เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

Muhammad Bin Ibrahim Al-Tuwajre

วันที่ :

Sun, Apr 30 2017

ประเภท :

Jurisprudence

การสุญูดสะฮฺวีในละหมาด

การสุญูดสะฮฺวี
﴿سجود السهو﴾
]  ไทย – Thai – تايلاندي [

 


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

 


แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์


2010 - 1431
 

 


﴿سجود السهو﴾
« باللغة التايلاندية »


الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

 


ترجمة: دانيال جيء سنيك
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي


2010 - 1431
 

 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

11. การสุญูดสะฮฺวี

การสุญูดสะฮฺวี คือการสุญูดสองครั้งไม่ว่าจะเป็นในการละหมาดฟัรฺฎูหรือละหมาดสุนัต โดยทำการสุญูดในระหว่างที่นั่งอยู่ หลังจากนั้นให้สลามโดยไม่มีการอ่านตะชะฮฺฮุด

เหตุผลที่มีบัญญัติการสุญูดสะฮฺวี
ธรรมชาติที่อัลลฮฺสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น หนีไม่พ้นการหลงลืมต่างๆ และชัยฏอนนั้นมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะล่อลวงเพื่อทำลายการละหมาดของมนุษย์ ด้วยการเพิ่มหรือลดร็อกอะฮฺ  หรือสร้างความลังเลในการละหมาด ดังนั้นอัลลอฮฺจึงบัญญัติการสุญูดสะฮฺวีขึ้นมาเพื่อสร้างความอ่อนแอให้กับชัยฏอน และเติมเต็มสิ่งที่ขาดตกบกพร่องในการละหมาด รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความโปรดปรานของอัลลอฮฺ
การหลงลืมในละหมาดนั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ลืมบางประการในละหมาดของท่าน ท่านจะกล่าวหลังจากนั้นว่า
«... إنَّمَا أَنَا بَشَرٌ مِثْلُكُمْ أَنْسَى كَمَا تَنْسَوْنَ، فَإذَا نَسِيتُ فَذَكِّرُونِي»
ความว่า “แท้จริงแล้ว ฉันก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนพวกท่าน ฉันอาจลืมเหมือนกับที่พวกท่านลืม ฉะนั้นเมื่อฉันลืมบางสิ่งบางอย่าง พวกท่านจงสะกิดฉันให้รู้ตัวด้วย” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ 401 สำนวนนี้เป็นของท่าน และมุสลิม เลขที่ 573)

