        


เป็นคำถามที่บรรดาผู้รู้และนักวิชาการมักพบเจออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนอันประเสริฐ ซึ่งมุสลิมโดยทั่วไปจะมุ่งมั่นอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน
    ผู้เขียนใช้เวลาพักใหญ่คิดตรึกตรองทบทวนคำถามข้างต้นนี้ และยังได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวกับผู้รู้บางท่าน จนตกผลึกเป็นคำตอบโดยสรุปดังต่อไปนี้ ซึ่งผู้เขียนก็หวังว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
    1. ประเด็นที่อุละมาอ์พูดถึงเกี่ยวกับปัญหานี้อยู่ในกรอบของการหาคำตอบว่า การกระทำใดมีความประเสริฐและใกล้เคียงกับพระประสงค์ของอัลลอฮฺผู้ทรงประทานอัลกุรอาน และความต้องการของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้ที่อัลกุรอานถูกประทานลงมายังท่านยิ่งกว่ากัน? มิได้เป็นการตัดสินว่าผู้ที่เลือกอ่านอัลกุรอานให้จบหลายครั้งโดยหวังในผลบุญจากการอ่านแต่ขาดการใคร่ครวญนั้นจะได้รับบาปหรือมีความผิดแต่อย่างใด
    2. ตัวบทอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ตลอดจนคำพูดของบรรดาอุละมาอ์ต่างชี้ชัดว่า เป้าประสงค์หลักของการประทานอัลกุรอานคือการปรับปรุงพัฒนาจิตใจ ทั้งนี้ อัลกุรอานคือสิ่งแรกที่อัลลอฮฺประทานลงมายังหัวใจของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ فَإِنَّهُۥ نَزَّلَهُۥ عَلَىٰ قَلۡبِكَ بِإِذۡنِ ٱللَّهِ مُصَدِّقٗا لِّمَا بَيۡنَ يَدَيۡهِ وَهُدٗى وَبُشۡرَىٰ لِلۡمُؤۡمِنِينَ ٩٧ ﴾ [البقرة: ٩٧]  
ความว่า “แท้จริงนั้นเขา (ญิบรีล) ได้นำอัลกุรอานทยอยลงมายังหัวใจของเจ้าด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันสิ่งที่มาก่อนหน้าอัลกุรอาน (เตารอตและอินญีล) และเพื่อเป็นข้อแนะนำ และข่าวดีแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 97)

    เมื่อนำไปพิจารณาร่วมกับหะดีษอีกบทหนึ่ง ความเข้าใจดังกล่าวก็จะยิ่งกระจ่างขึ้น นั่นคือคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
« أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً: إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الجَسَدُ كُلُّهُ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ » [رواه البخاري برقم 52 ومسلم برقم 1599]
ความว่า “พึงทราบเถิดว่าในร่างกายนั้นมีเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง หากเนื้อก้อนนี้ดีร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย แต่หากเนื้อก้อนนี้ไม่ดีร่างกายทุกส่วนก็จะไม่ดีไปด้วย”  

