ความประเสริฐและสิทธิต่าง ๆ ของเศาะหาบะฮฺ

เนื้อหาในหนังสือพูดถึงความหมายของเศาะหาบะฮฺ ความประเสริฐ สถานะ และหน้าที่ของมุสลิมต่อพวกเขาตามหลักความเชื่อของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ

 

ความประเสริฐและสิทธิต่างๆ
ของเศาะหาบะฮฺ

الإصابة في فضائل وحقوق الصحابة

> ไทย – Thai - < تايلاندي

        
อับดุลลอฮฺ บิน ศอลิหฺ อัล-เกาะศีรฺ
عبد الله بن صالح القصير




ผู้แปล: ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
 
ترجمة: فيصل عبد الهادي
مراجعة: صافي عثمان

 

ความประเสริฐและสิทธิต่างๆ ของเศาะหาบะฮฺ

 


หนึ่ง : ความหมายของเศาะหาบะฮฺ
    เศาะหาบะฮฺเป็นคำพหูพจน์ของคำว่า “ศอหิบ” และ “เศาะหาบีย์”
เศาะหาบีย์ คือ ผู้ที่ได้พบและศรัทธาต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเสียชีวิตในสภาพเป็นผู้ศรัทธา
    ท่านอิมามอัล-บุคอรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “มุสลิมคนใดที่ได้คบหรือได้เห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เขาก็คือเศาะหาบะฮฺของท่าน”
กล่าวคือ การเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นมีทั้งในเชิงเฉพาะ (คุศูศ) และในเชิงทั่วไป (อุมูม) ในเชิงทั่วไปนั้นครอบคลุมถึงทุกคนที่ได้พบกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และศรัทธาต่อท่าน ดังเช่นที่กล่าวกันว่า คบกันเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 เดือน หรือชั่วขณะ ส่วนเศาะหาบะฮฺในเชิงเฉพาะคือ คนที่มีคุณลักษณะพิเศษเหนือกว่าบุคคลอื่นๆ เพราะการคบกับท่านนบีเป็นสหายอย่างสนิทสนมกว่า และไม่มีใครได้คบท่านนบีเหมือนกับเขา
    นักวิชาการหลายๆ คนกล่าวว่า บุคคลที่ได้เป็นสหายกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ย่อมประเสริฐกว่าบุคคลที่ไม่ได้เป็นสหายกับท่านโดยสิ้นเชิง และการที่พวกเขาได้คบหาเป็นสหายกับท่านนบีนั้น ในเชิงระดับชั้นนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่อาจจะเทียบได้แม้ว่าเขาจะมีความรู้และอะมัลมากเพียงใดก็ตาม และไม่มีใครที่อาจจะบรรลุขั้นเช่นเดียวกับระดับชั้นของเศาะหาบะฮฺได้เลย เพราะพวกเขาได้รับขั้นนั้นมาจากการเป็นสหายกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น

    สาระ : กล่าวกันว่าจำนวนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมด 124,000 คน และเศาะหาบะฮฺที่เสียชีวิตเป็นคนสุดท้ายคือ อบู อัฏ-ฏุฟัยลฺ อามิร บิน วาษิละฮฺ อัล-ลัยษีย์ ดังที่ท่านอิมามมุสลิมได้ยืนยันไว้ โดยเสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺศักราช 100 บางก็ว่าปี  110

สอง : จุดประสงค์ของการนำเสนอเรื่องเศาะหาบะฮฺ ความประเสริฐ และหน้าที่ขอประชาชาติที่มีต่อพวกเขาในหลักความเชื่อของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ
เมื่อพวกเคาะวาริจญ์ได้อุตริความเชื่อโดยได้กล่าวหาท่านอะลีย์ ท่านมุอาวียะฮฺ ท่านอัมรฺ บิน อัล-อาศ และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ว่าเป็นกาฟิรฺ อันเนื่องมาจากประเด็นเหตุการณ์ “ตะหฺกีม” ในขณะที่พวกรอฟิเฎาะฮฺก็ได้อุตริความเชื่อโดยมีความสุดโต่งต่อท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุและครอบครัวของท่าน รวมถึงอะฮุลุลบัยต์บางคนจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเศาะหาบะฮฺอีกบางคน โดยปฏิเสธไม่ยอมรับเศาะหาบะฮฺที่นอกเหนือจากนั้น
    กล่าวคือ โดยรวมแล้วในกลุ่มเคาะวาริจญ์ กลุ่มรอฟิเฎาะฮฺ และกลุ่มอื่นๆ เช่นพวกนาศิบะฮฺ และกลุ่มสุดโต่งบางกลุ่ม ได้ดูแคลนบรรดาเศาะหาบะฮฺ อีกทั้งยังด่าทอ ต่อว่า จาบจ้วง และสร้างความสงสัยในการยืนหยัดของพวกเขาในศาสนาอิสลามที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้ทิ้งไว้เป็นมรดก พฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้พวกเขาปฏิเสธความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺ หรืออ้างว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺได้ทำในสิ่งที่ค้านกับความประเสริฐเหล่านั้นและเป็นเหตุทำให้มันโมฆะไป จนถึงขั้นกล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺเป็นกาฟิร อนุญาตให้ฆ่า หลั่งเลือดเนื้อ และริบทรัพย์สินของพวกเขาได้ ดังนั้น บรรดาปราชญ์ชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จึงได้ทำหน้าที่ออกมาช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮฺด้วยแนวทางสองประการ คือ
    1.  ชี้แจงความประเสริฐเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สถานะของพวกเขาในอิสลาม ตำแหน่งของพวกเขาในหมู่ประชาชาติมุสลิม และความบริสุทธิ์ของพวกเขาต่อข้อครหาที่ใส่ไคล้โดยพวกเคาะวาริจญ์ รอฟิเฎาะฮฺ และพวกบิดอะฮฺกลุ่มอื่น ๆ
    2.  ชี้แจงสิ่งวาญิบที่พึงปฏิบัติต่อเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และต่อข้อขัดแย้งระหว่างพวกเขา พร้อมทั้งตอบโต้กลุ่มบิดอะฮฺในกรณีดังกล่าว

สาม : สถานะของเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ในประชาชาติมุสลิม
    ไม่มีตำแหน่งใดที่จะสูงส่งและมีเกียรติยิ่งหลังจากตำแหน่งการเป็นนบี (นุบูวะฮฺ) นอกจากตำแหน่งของผู้กลุ่มชนที่อัลลอฮฺได้ทรงพอพระทัยให้พวกเขาได้เป็นสหายของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้ซึ่งเป็นเราะสูลที่มีเกียรติที่สุดและเป็นนบีคนสุดท้าย และพอพระทัยให้พวกเขาได้ช่วยเหลือศาสนาของพระองค์
ในหมู่สหายของบรรดานบีทั้งหมดก่อนหน้านี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมมัดคือสหายที่ดีสุดแล้ว ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«خَيْرُ النَّاسِ قَرْنِيْ»
ความว่า “มนุษย์ที่ดีที่สุดคือ มนุษย์ในรุ่นของฉัน”

อุละมาอ์ในหมู่ประชาชาติมุสลิมต่างเห็นพ้องกันว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นประเสริฐกว่าทุกคนที่เป็นประชาชาติมุสลิมในยุคต่อมาหลังจากพวกท่าน ทั้งในด้านความรู้ การทำความดี ความเชื่อ การเป็นสหายกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ และการรุดหน้าทำความดี และไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺได้รุดหน้าในด้านความประเสริฐ ความดี ความรู้ และการงานที่ดีต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถไปถึงได้
    เหล่าเศาะหาบะฮฺคือผู้ที่รุดหน้าในการทำความดีก่อนคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ การฮิจญ์เราะฮฺอพยพเพื่อศาสนา การช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮฺ การดะอฺวะฮฺเชิญชวนผู้คนสู่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การญิฮาดต่อสู้ในหนทางของพระองค์ การเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ปฏิเสธ การภักดีต่อท่านเราะสูลุลลอฮฺและเชื่อปฏิบัติตามคำสั่งท่าน ก่อนที่เครื่องหมายต่างๆ ของการเป็นศาสนทูตจะแพร่หลาย ก่อนการดะอฺวะฮฺของท่านจะเริ่มเป็นที่ประจักษ์ และก่อนที่ผู้สนับสนุนท่านจะเริ่มมีความแข็งแกร่ง หนำซ้ำบรรดาผู้ศรัทธาก็ยังมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับพวกชาวคัมภีร์และพวกมุชริกีนที่ปฏิเสธต่อตัวท่านในตอนนั้น นอกจากนี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นยังได้เสียสละทั้งทรัพย์สินและชีวิตเพื่อหวังในผลตอบแทนจากอัลลอฮฺในสภาพแห่งความทุกข์ยากเหล่านั้น แน่นอนว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจมีผู้ใดจากประชาชาตินี้ที่จะได้บรรลุหรือรับผลบุญเฉกเช่นเดียวกับที่เศาะหาบะฮฺได้รับ
    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لاَ تَسُبُّوا أَصْحَابِي، فَلَوْ أَنَّ أَحَدَكُمْ أَنْفَقَ مِثْلَ أُحُدٍ، ذَهَبًا مَا بَلَغَ مُدَّ أَحَدِهِمْ، وَلاَ نَصِيفَهُ»
ความว่า “พวกท่านอย่าได้ด่าทอเศาะหาบะฮฺของฉัน ทั้งนี้ หากพวกท่านบริจาคทองคำเท่าภูเขาอุหุด ผลบุญของมันก็ย่อมไม่เท่ากับที่พวกเขาบริจาคเพียงหนึ่งกอบมือของพวกเขา และไม่อาจจะเท่าเทียมแม้เพียงครึ่งหนึ่งของมันก็ตาม”