สาเหตุต่างๆ ที่จำเป็นต้องสุญูดสะฮฺวีนั้น คือ การเพิ่ม การลดร็อกอะฮฺ หรือการลังเลในการละหมาด การสุญูดสะฮฺวีนั้นอาจเกิดขึ้นได้ใน 4 กรณี
1. เมื่อผู้ละหมาดมีการเพิ่มการกระทำหนึ่งการกระทำใดที่กระทำในละหมาดเพราะความหลงลืม เช่นการยืน การรุกูอฺ หรือการสุญูด ซึ่งอาจรุกูอฺสองครั้งหรือยืนในช่วงที่ต้องนั่ง หรืออาจละหมาดที่มีสี่ร็อกอะฮฺเพิ่มเป็นห้าร็อกอะฮฺ เป็นต้น จึงวาญิบให้เขาสุญูดสะฮฺวีหลังจากให้สลามในกรณีที่เพิ่มร็อกอะฮฺ ไม่ว่าเขาจะนึกขึ้นได้ก่อนสลามหรือหลังจากสลามแล้วก็ตาม
2. เมื่อผู้ละหมาดมีการละเลยรุก่นหนึ่งรุ่ก่นใดในการละหมาด หากเขานึกขึ้นได้ในขณะที่ยังไม่ถึงช่วงที่จะต้องทำการกระทำดังกล่าวอีกในร็อกอะฮฺที่สอง วาญิบให้เขาย้อนไปเริ่มจุดที่ลืมใหม่ แล้วทำตามลำดับมาเรื่อยๆ แต่หากนึกขึ้นได้ในขณะที่ถึงช่วงที่จะต้องทำการกระทำดังกล่าวในร็อกอะฮฺที่สองแล้ว ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปทำอีก และในร็อกอะฮฺนั้นถือว่าเป็นโมฆะ และหากเขานึกขึ้นได้หลังจากให้สลามแล้ว ก็ทำเฉพาะร็อกอะฮฺนั้นและร็อกอะฮฺหลังจากนั้นจนเสร็จเท่านั้น แล้วให้สุญูดสะฮฺวีหลังจากให้สลาม และหากเขาให้สลามในขณะที่ร็อกอะฮฺยังไม่สมบูรณ์ เช่นผู้ที่ละหมาดเพียงสามร็อกอะฮฺในละหมาดที่มีสี่ร็อกอะฮฺแล้วให้สลาม หลังจากนั้นเขานึกขึ้นได้ ให้เขายืนขึ้นโดยไม่ต้องตักบีรฺตั้งเจตนาใหม่ แล้วทำร็อกอะฮฺที่สี่ แล้วกล่าวตะชะฮฺฮุดแล้วให้สลามหลังจากนั้นจึงสุญูดสะฮฺวี
3. เมื่อผู้ละหมาดมีการละเลยวาญิบหนึ่งวาญิบใดในการละหมาด เช่น ลืมกล่าวตะชะฮฺฮุดครั้งแรก ซึ่งถือว่าการอ่านนั้นก็เป็นอันตกไป แต่วาญิบให้เขาสุญูดสะฮฺวีก่อนให้สลามเพื่อทดแทน
4. เมื่อผู้ละหมาดมีการลังเลในจำนวนร็อกอะฮฺในการละหมาดของเขาว่า ได้ละหมาดไปสามแล้วหรือว่าสี่ เขาต้องถือเอาจำนวนที่น้อยกว่าเป็นหลักแล้วจึงเพิ่มให้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นให้สุญูดสะฮฺวีก่อนให้สลาม แต่ถ้าหากเขามีความรู้สึกหนักแน่นไปทางจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ก็ให้ถือเอาจำนวนนั้นเป็นหลัก แล้วสุญูดสะฮฺวีหลังจากให้สลาม
ถ้าหากมีการกล่าวคำที่บัญญัติให้กล่าวในละหมาดแต่กล่าวผิดที่ เช่นการอ่านอัลกุรอานในขณะที่รุกูอฺหรือสุญูดอยู่ หรือกล่าวตะชะฮฺฮุดในขณะที่ยืนอยู่ การละหมาดของเขานั้นยังคงใช้ได้ไม่เป็นโมฆะ และไม่จำเป็นถึงขั้นต้องสุญูดสะฮฺวี แต่ก็สนับสนุนให้สุญูด
หากมะอ์มูมคนใดตามอิมามไม่ทันในรุก่นใดรุก่นหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งรุก่นด้วยเหตุสุดวิสัย เขาต้องปฏิบัติในรุก่นนั้นๆ ให้เสร็จก่อน แล้วจึงตามอิมามในรุก่นต่อๆ ไป

คำกล่าวในขณะที่สุญูดสะฮฺวี
คำกล่าวในขณะสุญุดสะฮฺวีนั้น ก็คือคำกล่าวในสุญูดละหมาดทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการซิกิรฺหรือการดุอาอ์
หากมีการให้สลามก่อนที่จะเสร็จสิ้นการละหมาดโดยนึกนึกขึ้นได้ในเวลาที่ไม่นาน ให้ละหมาดต่อในส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติแล้วจึงให้สลามใหม่แล้วสุญูดสะฮฺวี และหากลืมสุญูดสะฮฺวีโดยให้สลามก่อน และกระทำในสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ในละหมาด เช่นการพูดและอื่นๆ ให้สุญุดสะฮฺวีทันทีแล้วจึงให้สลามอีกครั้ง
หากผู้ละหมาดอยู่ในภาวะที่ต้องสุญูดสองครั้ง ทั้งก่อนสลามและหลังให้สลาม ให้เขาสุญูดเฉพาะก่อนให้สลามเท่านั้น ซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว

ผู้ที่ละหมาดไม่ทันอิมามจะสุญูดสะฮฺวีเมื่อใด
ผู้ที่เป็นมะอ์มูมให้สุญูดพร้อมๆ กับอิมามของเขา หากมะอ์มูมซึ่งตามอิมามไม่ทัน ต่อมาปรากฎว่าอิมามได้สุญูดสะฮฺวีหลังจากให้สลามแล้ว หากการสุญูดสะฮฺวีของอิมามนั้นคือการสุญูดเนื่องจากการกระทำที่มะอ์มูมทันพร้อมๆ อิมามด้วย มะอ์มูมต้องสุญูดสะฮฺวีหลังจากที่เขาให้สลามด้วย แต่หากเนื่องมาจากการกระทำก่อนที่มะอ์มูมจะตามอิมาม มะอ์มูมก็ไม่จำเป็นต้องสุญูดสะฮฺวีอีกแต่อย่างใด