ด้วยเหตุนี้ เมื่อชายคนหนึ่งกล่าวแก่ อิบนุ มัสอูด ว่า “ฉันอ่านสูเราะฮฺอัลมุฟัศศ็อล  ทั้งหมดจบภายในร็อกอัตเดียว” อิบนุ มัสอูด จึงกล่าวว่า “การอ่านเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการร่ายบทกลอน! คนจำนวนมากอ่านอัลกุรอานโดยที่อัลกุรอานหยุดอยู่เพียงที่ลูกกระเดือกของพวกเขา ทั้งนี้ ประโยชน์จะเกิดก็ต่อเมื่ออัลกุรอานได้แทรกซึมเข้าไปฝังแน่นในหัวใจแล้วต่างหาก”
    3. อุละมาอ์สะลัฟ (ยุคแรก) และเคาะลัฟ (ยุคหลัง) ส่วนใหญ่มีทัศนะว่า การอ่านอัลกุรอานพร้อมใช้ความคิดใคร่ครวญความหมายนั้นดีกว่า เพราะสอดคล้องกับพระประสงค์ของอัลลอฮฺ นั่นคือการทำความเข้าใจ ใคร่ครวญ และใช้สติปัญญาครุ่นคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงส่งเสริม ดังปรากฏในอัลกุรอานนับร้อยอายะฮฺ
    อิมาม อัลอาญุรรีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.360) กล่าวว่า “สำหรับฉันแล้ว การศึกษาอัลกุรอานเพียงน้อยนิดอย่างใคร่ครวญและครุ่นคิด ดีกว่าการอ่านอัลกุรอานจำนวนมากโดยขาดการใคร่ครวญความหมาย ทั้งนี้ ตัวบทอัลกุรอาน สุนนะฮฺ และคำพูดของบรรดาอุละมาอ์โดยภาพรวมต่างสื่อถึงข้อสรุปดังกล่าว” แล้วท่านก็กล่าวถึงคำพูดของ อบู ญัมเราะฮฺ อัฎฎุบะอีย์ ด้วยสายรายงานของท่านเองซึ่งระบุว่า “ฉันกล่าวแก่ อิบนุ อับบาส ว่าฉันนั้นเป็นคนที่อ่านเร็ว โดยสามารถอ่านอัลกุรอานจบได้ภายในสามวัน อิบนุ อับบาส จึงกล่าวว่า ‘สำหรับฉันแล้ว ในหนึ่งคืนให้ฉันอ่านเพียงอัลบะเกาะเราะฮฺ โดยใคร่ครวญความหมาย และอ่านช้าๆ อย่างชัดถ้อยชัดคำ ยังจะดีกว่าการที่ให้ฉันอ่านอย่างที่ท่านว่า’”
    อิมาม อัลอาญุรรีย์ ยังรายงานว่ามีผู้ถามมุญาฮิดเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งอ่านอัลบะเกาะเราะฮฺ และอาลอิมรอนในละหมาด กับชายอีกคนหนึ่งซึ่งอ่านเพียงอัลบะเกาะเราะฮฺ โดยที่จังหวะการอ่าน การรุกูอฺ การสุญูด และการนั่งในละหมาดของทั้งคู่นั้นใกล้เคียงกัน ชายคนใดมีความประเสริฐมากกว่า? ท่านตอบว่า “ชายคนที่อ่านเพียงอัลบะเกาะเราะฮฺ” แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺต่อไปนี้
﴿ وَقُرۡءَانٗا فَرَقۡنَٰهُ لِتَقۡرَأَهُۥ عَلَى ٱلنَّاسِ عَلَىٰ مُكۡثٖ وَنَزَّلۡنَٰهُ تَنزِيلٗا ١٠٦ ﴾ [الإسراء: ١٠٦]
ความว่า “และอัลกุรอาน เราได้แยกมันไว้อย่างชัดเจน เพื่อเจ้าจะได้อ่านมันแก่มนุษย์อย่างช้า และเราได้ประทานมันลงมาเป็นขั้นตอน” (อัลอิสรออ์: 106)

    คำถามคือ ในเดือนเราะมะฎอนหุก่มดังกล่าวนี้จะแตกต่างจากเดือนอื่นๆ หรือไม่? อุละมาอ์บางท่านมีทัศนะเช่นนั้น กล่าวคือในเดือนเราะมะฎอนให้เน้นอ่านให้มาก เพื่อฉกฉวยโอกาสในเดือนที่มีความประเสริฐนี้
    แต่อุละมาอ์อีกหลายท่านเห็นว่าเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นก็ไม่ต่างกัน คืออย่างเร็วที่สุดให้อ่านจบภายในสามวัน ไม่ควรอ่านเร็วไปกว่านี้ เพราะเป้าหมายหลักคือการปฏิบัติให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของอัลลอฮฺ คือการคิดใคร่ครวญความหมาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
    