    ผู้ที่มีความสุขคือ ผู้ที่เจริญรอยตามแนวทางของเศาะหาบะฮฺ ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า พวกเขาได้ช่วยเหลือศาสนา อัลลอฮฺได้ให้รากฐานของศาสนาแข็งแกร่งเนื่องด้วยพวกเขา พวกเขาได้ทำให้ผู้คนเข้ารับอิสลามมากมาย ได้พิชิตดินแดนต่างๆ ได้ต่อสู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ และพระองค์ก็ได้ทรงพอพระทัยต่อพวกเขาแล้ว


สี่ : ความประเสริฐและความดีงามของเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม
    เศาะหาบะฮฺมีข้อพิเศษเหนือประชาชาติทั้งปวงคือ การเข้ารับอิสลามก่อนบุคคลอื่น ต่อสู้เพื่อเชิดชูอิสลาม และเผยแผ่อิสลามแก่ประชาชาติ พวกเขาคือบุคคลกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ พวกเขาศรัทธาต่อท่านนบีในยามที่ท่านโดดเดี่ยว ร่วมต่อสู้เคียงข้างในยามที่ท่านลำเค็ญ ร่วมเรียกร้องเชิญชวนสู่คำสอนของอัลลอฮฺด้วยหิกมะฮฺ เสียสละชีวิตและทรัพย์สิน และอดทนต่อการเป็นปฏิปักษ์ของทั้งคนใกล้ชิดที่สนิทสนมและคนไกลที่ไม่เคยรู้จัก
ดังนั้น พวกเขาจึงมีความประเสริฐและความดีงามมากมาย ดังต่อไปนี้
    1. เป็นผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามก่อนใครอื่น
    2. มีความอดทนในยามวิกฤติ
    3. เป็นสหายเคียงข้างท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
    4. อพยพพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และให้ที่พักพิงแก่ท่าน
    5. ช่วยเหลือและร่วมต่อสู้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
    6. เป็นผู้นำด้านความรู้และการประกอบความดี
    7. เผยแผ่ศาสนา

    หลักฐานที่บ่งบอกถึงความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ของบรรดาเศาะหาบะฮฺมีมากมายนัก ส่วนหนึ่งคือ
    ก. หลักฐานจากอัลกุรอานที่ได้สรรเสริญบรรดาเศาะหาบะฮฺ เนื่องด้วยการงานอันยิ่งใหญ่ที่พวกเขาได้ปฏิบัติและการมีมารยาทที่ดี อัลกุรอานยังได้ระบุถึงสัญญาที่พวกเขาจะได้รับ นั่นคือชัยชนะและความพึงพอพระทัยจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา
    อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ مُّحَمَّدٞ رَّسُولُ ٱللَّهِۚ وَٱلَّذِينَ مَعَهُۥٓ أَشِدَّآءُ عَلَى ٱلۡكُفَّارِ رُحَمَآءُ بَيۡنَهُمۡۖ تَرَىٰهُمۡ رُكَّعٗا سُجَّدٗا يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗاۖ سِيمَاهُمۡ فِي وُجُوهِهِم مِّنۡ أَثَرِ ٱلسُّجُودِۚ ذَٰلِكَ مَثَلُهُمۡ فِي ٱلتَّوۡرَىٰةِۚ وَمَثَلُهُمۡ فِي ٱلۡإِنجِيلِ كَزَرۡعٍ أَخۡرَجَ شَطۡ‍َٔهُۥ فَ‍َٔازَرَهُۥ فَٱسۡتَغۡلَظَ فَٱسۡتَوَىٰ عَلَىٰ سُوقِهِۦ يُعۡجِبُ ٱلزُّرَّاعَ لِيَغِيظَ بِهِمُ ٱلۡكُفَّارَۗ وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ مِنۡهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمَۢا ٢٩ ﴾ [الفتح : 29]
ความว่า “มุหัมมัดเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้อยู่ร่วมกับเขานั้นมีความห้าวหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา มีความเมตตาสงสารระหว่างกัน เจ้าจะเห็นพวกเขารุกูอฺและสุญูด ด้วยความปรารถนาต่อความโปรดปรานและความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ สัญลักษณ์ของพวกเขาอยู่ที่ใบหน้าเนื่องจากร่องรอยของการสุญูด นั่นคืออุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในคัมภีร์เตารอต ส่วนการเปรียบเปรยพวกเขาในคัมภีร์อินญีลนั้นกล่าวว่า พวกเขาประหนึ่งเมล็ดพืชที่งอกหน่อหรือกิ่งก้านของมันออกมา แล้วทำให้มันงอกงาม แล้วมันก็เติบโตแข็งแรง และทรงตัวอยู่ได้บนลำต้นของมัน นำความปลื้มปิติมาให้แก่ผู้เพาะปลูก เพื่อที่พระองค์อัลลอฮฺจะทำให้มันเป็นเหตุให้เกิดความขึ้งเคียดแก่พวกปฏิเสธศรัทธา และอัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายในหมู่พวกเขาเหล่านั้นว่า จะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” (อัล-ฟัตห์ 29)

    พระองค์ตรัสอีกว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ تَبَوَّءُو ٱلدَّارَ وَٱلۡإِيمَٰنَ مِن قَبۡلِهِمۡ يُحِبُّونَ مَنۡ هَاجَرَ إِلَيۡهِمۡ وَلَا يَجِدُونَ فِي صُدُورِهِمۡ حَاجَةٗ مِّمَّآ أُوتُواْ وَيُؤۡثِرُونَ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ وَلَوۡ كَانَ بِهِمۡ خَصَاصَةٞۚ وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفۡسِهِۦ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٩ ﴾ [الحشر : 9]
ความว่า “และบรรดาชาวอันศอรผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ พวกเขารักใคร่ผู้อพยพไปยังดินแดนของพวกเขา และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้รับมา พวกเขาจะให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการมันอยู่ก็ตาม และผู้ใดขจัดความตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขาได้ ชนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ” (อัล-หัชร์ 9)

    พระองค์ตรัสอีกว่า
﴿وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنْصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُمْ بِإِحْسَانٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ﴾ [التوبة : 100]
ความว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยดีเสมอมานั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในตัวพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเตรียมสวรรค์ไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัต-เตาบะฮฺ 100)

    ผู้ที่จะได้รับสัญญาดังกล่าวนั้น แท้จริงอัลลอฮฺทรงย่อมรู้ดีแล้วว่า พวกเขาไม่มีทางหลุดออกไปจากศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน แต่พวกเขาจะเสียชีวิตในสภาพที่พวกเขาเป็นผู้ศรัทธา ส่วนความผิดที่พวกเขาอาจจะได้เคยกระทำไว้บ้าง พวกเขาจะไม่จมปลักอยู่กับความผิดนั้น แต่พวกเขาจะเตาบะฮฺกลับตัว และอัลลอฮฺก็ทรงตอบรับการกลับตัวของพวกเขา เนื่องจากความซื่อสัตย์ในการกลับตัวอย่างจริงใจ และเนื่องด้วยความดีงามอันมากมายและสถานะอันสูงส่งของพวกเขา

    ข. หลักฐานจากสุนนะฮฺที่กล่าวถึงความประเสริฐของพวกเขา เช่น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لاَ تَسُبُّوا أَصْحَابِي، فَلَوْ أَنَّ أَحَدَكُمْ أَنْفَقَ مِثْلَ أُحُدٍ، ذَهَبًا مَا بَلَغَ مُدَّ أَحَدِهِمْ، وَلاَ نَصِيفَهُ»
ความว่า “พวกท่านอย่าได้ด่าทอเศาะหาบะฮฺของฉัน ทั้งนี้ หากพวกท่านบริจาคทองคำเท่าภูเขาอุหุด ผลบุญของมันก็ย่อมไม่เท่ากับที่พวกเขาบริจาคเพียงหนึ่งกอบมือของพวกเขา และไม่อาจจะเท่าเทียมแม้เพียงครึ่งหนึ่งของมันก็ตาม”
    
ท่านกล่าวอีกว่า
«خَيْرُ القُرُوْن قَرْنِيْ الذِيْنَ بُعِثْتُ فِيْهِمْ»
ความว่า “ช่วงสมัยที่ดีที่สุดคือ ช่วงสมัยของผู้คนที่ฉันได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นนบีขึ้นท่ามกลางพวกเขา”

    ค. โดยรวมคือ คุณลักษณะของบรรดาผู้มีความยำเกรง ผู้ศรัทธา และผู้กระทำดี ที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานพร้อมทั้งได้ทรงสรรเสริญพวกเขา และให้สัญญาว่าจะตอบแทนพวกเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้านั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺคือบุคคลแรกและดีที่สุดจากประชาชาตินี้ที่อยู่ในข่ายของคุณลักษณะดังกล่าว อีกทั้งยังมีความเหมาะสมและเพรียบพร้อมที่สุดที่จะจัดให้อยู่ในคุณลักษณะข้างต้น

    ง. หลักฐานมากมายทั้งจากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงความประเสริฐ ประวัติที่ดีงาม ยืนยันในความสูงเกียรติและคุณลักษณะที่สมบูรณ์ของเศาะหาบะฮฺนั้น เป็นเรื่องที่เป็นที่รู้กันโดยปริยายในศาสนาอิสลาม ฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะปฏิเสธหรือค้านด้วยการเอามาเปรียบเทียบกับคำกล่าวอ้างของกลุ่มพวกหลงผิดที่ได้ครหาเศาะหาบะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรอฟิเฎาะฮฺ เคาะวาริจญ์ มุอฺตะซิละฮฺ คนที่อยู่ในแนวทางของพวกเขาหรือบรรดาทายาทแห่งความหลงทางและการใส่ไคล้เหล่านั้น


ห้า : ความประเสริฐและสถานะของบรรดาเศาะหาบะฮฺแต่ละท่านนั้นมีความแตกต่างกัน
    ส่วนหนึ่งจากมติเอกฉันท์ของนักวิชาการและผู้ศรัทธาคือ เศาะหาบะฮฺแต่ละท่านไม่ได้มีความประเสริฐในระดับเดียวกัน เศาะหาบะฮฺแต่ละท่านหรือเศาะหาบะฮฺบางกลุ่มมีความประเสริฐหรือสถานะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะการเข้ารับอิสลาม การอพยพ การให้ที่พักพิงอาศัย การให้ความช่วยเหลือ การร่วมต่อสู้ และการงานที่ได้ปฏิบัติต่อศาสนาและท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม     
    ก. โดยรวมแล้ว เศาะหาบะฮฺที่มีความประเสริฐมากที่สุดคือ ผู้ที่บริจาคทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือศาสนาอิสลามและต่อสู้กับศัตรูของอิสลามก่อนทำสัญญาหุดัยบียะฮฺ หรือที่อัลลอฮฺทรงเรียกว่า “ฟัตห์ - การพิชิต” เศาะหาบะฮฺกลุ่มนี้จะประเสริฐกว่าคนที่มารับอิสลามและร่วมต่อสู้หลังจากการพิชิตแล้ว
    พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ لَا يَسۡتَوِي مِنكُم مَّنۡ أَنفَقَ مِن قَبۡلِ ٱلۡفَتۡحِ وَقَٰتَلَۚ أُوْلَٰٓئِكَ أَعۡظَمُ دَرَجَةٗ مِّنَ ٱلَّذِينَ أَنفَقُواْ مِنۢ بَعۡدُ وَقَٰتَلُواْۚ وَكُلّٗا وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلۡحُسۡنَىٰۚ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ خَبِيرٞ ١٠ ﴾ [الحديد : 10]
ความว่า “ในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้บริจาคและได้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺก่อนการพิชิตนครมักกะฮฺ ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺหลังจากพิชิตนครมักกะฮฺ และอัลลอฮฺทรงสัญญาความดีงาม (สวนสวรรค์)แก่ทั้งสองฝ่าย และอัลลอฮฺคือผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-หะดีด, 10)
    พวกเขาเหล่านั้นคือ ชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺที่เข้ารับอิสลามตั้งแต่แรก ๆ

    ข. มีหลักฐานหลายบทที่กล่าวถึงบรรดามุฮาญิรีนก่อนบรรดาอันศอรฺ เช่น อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿لَقَدْ تَابَ اللَّهُ عَلَى النَّبِيِّ وَالْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنْصَارِ﴾ [التوبة : 117]
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงอภัยโทษให้แก่ท่านนบี ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอรฺ” (อัต-เตาบะฮฺ 117)

และพระองค์ได้ตรัสถึงกรณีทรัพย์เชลยว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ تَبَوَّءُو ٱلدَّارَ وَٱلۡإِيمَٰنَ مِن قَبۡلِهِمۡ يُحِبُّونَ مَنۡ هَاجَرَ إِلَيۡهِمۡ وَلَا يَجِدُونَ فِي صُدُورِهِمۡ حَاجَةٗ مِّمَّآ أُوتُواْ وَيُؤۡثِرُونَ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ وَلَوۡ كَانَ بِهِمۡ خَصَاصَةٞۚ وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفۡسِهِۦ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٩ ﴾
ความว่า “และบรรดาชาวอันศอรผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ พวกเขารักใคร่ผู้อพยพไปยังดินแดนของพวกเขา และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้รับมา พวกเขาจะให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการมันอยู่ก็ตาม และผู้ใดขจัดความตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขาได้ ชนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ” (อัล-หัชร์ 9)

อัลลอฮฺทรงสรรเสริญทั้งชาวมุฮาญีรีนและอันศอรฺ แต่พระองค์ทรงกล่าวถึงชาวมุฮาญิรีนก่อน และการกล่าวถึงก่อนย่อมหมายถึงการมีสถานะและความประเสริฐที่เหนือกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาได้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ทรัพย์สมบัติ ครอบครัว และลูกหลาน เพื่ออพยพตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเพื่อรักษาศาสนา ช่วยเหลืออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และเพื่อต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺให้ศาสนาของพระองค์สูงส่ง

ผู้ร่วมสงครามบัดรฺมีความประเสริฐเหนือกว่าบุคคลอื่น
ผู้ร่วมสงครามบัดรฺไม่ว่าจะเป็นชาวมุฮาญิรีนหรืออันศอรฺมีความประเสริฐอย่างหนึ่ง นั่นคืออัลลอฮฺได้ทรงพินิจพิเคราะห์พวกเขาแล้ว จากนั้นก็ตรัสว่า
«اعْمَلُوا مَا شِئْتُمْ فَقَدْ غَفَرْتُ لَكُمْ»
ความว่า “พวกเจ้าจะทำอะไรก็ทำ แท้จริงข้าได้ยกโทษให้พวกเจ้าแล้ว” (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ)

    พวกเขามีจำนวนทั้งหมด 310 กว่าคน ดังที่ได้ระบุในหนังสือหะดีษของอัล-บุคอรีย์ มุสลิม และท่านอื่น ๆ
    ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺกล่าวว่า  “ทั้งนี้ –วัลลอฮุอะอฺลัม- เนื่องจากอัลลอฮฺทรงรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีทางออกจากศาสนาอิสลาม ทว่าพวกเขาจะเสียชีวิตในสภาพที่เป็นมุสลิม ส่วนความผิดที่พวกเขาได้ปฏิบัตินั้น พระองค์จะทรงดลใจให้พวกเขารีบกลับตัว ขออภัยโทษต่อพระองค์ และจะทรงให้พวกเขาได้ทำความดีต่างๆ ที่พระองค์สามารถใช้เป็นเหตุลบล้างความผิดของพวกเขาได้”

    ค. ผู้ร่วมสงครามอุหุด สงครามอะห์ซาบ และอื่น ๆ ที่ต้องประสบกับเคราะห์ภัย การต่อสู้ และอดทน ย่อมมีความประเสริฐเหนือกว่าผู้ที่ไม่ได้ร่วมสงครามเหล่านั้น และความโปรดปรานของอัลลอฮฺนั้นมหาศาลนัก