สิ่งที่ทำให้ทัศนะหลังนี้มีน้ำหนักมากกว่าคือบรรดาหลักฐานที่ระบุโดยรวม มิได้ยกเว้นช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ดังเช่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ ว่า “ท่านจงอ่านอัลกุรอานให้จบ (หนึ่งครั้ง) ทุกหนึ่งเดือน” เมื่ออับดุลลอฮฺกล่าวว่า “ฉันมีความสามารถที่จะอ่านได้มากกว่านั้น” ท่านก็อนุญาตให้อ่านมากขึ้นจนท้ายที่สุดท่านกล่าวว่า “(ให้อ่านจบ) ภายในสามวัน”  ในอีกสำนวนหนึ่งระบุว่า “ท่านจงอ่านให้จบภายในเจ็ดวัน อย่าได้อ่านเร็วไปกว่านี้”
    ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นทัศนะที่อุละมาอ์หลายท่านเลือกให้น้ำหนัก หนึ่งในนั้นคือ ชัยคฺ อับดุลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ โดยท่านกล่าวว่า “หลักฐานจากสุนนะฮฺระบุอย่างชัดเจนว่าไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเดือนเราะมะฎอนกับเดือนอื่นๆ กล่าวคือ ไม่ควรที่จะอ่านเร็วหรือรีบเร่งจนเกินไป แต่ควรอ่านอย่างชัดถ้อยชัดคำดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกล่าวแก่อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ ว่า ‘ท่านจงอ่านอัลกุรอานให้จบภายในเจ็ดวัน’ อันเป็นคำสั่งสุดท้ายที่ท่านกล่าวแก่อับดุลลอฮฺเกี่ยวกับประเด็นนี้ และท่านยังได้กล่าวว่า ‘ผู้ที่อ่านอัลกุรอานจบในเวลาน้อยกว่าสามวันจะไม่มีความเข้าใจ’ ทั้งนี้ ท่านมิได้ยกเว้นเดือนเราะมะฎอนแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ชาวสะลัฟบางท่านตีความคำสั่งใช้ดังกล่าวนี้ว่าหมายถึงเดือนอื่นๆ นอกจากเดือนเราะมะฎอนจึงน่าจะไม่ถูกต้อง แต่ทัศนะที่ใกล้เคียงความถูกต้องมากกว่า (วัลลอฮุอะลัม) คือ เป็นการสมควรที่ผู้ศรัทธาจะให้ความสำคัญกับอัลกุรอาน พยายามอ่านให้ดี พร้อมใคร่ครวญความหมายให้ถ่องแท้ และไม่ควรเร่งอ่านจนเกินไป ที่ดีที่สุดคือไม่ควรอ่านจบภายในเวลาน้อยกว่าสามวัน นี่คือสิ่งที่ควรปฏิบัติตามที่ปรากฏหลักฐานจากสุนนะฮฺ แม้แต่ในเดือนเราะมะฎอนก็เช่นกัน”
    ทั้งนี้ ไม่ควรยกการกระทำของชาวสะลัฟบางท่านมาแย้งข้อสรุปดังกล่าวนี้ เพราะหลักเดิมคือการยึดตามตัวบทหลักฐาน ในขณะเดียวกันก็อาจจะอธิบายการกระทำของอุละมาอ์เหล่านั้นว่า พวกท่านเลือกที่จะเร่งอ่านอัลกุรอานให้จบบ่อยครั้งในเดือนเราะมะฎอน เพราะปกติพวกท่านก็อ่านอัลกุรอานมากอยู่แล้วไม่ว่าจะในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ ความหมายของอัลกุรอานจึงตราตรึงอยู่ในหัวใจของพวกท่านเป็นอย่างดี ทำให้ง่ายต่อการใคร่ครวญทำความเข้าใจนั่นเอง
    ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการไม่สมควรหากเราจะแนะนำผู้ที่แทบจะไม่ได้อ่านอัลกุรอานเลยตลอดทั้งปี ให้เร่งอ่านอัลกุรอานจบหลายๆ ครั้ง สำหรับคนประเภทนี้ควรแนะนำให้เขาพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อ่าน ให้หัวใจเขาได้คิดใคร่ครวญความหมายให้มาก แม้จะอ่านจบได้เพียงครั้งเดียว แต่หากเป็นการอ่านที่ช่วยเยียวยารักษาหัวใจ ปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเพิ่มความอ่อนโยนให้หัวใจที่แข็งกระด้าง ก็ย่อมดีกว่าการการอ่านหลายจบโดยที่ไม่มีผลใดๆ เกิดขึ้นแก่หัวใจหรือพฤติกรรมเลย อย่าลืมว่าที่พวกเคาะวาริจญ์ถูกตำหนินั้นก็เพราะว่า “พวกเขาอ่านอัลกุรอาน โดยหาได้พ้นลูกกระเดือกของพวกเขาแต่อย่างใดไม่” (คือ อัลกุรอานมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกเขา ทำให้ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่นำไปสู่การปฏิบัติ - ผู้แปล)
ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีความสามารถจะตะดับบุรหรืออ่านแบบใคร่ครวญแม้เพียงสักนิดหนึ่งเลย ถึงจะเป็นคนอาหรับเองก็ตามที ถ้าเราสมมติว่ามันมีอย่างนั้นจริงๆ ก็คงไม่มีทางอื่นเว้นแต่ต้องสนับสนุนให้เขาอ่านเยอะๆ ไว้ก่อน
มีข้อควรระวังคือ การที่เราส่งเสริมให้อ่านพร้อมใคร่ครวญความหมายนั้น มิได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเผยแพร่ความเข้าใจของตนที่ได้จากการคิดใคร่ครวญอัลกุรอานให้ผู้อื่นรับรู้ก่อนที่จะทบทวนหรือตรวจสอบความถูกต้องได้ เพราะการเผยแพร่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการอ่านอัลกุรอานอย่างช้าๆ และใคร่ครวญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    
ต้นฉบับจาก
http://almuqbil.com/web/?action=articles_inner&show_id=1387