ความประเสริฐของผู้ร่วมสนธิสัญญาริฎวาน
ส่วนหนึ่งจากความพิเศษที่อัลลอฮฺประทานให้แก่ผู้ร่วมสัตยาบัน อัร-ริฎวาน ในเหตุการณ์สนธิสัญญา อัล-หุดัยบียะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นชาวมุฮาญิรีนหรืออันศอรฺซึ่งมีจำนวน 1,400 กว่าคน คืออัลลอฮฺได้ประทานความโปรดปรานแก่พวกเขา และทุกคนที่ร่วมสัตยาบันใต้ต้นไม้ในวันนั้นจะไม่เข้านรก ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดเจนในอัลกุรอานว่า
﴿ ۞لَّقَدۡ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ إِذۡ يُبَايِعُونَكَ تَحۡتَ ٱلشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمۡ فَأَنزَلَ ٱلسَّكِينَةَ عَلَيۡهِمۡ وَأَثَٰبَهُمۡ فَتۡحٗا قَرِيبٗا ١٨ ﴾
ความว่า “โดยแน่นอน อัลลอฮฺได้โปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่ อัล-หุดัยบียะฮฺ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ประทานความสงบใจให้แก่พวกเขา และได้ทรงตอบแทนชัยชนะอันใกล้นี้ให้แก่พวกเขาด้วย” (อัล-ฟัตห์ 18)

    และในการบันทึกของมุสลิมจากญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَا يَدْخُلُ النَّارَ أَحَدٌ مِمَّنْ بَايَعَ تَحْتَ الشَّجَرَةِ»
ความว่า “ผู้ที่ร่วมสัตยาบันใต้ต้นไม้(ในเหตุการณ์อัล-หุดัยบียะฮฺ)จะไม่เข้านรกแม้แต่คนเดียว”

ทัศนะตามแนวทางของกลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ คือ ผู้ร่วมส่งครามบัดรฺและร่วมสัตยาบันอัร-ริฎวานคือชาวสวรรค์ เป็นผู้รอดพ้นจากไฟนรก การยืนยันนี้เป็นการยืนยันเฉพาะเจาะจงอีกขั้นหนึ่ง เหนือไปกว่าการยืนยันว่าเศาะหาบะฮฺทุกท่านคือชาวสวรรค์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَكُلّٗا وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلۡحُسۡنَىٰۚ ﴾
“และทั้งหมดนั้นอัลลอฮฺได้สัญญาไว้ให้ซึ่งสิ่งที่ดีเยี่ยม” (อัน-นิสาอ์ 95)

ความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺทั้งสิบที่ได้รับข่าวดีว่าเป็นชาวสวรรค์
ความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺทั้งสิบท่านที่พิเศษอีกระดับหนึ่ง คือ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เจาะจงพวกเขาว่าจะได้เป็นชาวสวรรค์ พวกเขาเหล่านั้นได้แก่ อบู บักรฺ, อุมัร, อุษมาน, อะลีย์, ฏ็อลหะฮฺ บิน อุบัยดุลลอฮฺ, อัซ-ซุบัยรฺ บิน อัล-เอาวาม, สะอฺด์ บิน อบี วักกอศ, สะอีด บิน ซัยดฺ, อับดุรเราะหฺมาน บิน เอาฟ, และอบู อุบัยดะฮฺ บิน อัล-ญัรรอห์

ความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺบางท่านนอกเหนือจากเศาะหาบะฮฺทั้งสิบคน
    นอกจากเศาะหาบะฮฺสิบท่านดังกล่าวแล้ว ยังมีเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เป็นพยานว่าพวกเขาจะได้เป็นชาวสวรรค์ ได้แก่ ษาบิต บิน ก็อยสฺ บิน ชัมมาส, อุกาชะฮฺ บิน มิหฺศ็อนฺ, อับดุลลอฮฺ บิน สะลาม, อัล-หะสัน, อัล-หุสัยน์, บรรดาภริยาของท่าน เป็นต้น การที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยืนยันว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้เป็นชาวสวรรค์ย่อมมีความประเสริฐเหนือกว่าผู้ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้กล่าวไว้
    การที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เจาะจงบุคคลเหล่านั้นว่าจะเป็นชาวสวรรค์ถือเป็นส่วนหนึ่งจากหลักฐานความสัจจริงของการเป็นศาสนทูตของท่าน เพราะบุคคลที่ท่านนบีได้ยืนยัน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นบุคลลที่ยืนหยัดอยู่ในการศรัทธากระทั่งเสียชีวิต และกลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺก็ยืนยันว่าพวกเขาคือชาวสวรรค์ เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับรองเช่นนั้น การรับรองบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิอาจใช้สติปัญญามาวิเคราะห์ แต่ขึ้นอยู่กับตัวบทหลักฐานจากบัญญัติศาสนาเท่านั้น

ความประเสริฐของบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ท่านและลำดับของพวกเขา
กลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺมีทรรศนะที่เห็นพ้องกันว่า อัล-คุละฟาอ์ อัร-รอชิดีน มีจำนวนสี่ท่าน พวกเขาคือชาวมุฮาญิรีนที่ประเสริฐที่สุด คือประชาชาติที่ดีที่สุดหลังจากท่านนบี พวกเขาคือผู้ช่วยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และคือญาติของท่าน (เป็นพ่อตาและลูกเขย) แต่ละท่านมีความประเสริฐเฉพาะที่บุคคลอื่นไม่มี และไม่มีใครที่จะเทียบเท่าได้กับพวกเขาอีกแล้ว
อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺมีทรรศนะที่เห็นพ้องดังมีรายงานหลายกระแสจากท่านอะลีย์และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นว่าประชาชาติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ประเสริฐที่สุดคืออบู บักรฺ หลังจากนั้นคืออุมัร ส่วนหลังจากอุมัรนั้นใครมีความประเสริฐกว่าระหว่างอุษมานกับอะลีย์ พวกเขามีทรรศนะที่ขัดแย้งกัน บางท่านมีทรรศนะว่า อุษมานประเสริฐกว่าอะลีย์ บางท่านมีทรรศนะว่าอะลีย์ประเสริฐกว่าอุษมาน และบางท่านไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
    ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺได้ให้น้ำหนักทรรศนะแรก นั่นคืออุษมานมีความประเสริฐกว่าท่านอะลีย์โดยได้ให้เหตุผลดังนี้
    1. มีหะดีษหลายบทที่ระบุถึงความประเสริฐของท่าน
    2. บรรดาเศาะหาบะฮฺมีมติเอกฉันท์ในการคัดเลือกท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากอุมัร เนื่องจากท่านมีความประเสริฐกว่าในทรรศนะของพวกเขา ดั้งนั้น ลำดับความประเสริฐของเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ จึงถือได้ว่ามีลำดับเฉกเช่นเดียวกับลำดับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของพวกเขา
    ในการบันทึกของอัล-บุคอรีย์จากอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านได้เล่าว่า
«كُنَّا نُخَيِّرُ بَيْنَ النَّاسِ فِي زَمَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَنُخَيِّرُ أَبَا بَكْرٍ، ثُمَّ عُمَرَ بْنَ الخَطَّابِ، ثُمَّ عُثْمَانَ بْنَ عَفَّانَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ»
ความว่า “พวกเราได้กล่าวว่าคนนั้นคนนี้ดีที่สุดในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  และเราได้กล่าวว่าท่านอบูบักรดีที่สุด หลังจากนั้นก็ท่านอุมัร และหลังจากนั้นก็ท่านอุษมาน –ขออัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยแก่พวกเขา-”
    
และในการบันทึกของอบูดาวูดระบุว่า
كُنَّا نَقُولُ وَرَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَيٌّ: «أَفْضَلُ أُمَّةِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بَعْدَهُ أَبُو بَكْرٍ، ثُمَّ عُمَرُ، ثُمَّ عُثْمَانُ، رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ أَجْمَعِينَ»
ความว่า “พวกเราได้กล่าวในสมัยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังมีชีวิตอยู่ว่า คนที่ประเสริฐที่สุดในประชาชาติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หลังจากท่านนบีเอง คือ ท่านอบู บักรฺ หลังจากนั้นคือท่านอุมัร และหลังจากนั้นคือท่านอุษมาน –ขออัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยแก่พวกเขาทั้งหมด-”
    
3. ทรรศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺได้ข้อยุติแล้ว โดยเห็นว่าท่านอุษมานประเสริฐกว่าท่านอะลีย์ ดังที่ได้ให้อุษมานเป็นเคาะลีฟะฮฺก่อนอะลีย์
    อับดุรเราะหฺมาน บิน เอาฟฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “ฉันได้พิจารณาทรรศนะของผู้คน ปรากฏว่า ฉันไม่เห็นใครที่มีทรรศนะให้เอาคนอื่นแทนที่ท่านอุษมาน (หลังจากอบูบักรฺและอุมัร)”
    และมีสะลัฟหลายท่านได้กล่าวว่า “ใครที่เห็นว่า อุษมานไม่ได้มีความประเสริฐเหนือว่าอะลีย์ แท้จริงเขาได้จาบจ้วงชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอร”
นี่คือหลักฐานว่าท่านอุษมานประเสริฐกว่าท่านอะลีย์ เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺได้มีมติเลือกท่านให้เป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านอุมัร และท่านอะลีย์ก็คือหนึ่งในผู้ให้สัตยาบันแก่ท่านอุษมาน ท่านอะลีย์ยังได้รับหน้าที่ในการเป็นผู้ดำเนินกฎหมายการลงโทษในสมัยของท่านอุษมานต่อหน้าท่านเองด้วย

    การที่เศาะหาบะฮฺมีมติว่าท่านอุษมานมีความประเสริฐเหนือกว่าท่านอะลีย์ บ่งชี้ว่าท่านอะลีย์มีความประเสริฐรองจากท่านอุษมาน และคือผู้ที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านอุษมาน เพราะท่านอะลีย์คือผู้ที่มีความประเสริฐที่สุดในสมัยนั้น และสุดท้ายมันก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ อัลหัมดุลิลลาฮฺ
สรุปแนวทางของกลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺเกี่ยวกับลำดับความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺ –หลังจากยอมรับว่าเศาะหาบะฮฺทั้งหมดมีความประเสริฐ- คือ เศาะหาบะฮฺที่ประเสริฐที่สุดคือ อบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก, อุมัร อัล-ฟารูก, อุษมาน ซุนนูร็อยนฺ, อะลีย์ อัล-มุรตะฎอ, เศาะหาบะฮฺสิบท่านที่เหลือที่ได้รับข่าวดีว่าเป็นชาวสวรรค์, ผู้ร่วมสงครามบัดรฺ, ผู้ร่วมทำสัตยาบันอัร-ริฎวาน, เศาะหาบะฮฺที่เข้ารับอิสลามก่อนสัญญาสงบศึกอัล-หุดัยบียะฮฺ, และเศาะหาบะฮฺที่เข้ารับอิสลามหลังจากนั้น

หก : หน้าที่ของประชาชาติมุสลิมที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ
    หน้าที่ของประชาชาติที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺถือเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง ส่วนหนึ่งจากหน้าที่นั้นคือ
1. ยอมรับในความประเสริฐของพวกเขา หัวใจต้องบริสุทธิ์จากความเคียดแค้นหรือเกลียดชังพวกเขา
        2. รักและสรรเสริญพวกเขา เนื่องด้วยการเข้ารับอิสลามก่อน ความประเสริฐ และทำความดีมากมายของพวกเขา อีกทั้งต้องสอนให้ประชาชาติรักพวกเขา
3. รับความรู้จากพวกเขาและเอาพวกเขาเป็นแบบอย่างในด้านความรู้ การปฏิบัติ การเผยแผ่ การสั่งใช้ให้ความดี ห้ามปรามการทำความชั่ว การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ความห้าวหาญต่อศัตรู เพราะพวกเขาคือผู้ที่รู้ความหมายพระดำรัสของอัลลอฮฺและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุด เป็นผู้ปฏิบัติตามอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างถูกต้องที่สุด เป็นผู้ตักเตือนประชาชาติด้วยความหวังดีและจริงใจอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นผู้ที่ออกห่างจากอารมณ์ใฝ่ต่ำและอุตริกรรมมากที่สุด
    4. ขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ประทานความเมตตาและอภัยโทษแก่พวกเขา ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติตามคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠ ﴾ [الحشر : 10]
ความว่า “และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา ได้กล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ได้โปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-หัชร์ 10)

    5. ไม่ก้าวล่วงในประเด็นที่พวกเขามีข้อขัดแย้งกัน และเชื่อว่าความขัดแย้งนั้นมาจากการที่พวกเขาได้ใช้การวินิจฉัยแล้ว หากสิ่งที่พวกเขาวินิจฉัยนั้นถูก พวกเขาก็ได้รับสองผลบุญ และหากผิดก็ได้รับหนึ่งผลบุญ ความผิดของพวกเขาจะได้รับการอภัยเนื่องจากมาจากการวินิจฉัยดังกล่าว
    6. พึงระวังข่าวลือที่พูดถึงเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะโดยรวมแล้วมักจะเป็นเรื่องเท็จที่ถูกกุขึ้นมาโดยกลุ่มที่ตามอารมณ์ มีความสุดโต่ง และคลั่งพรรคพวก ส่วนบางเรื่องที่อาจจะมีรายงานยืนยันจริงโดยผิวเผิน ก็ใช่จะรู้ว่ามันมีสาเหตุที่มาหรือข้ออธิบายอย่างไร ซึ่งการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเคียดแค้นและกล่าวร้าย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดความเกลียดชังและตำหนิพวกเขา ซึ่งดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบาปใหญ่และสาเหตุของความโกรธกริ้วของอัลลอฮฺ ผู้ทรงล่วงรู้สิ่งเร้นลับ
    7. ต้องเชื่อว่าการด่าทอเศาะหาบะฮฺหรือคนใดคนหนึ่งจากพวกเขาเป็นสิ่งต้องห้าม ส่วนการสาปแช่งพวกเขานั้นเป็นสิ่งต้องห้ามที่ร้ายแรงกว่า เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการไม่เชื่อในคำสอนของอัลลอฮฺที่ได้ทรงสรรเสริญและสัญญาจะตอบแทนสวนสวรรค์ให้พวกเขา และถือเป็นการเสียมารยาทต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้ห้ามมิให้ด่าทอพวกเขา มันยังเป็นการอธรรมและละเมิดพวกเขา  เพราะพวกเขาคือบรรดาบุคคลพิเศษที่อัลลอฮฺทรงรักมากที่สุดถัดจากบรรดานบีและเราะสูล
พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ بِغَيۡرِ مَا ٱكۡتَسَبُواْ فَقَدِ ٱحۡتَمَلُواْ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ٥٨ ﴾
ความว่า “และบรรดาผู้กล่าวร้ายแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิงในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ แน่นอนพวกเขาได้แบกการกล่าวร้ายและบาปอันชัดแจ้งไว้แล้ว” (อัล-อะหฺซาบ 58)

และในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่ง พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า
«مَن عَادَى لِيْ وَلِيًّا فَقَدْ أَذِنْتُهُ بِالْحَرْبِ .. »
ความว่า “ใครก็ตามที่ละเมิดผู้ที่ข้ารัก แท้จริงข้าได้ประกาศสงครามกับเขา”


เจ็ด : บรรดาเศาะหาบะฮฺล้วนเป็นผู้มีคุณธรรม
บรรดาเศาะหาบะฮฺคือบุคคลที่อัลลอฮฺทรงหมายถึงในอายะฮฺ
﴿كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ﴾  [آل عمران : 110]
ความว่า “พวกท่านคือประชาชาติที่ดีเลิศ ซึ่งถูกอุบัติขึ้นเพื่อมนุษยชาติ” (อาล อิมรอน 110)

และ
﴿ وَكَذَٰلِكَ جَعَلۡنَٰكُمۡ أُمَّةٗ وَسَطٗا لِّتَكُونُواْ شُهَدَآءَ عَلَى ٱلنَّاسِ ﴾ [البقرة : 143]
ความว่า “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 143)

เศาะหาบะฮฺคือบุคคลแรกสุด ประเสริฐสุด และมีความชอบธรรมที่สุดที่จะเข้าในข่ายของอายะฮฺนี้
และมีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นคือกลุ่มชนที่ประเสริฐที่สุดของประชาชาตินี้ คือมนุษย์ที่ดีที่สุด ในวันกิยามะฮฺคือกลุ่มชนที่เติมเต็มเจ็ดสิบประชาชาติ พวกเขาคือประชาชาติที่ดีที่สุด มีเกียรติที่สุด ณ อัลลอฮฺ อัซซะวะญัล ตัวบทหลักฐานทั้งจากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เกี่ยวข้องกับความประเสริฐ การสรรเสริญต่อเศาะหาบะฮฺ และการสัญญาที่จะมอบผลตอบแทนและผลบุญอันมากมายนั้นมีมากมายเหลือเกิน
ใครก็ตามที่ได้ศึกษาประวัติและใคร่ครวญสภาพของพวกเขา ตัวบทหลักฐานต่างๆ ที่พูดถึงพวกเขาไม่ว่าในด้านการเผยแผ่ศาสนา การต่อสู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ การเสียสละตัวเองและทรัพย์สินเพื่อหนทางของพระองค์เพื่อให้ศาสนาของพระองค์สูงส่ง เพื่อช่วยเหลือเราะสูลุลลอฮฺ และเพื่อให้ศาสนาอิสลามเป็นที่ประจักษ์ กอปรกับการศรัทธาและความสัจจริงที่พวกเขามีต่ออัลลอฮฺ ความกระตือรือร้นในการแสวงหาความดีและความรู้ที่ยังประโยชน์  อีกทั้งการไม่รีรอในการกระทำความดี และอื่นๆ อีกมากมายจากคุณลักษณะที่ดีงามของพวกเขาแล้ว จะรู้อย่างมั่นใจว่า พวกเขาคือประชาชาติที่ดี่สุดหลังจากบรรดานบีและเราะสูล พวกเขาคือผู้มีความรู้ สติปัญญา และศาสนาดีที่สุด พวกเขาคือผู้ดำรงอยู่ในทางนำที่เที่ยงตรง และไม่เคยมีและไม่มีวันที่จะมีกลุ่มชนที่มีลักษณะเหมือนพวกเขาอีก
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จึงเห็นพ้องต้องกันว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺทุกคนล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและศีลธรรมโดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ เนื่องจากมีตัวบทหลักฐานทั้งจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ ได้สรรเสริญ และระบุถึงความดีงาม ความเป็นสายกลาง ความสัจจริง และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เป็นข้อพิเศษและความประเสริฐของพวกเขา ดังนั้น อย่าได้ละทิ้งความรู้ที่ชัดเจนแน่นอนนี้แล้วหันไปเชื่อข้อเคลือบแคลงสงสัยหรือมีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องโกหก ซึ่งอุปโลกน์ขึ้นมาโดยพวกที่ตามอารมณ์ตัวเอง พวกอวิชชา หรือศัตรูอิสลาม
ส่วนที่มีรายงานเกี่ยวกับข้อบกพร่องของพวกเขานั้น อาจแบ่งได้ดังนี้
1. เป็นเรื่องราวที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาทั้งหมด
2. เป็นเรื่องราวที่ถูกดัดแปลง ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มเนื้อหาหรือตัดทอน ซึ่งเป็นผลให้ภาพลักษณ์ดูเสียหายและจาบจ้วง
3. เป็นเรื่องราวที่ถูกต้อง แต่อยู่ในข่ายประเด็นการวินิจฉัยที่อนุญาต ซึ่งหากวินิจฉัยถูกเขาจะได้รับสองผลบุญ และหากผิดก็จะได้รับหนึ่งผลบุญ ส่วนความผิดนั้นจะได้รับการอภัยโทษ
ดังนั้น เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบรรดาเศาะหาบะฮฺ หากเป็นเรื่องจริงแล้วก็เนื่องมาจากการวินิจฉัยของพวกเขา ซึ่งพวกเขาจะได้รับการอภัยและได้รับผลบุญทั้งสองกรณี
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มชนผู้อยู่ในสัจธรรมที่เป็นอุละมาอ์ที่น่าเชื่อถือและยอมรับจึงเห็นพ้องกันว่า การเป็นพยานและการรายงานของเศาะหาบะฮฺนั้นเป็นที่ยอมรับ พวกเขาล้วนเป็นบุคคลที่มีอะดาละฮฺหรือคุณธรรม จำเป็นที่จักต้องชื่นชมพวกเขาทั้งหมด การด่าทอเป็นที่ต้องห้าม จำเป็นที่จะต้องเชื่อว่าพวกเขาคือประชาชาติที่ประเสริฐที่สุดหลังจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ท่านอบู ซุรอะฮฺ ได้กล่าวว่า “หากท่านพบว่ามีใครที่ดูแคลนเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คนใดคนหนึ่ง ท่านจงรู้เถิดว่า เขาคือ ซินดีก (พวกหลงทาง)”
ทั้งนี้ เพราะอัลกุรอานคือสัจธรรม เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือสัจธรรม และสิ่งที่ทั้งสองประการนำมาเสนอก็คือสัจธรรม ไม่มีใครรายงานข้อมูลจากสองแหล่งนี้นอกจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ ดังนั้น ใครก็ตามที่ตำหนิพวกเขา แท้จริง ลึกๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากต้องการทำลายอัลกุรอานและสุนนะฮฺนั่นเอง

การด่าทอเศาะหาบะฮฺและหุก่ม
การด่าทอเศาะหาบะฮฺมีกรณีต่างๆ ดังนี้
1. การด่าทอเศาะหาบะฮฺคนใดคนหนึ่งอย่างเจาะจง ที่มีตัวบทจากอัลกุรอานหรือหะดีษของท่านนบีที่ถูกต้องยืนยันถึงความประเสริฐของเขาหรือเป็นคนพิเศษที่ใกล้ชิดของท่านนบี เช่นอบู บักรฺ, อาอิชะฮฺ และบรรดาภรรยาของท่านนบี การด่าทอพวกเขาในกรณีนี้ ถือเป็นการปฏิเสธศรัทธา(กุฟรฺ)และหลุดพ้นออกจากศาสนาอิสลาม และจำเป็นต้องประหารชีวิตเมื่อได้ชี้แจงแก่เขาแต่ยังดื้อดึงอยู่อีก
2. การด่าทอเนื่องจากเชื่อว่าเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา หรือเชื่อว่าพวกเขาทั้งหมดเป็นผู้กระทำผิด(ฟาสิก) ดังเช่นความเชื่อของพวกรอฟิเฎาะฮฺ กรณีนี้ ถือว่าเป็นกุฟรฺเช่นกัน เนื่องจากถือว่าเป็นการปฏิเสธอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ที่ได้สรรเสริญและพึงพอใจพวกเขา หนำซ้ำ หากมีคนที่สงสัยว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธศรัทธาหรือไม่ เขาผู้นั้นก็ถือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเช่นกัน เพราะโดยนัยแล้วเขากำลังเชื่อว่าเศาะหาบะฮฺผู้รายงานอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบีนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาหรือเป็นคนโฉดนั่นเอง
3. การด่าทอพวกเขาด้วยการสาปแช่งหรือดูแคลน กรณีนี้มีสองทัศนะ ตามทัศนะที่ระบุว่าไม่ได้เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น บุคคลนั้นต้องได้รับการตักเตือนหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือกลับเนื้อกลับตัวจากคำพูดที่ได้กล่าวไว้ และต้องยอมรับว่าตัวเองพูดโกหกและกระทำสิ่งที่ผิดร้ายแรงต่อเศาะหาบะฮฺ
4. ด่าทอพวกเขาในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ขี้ขลาด ตระหนี่ขี้เหนี่ยว กรณีนี้ ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แต่ต้องได้รับการลงโทษ ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัศ-ศอริม อัล-มัสลูล โดยอ้างจากอิมามอะห์มัดว่า "ไม่อนุญาตให้ใครกล่าวถึงข้อเสียของพวกเขา ตำหนิข้อบกพร่อง หรือดูแคลนพวกเขา ผู้ที่กระทำเช่นนั้นต้องได้รับการตักเตือน หากเขากลับตัวก็ให้ปล่อยไป แต่หากยังดื้อดึงก็ให้จับขังกระทั่งยอมกลับตัว”


แปด : บทสรุปแนวทางของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ต่อเศาะหาบะฮฺ
    1.  มีความรักต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะการรักพวกเขาคือสัญลักษณ์ของการศรัทธา และการเกลียดชังพวกเขาคือสัญลักษณ์ของนิฟาก ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในหะดีษบทหนึ่งที่เศาะหี้หฺว่า
«آيَةُ الإِيمَانِ حُبُّ الأَنْصَارِ، وَآيَةُ النِّفَاقِ بُغْضُ الأَنْصَارِ»
ความว่า “สัญลักษณ์ของการมีศรัทธาคือการรักชาวอันศอรฺ และสัญลักษณ์ของนิฟาก(มีหัวใจกลับกลอก)คือการเกลียดชาวอันศอรฺ”

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้พูดถึงเศาะหาบะฮฺชาวอันศอรฺอีกว่า
«لَا يُحِبُّهُمْ إِلَّا مُؤْمِنٌ، وَلَا يُبْغِضُهُمْ إِلَّا مُنَافِقٌ »
ความว่า “ไม่มีใครรักพวกเขานอกจากผู้ศรัทธา และไม่มีใครเกลียดชังพวกเขานอกจากมุนาฟิก”

    ที่กล่าวมาข้างต้นคือความรักต่อชาวอันศอรฺ ซึ่งยิ่งใหญ่ขนาดนี้ และแน่นอนว่าความรักที่ต้องมีต่อเศาะหาบะฮฺชาวมุฮาญิรีนย่อมต้องยิ่งใหญ่กว่าอีก เพราะชาวมุฮาญิรีนโดยรวมแล้วประเสริฐกว่าชาวอันศอรฺ เพราะเป็นบุคคลแรกๆ ที่เข้ารับอิสลาม ฮิจญ์เราะฮฺ และช่วยเหลือท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หลักฐานมากมายที่กล่าวถึงชาวมุฮาญิรีนนำหน้าชาวอันศอรฺ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความประเสริฐ ความพอพระทัยของอัลลอฮฺ และผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงตระเตรียมไว้ให้ของชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺทั้งหมด

    2. หัวใจของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จะปราศจากความเคียดแค้นต่อเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่งก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠ ﴾ [الحشر : 10]
ความว่า “และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา ได้กล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ได้โปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-หัชร์ 10)
 
    3. วาจาของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จะไม่พูดถึงเศาะหาบะฮฺคนใดคนหนึ่งเว้นแต่ความดีงาม ชมเชย และยืนยันในความประเสริฐของพวกเขา ท่านนนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปกป้องเกียรติของพวกเขา ท่านได้กล่าวว่า
«لاَ تَسُبُّوا أَصْحَابِي، فَلَوْ أَنَّ أَحَدَكُمْ أَنْفَقَ مِثْلَ أُحُدٍ، ذَهَبًا مَا بَلَغَ مُدَّ أَحَدِهِمْ، وَلاَ نَصِيفَهُ»
ความว่า “พวกท่านอย่าได้ด่าทอเศาะหาบะฮฺของฉัน ทั้งนี้ หากพวกท่านบริจาคทองคำเท่าภูเขาอุหุด ผลบุญของมันก็ย่อมไม่เท่ากับที่พวกเขาบริจาคเพียงหนึ่งกอบมือของพวกเขา และไม่อาจจะเท่าเทียมแม้เพียงครึ่งหนึ่งของมันก็ตาม”
    หะดีษบทนี้ระบุชัดเจนว่าการด่าทอเศาะหาบะฮฺเป็นที่ต้องห้าม ดังนั้น การสาปแช่งพวกเขาจึงเป็นที่ห้ามยิ่งกว่า และทั้งสองประการเป็นส่วนหนึ่งจากบาปใหญ่
ในหะดีษเศาะฮีหฺบทหนึ่งได้ระบุว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
« لَعْنُ الْمُؤْمِنِ كَقَتْلِهِ »
ความว่า “การสาปแช่งผู้ศรัทธาเสมือนการฆ่าเขา”

และท่านได้กล่าวอีกว่า
«اللَّهَ اللَّهَ فِي أَصْحَابِي، لَا تَتَّخِذُوهُمْ غَرَضًا بَعْدِي، فَمَنْ أَحَبَّهُمْ فَبِحُبِّي أَحَبَّهُمْ، وَمَنْ أَبْغَضَهُمْ فَبِبُغْضِي أَبْغَضَهُمْ، وَمَنْ آذَاهُمْ فَقَدْ آذَانِي، وَمَنْ آذَانِي فَقَدْ آذَى اللَّهَ، وَمَنْ آذَى اللَّهَ فَيُوشِكُ أَنْ يَأْخُذَهُ»
ความว่า “จงเกรงกลัวอัลลอฮฺ จงเกรงกลัวอัลลอฮฺในเรื่องเศาะหาบะฮฺของฉัน พวกท่านอย่าได้กล่าวหาโจมตีพวกเขาหลังจากฉันเสียชีวิตไปแล้ว ใครที่รักเศาะหาบะฮฺของฉันแสดงว่าเขาได้รักเพราะความรักที่เขามีต่อฉัน และใครที่เกลียดพวกเขาแสดงว่าเขาได้เกลียดเพราะความเกลียดของเขาที่มีต่อฉัน ใครที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พวกเขา ก็เสมือนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ฉันด้วย และใครสร้างความเดือดร้อนให้แก่ฉัน ก็เสมือนสร้างความเดือนร้อนให้อัลลอฮฺด้วย ผู้ใดที่สร้างความเดือดร้อนกับอัลลอฮฺก็ควรแล้วที่พระองค์จะทรงลงโทษเขา”

    สิทธิของเศาะหาบะฮฺเหนือประชาชาติมุสลิมนั้นยิ่งใหญ่นัก พวกเขาคือประชาชาติที่ดีเลิศ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาคือกลุ่มชนที่ประเสริฐที่สุดหลังจากบรรดานบีและเราะสูล
    ขอพรอันประเสริฐจงมีแด่บรรดานบีและเราะสูล และพระองค์ทรงพอพระทัยบรรดาเศาะหาบะฮฺด้วยเถิด

    4. อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺไม่ได้มีความเชื่อว่าเศาะหาบะฮฺคนใดคนหนึ่งเป็นมะอฺศูมหรือเป็นคนปลอดบาป ทั้งชนกลุ่มแรกที่เข้ารับอิสลามหรือบุคคลอื่นจากนี้ที่ได้พบกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ตามความเชื่อของอะฮฺลุสสุนนะฮฺคือ พวกเขาอาจกระทำบาป ทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่ แต่อัลลอฮฺทรงอภัยโทษแก่พวกเขา เนื่องจาก
        4.1 การเตาบัต และการยกฐานะของพวกเขาด้วยการเตาบัต
        4.2 อภัยโทษด้วยคุณงามความดีต่างๆ ที่พวกเขาได้กระทำและลบล้างความผิดได้ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَٱلَّذِي جَآءَ بِٱلصِّدۡقِ وَصَدَّقَ بِهِۦٓ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُتَّقُونَ ٣٣﴾ [الزمر : 33]
ความว่า “ผู้ที่นำความจริงมาและเขาได้เชื่อมั่นความจริงนั้น ชนเหล่านี้แหล่ะคือบรรดาผู้ยำเกรง” (อัซ-ซุมัร 33)
        พวกเขาคือประชาชาติที่มีความสัจจริงที่สุดในการศรัทธาและเชื่อต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือกลุ่มชนแรกๆ ที่เข้ารับอิสลาม และคือกลุ่มชนที่มีความประเสริฐมากมาย ซึ่งเป็นการงานที่จะลบล้างความผิดต่างๆ ได้ หากว่าพวกเขากระทำผิดจริง
        4.3 พวกเขาได้รับการอภัยโทษบาปซึ่งไม่มีใครหลังจากพวกเขาที่จะได้รับการอภัยโทษเสมือนพวกเขา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่าพวกเขาคือกลุ่มชนที่อยู่ในศตวรรษที่ดีที่สุด และการบริจาคทองคำเพียงกอบเดียวของพวกเขาดีกว่าการบริจาคทองคำเท่าภูเขาอุหุดของกลุ่มชนหลังจากพวกเขา
        4.4 เมื่อคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเขาได้กระทำผิด แน่นอนว่าเขาย่อมต้องเตาบัตตัว เพราะพวกเขาคือกลุ่มชนที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺมากที่สุด และมีความรีบเร่งสู่การกลับเนื้อกลับตัวและหาสาเหตุเพื่อจะได้รับการอภัยโทษ และห่างไกลจากการดื้อดึง
        4.5 พวกเขามีความประเสริฐมากมายที่ได้เข้ารับอิสลามเป็นกลุ่มชนแรกและมีความดีอย่างล้นหลามซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺได้ให้พวกเขา และอัลลอฮฺก็ทรงทดสอบพวกเขาด้วยความทุกข์ยากต่างๆ ที่เป็นเหตุให้พระองค์อภัยโทษให้
    4.6 และพวกเขาเป็นบุคคลที่มีสิทธิมากที่สุดที่จะได้รับชะฟาอะฮฺ (ความช่วยเหลือในวันกิยามะฮฺ) จากท่านนบี และสาเหตุอื่นๆ ที่จะทำให้ได้รับการอภัยโทษ
        หากการอภัยโทษข้างต้นคือการอภัยจากบาปที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วนับประสาอะไรกับความผิดพลาดที่เกิดจากการวินิจฉัยที่มีผลบุญเป็นการตอบแทน นั่นคือเมื่อวินิจฉัยถูกได้รับสองผลบุญ คือผลบุญจากการวินิจฉัยและผลบุญจากความถูกต้อง และหากผิดก็จะได้รับหนึ่งผลบุญ เป็นผลบุญจากการวินิจฉัย ส่วนความผิดจะได้รับการอภัย

5. ด้วยเหตุนี้ อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จึงมีทัศนะที่เอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องนิ่งเงียบ ไม่ยุ่มย่ามในประเด็นฟิตนะฮฺที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺหลังจากเหตุการณ์ที่ท่านอุษมานถูกสังหาร แต่เราต้องเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับขอภัยโทษต่ออัลลอฮฺให้แก่ผู้เสียชีวิตจากทุกฝ่ายและวิงวอนให้อัลลอฮฺประทานความเมตตาแก่พวกเขา
    ชาวสะลัฟบางคน เมื่อมีคนถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สู้รบระหว่างเศาะหาบะฮฺ เขาจะตอบว่า นั่นเป็นเลือดเนื้อที่อัลลอฮฺไม่ได้ทำให้มือของเราต้องพลอยแปดเปื้อน ฉะนั้น เราก็อย่าได้ให้ลิ้น(วาจา)ของเราต้องไปแปดเปื้อนมันด้วยเลย จากนั้นเขาก็อ่านอายะฮฺที่ว่า
﴿ تِلۡكَ أُمَّةٞ قَدۡ خَلَتۡۖ لَهَا مَا كَسَبَتۡ وَلَكُم مَّا كَسَبۡتُمۡۖ وَلَا تُسۡ‍َٔلُونَ عَمَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٣٤ ﴾ [البقرة: ١٣٤]  
ความว่า “เหล่านั้นคือประชาชาติที่ล่วงลับไปแล้ว พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่ได้ขวนขวาย และพวกเจ้าก็จะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่เจ้าได้ขวนขวายเช่นกัน และพวกเจ้าจะไม่ถูกสอบถามจากสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 134)
    ดังนั้น จำเป็นที่เราต้องดูแลรักษาความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺ ยอมรับว่าพวกเขาคือชนกลุ่มแรกที่เข้ารับอิสลาม เผยแพร่คุณูปการของพวกเขา และเชื่อว่าพวกเขาทุกคนได้ใช้การวินิจฉัยและไม่ได้เจตนากระทำผิด ใครที่วินิจฉัยถูกก็ได้รับสองผลบุญ หากผิดก็ได้รับหนึ่งผลบุญ ส่วนความผิดจะได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺ
    อนึ่ง หะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงสิ่งไม่ดีของพวกเขา ส่วนมากเป็นหะดีษที่ไม่จริง บางส่วนก็ถูกตัดทอนหรือเพิ่มเติมจากเดิมจนความหมายเปลี่ยนไป ที่ถูกต้องคือ พวกเขาได้รับการอภัยจากความผิดพลาด เพราะพวกเขาไม่มีความตั้งใจ  อีกทั้ง ความผิดที่ได้รับการตำหนิจากบางคนในหมู่พวกเขานั้น เพียงนิดเดียวเท่านั้น มันจะถูกกลบท่ามกลางความประเสริฐและความดีอันมากมายของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ การอพยพ การให้ความช่วยเหลือ การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ความรู้ และการปฏิบัติ ใครก็ตามที่พิจารณาด้วยความรู้จริงเกี่ยวกับชีวประะวัติและความโปรดปรานที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้พวกเขา เขาจะประจักษ์อย่างแจ่มแจ้งว่า เศาะหาบะฮฺคือประชาชาติที่ประเสริฐที่สุดหลังจากบรรดานบีและบรรดาเราะสูล ไม่ใครเสมือนพวกเขาทั้งในประชาติก่อนหน้านี้และประชาชาติหลังจากพวกเขา พวกเขาคือกลุ่มชนอันบริสุทธิ์ของประชาชาตินบีมุหัมมัดนี้ ซึ่งเป็นประชาชาติที่ประเสริฐและมีเกียรติมากที่สุด ณ  อัลลอฮฺ

ข้อพึงจำ :
    การชี้แจงข้อผิดพลาดของเศาะหาบะฮฺ ไม่ได้เป็นการประจาน แต่เป็นหน้าที่ที่จำเป็นและเป็นการตักเตือนที่จริงใจแก่ประชาชาติ  ทั้งนี้ บรรดาผู้รู้และผู้ศรัทธานั้น ไม่มีความเชื่อว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีบาป และไม่ได้เชื่อว่าพวกท่านเป็นคนบาปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่พวกบิดอะฮฺที่หลงทางจะมีความเชื่อว่าถ้าผิดก็ต้องบาป ความผิดและบาปเป็นสิ่งที่คู่กันแยกกันไม่ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า กลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จะอยู่บนสายกลางในประเด็นเศาะหาบะฮฺ กล่าวคือ อยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มที่สุดโต่งที่มีความเชื่อว่าเศาะหาบะฮฺมะอฺศูม และกลุ่มที่กล่าวหาว่าพวกท่านเป็นผู้มีบาปเนื่องจากข้อผิดพลาด

สาระประโยชน์ : การรับรองบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรก
    ดังที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺได้ยืนยันความประเสริฐของเศาะหาบะฮฺบางท่าน เศาะหาบะฮฺบางกลุ่มและเศาะหาบะฮฺโดยรวมทั้งหมด ตามหลักฐานยืนยันจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่กระนั้น พวกเขาไม่ยืนยันปัจเจกบุคคลว่าเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรกนอกจากบุคคลที่อัลลอฮฺและเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุไว้เท่านั้น เนื่องจากการยืนยันบุคคลว่าเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรกนั้นมิอาจใช้สติปัญญาพิเคราะห์ได้ เพราะมันเป็นสิ่งเร้นลับ ขึ้นอยู่กับวะห์ยูจากอัลลอฮฺเท่านั้น ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่วะห์ยูจากอัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ประการใด บรรดามุสลิมก็จะยืนยันเช่นนั้น และบุคคลใดที่วะห์ยูไม่ได้ยืนยันไว้ พวกเขาก็จะไม่ยืนยัน และเนื่องจากการยืนยันของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ถือเป็นการกล่าวประกาศจากอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿ وَمَا يَنطِقُ عَنِ ٱلۡهَوَىٰٓ ٣ إِنۡ هُوَ إِلَّا وَحۡيٞ يُوحَىٰ ٤ ﴾ [النجم : 3-4]
ความว่า “และเขาไม่ได้พูดตามอารมณ์ สิ่งที่เขาพูดมิใช่อื่นใดเว้นแต่คือวะห์ยูที่ถูกประทานลงมา” (อัน-นัจญ์มฺ 3-4)

    ชาว อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ จะหวังว่าผู้กระทำดีจากอิสลามิกชนจะได้รับผลบุญตอบแทน  และเกรงว่าผู้กระทำชั่วจะได้รับการลงโทษ
กรณีการยืนยันว่าใครเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรกมีสองประเภท คือ
    1. แบบเจาะจง คือการเจาะจงตัวบุคคลว่าเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรก กรณีนี้ ไม่อนุญาตให้ทำการยืนยันนอกจากบุคคลที่อัลลอฮฺและเราะสูลได้ยืนยันไว้เท่านั้น
    2. แบบโดยรวม คือการยืนยันคุณลักษณะ เช่น การยืนยันว่าผู้ศรัทธาทุกคนเป็นชาวสวรรค์ ผู้ปฏิเสธศรัทธาทุกคนเป็นชาวนรก และอื่นๆ ที่เป็นคุณลักษณะที่ศาสนาได้ระบุว่าเป็นสาเหตุให้เข้าสวรรค์หรือเข้านรก
    ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ บ่งบอกถึงความเขลาของพวกรอฟิเฎาะฮฺและกลุ่มอื่นๆ ในทำนองเดียวกับพวกเขาที่มีความเชื่อคัดค้านกับข้อเท็จจริงข้างต้น กล่าวคือพวกเขาจะยืนยันว่าบุคคลหนึ่งเป็นชาวนรก ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺและเราะสูลยืนยันว่าเป็นชาวสวรรค์ และยืนยันว่าบุคคลหนึ่งเป็นชาวสวรรค์ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺและเราะสูลไม่ได้ยืนยัน ทั้งนี้ เนื่องจากความเลวทรามและการหลงทางของพวกเขา พวกเขาโกหกต่ออัลลอฮฺและเราะสูลด้วยการกล่าวหาบุคคลที่พวกเขาไม่พอใจ กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺและเราะสูลโดยปราศจากความรู้ ด้วยการยกย่องเชิดชูบุคคลที่เขารักจนเลยเถิด ดังนั้น พวกเขาจึงได้ตัดสินกลุ่มบุคคลที่ประเสริฐสุดและเป็นบรรดาสหายของมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุดว่าเป็นประชาชาติที่ชั่วช้าที่สุด นี่ช่างเป็นคำพูดที่หยาบคาย ที่สุดจากปากของพวกเขา พวกเขาไม่ได้พูดอะไรนอกจากความเท็จเท่านั้น

وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين