สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่อิสลามยืนยันรับรอง

สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่อิสลามยืนยันรับรอง ผู้เขียนได้กล่าวในบทนำว่า “ส่วนหนึ่งจากความงดงามของอิสลามคือการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและให้สิทธิแก่ผู้ที่สมควรได้รับสิทธิอย่างเหมาะสมโดยปราศจาความเลยเถิดและหย่อนหยาน อัลลอฮฺได้บัญชาให้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำดีและรักษาสิทธิต่างๆ ของบรรดาญาติมิตร ด้วยเหตุเพื่อธำรงความยุติธรรมนี่เอง ศาสนาทูตทั้งหลายจึงถูกแต่งตั้งขึ้น คัมภีร์ต่างๆ ถูกประทานลงมา และภารกิจทั้งโลกนี้และอาคิเราะฮฺได้ถูกปฏิบัติ
ความยุติธรรมหมายถึงการมอบสิทธิแก่ผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ ตลอดจนถึงการมอบสถานะอันสมควรแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดความสมบูรณ์ยกเว้นเมื่อได้รู้จักสิทธิต่างๆ ที่บุคคลเหล่านั้นพึงได้รับ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้เรียงร้อยถ้อยคำเหล่านี้เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของสิทธิต่างๆ เพื่อที่บ่าวคนหนึ่งจะต้องปฏิบัติตามภาระหน้าที่เท่าที่เขามีความสามารถที่จะกระทำได้ โดยสามารถสรุปสิทธิต่างๆ ได้ดังนี้
1. สิทธิของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮุ วะตะอาลา
2. สิทธิของนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
3. สิทธิของบิดามารดา
4. สิทธิของบุตร
5. สิทธิของญาติพี่น้อง
6. สิทธิของคู่สมรส
7. สิทธิของผู้นำและผู้อยู่ภายใต้การปกครอง
8. สิทธิของเพื่อนบ้าน
9. สิทธิของชาวมุสลิมทั่วไป
10. สิทธิของพี่น้องต่างศาสนิก
สิทธิต่างๆ เหล่านี้คือประเด็นที่เราต้องการอธิบายโดยสังเขปในหนังสือเล่มนี้”

 

สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์
ที่อิสลามยืนยันรับรอง

حقوق دعت إليها الفطرة وقررتها الشريعة

> ไทย – Thai - < تايلاندي

        
เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน

الشيخ محمد بن صالح العثيمين





ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส
ผู้ตรวจ: ซุฟอัม อุษมาน

ترجمة: أنور إسماعيل وعثمان إدريس
مراجعة: صافي عثمان

 

 

 

สารบัญ


คำนำผู้จัดพิมพ์    2
คำนิยม 1    3
คำนิยม 2    5
คำนำบรรณาธิการต้นฉบับภาษาอาหรับ    6
บทนำ    8
หนึ่ง สิทธิของอัลลอฮฺ    9
สอง สิทธิของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม    13
สาม สิทธิของบิดามารดา    15
สี่ สิทธิของบุตร    18
ห้า สิทธิของเครือญาติ    22
หก สิทธิของสามีภรรยา    25
เจ็ด สิทธิของผู้นำและประชาชน    31
แปด สิทธิของเพื่อนบ้าน    34
เก้า สิทธิของมุสลิมทั่วไป    36
สิบ สิทธิของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม    41


คำนำผู้จัดพิมพ์
 

الحمد لله رب العالمين، والصلاة والسلام على أشرف الأنبياء والمرسلين، نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.

อัลหัมดุลิลลาฮฺ ขอขอบคุณต่อเอกองค์อัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ที่ได้ให้การจัดพิมพ์หนังสือภายใต้โครงการ e-daiyah ได้ดำเนินลุล่วงมาจนถึงปีที่ห้า นับตั้งแต่มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2011
ในครั้งนี้ เราได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์หนังสือ “สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่อิสลามยืนยันรับรอง” ที่เขียนโดยเชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ โดยการกระตุ้นและสนับสนุนจากท่านผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.รอชิด บิน หะมัด อัฏ-ฏ็อยยารฺ ที่ปรึกษาด้านโครงการทางวิชาการและการบริหารของมูลนิธิวิทยาทาน ซึ่งได้กรุณาเป็นผู้ประสานงานกับผู้ดูแลลิขสิทธิผลงานของเชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เพื่อให้การแปลและจัดพิมพ์หนังสือของท่านเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการมากที่สุด
ขอขอบคุณผู้แปลทั้งสองท่าน อาจารย์อันวาร์ อิสมาอีล และอาจารย์อุษมาน อิดรีส นักวิชาการและนักแปลของมูลนิธิวิทยาทาน ที่ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างที่สุดในการถ่ายทอดเนื้อหาของหนังสือมาเป็นภาษาไทย และขอขอบคุณท่านผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.รอชิด บิน หะมัด อัฏ-ฏ็อยยารฺ กรรมการสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี และท่านผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่ได้กรุณาให้คำนิยมแก่ผลงานชิ้นนี้
ในนามผู้จัดพิมพ์ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้มีส่วนร่วมนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าจากผลงานของนักปราชญ์อย่างท่านเชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ รวมถึงอุละมาอ์และนักวิชาการท่านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องสืบไป เพื่อให้เป็นต้นทุนทางวิชาการและมรดกทางปัญญาที่จะใช้การรังสรรค์ความดีงามในสังคมของเราอย่างยั่งยืน
สิ่งใดที่ปรากฏเป็นข้อผิดพลาดในหนังสือเล่มนี้หรือเล่มอื่นๆ ของโครงการ เรายินดีอย่างยิ่งที่จะน้อมรับคำแนะนำเพื่อเอาไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น อินชาอัลลอฮฺ
ขอให้เอกองค์อัลลอฮฺได้ประทานเตาฟีกแก่ทุกท่าน และทรงรับความพยายามนี้ของเราให้เป็นวิทยาทานที่ส่งผลบุญอย่างไม่ขาดสายแก่ผู้เขียน ผู้แปล และผู้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ทุกๆ คน อามีน


ซุฟอัม อุษมาน
บรรณาธิการ

คำนิยม
ผศ.ดร.รอชิด บิน หะมัด อัฏ-ฏ็อยยารฺ
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอิมาม บิน สะอูด กรุงริยาด
และกรรมการสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى آله وصحبه أجمعين، وبعد:

แท้จริง อัลลอฮฺตะอาลาได้บัญชาเหล่าผู้มีความรู้ให้เผยแพร่สิ่งที่พระองค์ประทานลงมายังศาสนทูตของพระองค์ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามต่างๆ และก่อนหน้าเรื่องดังกล่าว พวกเขาต้องทำหน้าที่เผยแพร่สิ่งที่พระองค์ได้เล่าชี้แจงเกี่ยวกับตัวพระองค์เอง หรือสิ่งที่ศาสนทูตของพระองค์ได้บอกกล่าวเกี่ยวกับพระองค์ไว้ด้วย ทั้งสิ่งที่วาญิบสำหรับพระองค์ สิ่งที่เป็นไปได้ และสิ่งที่มิอาจจะเกิดขึ้นกับพระองค์โดยเด็ดขาด
ในจำนวนคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺที่ได้บัญชาไว้ก็คือ การมีจรรยามารยาทที่ดี ซึ่งบรรดานบีได้ประกอบให้ดูไว้เป็นตัวอย่าง และท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ของเราก็ได้แสดงให้เห็นเป็นคุณลักษณะนิสัยของท่าน ท่านเป็นบุคคลที่มีจรรยาอันยิ่งใหญ่ในการคลุกคลีกับครอบครัวของท่าน ญาติของท่าน และเศาะหาบะฮฺหรือมิตรสหายของท่าน รวมถึงบรรดาคณะผู้มาเยือนที่เดินทางมาหาท่าน ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ ท่านยังมีมารยาทที่สูงส่งแม้กระทั่งกับบรรดาผู้คนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยซ้ำ เพื่อสร้างความสนิทสนมและทำให้พวกเขามีความรู้สึกดีกับอิสลาม
สารเล่มเล็กที่อยู่ในมือของท่านฉบับนี้ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงประเด็นด้านมารยาทและจรรยาที่สำคัญมาก เป็นการเรียบเรียงของบุคคลหนึ่งในจำนวนผู้รู้อันเลื่องชื่อของประชาชาติมุสลิมในปัจจุบัน ท่านคือเชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ
สิ่งที่ท่านได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่มุสลิมหลายคนอาจจะละเลย ซึ่งเนื้อหาในภาพรวมนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนานี้ ที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้นำมาสอนมนุษยชาติ ประกอบด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงสิทธิของอัลลอฮฺเป็นลำดับแรก ต่อด้วยสิทธิของท่านศาสนทูต สิทธิของบุพการีทั้งสอง สิทธิของลูก สิทธิของญาติ สิทธิของคู่สามีภรรยา และรวมถึงสิทธิของผู้ไม่ใช่มุสลิมที่เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับพวกเขา
เช่นที่เราท่านได้เห็น สารเล่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะฉายให้เห็นถึงแก่นคำสอนบางด้านของศาสนาอิสลาม เราจึงได้มุ่งมั่นแปลและจัดพิมพ์มันออกมาเผยแพร่ ทั้งนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อปลุกเร้ากระตุ้นเตือนให้พี่น้องมุสลิมได้ยึดปฏิบัติกับมารยาทอันงดงามนี้ และเพื่อให้ผู้ไม่ใช่มุสลิมได้เรียนรู้และเห็นข้อมูลบางด้านของศาสนาอิสลามที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าแก่มนุษย์ทั้งมวลไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม อิสลามอันเป็นศาสนาที่เรียกร้องเชิญชวนสู่หลักทางสายกลางอันถูกต้อง และกำชับให้หลีกห่างจากแนวคิดสุดโต่งและคลั่งไคล้อันตกขอบที่จะนำไปสู่ความหายนะในท้ายที่สุด
ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้ทรงอำนวยเตาฟีกแก่ทุกท่านได้ประสบกับสิ่งดีงามที่พระองค์ทรงพอพระทัยด้วยเทอญ อามีน
คำนิยม
 ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

اَلْحَمْدُ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَسْتَهْدِيْهِ وَنَتُوْبُ إِلَيْهِ، وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَسَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا، مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ، وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلاَ هَادِيَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَلاَّ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيْكَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ، اللهم صَلِّ وَسَلِّمْ وَبَارِكْ عَلَى نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ. أمَّا بَعْدُ:

หนังสือ “สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่อิสลามยืนยันรับรอง” ที่เขียนโดยท่านเชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ หนึ่งในบรรดาผู้เป็นวะลีย์ของอัลลอฮฺที่เป็นปราชญ์ อาลิม ร็อบบานีย์ จากเมืองเกาะศีม ประเทศซาอุดีอาระเบีย
เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้กล่าวอธิบายถึงสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮฺ ศาสนทูตของพระองค์ และบ่าวทุกคน ได้อย่างชัดเจนยิ่งและครบถ้วน
เนื้อหาของหนังสือสอดคล้องอย่างมากกับหัวข้อ อันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง มุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม เพราะมันคือคำสอนของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์สำหรับทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ เพื่อให้เกิดสภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยสันติภาพบนพื้นฐานของความเข้าใจในสิทธิของแต่ฝ่ายและหน้าที่อันพึงปฏิบัติระหว่างกัน เพื่อให้ได้รับสิทธิของตนและส่งมอบสิทธิที่ผู้อื่นพึงได้รับ พร้อมกับการดูแลและให้ความสำคัญกับสิทธิเหล่านั้นอย่างดีที่สุด
ขอวิงวอนต่อเอกองค์อัลลอฮฺโปรดประทานมรรคผลอันดีงามยิ่งแก่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เชคมุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ตลอดจนผู้แปลและผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในภาษาต่างๆ  ขออัลลอฮฺโปรดตอบแทนพวกเขาด้วยความดีงามที่มากมาย อามีน

وصلى الله على النبي الأمي محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين، والحمد لله رب العالمين.

บ่าวผู้แสวงหาความเมตตาของอัลลอฮฺ
อิสมาอีล ลุตฟี ฟาฏอนี

คำนำบรรณาธิการต้นฉบับภาษาอาหรับ
 

الحمد لله رب العالمين، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، صلى الله عليه وعلى آله وأصحابه أجمعين، وبعد:

    แท้จริงการที่มนุษย์รู้จักถึงสิทธิที่พึงมีต่อพระผู้เป็นเจ้า สิทธิที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์และปฏิบัติตามสิทธิหน้าที่ดังกล่าวนั้นถือเป็นสิ่งที่สมควรและจำเป็นอย่างยิ่ง  สารเล่มเล็กฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ต่างๆของมุษย์ ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามแก่ผู้แต่งสารเล่มนี้และให้ความรู้ของท่านเกิดประโยชน์ด้วยเทอญ
สิทธิที่สำคัญที่สุดคือสิทธิที่พึงมีต่ออัลลอฮฺ ด้วยการแสดงความรักต่อพระองค์ ยำเกรง มีความหวัง และภักดีต่อพระองค์ด้วยการประพฤติตนตามคำบัญชาพร้อมกับหลีกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และด้วยการแสดงความรักต่อผู้ที่ภักดีต่ออัลอฮฺพร้อมกับรังเกียจผู้ที่ฝ่าฝืนพระองค์
หลังจากนั้นก็คือสิทธิต่อศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยการมอบความรักแด่ท่าน ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน และหลีกห่างจากสิ่งที่ท่านได้ห้าม ปกป้องจริยวัตรอันดีงามของท่าน โดยปฏิบัติตามแนวทางของท่าน และหมั่นกล่าวเศาะลาวาตแก่ท่านมากๆ
ต่อไปก็คือสิทธิต่อเครือญาติ ด้วยการทำดีต่อพวกเขา ไม่ตัดความสัมพันธ์กับพวกเขา ซึ่งบุคคลแรกที่ต้องทำดีด้วยคือบิดา มารดา ซึ่งเราจำเป็นต้องทำดีต่อท่านทั้งสอง กตัญญูกตเวที เชื่อฟังในสิ่งท่านทั้งสองได้สั่งและหลีกห่างจากสิ่งทั้งสองได้ห้ามตราบใดที่ท่านทั้งสองมิได้สั่งให้กระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ตลอดจนถึงการขอดุอาอ์ให้แก่ท่านทั้งสองในยามที่ท่านทั้งสองมีชีวิตอยู่บนโลกนี้หรือยามที่ท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว ส่วนสิทธิของบุตรนั้นคือการได้รับการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จากนั้นสิทธิที่พึงมีซึ่งกันและกันระหว่างคู่ชีวิตสามีภรรยา ที่ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องที่ดีและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
สิทธิต่อเพื่อนบ้านสามารถดูแลได้ด้วยการทำดีต่อพวกเขาไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการกระทำ ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่พวกเขาทั้งคำพูดและการกระทำ ส่วนสิทธิที่พึงมีต่อบรรดามุสลิมทั่วไปนั้นคือการแพร่สลาม การเยี่ยมเยียนผู้ป่วย การกล่าวดุอาอ์แก่ผู้ที่จาม การตอบรับคำเชิญชวน (เช่น เชิญให้ไปร่วมงานสมรส) การกล่าวตักเตือน การทำตามในสิ่งที่ได้บนบานไว้ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกทารุณกรรมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม การร่วมส่งศพของเขาไปยังหลุมฝังศพ รักเขาเสมือนกับที่ท่านรักตัวท่านเอง และสิ่งใดที่ท่านรังเกียจที่จะให้เกิดขึ้นกับตัวท่านเอง ท่านก็รังเกียจที่จะให้เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย พร้อมกับส่งเสริมกำชับในเรื่องความดีงามและห้ามปรามในสิ่งที่เป็นความชั่ว
ข้าพเจ้าได้อ่าน ตรวจทาน และระบุหมายเลขอายะฮฺอัลกุรอานที่ปรากฎในสารเล่มนี้ และทำการตัครีจญ์(ระบุแหล่งอ้างอิง)ตัวบทหะดีษที่ยังมิได้ทำการตัครีจญ์จากต้นฉบับเดิม พบว่าเนื้อหาของสารเล่มนี้ล้วนอ้างอิงที่มาจากอัลกุรอานและวจนะต่างๆของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และข้าพเจ้าวิงวอนขอจากอัลลอฮฺเพื่อให้สารเล่มนี้ให้คุณประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอพระองค์ทรงประทานผลบุญอันยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้แต่งสารเล่มนี้ตลอดจนแก่บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนที่ปรากฏในสารเล่มนี้ด้วย

وصلى اللّه وسلم على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.

อับดุลลอฮฺ บิน ญารุลลอฮฺ อัล-ญารุลลอฮฺ
ขออัลลอฮฺทรงประทานความเมตตาแก่ท่านด้วยเทอญ

บทนำ
 

إن الحمد للّه نحمده، ونستعينه، ونستغفره، ونتوب إليه، ونعوذ باللّه من شرور أنفسنا ومن سيئات أعمالنا، من يهده الله فلا مضل له، ومن يضلل فلا هادي له، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، صلى الله عليه وعلى آله وأصحابه، ومن تبعهم بإحسان، وسلم تسليما.

ส่วนหนึ่งจากความงดงามของอิสลามคือการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและให้สิทธิแก่ผู้ที่สมควรได้รับสิทธิอย่างเหมาะสมโดยปราศจาความเลยเถิดและหย่อนหยาน อัลลอฮฺได้บัญชาให้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำดีและรักษาสิทธิต่างๆ ของบรรดาญาติมิตร ด้วยเหตุเพื่อธำรงความยุติธรรมนี่เอง ศาสนาทูตทั้งหลายจึงถูกแต่งตั้งขึ้น คัมภีร์ต่างๆ ถูกประทานลงมา และภารกิจทั้งโลกนี้และอาคิเราะฮฺได้ถูกปฏิบัติ
ความยุติธรรมหมายถึงการมอบสิทธิแก่ผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ ตลอดจนถึงการมอบสถานะอันสมควรแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดความสมบูรณ์ยกเว้นเมื่อได้รู้จักสิทธิต่างๆ ที่บุคคลเหล่านั้นพึงได้รับ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้เรียงร้อยถ้อยคำเหล่านี้เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของสิทธิต่างๆ เพื่อที่บ่าวคนหนึ่งจะต้องปฏิบัติตามภาระหน้าที่เท่าที่เขามีความสามารถที่จะกระทำได้ โดยสามารถสรุปสิทธิต่างๆ ได้ดังนี้
1.    สิทธิของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮุ วะตะอาลา
2.    สิทธิของนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
3.    สิทธิของบิดามารดา
4.    สิทธิของบุตร
5.    สิทธิของญาติพี่น้อง
6.    สิทธิของคู่สมรส
7.    สิทธิของผู้นำและผู้อยู่ภายใต้การปกครอง
8.    สิทธิของเพื่อนบ้าน
9.    สิทธิของชาวมุสลิมทั่วไป
10.    สิทธิของพี่น้องต่างศาสนิก
สิทธิต่างๆ เหล่านี้คือประเด็นที่เราต้องการอธิบายโดยสังเขปในหนังสือเล่มนี้


หนึ่ง สิทธิของอัลลอฮฺ
 

    นี่คือสิทธิที่สำคัญอย่างยิ่งอันดับแรก และจำเป็นอย่างยิ่งที่บ่าวจะต้องมอบให้แก่พระองค์ เพราะเป็นสิทธิที่พึงมีต่ออัลลอฮฺ พระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งมวล ผู้ทรงพลานุภาพ และบริหารจัดการกิจการทั้งหมด พระองค์คือผู้ทรงครอบรองสัจธรรมและความชัดแจ้ง ผู้ทรงชีวัน ผู้ทรงตื่น ด้วยอำนาจของพระองค์ชั้นฟ้าและแผ่นดินถูกสร้างขึ้น พระองค์ทรงบันดาลสรรพสิ่ง อย่างมีระบบและปราณีต
อัลลอฮฺได้สร้างเจ้าจากสิ่งที่ไม่มีมาก่อนและไม่เคยถูกกล่าวขานมาก่อน อัลลอฮฺได้พิทักษ์รักษาเจ้าด้วยปัจจัยทั้งหลายยามที่เจ้ายังอยู่ในครรภ์ของมารดาในสภาพที่มืดมิดสามชั้น ซึ่งขณะนั้นตัวเจ้าเองยังอยู่ในสภาพที่ไม่มีผู้ใดสามารถให้อาหารหรือสิ่งที่จะทำให้เจ้าเจริญเติบโตมีชีวิตได้ พระองค์คือผู้ทรงให้เจ้าได้อิ่มเอิบกับน้ำนมของมารดาและได้ชี้แนะแนวทางชีวิตแก่เจ้า จากนั้นพระองค์ทรงให้เจ้ามีบิดามารดาที่คอยเอ็นดูและห่วงใยเจ้าอยู่เสมอ พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เจ้ามากมาย ประทานสติปัญญาและความเข้าใจ พระองค์ทรงให้เจ้ามีความพร้อมที่จะใช้และรับประโยชน์จากปัจจัยทั้งมวลที่พระองค์ได้ประทาน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
 ﴿وَٱللَّهُ أَخۡرَجَكُم مِّنۢ بُطُونِ أُمَّهَٰتِكُمۡ لَا تَعۡلَمُونَ شَيۡ‍ٔٗا وَجَعَلَ لَكُمُ ٱلسَّمۡعَ وَٱلۡأَبۡصَٰرَ وَٱلۡأَفۡ‍ِٔدَةَ لَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ ٧٨﴾ [النحل: ٧٨]  
ความว่า "และอัลลอฮฺทรงให้พวกเจ้าออกจากครรภ์มารดาของพวกเจ้า โดยพวกเจ้าไม่รู้อะไรเลย และพระองค์ทรงทำให้พวกเจ้าได้ยิน ได้เห็น และมีหัวใจ (สำหรับนึกและคิด) เพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ" (อัน-นะห์ลฺ : 78)

หากแม้นว่าพระองค์ได้ระงับปัจจัยแก่เจ้าแม้เพียงพริบตา แน่นอนเจ้าคงพบกับความหายนะ หากแม้นว่าพระองค์ได้ระงับความเมตตาสักระยะเวลาหนึ่ง แน่แท้เจ้าคงไม่มีโอกาสได้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ หากทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เจ้าแล้ว ดังนั้นสิทธิที่พระองค์พึงได้รับจากเจ้านั้นต้องเป็นสิทธิที่ใหญ่หลวงนัก เพราะพระองค์คือผู้สร้างเจ้า ผู้ให้เจ้ามีชีวิตพร้อมมอบปัจจัยต่างๆ และความช่วยเหลือให้เจ้าสามารถดำรงตนบนโลกใบนี้ได้ และพระองค์ก็มิได้หวังหรือเรียกร้องจากเจ้าให้ตอบแทนบุญคุณของพระองค์ด้วยการมอบปัจจัยหรืออาหารแต่อย่างใด พระองค์ตรัสว่า
﴿لَا نَسَۡٔلُكَ رِزۡقٗاۖ نَّحۡنُ نَرۡزُقُكَۗ وَٱلۡعَٰقِبَةُ لِلتَّقۡوَىٰ ١٣٢ ﴾ [طه: ١٣٢]  
ความว่า "เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลายที่ดีนั้นย่อมมีไว้สำหรับผู้ที่มีความยำแกรง" (ฏอฮา :132)

พระองค์ต้องการจากเจ้าเพียงหนึ่งประการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่จะย้อนกลับไปสู่เจ้าเอง พระองค์ทรงประสงค์ให้เจ้าเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้นโดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์
﴿ وَمَا خَلَقۡتُ ٱلۡجِنَّ وَٱلۡإِنسَ إِلَّا لِيَعۡبُدُونِ ٥٦ مَآ أُرِيدُ مِنۡهُم مِّن رِّزۡقٖ وَمَآ أُرِيدُ أَن يُطۡعِمُونِ ٥٧  إِنَّ ٱللَّهَ هُوَ ٱلرَّزَّاقُ ذُو ٱلۡقُوَّةِ ٱلۡمَتِينُ ٥٨﴾ [الذاريات: ٥٦-٥8]  
ความว่า "และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า ข้าไม่ต้องการปัจจัยยังชีพจากพวกเขา และข้าก็ไม่ต้องการให้พวกเขาให้อาหารแก่ข้า แท้จริงอัลลอฮฺ  คือผู้ประทานปัจจัยยังชีพอันมากหลาย ผู้ทรงพลัง ผู้ทรงมั่นคง" (อัซ-ซาริยาต : 56-58)

พระองค์เพียงมีความประสงค์ให้เราเป็นบ่าวของพระองค์อย่างจริงจัง ตามนิยามของความเป็นบ่าวอย่างแท้จริง ดังที่พระองค์เป็นผู้ทรงอภิบาลของเราตามนิยามของความเป็นพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงเช่นกัน
อัลลอฮฺ ประสงค์ที่จะให้เราเป็นบ่าวที่เชื่อฟัง เคารพภักดีต่อพระองค์ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และหลีกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ศรัทธาในสิ่งที่พระองค์ได้แจ้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่พระองค์ประทานให้แก่เรานั้นครอบคลุมตัวเราทั้งระบบและต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เราจะตอบแทนพระกรุณาธิคุณของพระองค์ด้วยการฝ่าฝืนและเนรคุณพระองค์กระนั้นหรือ
หากแม้นว่าท่านติดหนี้บุญคุณกับใครสักคนแน่นอนท่านคงละอายที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของบุคคลนั้น ฉะนั้นนับประสาอะไรกับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมีพระกรุณามหาธิคุณอันล้นพ้น ผู้ทรงเมตตาด้วยการปกป้องและปัดเป่าตัวท่านจากภยันตรายต่างๆ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَمَا بِكُم مِّن نِّعۡمَةٖ فَمِنَ ٱللَّهِۖ ثُمَّ إِذَا مَسَّكُمُ ٱلضُّرُّ فَإِلَيۡهِ تَجۡ‍َٔرُونَ ٥٣ ﴾ [النحل: ٥٣]  
ความว่า "และไม่มีความโปรดปรานใด ๆ ที่พวกเจ้าได้รับ นอกจากมันย่อมมาจากอัลลอฮฺ ดังนั้น เมื่อความทุกข์ร้ายประสบแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จะคร่ำครวญขอพรต่อพระองค์" (อัน-นะห์ลฺ : 53)

แท้จริงสิทธินี้คือสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้สำหรับพระองค์เอง ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดความง่ายได้ในการปฏิบัติสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺประสงค์จะให้เกิดความง่ายดายแก่ตัวเขา ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์มิได้ทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَجَٰهِدُواْ فِي ٱللَّهِ حَقَّ جِهَادِهِۦۚ هُوَ ٱجۡتَبَىٰكُمۡ وَمَا جَعَلَ عَلَيۡكُمۡ فِي ٱلدِّينِ مِنۡ حَرَجٖۚ مِّلَّةَ أَبِيكُمۡ إِبۡرَٰهِيمَۚ هُوَ سَمَّىٰكُمُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ مِن قَبۡلُ وَفِي هَٰذَا لِيَكُونَ ٱلرَّسُولُ شَهِيدًا عَلَيۡكُمۡ وَتَكُونُواْ شُهَدَآءَ عَلَى ٱلنَّاسِۚ فَأَقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتُواْ ٱلزَّكَوٰةَ وَٱعۡتَصِمُواْ بِٱللَّهِ هُوَ مَوۡلَىٰكُمۡۖ فَنِعۡمَ ٱلۡمَوۡلَىٰ وَنِعۡمَ ٱلنَّصِيرُ ٧٨ ﴾ [الحج : ٧٨]  
ความว่า "และจงต่อสู้เพื่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แท้จริงเพื่อพระองค์ พระองค์ทรงคัดเลือกพวกเจ้า และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา ศาสนา (ที่ไม่ลำบาก) คือศาสนาของอิบรอฮีม บรรพบุรุษของพวกเจ้า พระองค์ทรงเรียกชื่อพวกเจ้าว่า มุสลิมีน (พหูพจน์ของ มุสลิม) ในคัมภีร์ก่อนๆ และในอัลกุรอานด้วย เพื่อศาสนทูตจะได้เป็นพยานต่อพวกเจ้า และพวกเจ้าจะได้เป็นพยานต่อมนุษย์ทั่วไป ดังนั้นพวกเจ้าจงดำรงการละหมาด และบริจาคซะกาต และจงยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ พระองค์เป็นผู้คุ้มครองพวกเจ้า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม" (อัล-หัจญ์ : 78)

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นหลักการศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ คือการศรัทธาต่อสัจธรรมพร้อมกับการปฏิบัติอะมัลที่ดีที่เกิดผล หลักศรัทธาที่มีลำต้นเป็นความรักและความเชื่อมัน ในขณะที่ผลของมันคือความบริสุทธิ์ใจและความอดทน
อะมัลที่ดีอันเป็นสิทธิของอัลลอฮฺนั้นก็มีตัวอย่าง เช่น
การดำรงการละหมาดวันกับคืนหนึ่งห้าเวลา อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษบาปและยกระดับความดีให้หลายขั้น พร้องกับได้ขัดเกลาจิตใจและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งบ่าวสามารถปฏิบัติศาสนากิจนี้ตามความสามารถที่ตนจะกระทำได้ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُمۡ ﴾ [التغابن : ١٦]  
ความว่า "ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ" (อัต-ตะฆอบุน : 16)

และดังที่นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่อิมรอน บิน หุศ็อยนฺ (ในขณะที่อิมรอนกำลังเจ็บป่วย) ว่า
«صَلِّ قَائِمًا، فَإْنْ لَّمْ تَسْتَطِعْ فَقَاعِدًا، فَإِنْ لَّمْ تَسْتَطِعْ فَعَلَى جَنْبٍ»
ความว่า "เจ้าจงละหมาดในสภาพที่ยืน แต่หากไม่สามารถที่จะยืนได้ก็จงนั่งเสีย และหากไม่สามารถที่จะนั่งก็จงละหมาดบนสีข้าง(ตะแคงขวา)" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 1066, อบู ดาวูด 952)

ซะกาต คือเศษเสี้ยวหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองจ่ายไปเพื่อช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่ยากจนและขัดสน ตลอดจนช่วยเหลือผู้ขาดเสบียงในการเดินทาง ผู้มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวและผู้มีสิทธิ์รับซะกาตประเภทอื่นๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่ยากไร้และไม่ทำให้ผู้ที่ร่ำรวยเดือดร้อนลำบากแต่อย่างใด) อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿فَأَقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتُواْ ٱلزَّكَوٰةَ وَٱعۡتَصِمُواْ بِٱللَّهِ هُوَ مَوۡلَىٰكُمۡۖ فَنِعۡمَ ٱلۡمَوۡلَىٰ وَنِعۡمَ ٱلنَّصِيرُ ٧٨ ﴾ [الحج : ٧٨]  
ความว่า “ดังนั้นพวกเจ้าจงดำรงการละหมาด จงจ่ายซะกาต และจงยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ พระองค์เป็นผู้คุ้มครองพวกเจ้า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม" (อัล-หัจญ์ : 78)

การถือศีลอดเป็นระยะเวลา 1 เดือนในรอบปี และถ้าผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน ส่วนผู้ใดที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดได้อย่างถาวรก็ให้เขาจ่ายเป็นอาหารแก่คนยากจน โดยจ่ายให้ผู้รับอาหารหนึ่งคนต่อจำนวนหนึ่งวันที่ละศีลอดให้ครบตามจำนวนวันทั้งหมดที่ไม่ได้ถือศีลอด
     การประกอบพิธีหัจญ์ครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับผู้ที่มีความสามารถ
ทั้งหมดนั้นเป็นหลักการสิทธิของอัลลอฮฺ ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ นั้นจะบังคับให้กระทำเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่นการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ หรือเพราะเหตุแวดล้อมกดดันให้ปฏิบัติ เช่น การช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรม
พึงรู้เถิดว่าสิทธิเหล่านี้เป็นการงานที่ง่ายดายแต่ทว่าเต็มเปี่ยมด้วยผลบุญ หากท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นท่านจะเป็นผู้ที่มีความสุขในโลกนี้และในโลกอาคิเราะฮฺ และจะรอดพ้นจากการทรมานในไฟนรกและได้เข้าพำนักในสวนสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فَمَن زُحۡزِحَ عَنِ ٱلنَّارِ وَأُدۡخِلَ ٱلۡجَنَّةَ فَقَدۡ فَازَۗ وَمَا ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَآ إِلَّا مَتَٰعُ ٱلۡغُرُورِ ١٨٥ ﴾ [آل عمران: ١٨٥]  
ความว่า "แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอน เขาก็ชนะแล้ว  และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้มิใช่อะไรอื่นเลย นอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งมายาเท่านั้น" (อาล อิมรอน :185)

สอง สิทธิของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
 

สิทธิข้อนี้เป็นสิทธิที่ยิ่งใหญ่ที่พึงมีต่อมัคลูก(สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง)ด้วยกัน ไม่มีสิทธิของสรรพสิ่งใดๆ ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าสิทธิที่พึงมีต่อศาสนทูตของอัลลอฮฺ (นบีมุหัมมัด) ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ إِنَّآ أَرۡسَلۡنَٰكَ شَٰهِدٗا وَمُبَشِّرٗا وَنَذِيرٗا ٨ لِّتُؤۡمِنُواْ بِٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ وَتُعَزِّرُوهُ وَتُوَقِّرُوهُۚ ﴾ [الفتح: ٨-٩]  
ความว่า “แท้จริงเราได้ส่งเจ้า(มุหัมมัด)มาเพื่อเป็นพยานและผู้แจ้งข่าวดีและผู้แจ้งข่าวร้าย เพื่อให้พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ รวมทั้งเพื่อให้พวกเจ้ามอบความช่วยเหลือสนับสนุนเขา และเทิดทูนให้เกียรติแก่เขา” (อัล-ฟัตหฺ : 9-8)

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมอบความรักแด่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เหนือกว่ามนุษย์คนอื่นๆ แม้กระทั่งตัวท่านเอง ลูกๆ หรือบิดามารดาของท่าน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى أَكُوْنَ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِنْ وَلَدِهِ وَوَالِدِهِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِيْنَ»
ความว่า "คนหนึ่งคนใดจากพวกท่าน จะยังไม่ศรัทธาโดยสมบูรณ์ จนกว่าฉัน(ท่านนบี)จะเป็นที่รักยิ่งสำหรับเขา มากกว่าบิดาของเขา ลูกของเขา และมนุษย์ทั้งหมด" (บันทึกโดย อัล-
บุคอรีย์ 15, มุสลิม 44, อัน-นะสาอีย์ 5013, อิบนุ มาญะฮฺ 67, อะหฺมัด  3/207, อัด-ดาริมีย์ 2741)

ส่วนหนึ่งจากสิทธิที่พึงมีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือ การให้เกียรติแก่ท่าน การเทิดทูนและเชิดชูที่เหมาะสมกับฐานะโดยไม่เลยเถิดจนเกินไปและไม่ละเลยจนเกินควร รูปแบบการให้เกียรติแก่ท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิต คือ เคารพให้เกียรติแนวทางและตัวท่านเอง ส่วนการให้เกียรติหลังจากที่ท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้ว คือ การเคารพและให้เกียรติแนวทางและคำสอนของท่าน
หากใครได้เห็นถึงการให้เกียรติและเทิดทูนของบรรดาเศาะหาบะฮฺต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมแล้ว เขาก็จะทราบดีว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ที่พึงมีต่อศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไว้อย่างไรบ้าง
อุรวะฮฺ บิน มัสอูด ได้เล่าแก่ชาวกุร็อยชฺ ครั้งที่พวกเขาได้ส่งเขาไปเจรจากับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการทำสนธิสัญญา อัล-หุดัยบิยะฮฺ เขากล่าวว่า ความว่า "ฉันเคยเข้าเฝ้าบรรดากษัตริย์หลายองค์ไม่ว่าจะเป็น กิสรอ (คุสโรแห่งเปอร์เซีย), ก็อยศ็อรฺ (ซีซาร์แห่งโรมัน) หรือ อัน-นะญาชีย์ (แห่งอบิสสิเนียหรือเอธิโอเปีย) แต่ฉันไม่เคยพบว่าบรรดาพสกนิกรของกษัตริย์เหล่านั้นจะให้เกียรติแก่กษัตริย์ของพวกเขา เฉกเช่นที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของมุหัมมัดได้กระทำกับมุหัมมัด ทั้งนี้ เมื่อเขา (มุหัมมัด) บัญชาสิ่งใดพวกเขารีบสนองคำบัญชาทันที เมื่อเขาจะอาบน้ำละหมาดบรรดาเศาะหาบะฮฺต่างแย่งกันที่จะอำนวยความสะดวกให้ท่านอาบน้ำละหมาด เมื่อเขาพูดจาสนทนาบรรดาเศาะหาบะฮฺจะพากันลดเสียงในขณะที่อยู่ต่อหน้าเขา และพวกเขาจะไม่จ้องมองสายตาไปยังเขาทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา"(มุคตะศ็อร สีเราะฮฺ อัร-เราะสูล โดยชัยคฺ อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮ์ฮาบ หน้าที่ 300)
    เช่นนี้แหละที่บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ได้ให้เกียรติและเทิดทูนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เนื่องจากอัลลอฮฺได้ประทานให้ท่านนบีมีนิสัยและมารยาทที่งดงาม มีความอ่อนน้อม และใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งหากท่านนบีเป็นบุคคลที่ก้าวร้าวแน่นอนคนรอบข้างจะพากันเตลิดหนีหายจากท่านไป
และส่วนหนึ่งจากสิทธิที่พึงมีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือ ศรัทธาและเชื่อในสิ่งที่ท่านได้แจ้งให้เราทราบทั้งในเรื่องอดีตกาลและเรื่องที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้า การปฏิบัติตามคำบัญชาของท่าน การหลีกห่างจากสิ่งที่ท่านได้ห้ามและเตือนระวัง ตลอดจนศรัทธาว่าทางนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือทางนำที่สมบูรณ์ที่สุด บทบัญญัติของท่านนั้นคือบทบัญญัติที่สมบูรณ์แบบที่สุด และไม่เอาบทบัญญัติ หรือกฎระเบียบใดๆมาอยู่เหนือบทบัญญัติหรือคำสอนของท่านไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ فَلَا وَرَبِّكَ لَا يُؤۡمِنُونَ حَتَّىٰ يُحَكِّمُوكَ فِيمَا شَجَرَ بَيۡنَهُمۡ ثُمَّ لَا يَجِدُواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ حَرَجٗا مِّمَّا قَضَيۡتَ وَيُسَلِّمُواْ تَسۡلِيمٗا ٦٥ ﴾ [النساء : ٦٥]  
ความว่า "มิใช่เช่นนั้นดอก ข้าขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขาแล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใดๆ ในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินใจ และพวกเขายอมจำนนด้วยดี" (อัน-นิสาอ์ :65)

﴿ قُلۡ إِن كُنتُمۡ تُحِبُّونَ ٱللَّهَ فَٱتَّبِعُونِي يُحۡبِبۡكُمُ ٱللَّهُ وَيَغۡفِرۡ لَكُمۡ ذُنُوبَكُمۡۚ وَٱللَّهُ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٣١ ﴾ [آل عمران: ٣١]  
ความว่า "จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อาล อิมรอน : 31 )
    
และส่วนหนึ่งจากสิทธิที่พึงมีต่อท่านนบีคือปกป้องศาสนบัญญัติ และแนวทางของท่านเท่าที่เขาคนนั้นจะมีความสามารถแม้ว่าในบางกรณีจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังและอาวุธต่อสู้ก็ตาม เมื่อศัตรูโจมตีด้วยปรัชญาและข้อคลุมเครือต่างๆ การปกป้องเกียรติของท่านก็ต้องตอบโต้ด้วยหลักวิชาการและพยามยามหักล้างข้อกล่าวหาต่างๆ และอธิบายเปิดโปงการใส่ร้ายอันมดเท็จ แต่หากว่าศัตรูโจมตีด้วยอาวุธ การปกป้องก็ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์ และไม่บังควรอย่างยิ่งที่ผู้ศรัทธาคนหนึ่งเมื่อได้ยินคนมาดูหมิ่นท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือหลักการคำสอนของท่าน เขาจะอยู่อย่างนิ่งเฉยไม่ได้แสดงกริยาใดๆ ในการที่จะปกป้องเกียรติของท่าน ทั้งที่สามารถจะปกป้องท่านได้
 
สาม สิทธิของบิดามารดา

 

ไม่มีผู้ใดที่สามารถปฏิเสธบุญคุณที่บิดามารดามีต่อบรรดาลูกๆ ของเขาทั้งสองได้ ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองเป็นสาเหตุที่ให้มีบุตรเกิดขึ้น ดังนั้น เขาทั้งสองจึงเป็นบุคคลที่พึงได้สิทธิมากที่สุด ทั้งสองได้เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่เยาว์วัยอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ลูกรักได้นอนอุ่นหลับสบาย มารดาต้องอุ้มครรภ์เป็นระยะเวลาประมาณเก้าเดือน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿حَمَلَتۡهُ أُمُّهُۥ وَهۡنًا عَلَىٰ وَهۡنٖ ﴾ [لقمان: ١٤]  
ความว่า “มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอย่างเหนื่อยล้าชั้นแล้วชั้นเล่า” (ลุกมาน : 14)

หลังจากคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว มารดาก็ต้องดูแลเลี้ยงดูให้นมเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยอย่างสาหัส
ส่วนบิดาก็เช่นกันต้องพยายามดิ้นรนเพื่อหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพตั้งแต่เจ้ายังแบเบาะจนถึงเป็นผู้ใหญ่สามารถช่วยตัวเองได้ นอกจากนั้นทั้งสองต้องพยายามอบรมเลี้ยงดูและแนะแนวทางแก่เจ้า ซึ่งตัวเจ้าเองนั้นตอนนั้นยังต้องอาศัยคนอื่น ไม่มีความสามารถที่จะสร้างประโยชน์หรือโทษแก่ผู้ใดเลย ดังนั้น อัลลอฮฺได้บัญชาให้เราทำดีต่อบิดามารดาและแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนบุญคุณของท่านทั้งสอง ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَوَصَّيۡنَا ٱلۡإِنسَٰنَ بِوَٰلِدَيۡهِ حَمَلَتۡهُ أُمُّهُۥ وَهۡنًا عَلَىٰ وَهۡنٖ وَفِصَٰلُهُۥ فِي عَامَيۡنِ أَنِ ٱشۡكُرۡ لِي وَلِوَٰلِدَيۡكَ إِلَيَّ ٱلۡمَصِيرُ ١٤﴾ [لقمان: ١٤]  
ความว่า “และเราได้สั่งการแก่มนุษย์เกี่ยวกับบิดา มารดาของเขา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอย่างเหนื่อยล้าชั้นแล้วชั้นเล่า และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้น คือการกลับไป” (ลุกมาน : 14)

และพระองค์ตรัสอีกว่า
﴿۞وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعۡبُدُوٓاْ إِلَّآ إِيَّاهُ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنًاۚ إِمَّا يَبۡلُغَنَّ عِندَكَ ٱلۡكِبَرَ أَحَدُهُمَآ أَوۡ كِلَاهُمَا فَلَا تَقُل لَّهُمَآ أُفّٖ وَلَا تَنۡهَرۡهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوۡلٗا كَرِيمٗا ٢٣ وَٱخۡفِضۡ لَهُمَا جَنَاحَ ٱلذُّلِّ مِنَ ٱلرَّحۡمَةِ وَقُل رَّبِّ ٱرۡحَمۡهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيرٗا ٢٤﴾ [الإسراء: ٢٣-٢٤]
ความว่า “และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อบุพการีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนได้บรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย” (อัล-อิสรออ์ : 23-24)

แท้จริง สิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อบิดามารดา คือการทำดีแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านทั้งสองด้วยการทำดีต่อท่านทั้งด้วยวาจา การกระทำ การมอบกำลังกายและทรัพย์ให้แก่ท่าน การปฏิบัติตามคำสั่งของท่านทั้งสองตราบใดที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และไม่เป็นอันตรายต่อตัวท่านเอง การพูดจากับท่านอย่างอ่อนน้อม การแสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้ม การให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับท่าน การไม่พูดจาที่ทำให้ท่านทั้งสองกระทบกระเทือนจิตใจยามที่ท่านทั้งสองแก่ชรา เจ็บป่วย หรืออ่อนแรง และต้องไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นภาระสำหรับท่านเพราะภายภาคหน้าตัวท่านเองก็จะอยู่ในสภาพเช่นนั้นเหมือนกัน ท่านเองต้องกลายเป็นพ่อ หรือ แม่ดังที่ท่านทั้งสองได้เป็นพ่อแม่ของท่านมาแล้ว และท่านเองก็ต้องแก่ชราในสายตาลูกหลานหากอัลลอฮฺทรงไว้ชีวิตท่านยาวนาน เมื่อถึงเวลานั้นท่านเองคงต้องการความกตัญญูจากลูกหลานดังที่พ่อแม่ของท่านเคยต้องการจากตัวท่านมาแล้ว หากเจ้าเคยทำดีต่อพ่อแม่ทั้งสองแล้วก็จงภูมิใจในสิ่งที่ท่านจะได้รับ นั่นคือผลบุญอันมากมายจากอัลลอฮฺ และท่านเองจะได้รับการปฏิบัติจากลูกของท่านเหมือนกับที่ท่านได้เคยปฏิบัติกับพ่อแม่ของท่านเช่นกัน
ผู้ใดที่กตัญญูรู้คุณบิดามารดาของเขา เขาก็จะได้รับความกตัญญูจากลูกหลานภายภาคหน้า ส่วนผู้ใดที่อกตัญญูเนรคุณบิดามารดาในภายภาคหน้าลูกหลานของเขาจะแสดงความอกตัญญูต่อเขาเช่นกัน ผลตอบแทนของคนเรานั้นจะได้รับเสมือนที่เขาได้เคยปฏิบัติ
อัลลอฮฺได้จัดลำดับการทำดีต่อพ่อแม่อยู่ในระดับที่สูงส่ง พระองค์ได้ลำดับสิทธิของทั้งสองรองลงมาจากสิทธิที่พึงมีต่อพระองค์และศาสนทูตของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗا﴾ [النساء : ٣٦]   
ความว่า “และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง” (อัน-นิสาอ์ : 36)

﴿أَنِ ٱشۡكُرۡ لِي وَلِوَٰلِدَيۡكَ إِلَيَّ ٱلۡمَصِيرُ ١٤ ﴾ [لقمان: ١٤]  
ความว่า “เจ้าจงขอบคุณข้า และจงขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้นคือการกลับไป” (ลุกมาน : 14)
ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้วางการทำดีต่อพ่อแม่เหนือกว่าการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ดังหะดีษที่รายงานโดยท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ฉันได้กล่าวว่า
 يَا رَسُولَ الله، أَيُّ العَمَلِ أَحَبُّ إِلَى الله؟ قال: «الصَّلَاةُ عَلَى وَقْتِهَا»، قُلْتُ: ثُمَّ أَيُّ؟ قَالَ: «بِرُّ الْوَالِدَيْنِ» قُلْتُ: ثُمَّ أَيُّ؟ قَالَ: «الجِهَادُ فِي سَبِيْلِ اللهِ»  
ความว่า  โอ้ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ การงานใดที่อัลลอฮฺทรงรักมากที่สุด? ท่านนบีตอบว่า “การละหมาดในเวลาของมัน” และฉันได้ถามอีกว่า แล้วมีการงานอะไรอีก(ที่พระองค์ทรงรัก)? ท่านนบีตอบว่า “การทำดีต่อพ่อแม่” แล้วฉันก็ถามท่านอีกว่า แล้วการงานอะไรอีก? ท่านนบีตอบว่า “การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 504, มุสลิม 85, อัต-
ติรมิซีย์ 1898, อัน-นะสาอีย์ 610, อะหฺมัด 1/439, อัด-ดาริมีย์  1225)

หะดีษบทนี้ชี้ถึงความสำคัญของสิทธิที่พึงมีต่อพ่อแม่ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะละเลยและไม่ให้ความสำคัญจนถึงขั้นแสดงความอกตัญญูเนรคุณ และตัดขาดความสัมพันธ์กับท่านทั้งสอง เราพบว่าบางคนนั้นไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อพ่อแม่ และมีบางคนถึงขั้นดูถูกเหยียดหยาม พูดจาขึ้นเสียงกับพ่อแม่ของเขาเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นเขาจะได้ประสบกับตัวเองไม่ช้าก็เร็ว


สี่ สิทธิของบุตร
 

    บรรดาบุตรหมายรวมถึง บุตรชายและธิดา ซึ่งสิทธิต่างๆ ของบุตรนั้นมีมากมาย แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการให้การอบรม ปลูกฝังศาสนา คุณธรรมและจริยธรรมในหัวใจของพวกเขา ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ﴾ [التحريم: ٦]  
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน” (อัต-ตะหฺรีม : 6)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«كُلُّكُمْ رَاعٍ وَكُلُّكُمْ مَسْؤُوْلٌ عَنْ رَّعِيَّتِهِ، وَالرَّجُلُ رَاعٍ فِي أَهْلِهِ وَمَسْؤُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ»
ความว่า “ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนในหมู่พวกท่านต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา และต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์  853, อัต-ติรมิซีย์ 1705, อบูดาวูด 2928, และอะหฺมัด 2/55)

ลูกหลานคืออะมานะฮฺ(หน้าที่ต้องรับผิดชอบ)บนบ่าของบิดามารดาทุกคน ทั้งสองท่านจะถูกสอบสวนถึงภาระหน้าที่ต่อลูกหลานในวันกิยามะฮฺ และด้วยการอบรมปลูกฝังศาสนาและจริยธรรมแก่ลูกหลานจะทำให้พวกเขากลายเป็นแก้วตาดวงใจแก่พ่อแม่ ทำให้มีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَٱتَّبَعَتۡهُمۡ ذُرِّيَّتُهُم بِإِيمَٰنٍ أَلۡحَقۡنَا بِهِمۡ ذُرِّيَّتَهُمۡ وَمَآ أَلَتۡنَٰهُم مِّنۡ عَمَلِهِم مِّن شَيۡءٖۚ كُلُّ ٱمۡرِيِٕۢ بِمَا كَسَبَ رَهِينٞ ٢١ ﴾ [الطور: 21]  
ความว่า “และผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่บรรดาลูกหลานของพวกเขาได้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการศรัทธา เราจะให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเขา และเราจะไม่ให้ผลบุญจากการงานของพวกเขาลดหย่อนลงจากพวกเขาแต่อย่างใด แต่ละคนนั้นย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาขวนขวายไว้” (อัฏ-ฏูรฺ : 21)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِذَا مَاتَ العَبْدُ انْقَطَعَ عَمَلُهُ إِلَّا مِنْ ثَلَاثٍ : صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ مِنْ بَعْدِهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُوْ لَهُ»
ความว่า “เมื่อบ่าวคนหนึ่ง (มนุษย์) ได้เสียชีวิตลง การงานของเขาจะถูกตัดขาด นอกจากการงานสาม ประการ คือการบริจาคทานที่ถาวร หรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ หรือลูกที่ดีซึ่งขอดุอาอ์ให้กับเขา” (บันทึกโดยมุสลิม  1631, อัต-ติรมิซีย์ 1376, อัน-นะสาอีย์  3651, อะหฺมัด  2/327, อัด-ดาริมีย์ 559)

นี่คือผลของการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยกระบวนการอบรมขัดเกลาที่ดีซึ่งจะยังประโยชน์แก่บิดามารดาหลังจากที่เขาทั้งสองจากโลกนี้ไป มีบรรดาพ่อแม่หลายคนที่มองข้ามภาระหน้าที่นี้จนทำให้ลูกหลานของเขาต้องสูญเสียโอกาสและสิทธิที่พึงได้รับ พวกเขาต่างหลงลืมภาระหน้าที่ต่อลูกๆ พวกเขาไม่เคยที่จะสอบถามว่าลูกหลานไปไหนกัน กลับมาถึงบ้านตอนไหน พวกเขาไปคบหากับเพื่อนคนไหนบ้าง พ่อแม่บางคนไม่เคยชี้แนะแนวทางแก่ลูกๆ ไม่เคยห้ามปรามพวกเขาจากการประพฤติชั่ว แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งนักพวกเขาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำงานเพื่อหาเงิน เพื่อสะสมทรัพย์อย่างมากมาย และพัฒนาสินทรัพย์เหล่านั้นให้งอกเงย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นก็เป็นผู้อื่น ส่วนบรรดาลูกๆ นั้น พวกเขาไม่เคยสนใจที่จะอบรมพัฒนาพวกเขาให้เป็นคนดีทั้งที่พวกเขาสมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
และดังที่จำเป็นสำหรับบิดามารดาที่ต้องให้อาหารกายแก่ลูกไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เสื้อผ้าเป็นอาภรณ์ห่มกาย เฉกเช่นนั้นแหล่ะที่เขาทั้งสองต้องให้อาหารด้านจิตใจ ด้วยความรู้และศรัทธาและให้ความยำเกรงเป็นอาภรณ์สำหรับวิญญาณของเขา ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมประเสริฐกว่า
และส่วนหนึ่งจากสิทธิที่พึงมีต่อบุตร คือ การให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูด้วยความเหมาะสมเพียงพอไม่ฟุ่มเฟือยหรือตระหนี่เกินไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่บรรดาบุตรพึงได้รับและเป็นการสำนึกในพระกรุณามหาธิคุณที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สินให้แก่เรา เราจะไปหวงแหนทรัพย์สินจนเกินเหตุทำไมจนตระหนี่ที่จะใช้จ่ายมันไปแล้วในที่สุดเมื่อเราเสียชีวิตไปทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมถูกริบไปหมด แม้ว่าเมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่แต่มีความตระหนี่ไม่ยอมให้ค่าเลี้ยงดู บรรดาลูกสามารถเอาทรัพย์สินนั้นมาใช้จ่ายให้เพียงพอต่อการดำรงชีพดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ตอบคำถามแก่ ฮินดฺ บุตรีของอุตบะฮฺ (ดังหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
และส่วนหนึ่งของสิทธิที่พึงมีต่อบุตร คือ การไม่แสดงความลำเอียงระหว่างบุตรในการมอบของขวัญหรือของกำนัลใดๆ ไม่อนุญาตให้เรามอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ลูกๆ บางคนในขณะที่ลูกๆ คนอื่นไม่ได้รับสิ่งนั้นด้วยความลำเอียง แท้จริงแล้วอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้ที่อธรรม เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดความข้องใจและเกิดความบาดหมางใจระหว่างลูกๆ ผู้ที่ได้รับและผู้ที่ไม่มีสิทธิ ซ้ำร้ายอาจจะทำให้เกิดความบาดหมางใจระหว่างบิดามารดากับบุตรที่ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย
มีบางคนที่จำแนกระหว่างบุตรที่ทำดีและอ่อนน้อมต่อบิดามารดากับบุตรที่ไม่กระทำเช่นนั้น ด้วยการมอบของขวัญหรือของกำนัลแก่บุตรที่ทำดีต่อเขาก่อน อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลที่จะอนุญาตให้เราลำเอียงหรือไม่ยุติธรรมแก่พวกเขาได้ การมอบของขวัญตอบแทนบุตรโดยอาศัยการพิจารณาจากความดีงามที่เขาปฏิบัติต่อบิดามารดาเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต เนื่องจากผลตอบแทนที่เขาทำดีต่อพ่อแม่นั้นอัลลอฮฺจะเป็นผู้ตอบแทนให้เอง การให้รางวัลเฉพาะแก่ลูกที่ทำดีต่อบิดามารดานั้นจะทำให้ลูกเกิดความลำพองในการงานของตน และจะทำให้ลูกๆ คนอื่นออกห่างจากบิดามารดา และจะอยู่ในความอกตัญญูหรือเนรคุณต่อบิดามารดาตลอดไป อีกอย่าง เราเองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าบางทีภายภาคหน้าสถานการณ์อาจจะพลิกผันทำให้ลูกที่กตัญญูกลายเป็นลูกที่เนรคุณ หรือลูกที่เนรคุณอาจจะกลายเป็นลูกที่กตัญญูก็เป็นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์สามารถพลิกผันมันได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์
ในตำราหะดีษเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และมุสลิม บันทึกว่า รายงานจากอัน-นุอฺมาน บิน บะชีรฺ ว่า บะชีรฺ บิน สะอัด บิดาของเขาได้มอบทรัพย์สินบางอย่างให้แก่ลูกชายของเขาคนหนึ่ง แล้วมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วบอกกับท่านนบีถึงเรื่องดังกล่าว ท่านบี จึงถามเขาว่า
«أَكُلُّ وَلَدِكَ نَحَلْتَهُ مِثْلَ هَذَا؟» قال: لَا. قال: «فَأَرْجِعْهُ»
ความว่า “เจ้าได้มอบให้เช่นนี้แก่ลูกๆ ของเจ้าทุกคนไหม?” เขาตอบว่า “ไม่” ท่านบี กล่าวว่า “ดังนั้นจงเอาสิ่งนั้นกลับคืนมา”
 
ในบางสายรายงาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«اتَّقُوْا اللهَ وَاعْدِلُوا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ»
ความว่า “  พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงให้ความยุติธรรมระหว่างลูกๆ ของพวกท่าน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์  2447, มุสลิม 1623)

และในบางสำนวน มีดังนี้
«أَشْهِدْ عَلىَ هَذَا غَيْرِيْ فَإِنِّيْ لَا أَشْهَدُ عَلَى جَوْرٍ»
ความว่า “ให้คนอื่นมาเป็นพยานแทนฉันเถิด เพราะฉันไม่เป็นพยานต่อความอยุติธรรม” (บันทึกโดยมุสลิม 1623, อัน-นะสาอีย์ 3681, อบู ดาวูด 3542, อิบนุ มาญะฮฺ 2375,
อะหฺมัด  4/270)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุว่า การให้ความสำคัญแก่บุตรบางคนและละเลยอีกบางคนนั้น ถือเป็นการกระทำที่อธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องห้ามในอิสลาม
แต่หากเรามอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่บรรดาบุตรตามความต้องการหรือความจำเป็นของเขาในขณะที่อีกบางคนมีความต้องการอย่างอื่นเช่น คนหนึ่งต้องการอุปกรณ์เครื่องเขียน ในขณะที่อีกคนต้องการรักษาโรค หรืออีกคนต้องการทรัพย์สินที่จะแต่งงาน ถือว่าสามารถให้เป็นการเฉพาะได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง ทั้งนี้ อันเนื่องจากความต้องการและความจำเป็น ซึ่งถือว่าเป็นเสมือนการจ่ายค่าเลี้ยงดูนั่นเอง
เมื่อบิดามารดาได้ทำตามหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรของตนตลอดจนการให้ค่าเลี้ยงดูแล้วไซร้ ก็สมควรแล้วที่อัลลอฮฺจะตอบแทนเขาด้วยการให้มีลูกที่กตัญญูรู้คุณ คอยทำดีและมอบสิทธิต่างๆ ที่บิดามารดาพึงได้รับเป็นการตอบแทน แต่หากเมื่อใดที่พ่อแม่ละเลยต่อหน้าที่ในการอบรมดูแลลูก ก็สมควรแล้วเช่นกันถ้าอัลลอฮฺจะให้เขาถูกทดสอบด้วยการมีลูกที่เนรคุณและอกตัญญูต่อทั้งสองคน เพราะชนิดของผลตอบแทนนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของการกระทำที่แต่ละคนได้ก่อไว้เช่นกัน

 

ห้า สิทธิของเครือญาติ
 

สำหรับญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์เครือญาติกับท่าน เช่น เป็นพี่น้อง ลุง ป้า น้า อา ตลอดจนลูกพี่ลูกน้อง หรือบุคคลอื่นที่เป็นเครือญาติกับเรานั้นพวกเขามีสิทธิพึงได้รับ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَءَاتِ ذَا ٱلۡقُرۡبَىٰ حَقَّهُۥ﴾ [الإسراء: ٢٦]  
ความว่า “และจงให้สิทธิแก่ผู้ที่เป็นเครือญาติ” (อัล-อิสรออ์ : 26)

และพระองค์ได้ตรัสว่า
﴿ ۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗا وَبِذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ﴾ [النساء : ٣٦]  
ความว่า “และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และต่อผู้เป็นเครือญาติ” (อัน-นิสาอ์ : 36)

ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นญาติด้วยกัน ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจ และเอื้อเฟื้อทรัพย์สินเงินทองในยามที่ญาติต้องการหรือมีความจำเป็น ซึ่งเรื่องการช่วยเหลือกันในหมู่เครือญาติเป็นสิ่งที่ได้รับการยืนยันโดยบทบัญญัติทางศาสนา สติปัญญา และกมลสันดานอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
มีหลักฐานตัวบทมากมายที่ส่งเสริมให้มีการเชื่อมและสานสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติที่ใกล้ชิด ในตำราหะดีษเศาะฮี้หฺอัล-บุคอรีย์และมุสลิม ได้บันทึกหะดีษที่รายงานจากท่าอบูฮุร็อยเราะฮฺ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ اللهَ خَلَقَ الْخَلْقَ ، حَتَّى إِذَا فَرَغَ مِنْهُمْ قَامَتِ الرَّحِمُ، فَقَالَتْ : هَذَا مَقَامُ الْعَائِذِ بِكَ مِنَ الْقَطِيعَةِ، قَالَ : نَعَمْ ، أَمَا تَرْضَيْنَ أَنْ أَصِلَ مَنْ وَصَلَكِ ، وَأَقْطَعَ مَنْ قَطَعَكِ ؟ قَالَتْ : بَلَى ، قَالَ : فَذَاكَ لَكِ ، ثُمَّ قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : اقْرَءُوا إِنْ شِئْتُمْ :
﴿ فَهَلۡ عَسَيۡتُمۡ إِن تَوَلَّيۡتُمۡ أَن تُفۡسِدُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَتُقَطِّعُوٓاْ أَرۡحَامَكُمۡ ٢٢ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَعَنَهُمُ ٱللَّهُ فَأَصَمَّهُمۡ وَأَعۡمَىٰٓ أَبۡصَٰرَهُمۡ ٢٣ أَفَلَا يَتَدَبَّرُونَ ٱلۡقُرۡءَانَ أَمۡ عَلَىٰ قُلُوبٍ أَقۡفَالُهَآ ٢٤ ﴾ [محمد : ٢٢-٢٤]  
ความว่า “อัลลอฮฺได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายจนเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว อัร-เราะหิม (ตัวเครือญาติ) ก็ได้ลุกขึ้นมาและกล่าวว่า นี่คือการยืนของผู้ขอความคุ้มครองให้พ้นจากการถูกตัดขาด พระองค์อัลลอฮฺก็ตรัสว่า ได้ เจ้าจะพอพอใจหรือไม่ หากฉันจะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่เชื่อมสัมพันธ์กับเจ้า และฉันจะตัดขาดกับผู้ที่ตัดขาดกับเจ้า? มันได้ตอบว่า ใช่ ข้าพอใจแล้ว” จากนั้นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม  ก็ได้กล่าวว่า  “พวกท่านจงอ่านอายะฮฺนี้เถิดหากพวกท่านประสงค์  
﴿ فَهَلۡ عَسَيۡتُمۡ إِن تَوَلَّيۡتُمۡ أَن تُفۡسِدُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَتُقَطِّعُوٓاْ أَرۡحَامَكُمۡ ٢٢ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَعَنَهُمُ ٱللَّهُ فَأَصَمَّهُمۡ وَأَعۡمَىٰٓ أَبۡصَٰرَهُمۡ ٢٣﴾ [محمد : ٢٢-23]  
“ดังนั้น พวกเจ้าหวังกันหรือว่า หากพวกเจ้าผินหลังให้(กับการศรัทธาแล้ว)พวกเจ้าก็จะได้ก่อความเสียหายในแผ่นดิน และตัดความสัมพันธ์ทางเครือญาติของพวกเจ้า? ชนเหล่านี้แหล่ะ คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขา ดังนั้น พระองค์จึงทรงทำให้พวกเขาหูหนวกและทรงทำให้พวกเขาตาบอด(จากการได้พบสัจธรรมและความดีงาม)” (มุหัมมัด : 22-23) (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 5987 และมุสลิม 2554)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  กล่าวว่า
«مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ»
ความว่า “ใครก็ตามที่มีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันกิยามะฮฺ ก็จงเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6138)  

ปัจจุบันมีผู้คนส่วนใหญ่มักจะละเลยสิทธิที่พึงมีต่อเครือญาติ ซึ่งเราจะพบว่าบางคนไม่รู้จักแม้กระทั้งญาติใกล้ชิดของตนเอง ไม่เคยเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขาไม่ว่าจะด้วยทรัพย์สิน ตำแหน่งการงาน หรือ แสดงกิริยามารยาทที่ดีงาม วันเวลาผ่านไปพวกเขาไม่เคยนึกที่จะไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ไม่เคยหยิบยื่นของขวัญสักชิ้นหนึ่ง ไม่เคยช่วยเหลือพวกเขาในยามเดือดร้อน ซ้ำร้ายกว่านั้น มีบางคนถึงกับทำร้ายจิตใจของผู้เป็นญาติไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการกระทำ หรือทั้งคำพูดและการกระทำ น่าแปลกยิ่งนักที่พวกเขายอมผูกสัมพันธ์กับคนอื่นคนไกลแต่ตัดขามความสัมพันธ์กับญาติสนิทใกล้ชิด
มีบางคนจะเลือกเชื่อมสัมพันธ์เฉพาะกับผู้ที่เชื่อมสัมพันธ์กับเขาด้วยเท่านั้น และจะตัดความสัมพันธ์กับผู้ที่ตัดสัมพันธ์กับเขา เขาผู้นี้ไม่นับว่าเป็นบุคคลที่เชื่อมสัมพันธ์กับญาติมิตร แต่เป็นผู้ที่กระทำอย่างทัดเทียมกัน (ทำดีกับผู้ที่ทำดีกับเขาก่อน) ซึ่งจะเขาอาจแสดงพฤติกรรมนี้กับบรรดาญาติหรือคนอื่นๆ ก็ได้เพราะการตอบแทนในความดีไม่ได้เจาะจงเฉพาะกับผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดเท่านั้น
ผู้ที่เชื่อมสัมพันธ์อย่างแท้จริงคือผู้ที่สานสัมพันธ์กับญาติมิตรเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น โดยมิได้คำนึงว่าเขาจะตอบรับการเชื่อมสัมพันธ์ของเราหรือไม่ ดังที่หะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า
«لَيْسَ الوَاصِلُ بِالمُكَافِئِ، وَلَكِنَّ الوَاصِلَ الَّذِيْ إِذَا قُطِعَتْ رَحِمُهُ وَصَلَهَا»
ความว่า “ผู้เชื่อมสัมพันธ์(เครือญาติ)ไม่ใช่ผู้ที่กระทำอย่างทัดเทียมกัน (คือ หากใครเชื่อมสัมพันธ์กับเขา เขาก็เชื่อมสัมพันธ์กับคนๆ นั้น) แต่ผู้เชื่อมสัมพันธ์ คือ ผู้ที่เมื่อสัมพันธ์เครือญาติของเขาถูกตัดขาด เขาก็ต่อสัมพันธ์กับมัน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 5645, อัต-ติรมิซีย์ 1908, อบู ดาวูด 1697,และอะห์มัด 2/193)

มีชายคนหนึ่งได้กล่าวต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันมีญาติๆ ที่ฉันเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขา ในขณะที่พวกเขาตัดขาดฉัน ฉันทำดีกับพวกเขาขณะที่พวกเขาทำเลวกับฉัน ฉันต้องคอยอดทนกับพวกเขา แต่พวกเขาก็ก้าวร้าวกับฉัน”
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวตอบว่า
«لَئِنْ كُنْتَ كَمَا قُلْتَ فَكَأَنَّمَا تُسِفُّهُمُ المَلَّ، وَلَا يَزَالُ مَعَكَ مِنَ اللهِ ظَهِيْرٌ عَلَيْهِمْ مَا دُمْتَ عَلَى ذَلِكَ»
ความว่า “หากท่านเป็นอย่างที่ท่านพูด ก็เหมือนว่าท่านได้ทำให้พวกเขาลดเกียรติของพวกเขาเองประหนึ่งว่าให้พวกเขากินขี้เถ้าร้อน และจะมีผู้คอยช่วยเหลือสนับสนุนจากอัลลอฮฺคงอยู่กับท่าน ตราบที่ท่านยังคงรักษาสิ่งนั้นไว้” (บันทึกโดยมุสลิม 2558, อะห์มัด 2/412)

หากแม้นว่า ไม่มีบุญใดอีกสำหรับผู้ที่เชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ นอกจากผลบุญที่อัลลอฮฺจะทรงเชื่อมสัมพันธ์กับเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยการประทานความเมตตาของพระองค์ ทรงทำให้การงานของเขาง่ายดาย ทรงปลดเปลื้องทุกข์โศกจากเขา นั่นก็ย่อมมากมายเพียงพอแล้ว  
แต่ทว่าในความเป็นจริง ยังมีคุณค่าอื่นมากกว่านั้นอีก เพราะการเชื่อมสัมพันธ์ญาติมิตรจะทำให้ครอบครัวยิ่งใกล้ชิด เกิดความรัก ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มีจิตใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามตกทุกข์ได้ยาก และรอยยิ้มแห่งความสุขจะปรากฏขึ้นยามที่เราได้ได้เชื่อมไมตรี ประโยชน์ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะกลายเป็นตาลปัตร หากเราแทนที่การเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติด้วยการตัดญาติขาดมิตร ซึ่งจะส่งผลให้เราเกิดความห่างเหินมากยิ่งขึ้น


หก สิทธิของสามีภรรยา
 

การแต่งงานก่อให้เกิดผลพวงที่สำคัญและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เพราะการแต่งงานเป็นการผูกสายสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา ซึ่งแต่ละฝ่ายจำเป็นต้องมอบสิทธิแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสิทธิด้านร่างกาย สิทธิด้านสังคม และสิทธิด้านทรัพย์สิน
ดังนั้น ทั้งสามีและภรรยาจึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยดี และต้องทุ่มเทในสิทธิที่จำเป็นต้องมอบให้กับอีกฝ่ายด้วยความเต็มใจและยินดี โดยปราศจากการฝืนใจ ไม่จริงจัง และฉาบฉวยในสิ่งที่ได้ทุ่มเทให้แก่อีกฝ่าย อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَعَاشِرُوهُنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ﴾ [النساء : ١٩]  
ความว่า  “และจงคลุกคลีกับบรรดาภรรยาของพวกเจ้าด้วยดี” (อัน-นิสาอ์ : 19)

พระองค์ยังตรัสอีกว่า
﴿وَلَهُنَّ مِثۡلُ ٱلَّذِي عَلَيۡهِنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ وَلِلرِّجَالِ عَلَيۡهِنَّ دَرَجَةٞۗ ﴾ [البقرة: ٢٢٨]  
ความว่า “และบรรดาภรรยาก็ควรได้รับสิทธิอันชอบธรรม เช่นเดียวกับที่พวกนางต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีของพวกนาง และสำหรับบรรดาสามีจะมีความประเสริฐเหนือกว่าบรรดาภรรยาหนึ่งขั้น (นั่นคือสิทธิการเป็นผู้ปกครองและต้องได้รับการเชื่อฟังจากภรรยา)” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 228)

ขณะเดียวกันภรรยาก็จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับสามีตามเกณฑ์ที่นางจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับเขา และเมื่อใดก็ตามที่สามีและภรรยาต่างปฏิบัติตามสิ่งที่แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ชีวิตครอบครัวของทั้งสองก็จะพบกับความผาสุกและการครองชีวิตคู่ระหว่างทั้งสองก็จะยืนนาน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งและแตกแยก ทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองฝ่ายต้องระส่ำระสายและไม่เป็นสุข
มีหลักฐานมากมายที่มาในรูปของคำสั่งเสียให้ดูแลสตรี และให้คำนึงถึงสภาพโดยธรรมชาติของนาง และการที่จะให้นางอยู่ในสภาพเพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
«اسْتَوْصُوا بِالنِّسَاءِ خَيْرًا، فَإِنَّ المَرْأَةَ خُلِقَتْ مِنْ ضِلَعٍ، وَإِنَّ أَعْوَجَ مَا فِي الضِّلَعِ أَعْلاَهُ، فَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهُ كَسَرْتَهُ، وَإِنْ تَرَكْتَهُ لَمْ يَزَلْ أَعْوَجَ، فَاسْتَوْصُوا بِالنِّسَاءِ»
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีต่อเหล่าสตรีเถิด แท้จริงสตรีถูกสร้างมาจากซี่โครง และซี่โครงส่วนที่คดงอที่สุดคือส่วนบนสุดของมัน (นั่นคือสมองหรือความคิดอ่าน) ดังนั้น หากท่านพยายามจะดัดมันให้ตรงก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้มันหักสะบั้นลง และหากท่านปล่อยมันไปมันก็จะยังคงคดงออยู่เหมือนเดิมดังนั้น จึงขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดีต่อบรรดาสตรีเถิด”  (โดยอัล-บุคอรีย์ 3331, มุสลิม 1468)

ในรายงานอื่นระบุว่า
«إِنَّ الْمَرْأَةَ خُلِقَتْ مِنْ ضِلَعٍ لَنْ تَسْتَقِيمَ لَكَ عَلَى طَرِيقَةٍ، فَإِنِ اسْتَمْتَعْتَ بِهَا اسْتَمْتَعْتَ بِهَا وَبِهَا عِوَجٌ، وَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهَا، كَسَرْتَهَا وَكَسْرُهَا طَلَاقُهَا»
ความว่า “แท้จริงสตรีถูกสร้างมาจากซี่โครง นางจะไม่สามารถอยู่บนแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเที่ยงตรงสำหรับท่านได้ ดังนั้นหากท่านประสงค์จะแสวงหาความสุขกับนาง ท่านก็จะได้รับความสุขกับนางขณะที่นางอยู่ในสภาพที่คดงออยู่ และหากท่านพยายามจะดัดนางให้ตรงก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้นางหักสะบั้นลง และการหักของนางคือการหย่ากับนาง” (มุสลิม 1468)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَا يَفْرَكْ مُؤْمِنٌ مُؤْمِنَةً، إِنْ كَرِهَ مِنْهَا خُلُقًا رَضِيَ مِنْهَا آخَرَ»
ความว่า “สามีผู้ศรัทธาจงอย่าเกลียดภรรยาผู้ศรัทธา หากเขาไม่ชอบนิสัยที่ไม่ดีบางประการในตัวนาง เขาก็น่าจะพอใจนิสัยที่ดีอื่นๆ ในตัวนาง” (มุสลิม 1469)

หะดีษต่างๆ ข้างต้นเป็นการชี้แนะจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แก่ประชาชาติของท่านว่า ผู้ชายต้องปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร และชี้แนะว่าผู้ชายควรจะรับเอาสิ่งที่สะดวกและเรียบง่ายจากผู้หญิง เนื่องจากธรรมชาติแห่งการสร้างของผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และไม่ได้ดีพร้อมเสียทุกอย่าง โดยมีความบกพร่องและคดงออยู่ในตัว และผู้ชายไม่สามารถที่จะแสวงหาความสุขกับนางได้อย่างโล่งใจ นอกจากจะต้องยอมรับธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างนางมาในแบบดังกล่าวด้วยเท่านั้น
บทเรียนที่ได้รับจากหะดีษต่างๆ ข้างต้น ก็คือ มนุษย์ควรทำการเปรียบเทียบและแยกแยะระหว่างความดีงามกับความบกพร่องที่มีอยู่ในตัวผู้หญิง เพราะยามใดที่เขารู้สึกรังเกียจกับนิสัยที่ไม่ดีบางประการของนาง เขาก็ลองนำนิสัยที่ไม่ดีดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับอีกนิสัยหนึ่งของนางที่เขาพึงพอใจ โดยต้องไม่มองนางด้วยสายตาที่เอือมระอาและเกลียดชังเพียงอย่างเดียว
มีสามีจำนวนไม่น้อยอยากได้ภรรยาที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และดีพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ ดังนั้น บรรดาสามีเหล่านั้นจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์และกระวนกระวาย และไม่สามารถที่จะแสวงหาความสุขและอยู่ร่วมกับภรรยาของพวกเขาได้อย่างสบายใจ และบางครั้งก็อาจจะเป็นเหตุนำไปสู่การหย่าร้างกัน ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«...وَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهَا، كَسَرْتَهَا وَكَسْرُهَا طَلَاقُهَا»
ความว่า “และหากท่านพยายามจะดัดนางให้ตรง ก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้นางหักสะบั้นลง และการหักนางก็คือการหย่ากับนางนั่นเอง” (มุสลิม 1468)

ดังนั้น สามีจึงควรมีความออมชอม อะลุ่มอล่วย ทำเป็นเพิกเฉยและปล่อยวางบ้างในทุกการกระทำของภรรยา หากว่าการกระทำเหล่านั้นของพวกนางไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศาสนาหรือเกียรติศักดิ์ศรี
ส่วนหนึ่งของสิทธิที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาคือ การแสวงหาปัจจัยยังชีพแก่ภรรยา ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿وَعَلَى ٱلۡمَوۡلُودِ لَهُۥ رِزۡقُهُنَّ وَكِسۡوَتُهُنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ ﴾ [البقرة: ٢٣٣]  
ความว่า “และหน้าที่ของสามีผู้เป็นพ่อเด็ก คือการหาปัจจัยยังชีพและเครื่องนุ่งห่มให้แก่บรรดาภรรยาอย่างชอบธรรม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 233)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَلَهُنَّ عَلَيْكُمْ رِزْقُهُنَّ وَكِسْوَتُهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ»
ความว่า “และหน้าที่ของพวกท่านที่พึงปฏิบัติต่อบรรดาภรรยาของพวกท่าน คือการหาปัจจัยยังชีพ และเครื่องนุ่งห่มให้แก่พวกนางอย่างชอบธรรม” (มุสลิม 2137)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามว่า "อะไรคือสิทธิที่ภรรยาของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเราพึงได้รับ?" ท่านตอบว่า
«أَنْ تُطْعِمَهَا إِذَا طَعِمْتَ، وَتَكْسُوَهَا إِذَا اكْتَسَيْتَ، وَلَا تَضْرِبِ الْوَجْهَ، وَلَا تُقَبِّحْ، وَلَا تَهْجُرْ إِلَّا فِي الْبَيْتِ»
ความว่า “ท่านจะต้องให้อาหารแก่นางเมื่อท่านทานอาหาร ให้เครื่องนุ่มห่มแก่นางเมื่อท่านสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม จงอย่าตบหน้านาง อย่าด่าทอหรือพูดจาหยาบคายกับนาง และอย่าลงโทษด้วยการปลีกตัวจากนางนอกจากให้ทำแค่ในบ้านเท่านั้น (หมายถึงไม่ลงโทษด้วยการหนีจากนางออกไปนอกบ้าน)” (อบู ดาวูด 1850)

อีกส่วนหนึ่งของสิทธิที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาคือ สามีต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรมระหว่างบรรดาภรรยาทั้งหลายของเขา หากว่าเขามีภรรยามากกว่าหนึ่งคน โดยสามีต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในด้านปัจจัยยังชีพ ที่อยู่อาศัย การร่วมหลับนอน และทุกๆ สิ่งที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับบรรดาภรรยาทั้งสองคน เพราะการเอนเอียงไปทางภรรยาคนใดคนหนึ่งถือว่าเป็นบาปใหญ่ประการหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ كَانَتْ لَهُ امْرَأَتَانِ فَمَالَ إِلَى إِحْدَاهُمَا، جَاءَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ، وَشِقُّهُ مَائِلٌ»
ความว่า “ผู้ใดมีภรรยาสองคน แล้วเขาปฏิบัติด้วยการเอนเอียงไปทางภรรยาคนใดคนหนึ่ง เขาจะปรากฏในวันกิยามะฮฺในสภาพที่เอียงข้าง” (อบู ดาวูด 2133, อัต-ติรมิซีย์ 1141, อิบนุ มาญะฮฺ 1969)

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่สามีไม่สามารถให้ความเท่าเทียมกันแก่ภรรยาทั้งสองได้ อาทิ ความรู้สึกรัก ความเอ็นดู และความสบายใจ เป็นต้น ก็ไม่ถือว่าสามีมีบาปความผิดแต่ประการใด เพราะสิ่งดังกล่าวอยู่นอกเหนือความสามารถของเขา อัลลอฮฺตรัสว่าۡ
﴿ وَلَن تَسۡتَطِيعُوٓاْ أَن تَعۡدِلُواْ بَيۡنَ ٱلنِّسَآءِ وَلَوۡ حَرَصۡتُمۡۖ ﴾ [النساء : ١٢٩]  
ความว่า “และพวกเจ้าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรม (ในด้านความรักและความรู้สึกเอนเอียงของจิตใจ) ระหว่างบรรดาภรรยาของพวกเจ้าได้เลย ไม่ว่าพวกเจ้าจะพยายามขนาดไหนก็ตาม” (อัน-นิสาอ์ : 129)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะแบ่งเวรระหว่างบรรดาภรรยาของท่านด้วยความยุติธรรม แล้วท่านจะก็ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺว่า
«اللهم هَذِا قَسْمِي فِيمَا أَمْلِكُ، فَلَا تَلُمْنِي فِيمَا تَمْلِكُ، وَلَا أَمْلِكُ»
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ นี่คือการแบ่งเวรของฉันซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันครอบครองและสามารถควบคุมได้ ดังนั้น ขอพระองค์โปรดอย่าได้ตำหนิฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงครอบครองแต่ฉันไม่ได้ครอบครองมัน (หมายถึงความรู้สึกรักและเสน่หาระหว่างภรรยา)”) อบู ดาวูด 2134, อัต-ติรมิซีย์ 1140, อิบนุ มาญะฮฺ 1971)

แต่ถ้าหากว่ามีความเหลื่อมล้ำในการไปอยู่กับภรรยาคนใดคนหนึ่ง โดยที่ภรรยาคนอื่นยินยอม ก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แบ่งเวรอยู่กับท่านหญิงอาอิชะฮฺโดยผนวกรวมกับเวรของท่านหญิงเสาดะฮฺ หลังจากที่นางได้มอบเวรของนางให้แก่อาอิชะฮฺ และในช่วงที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ป่วยครั้งสุดท้ายก่อนการเสียชีวิต ท่านได้ถามบรรดาภรรยาของท่านว่า  “พรุ่งนี้ฉันต้องไปอยู่บ้านใคร? พรุ่งนี้ฉันต้องไปอยู่บ้านใคร?” บรรดาภรรยาของท่านก็ยินยอมให้ท่านเลือกว่าจะอยู่บ้านใคร ซึ่ง ณ ตอนนั้นท่านนอนรักษาอาการป่วยอยู่ที่บ้านอาอิชะฮฺจนกระทั่งท่านเสียชีวิต (อัล-บุคอรีย์ 5217, มุสลิม 2443)

ส่วนสิทธิของสามีที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาถือว่ายิ่งใหญ่กว่าสิทธิของภรรยาที่สามีจำเป็นต้องปฏิบัติต่อนาง เนื่องจากคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿وَلَهُنَّ مِثۡلُ ٱلَّذِي عَلَيۡهِنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ وَلِلرِّجَالِ عَلَيۡهِنَّ دَرَجَةٞۗ ﴾ [البقرة: ٢٢٨]  
ความว่า “และบรรดาภรรยาก็ควรได้รับสิทธิอันชอบธรรม เช่นเดียวกับที่พวกนางต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีของพวกนาง และสำหรับบรรดาสามีจะมีความประเสริฐเหนือกว่าบรรดาภรรยาหนึ่งขั้น (นั่นคือสิทธิการเป็นผู้ปกครองและต้องได้รับการเชื่อฟังจากภรรยา)” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 228)
ผู้ชายคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ดูแล และเลี้ยงดูผู้หญิง ด้วยการแสวงหาสิ่งดีๆ และคุณประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นาง ต้องคอยอบรมและชี้นำนาง ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ ٱلرِّجَالُ قَوَّٰمُونَ عَلَى ٱلنِّسَآءِ بِمَا فَضَّلَ ٱللَّهُ بَعۡضَهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ وَبِمَآ أَنفَقُواْ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡۚ ﴾ [النساء : ٣٤]  
ความว่า “บรรดาบุรุษเพศคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองและดูแลเลี้ยงดูบรรดาสตรีเพศ ด้วยปัจจัยแห่งความสามารถที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้บุรุษเพศมีเหนือกว่าสตรีเพศ  และเนื่องจากบุรุษเพศต้องใช้จ่ายในทรัพย์ของพวกเขา (เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพแก่นาง)” (อัน-นิสาอ์ : 34)

ในจำนวนสิทธิของสามีที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาคือ ภรรยาต้องเชื่อฟังคำสั่งของสามี ยกเว้นในเรื่องที่เป็นการฝ่าฝืนทรยศต่ออัลลอฮฺ (ซึ่งภรรยาไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง) ต้องปกป้องสามีในยามลับตาเขา รวมทั้งต้องดูแลทรัพย์สินของเขาด้วย แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَوْ كُنْتُ آمِرًا أَحَدًا أَنْ يَسْجُدَ لِأَحَدٍ؛ لَأَمَرْتُ الْمَرْأَةَ أَنْ تَسْجُدَ لِزَوْجِهَا»
ความว่า “หากฉันสามารถสั่งให้คนหนึ่งกราบสุญูดต่อคนหนึ่งได้ แน่นอนว่าฉันก็จะสั่งให้ภรรยาสุญูดต่อสามีของนาง (แต่ท่านไม่ได้สั่งเช่นนั้น เพราะการสุญูดต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเป็นเรื่องต้องห้ามในอิสลาม)” (อบู ดาวูด 2140, อัต-ติรมิซีย์ 1159)

 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِذَا دَعَا الرَّجُلُ امْرَأَتَهُ إِلَى فِرَاشِهِ فَأَبَتْ أَنْ تَجِيْءَ، فَبَاتَ غَضْبَانَ عَلَيْهَا، لَعَنَتْهَا الْمَلَائِكَةُ حَتَّى تُصْبِحَ»
ความว่า “เมื่อสามีคนหนึ่งชวนภรรยามายังที่หลับนอนของเขา แต่ภรรยากลับปฏิเสธไม่ยอมไป ทำให้เขานอนทั้งคืนในสภาพที่โกรธเคือง บรรดามะลาอิกะฮฺก็จะสาปแช่งนางจนถึงรุ่งเช้า” (อัล-บุคอรีย์ 5193, มุสลิม 1436)

สิทธิของสามีอีกส่วนหนึ่งที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขา ก็คือ ภรรยาต้องไม่ยุ่งอยู่กับงานใดๆ ที่ทำให้บกพร่องต่อการปรนนิบัติและให้ความสุขกับสามีได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำอิบาดะฮฺสุนัตก็ตาม เนื่องจากคำสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«لاَ يَحِلُّ لِلْمَرْأَةِ أَنْ تَصُومَ وَزَوْجُهَا شَاهِدٌ إِلَّا بِإِذْنِهِ، وَلاَ تَأْذَنَ فِي بَيْتِهِ إِلَّا بِإِذْنِهِ»
ความว่า “ไม่อนุญาตให้สตรีผู้เป็นภรรยาถือศีลอดสุนัต ในขณะที่สามีอยู่กับบ้านนอก จากจะได้รับอนุญาตจากสามี และต้องไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าบ้านนอกจากจะได้รับอนุญาตจากสามีก่อน” (อัล-บุคอรีย์ 5195, มุสลิม 1026)

แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกว่า ความพอใจของสามีที่มีต่อภรรยา เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้นางได้เข้าสวนสวรรค์ ดังหะดีษที่บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์จากอุมมุ สะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นางเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أَيُّمَا امْرَأَةٍ مَاتَتْ وَزَوْجُهَا عَنْهَا رَاضٍ دَخَلَتِ الْجَنَّةَ»
ความว่า “ผู้หญิงท่านใดก็ตามที่เสียชีวิตลงในสภาพที่สามีของนางพึงพอใจต่อนาง แน่นอนว่านางจะได้เข้าสวนสวรรค์” (อัต-ติรมิซีย์ 1161, อิบนุ มาญะฮฺ 1854)
เจ็ด สิทธิของผู้นำและประชาชน

 

ผู้นำคือผู้ที่ปกครองดูแลกิจการต่างๆ ของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทั่วไป เช่นผู้นำสูงสุดของประเทศ หรือผู้นำเฉพาะด้าน เช่นประธานหรือผู้อำนวยการขององค์กรหรือการงานเฉพาะด้าน เป็นต้น พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีสิทธิที่ประชาชนหรือผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของพวกเขาจำเป็นต้องมอบให้ ในทางกลับกันประชาชนก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่บรรดาผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องมอบให้เช่นเดียวกัน
สิทธิของพลเมืองที่ผู้นำจำเป็นต้องมอบให้ คือผู้นำต้องปฏิบัติตามอะมานะฮฺ (หน้าที่รับผิดชอบ) ที่อัลลอฮฺทรงมอบให้และกำชับให้ปฏิบัติ อาทิ ตักเตือนด้วยความหวังดีอย่างจริงใจต่อประชาชน ปกครองด้วยแนวทางที่เที่ยงตรงและสามารถให้หลักประกันในผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับบนโลกนี้และในวันอาคิเราะฮฺ ด้วยการดำเนินตามแนวทางของบรรดาผู้ศรัทธา นั่นคือแนวทางที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ดำเนินไว้เป็นแบบอย่าง เพราะการดำเนินตามแนวทางดังกล่าวเท่านั้นที่ผู้นำจะได้รับความผาสุก เช่นเดียวกับประชาชนของเขาและทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะด้วยการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ประชาชนพึงพอใจต่อผู้นำและเกิดความผูกพันระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชาชนยอมเชื่อฟังต่อคำสั่งต่างๆ ของผู้นำ และช่วยรักษาอะมานะฮฺภาระหน้าที่ในสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเชื่อฟังและปกป้องผู้นำ แท้จริง ผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ ผู้คนก็จะยำเกรงเขา และผู้ใดทำให้อัลลอฮฺทรงพึงพอใจ อัลลอฮฺจะทรงทำให้เขาได้รับการช่วยเหลือจากผู้คนและทำให้พวกเขาพึงพอใจต่อเขา เพราะหัวใจของผู้คนอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงพลิกผันอย่างไรก็ได้ตามแต่พระองค์ทรงประสงค์  
ส่วนสิทธิของผู้นำที่พลเมืองจำเป็นต้องมอบให้ คือให้คำตักเตือนนะศีหะฮฺหรือหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจแก่เขาในหน้าที่การปกครอง ช่วยสะกิดเตือนเขาเมื่อเกิดการหลงลืม ขอดุอาอ์ให้แก่เขาเมื่อเห็นเขาเบี่ยงเบนออกจากสัจธรรม ปฏิบัติและเชื่อฟังตามคำสั่งของผู้นำในสิ่งที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือทรยศต่ออัลลอฮฺ เพราะการเชื่อฟังดังกล่าวจะทำให้เกิดความเข้มแข็งและความเสถียรของสังคม และการไม่เชื่อฟังผู้นำจะก่อให้เกิดความวุ่นวายและสร้างความเสียหายต่อระบบการปกครอง ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงทรงสั่งให้เชื่อฟังพระองค์ เชื่อฟังท่านเราะสูลุลลอฮฺ และเชื่อฟังผู้นำ พระองค์ตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ ﴾ [النساء : ٥٩]  
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ เชื่อฟังเราะสูลของพระองค์ และเชื่อฟังผู้นำของพวกเจ้า” (อัน-นิสาอ์ : 59)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«عَلَى الْمَرْءِ الْمُسْلِمِ السَّمْعُ وَالطَّاعَةُ فِيمَا أَحَبَّ وَكَرِهَ، إِلَّا أَنْ يُؤْمَرَ بِمَعْصِيَةٍ، فَإِنْ أُمِرَ بِمَعْصِيَةٍ، فَلَا سَمْعَ وَلَا طَاعَةَ»
ความว่า “มุสลิมแต่ละคนจำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำในสิ่งที่ตัวเองพอใจและไม่พอใจ ยกเว้นเมื่อถูกสั่งใช้ให้กระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ดังนั้นเมื่อเขาถูกสั่งใช้ให้กระทำการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งนั้น” (อัล-บุคอรีย์ 7144, มุสลิม 1839)

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ กล่าวว่า "ครั้งหนึ่งเราเคยเดินทางไกลพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วเราก็ได้หยุดพัก ณ ที่พักแห่งหนึ่ง หลังจากนั้น ผู้ป่าวประกาศของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้เรียกพวกเราว่า อัศ-เศาะลาตะ ญามิอะฮฺ (ได้เวลารวมตัวกันละหมาดแล้ว) พวกเราจึงไปรวมตัวกันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านก็ได้กล่าวว่า
«إِنَّهُ مَا مِنْ نَبِيٍّ بَعَثَهُ اللهُ إِلَّا كَانَ حَقًّا عَلَيْهِ أَنْ يَدُلَّ أُمَّتَهُ عَلَى خَيْرِ مَا يَعْلَمُهُ لَهُمْ، وَيُنْذِرَهُمْ شَرَّ مَا يَعْلَمُهُ لَهُمْ، وَإِنَّ أُمَّتَكُمْ هَذِهِ جُعَلَتْ عَافِيَتُهَا فِي أَوَّلِهَا، وَسَيُصِيبُ آخِرَهَا بَلَاءٌ، وَأُمُورٌ تُنْكِرُونَهَا، وَتَجِيءُ فِتْنَةٌ يُرَقِّقُ بَعْضُهَا بَعْضًا، تَجِيءُ الْفِتْنَةُ فَيَقُولُ الْمُؤْمِنُ: هَذِهِ مُهْلِكَتِي، وَتَجِيءُ الْفِتْنَةُ، فَيَقُولُ الْمُؤْمِنُ: هَذِهِ هَذِهِ، فَمَنْ أَحَبَّ أَنْ يُزَحْزَحَ عَنِ النَّارِ وَيُدْخَلَ الْجَنَّةَ، فَلْتَأْتِهِ مَنِيَّتُهُ وَهُوَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ، وَلْيَأْتِ إِلَى النَّاسِ الَّذِي يُحِبُّ أَنْ يُؤْتَى إِلَيْهِ، وَمَنْ بَايَعَ إِمَامًا فَأَعْطَاهُ صَفْقَةَ يَدِهِ، وَثَمَرَةَ قَلْبِهِ، فَلْيُطِعْهُ إِنِ اسْتَطَاعَ، فَإِنْ جَاءَ آخَرُ يُنَازِعُهُ فَاضْرِبُوا عُنُقَ الْآخَرِ»
ความว่า “แท้จริงไม่มีนบีท่านใดที่อัลลอฮฺแต่งตั้งขึ้น (ก่อนหน้าฉัน) นอกจากต้องทำหน้าที่ชี้นำประชาชาติของเขาให้รู้จักสิ่งที่ดีที่สุดตามที่เขาได้รู้มา และต้องเตือนพวกเขาจากความชั่วร้ายที่เลวที่สุดตามที่เขาได้รู้มา และแท้จริง ประชาชาติของพวกเจ้านี้ถูกกำหนดให้มีความปลอดภัยอยู่ในช่วงแรกๆ ของประชาชาติ และประชาชาติช่วงสุดท้ายจะประสบกับภัยพิบัติ และสิ่งต่างๆ อันเลวร้ายมากมายที่พวกเจ้าต้องปฏิเสธมัน และฟิตนะฮฺก็จะมา ซึ่งฟิตนะฮฺบางส่วนที่มาภายหลังจะรุนแรงกว่าจนทำให้ผู้คนคิดว่าฟิตนะฮฺที่มาก่อนหน้ามันเบาบางเล็กน้อยเท่านั้นเอง พอฟิตนะฮฺมา มุสลิมก็จะกล่าวว่า นี่คือหายนะที่เป็นจุดจบของฉันแล้วกระมัง (แล้วฟิตนะฮฺนั้นก็หายไป) พอฟิตนะฮฺใหม่มา มุสลิมก็จะกล่าวซ้ำเหมือนเดิมว่า ครั้งนี้แหละ ครั้งนี้แล้วกระมังที่จะเป็นจุดจบของฉัน ดังนั้น ผู้ใดปรารถนาจะหลีกห่างจากไฟนรกและอยากจะเข้าสวนสวรรค์ เขาก็จงเตรียมพร้อมพยายามให้เสียชีวิตในสภาพที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และจงปฏิบัติต่อคนอื่นเฉกเช่นที่เขาชอบจะให้คนอื่นปฏิบัติต่อเขาด้วย และผู้ใดได้จับมือให้สัตยาบันกับผู้นำคนใดและมีความบริสุทธิ์ใจในสัญญา เขาก็จงเชื่อฟังเขาเท่าที่สามารถจะทำได้ และหากมีผู้ใดขึ้นประกาศเป็นผู้นำหรือคิดแย่งชิงตำแหน่งจากผู้นำที่ได้รับการให้สัตยาบันมา พวกเจ้าก็จงต่อสู้ประหัตประหารคนที่มาแย่งอำนาจนั้น” (มุสลิม 1844)

ชายคนหนึ่งได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้ท่านนบีของอัลลอฮฺ ท่านเห็นเป็นอย่างไร หากบรรดาผู้นำบังคับและขอให้เราเติมเต็มในสิทธิของพวกเขา แต่พวกเขากลับปิดกั้นไม่ยอมมอบสิทธิของพวกเรา ท่านจะสั่งให้เราทำอย่างไร? แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ตอบ หลังจากนั้นเขาก็ถามท่านอีกครั้ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงตอบว่า
«اسْمَعْوا وَأَطِيعُوا، فإنَّمَا عَلَيْهِمْ مَا حُمِّلُوا، وَعَلَيْكُمْ مَا حُمِّلْتُمْ»
ความว่า “พวกเจ้าจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามพวกเขา เพราะแท้จริง บรรดาผู้นำเหล่านั้นต้องรับผิดชอบหน้าที่ในส่วนที่พวกเขาต้องปฏิบัติ ส่วนพวกเจ้าก็ต้องแบกรับผิดชอบต่อหน้าที่ในส่วนที่พวกเจ้าต้องปฏิบัติ” (มุสลิม 1846)

และส่วนหนึ่งของสิทธิที่ผู้นำพึงได้รับจากประชาชน คือ ประชาชนต้องคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจและหน้าที่ของผู้นำ ด้วยการช่วยเหลือผู้นำในการดำเนินกิจการที่พวกเขาได้รับอะมานะฮฺมา และให้แต่ละคนรู้จักบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบในสังคมของตัวเอง จนกระทั่งทุกๆ อย่างสามารถดำเนินไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ เพราะหากผู้นำไม่ได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนในภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา ภารกิจของพวกเขาก็จะไม่สามารถดำเนินไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ได้

แปด สิทธิของเพื่อนบ้าน
 

เพื่อนบ้านหมายถึงผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับบ้านของท่าน  เพื่อนบ้านมีสิทธิที่ควรจะได้รับจากท่านมากมาย ถ้าเพื่อนบ้านของท่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านและเป็นมุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสามประการด้วยกันคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน สิทธิในฐานะเครือญาติ และสิทธิในฐานะพี่น้องมุสลิม
ถ้าเพื่อนบ้านของท่านเป็นมุสลิมแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่าน เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสองประการคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน และสิทธิในฐานะพี่น้องมุสลิมของท่าน
เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านแต่เขาไม่ใช่มุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสองประการเหมือนกันคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน และสิทธิในฐานะเครือญาติ
ส่วนเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านและไม่ใช่มุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิเพียงประการเดียว นั่นคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗا وَبِذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡيَتَٰمَىٰ وَٱلۡمَسَٰكِينِ وَٱلۡجَارِ ذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡجَارِ ٱلۡجُنُبِ ﴾ [النساء : ٣٦]  
ความว่า “และจงทำดีต่อบิดามารดา เครือญาติที่ใกล้ชิด เด็กกำพร้าและผู้ขัดสน และเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและเพื่อนที่ไม่มีสัมพันธ์ทางเครือญาติ” (อัน-นิสาอ์ : 36)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا زَالَ جِبْرِيْلُ يُوْصِيْنِي بِالْجَارِ حَتَّى ظَنَنْتُ أَنَّهُ سَيُوَرِّثُهُ»
ความว่า “ญิบรีลคอยสั่งเสียฉันอยู่เสมอให้ทำดีต่อเพื่อนบ้าน จนฉันคาดคิดถึงขั้นว่าเขาจะให้เพื่อนบ้านได้มีสิทธิรับมรดกกันเลยทีเดียว” (อัล-บุคอรีย์ 6014-6015, มุสลิม 6424-6425)

ดังนั้น ส่วนหนึ่งของสิทธิที่เพื่อนบ้านคนหนึ่งพึงจะได้รับจากเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งคือ การทำดีต่อเขาด้วยสิ่งต่างๆ ที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยทรัพย์สินของเขา ชื่อเสียงหรือบารมีในสังคม และสิ่งที่เกิดประโยชน์ ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«خَيْرُ الجِيرَانِ عِنْدَ اللهِ خَيْرُهُمْ لِجَارِهِ»
ความว่า “เพื่อนบ้านที่ประเสริฐที่สุดในทัศนะของอัลลอฮฺ คือ เพื่อนบ้านที่ปฏิบัติดีที่สุดต่อเพื่อนบ้านของเขา” (อัต-ติรมิซีย์ 1944)

ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
«مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيُحْسِنْ إِلَى جَارِهِ»
ความว่า “ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงทำดีต่อเพื่อนบ้านของเขา” (อัล-บุคอรีย์ 6019, มุสลิม 48)

และท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าว (แก่ อบู ซัรฺ) ว่า
«إِذَا طَبَخْتَ مَرَقَةً فَأَكْثِرْ مَاءَهَا وَتَعَاهَدْ جِيْرَانَك»
ความว่า  “โอ้ อบู ซัรฺ เอ๋ย เมื่อท่านต้มน้ำแกงท่านจงเติมน้ำให้มาก และจงแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านของท่านด้วย” (มุสลิม 2625)

ในจำนวนวิธีการทำดีต่อเพื่อนบ้านคือ การมอบของขวัญให้แก่เขาตามโอกาสและเทศกาลต่างๆ เพราะของขวัญเป็นการเสริมสร้างความรักใคร่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขจัดความรู้สึกบาดหมางและเป็นศัตรูกัน
และส่วนหนึ่งของสิทธิที่เพื่อนบ้านพึงปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านของเขาก็คือ การระงับจากการสร้างความเดือดร้อนแก่เขาทั้งในแง่คำพูดและการกระทำ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، قِيْلَ: مَنْ يَا رَسُوْلَ اللهِ ؟ قَالَ: الَّذِي لَا يَأْمَنُ جَارُهُ بَوَائِقَهُ»
ความว่า “ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา” มีคนถามว่า  ผู้ใดหรือโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ? ท่านตอบว่า “คนที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากการอธรรมและความเลวของเขา” (อัล-บุคอรีย์ 6016)

ในอีกรายงานหนึ่งท่านกล่าวว่า
«لَا يَدْخُلُ الْجَنَّةَ مَنْ لَا يَأْمَنُ جَارُهُ بَوَائِقَهُ»
ความว่า “จะไม่ได้เข้าสวรรค์สำหรับผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากการอธรรมและความเลวของเขา” (มุสลิม 46)

มีผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิของเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากความเลวทรามของพวกเขา ท่านจะพบว่าพวกเขาชอบที่จะโต้เถียงกับเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลา ชอบทะเลาะ ล่วงละเมิดสิทธิ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการปฏิบัติที่ค้านกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม ทำให้จิตใจของพวกเขาเหินห่างกัน และไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เก้า สิทธิของมุสลิมทั่วไป
 

มีสิทธิจำนวนมากมายที่มุสลิมแต่ละคนพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมของเขา ส่วนหนึ่งของสิทธิเหล่านั้นคือ คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ตามที่มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺว่า
«حَقُّ الْمُسْلِمِ عَلَى الْمُسْلِمِ سِتٌّ: إِذَا لَقِيتَهُ فَسَلِّمْ عَلَيْهِ، وَإِذَا دَعَاكَ فَأَجِبْهُ، وَإِذَا اسْتَنْصَحَكَ فَانْصَحْ لَهُ، وَإِذَا عَطَسَ فَحَمِدَ اللهَ فَشَمِّتْهُ، وَإِذَا مَرِضَ فَعُدْهُ وَإِذَا مَاتَ فَاتَّبِعْهُ»
ความว่า “สิทธิของมุสลิมที่พึงปฏิบัติต่อมุสลิมมีหกประการ คือ เมื่อท่านพบเขาท่านจงให้สลามแก่เขา เมื่อเขาเชิญชวนท่าน ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา เมื่อเขาขอคำชี้แนะและตักเตือนจากท่าน ท่านก็จงให้คำชี้แนะและตักเตือนเขา เมื่อเขาจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ ท่านก็จงขอดุอาอ์ให้แก่เขา เมื่อเขาเจ็บป่วยท่านก็จงไปเยี่ยมเยียนเขา และเมื่อเขาเสียชีวิต ท่านก็จงติดตามส่งศพ/ญะนาซะฮฺของเขา” (มุสลิม 2162, อัล-บุคอรีย์ 1240 ด้วยสำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยระบุว่ามีห้าประการ)

หะดีษข้างต้นได้ชี้แจงถึงสิทธิต่างๆ ที่มุสลิมคนหนึ่งพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิม ดังนี้

สิทธิที่หนึ่ง : การให้สลาม การให้สลามเป็น สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ  (สุนนะฮฺที่เน้นย้ำให้ปฏิบัติ) เพราะสลามเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ชาวมุสลิมรู้สึกรักใคร่และห่วงใยกัน ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«لَا تَدْخُلُوْا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا، وَلَا تُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا، أَوَلَا أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوهُ تَحَابَبْتُمْ؟ أَفْشُوا السَّلَامَ بَيْنَكُمْ»
ความว่า “พวกท่านจะไม่สามารถสวรรค์ได้ จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านจะไม่ศรัทธาอย่างแท้จริงจนกว่าพวกท่านจะรักใคร่กัน เอาไหม ฉันจะบอกสิ่งหนึ่งแก่พวกท่าน เมื่อพวกท่านปฏิบัติแล้วก็จะเกิดความรักใคร่ในหมู่ของพวกท่าน? นั่นคือ จงโปรยสลามให้แก่กันระหว่างพวกท่าน” (มุสลิม 54)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะให้สลามก่อนแก่ผู้ที่ท่านพบเจอเสมอ และท่านจะให้สลามแก่เด็กๆ เมื่อยามที่ท่านเดินผ่านพวกเขาด้วย
สุนนะฮฺให้ผู้น้อยหรือเด็กเริ่มให้สลามแก่ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่าก่อน กลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า และผู้ที่อยู่บนพาหนะให้สลามแก่ผู้ที่กำลังเดิน แต่หากว่าผู้ที่สมควรให้สลามก่อนตามสุนนะฮฺที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่เริ่มให้สลามก่อน ก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งให้สลามก่อนแทน เพื่อไม่ให้ขาดการให้สลาม ดังนั้น เมื่อผู้น้อยหรือเด็กไม่เริ่มให้สลามแก่ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า ก็ให้ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่าเริ่มให้สลามแก่เด็กหรือผู้น้อยแทน และเมื่อกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าไม่เริ่มให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า ก็ให้กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าเริ่มให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าแทน เพื่อให้ได้รับผลบุญของการให้และรับสลาม
ท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
«ثَلاَثٌ مَنْ جَمَعَهُنَّ فَقَدْ جَمَعَ الإِيمَانَ: الإِنْصَافُ مِنْ نَفْسِكَ، وَبَذْلُ السَّلاَمِ لِلْعَالَمِ، وَالإِنْفَاقُ مِنَ الإِقْتَارِ»
ความว่า “มีสามสิ่งที่ผู้ใดสามารถรวบรวมไว้กับตัวแสดงว่าเขาได้รวบรวมอีมานหรือความศรัทธาไว้แล้ว นั่นคือ มีจิตใจที่เที่ยงธรรมต่อผู้อื่น โปรยสลามให้แก่ผู้คน (ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก) และการใช้จ่ายหรือการบริจาคทรัพย์สินในช่วงที่ขัดสน” (อัล-บุคอรีย์ 8)

การเริ่มให้สลามเป็นสุนนะฮฺที่ถูกส่งเสริม ในขณะที่การตอบสลามนั้นเป็น ฟัรฎูกิฟายะฮฺ (จำเป็นต้องปฏิบัติโดยภาพรวม) เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งในกลุ่มเดียวกันได้ปฏิบัติก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับทุกคน ดังนั้น เมื่อมีการให้สลามต่อกลุ่มชนจำนวนหนึ่งแล้วมีคนใดคนหนึ่งในจำนวนพวกเขาได้ตอบสลามก็ถือว่าเพียงพอและใช้ได้แล้วสำหรับทุกคน อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَإِذَا حُيِّيتُم بِتَحِيَّةٖ فَحَيُّواْ بِأَحۡسَنَ مِنۡهَآ أَوۡ رُدُّوهَآۗ ﴾ [النساء : ٨٦]  
ความว่า “และเมื่อมีคนกล่าวสลามแก่พวกเจ้า (อัสลามุอะลัยกุม) พวกเจ้าจงตอบสลามเขาด้วยสลามที่ดีกว่า (วะอะลัยกุมุส สลาม วะเราะหฺมะตุลลอฮฺ) หรือตอบกลับเท่ากับสลามที่เขากล่าวมา (วะอะลัยกุมุสสลาม)”  (อัน-นิสาอ์ : 86)

ดังนั้น การตอบสลามด้วยคำว่า ยินดีต้อนรับ (อะฮฺลัน วะ สะฮฺลัน)เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เพราะคำกล่าวดังกล่าวไม่ใช่การตอบสลามที่ดีกว่าหรือเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีคนให้สลามท่านว่า อัสลามุอะลัยกุม ท่านก็จงตอบเขาว่า วะอะลัยกุมุสสลาม และเมื่อมีคนทักท่านว่า อะฮฺลันท่านก็จงทักตอบว่า อะฮฺลัน ให้เหมือนกับเขา และหากมีการกล่าวสำนวนเพิ่มเติมก็จะเป็นการประเสริฐกว่า

สิทธิที่สอง : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเชิญชวนท่าน ท่านก็จงรับคำเชิญของเขา
หมายความว่า เมื่อมีพี่น้องมุสลิมเชิญท่านไปยังบ้านของเขาเพื่อรับประทานอาหารหรือทำธุระอื่นๆ ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา
การตอบรับคำเชิญเป็น สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ (เน้นให้กระทำ) เนื่องจากการตอบรับดังกล่าวจะช่วยโอบอุ้มหัวใจของผู้เชิญ (ไม่ให้เสียความรู้สึก)  และทำให้เกิดความรักใคร่สนิทสนมกัน
ในขณะที่การตอบรับการเชิญชวนสู่งานแต่งงาน (วะลีมะฮฺ) นั้นเป็นสิ่งที่วาญิบ  ด้วยเงื่อนไขที่เป็นที่ทราบกัน เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَمَنْ لَمْ يُجِبِ الدَّعْوَةَ، فَقَدْ عَصَى اللهَ وَرَسُولَهُ»
ความว่า “และผู้ใดไม่ตอบรับคำเชิญ แท้จริง เขาได้ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์แล้ว” (มุสลิม 1432, อัล-บุคอรีย์ 5177 ด้วยความหมายที่ใกล้เคียง)

เป็นไปได้ว่า คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า  “เมื่อเขาเชิญชวนท่าน ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา” นั้น ครอบคลุมแม้กระทั่งการเชิญเพื่อให้ไปช่วยเหลือเขาด้วย เพราะท่านถูกสั่งให้ตอบรับคำเชิญของเขา ดังนั้น เมื่อมีคนเรียกและเชิญชวนท่านให้ไปช่วยเขาแบกหรือยกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทิ้ง/วางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออื่นๆ ท่านก็จำเป็นต้องไปช่วยเหลือเขา เพราะท่านถูกสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«المُؤْمِنُ لِلْمُؤْمِنِ كَالْبُنْيَانِ يَشُدُّ بَعْضُهُ بَعْضًا»
ความว่า “หน้าที่ของผู้ศรัทธาคนหนึ่งที่มีต่อผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งเป็นดั่งอาคารหนึ่งที่แต่ละส่วนของอาคารต่างยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน” (อัล-บุคอรีย์ 2446, มุสลิม 2585)

สิทธิที่สาม : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งขอคำชี้แนะและตักเตือนจากท่าน ท่านก็จงให้คำชี้แนะแก่เขา
หมายความว่า เมื่อมุสลิมคนหนึ่งมาหาเพื่อขอให้ท่านช่วยตักเตือนและชี้แนะแก่เขา ท่านก็จงชี้แนะและให้คำตักเตือนแก่เขา เพราะการตักเตือนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม
«الدِّينُ النَّصِيحَةُ: لِلَّهِ وَلِرَسُولِهِ وَلِأَئِمَّةِ المُسْلِمِينَ وَعَامَّتِهِمْ»
ความว่า “ศาสนาคือ นะศีหะฮฺ (การชี้แนะ การปรารถนาดี) ต่ออัลลอฮฺ ต่อศาสนทูตของพระองค์ ต่อบรรดาผู้นำของชาวมุสลิม และต่อชาวมุสลิมทุกคน” (อัล-บุคอรีย์ 35, มุสลิม 55)

แต่หากเขาไม่มาขอคำตักเตือนและคำชี้แนะจากท่าน และท่านทราบว่าเขาจะต้องพบกับอันตรายหรือเขาจะไปทำความผิด ท่านก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องให้คำตักเตือนและชี้แนะเขา และถือว่าเป็นหน้าที่รับของท่านถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้มาขอคำตักเตือนจากท่านก็ตาม เพราะการตักเตือนดังกล่าวเป็นการขจัดอันตรายและสิ่งที่ไม่ดีงามอย่างหนึ่งจากพี่น้องชาวมุสลิม แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่เขาจะกระทำไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายหรือความผิดบาป และท่านเห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนอื่นมากกว่าเขา ท่านก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวนะศีหะฮฺใดๆ แก่เขา เว้นแต่ว่าเขาจะขอมาขอคำชี้แนะจากท่าน เมื่อถึงเวลานั้นท่านจึงจำเป็นต้องชี้แนะและตักเตือนเขา

สิทธิที่สี่ : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ ท่านก็จงขอดุอาอ์ให้แก่เขา
หมายความว่า เมื่อมุสลิมคนหนึ่งจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺว่า “الْحَمْدُ للهِ  -  อัลหัมดุลิลลาฮฺ” (หมายถึง มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ) ท่านก็จงกล่าวแก่เขาว่า “يَرْحَمُكَ اللهُ  – ยัรหะมุกัลลอฮฺ” (หมายถึง ขออัลลอฮฺโปรดประทานความเมตตาแก่ท่าน) เพื่อเป็นการขอบคุณแก่เขาที่ได้กล่าวสรรเสริญพระผู้อภิบาลของเขาขณะจาม แต่หากเขาจามแล้วไม่ได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ เขาไม่มีสิทธิที่จะได้รับดุอาอ์นี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขอดุอาอ์ให้แก่เขา เพราะในเมื่อเขาไม่ได้กล่าวคำสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ ผลตอบแทนของเขาก็คือ การไม่สมควรที่จะได้รับดุอาอ์ดังกล่าว
การขอดุอาอ์ให้แก่ผู้จามเมื่อเขาได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่วาญิบ และผู้จามก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องตอบกลับด้วยคำว่า “يَهْدِيْكُمُ اللهُ وَيُصْلِحُ بَالَكُمْ – ยะฮฺดีกุมุลลอฮฺ วะ ยุศลิห์ บาละกุม” (หมายความว่า ขออัลลอฮฺโปรดประทานทางนำแก่ท่าน และแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ของท่านให้ปลอดภัยและเปี่ยมด้วยนิอฺมัต) และถ้าหากผู้จามได้จามอย่างต่อเนื่องก็จงกล่าวขอดุอาอ์แก่เขาจนครบสามครั้ง และถ้ายังจามอีก ก็ให้ท่านกล่าวขอดุอาอ์แก่เขาว่า “عَافَاكَ اللهُ – อาฟากัลลอฮฺ” (หมายถึง ขออัลลอฮฺโปรดให้ท่านหายจากอาการป่วยด้วยเถิด) แทนการกล่าวคำว่า “يَرْحَمُكَ اللهُ”

สิทธิที่ห้า : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเจ็บป่วยท่านก็จงไปเยี่ยมเขา
การไปเยี่ยมผู้ป่วยเป็นสิทธิที่พี่น้องชาวมุสลิมพึงปฏิบัติต่อผู้ป่วย ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงจำเป็น (วาญิบ) ต้องไปเยี่ยมพี่น้องที่ป่วยไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าผู้ป่วยเป็นเครือญาติของท่าน หรือมิตรสหาย หรือเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งจำเป็นต้องไปเยี่ยมเยียนพวกเขา
การไปเยี่ยมผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามสภาพของผู้ป่วยและตามสภาพของโรค บางครั้งอาจจำเป็นต้องไปเยี่ยมบ่อยครั้ง และบางครั้งอาจจะเพียงพอเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการคำนึงถึงสภาพของผู้ป่วยและโรคของเขาด้วย
สำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมคนป่วยมีสุนนะฮฺให้สอบถามถึงสภาพและอาการป่วยของเขา ขอดุอาอ์ให้กับเขา และพูดปลอบใจเขาให้หายวิตกกังวลและมีความหวัง เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายป่วยไวขึ้น ผู้เยี่ยมควรจะกล่าวเตือนสติให้ผู้ป่วยเตาบะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยสำนวนที่ไม่ทำให้เขาตกใจ ตัวอย่างเช่น การป่วยของท่านในครั้งนี้เท่ากับว่าท่านได้รับความดีงาม เพราะความป่วยเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺใช้ขจัดบาปต่างๆ และลบล้างความผิดต่างๆ และหวังว่าด้วยการที่ท่านต้องพำนักอยู่กับที่ จะทำให้ท่านได้รับผลบุญที่มากมาย ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขออภัยโทษจากพระองค์ และขอดุอาอ์ต่อพระองค์ให้มาก

สิทธิที่หก : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเสียชีวิต ท่านก็จงตามส่งศพของเขา
การติดตามส่งญะนาซะฮฺหรือการส่งศพ เป็นหนึ่งในบรรดาสิทธิที่มุสลิมพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเขา ขณะเดียวกันการติดตามส่งญะนาซะฮฺก็ยังได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย ดังมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า
«مَنْ تَبِعَ الجَنَازَةَ حَتَّى يُصَلِّيَ عَلَيْهَا فَلَهُ قِيرَاطٌ، وَمَنْ تَبِعَهَا حَتَّى تُدْفَنَ كَانَ لَهُ قِيرَاطَانِ، قِيلَ: وَمَا القِيرَاطَانِ؟ قَالَ: مِثْلُ الجَبَلَيْنِ العَظِيمَيْنِ»
ความว่า “ผู้ใดติดตามส่งญะนาซะฮฺจนกระทั่งเขาได้ละหมาดให้ศพนั้น เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับหนึ่ง กีรอฏ และผู้ใดติดตามญะนาซะฮฺจนกระทั่งศพถูกฝัง เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับสองกีรอฏ” มีคนถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า สองกีรอฏนั้นคืออะไร? ท่านตอบว่า “เหมือนกับภูเขาใหญ่สองลูก” (อัล-บุคอรีย์ 1325, มุสลิม 945)

และส่วนหนึ่งของสิทธิที่มุสลิมพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมคือการไม่สร้างความเดือดร้อนแก่เขา เพราะการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวมุสลิมเป็นบาปหนัก อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ بِغَيۡرِ مَا ٱكۡتَسَبُواْ فَقَدِ ٱحۡتَمَلُواْ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ٥٨﴾ [الأحزاب : ٥٨]  
ความว่า “และบรรดาผู้ที่ชอบสร้างความเดือดร้อนด้วยการกล่าวไร้ต่อบรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิงในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ แท้จริงพวกเขาได้แบกรับความเท็จและบาปที่ชัดแจ้งแล้ว” (อัล-อะห์ซาบ 58)

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ชอบข่มพี่น้องด้วยการสร้างความเดือดร้อนแก่เขา อัลลอฮฺจะลงโทษเขาตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว ก่อนที่พระองค์จะลงโทษในวันอาคิเราะฮฺด้วยซ้ำ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لاَ تَبَاغَضُوا، وَلاَ تَحَاسَدُوا، وَلاَ تَدَابَرُوا، وَكُونُوا عِبَادَ اللَّهِ إِخْوَانًا، الْمُسْلِمُ أَخُو الْمُسْلِمِ، لَا يَظْلِمُهُ وَلَا يَخْذُلُهُ، وَلَا يَحْقِرُهُ، بِحَسْبِ امْرِئٍ مِنَ الشَّرِّ أَنْ يَحْقِرَ أَخَاهُ الْمُسْلِمَ، كُلُّ الْمُسْلِمِ عَلَى الْمُسْلِمِ حَرَامٌ؛ دَمُهُ، وَمَالُهُ، وَعِرْضُهُ»
ความว่า  “พวกท่านจงอย่ากริ้วโกรธกัน อย่าอิจฉาริษยากัน อย่าหันหลังไม่พูดจากัน พวกเจ้าจงเป็นพี่น้องกันเถิด โอ้บรรดาบ่าวของอัลลอฮฺ มุสลิมเป็นพี่น้องกับมุสลิม เขาจะไม่อธรรมต่อพี่น้องของเขา เขาจะไม่ปล่อยให้พี่น้องของเขาถูกอธรรมโดยไม่ยื่นมือไปช่วยเหลือ และเขาจะไม่ดูถูกและเหยียบหยามพี่น้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับผู้ใดผู้หนึ่งที่จะกลายเป็นคนเลวด้วยการดูถูกเหยียดหยามพี่น้องมุสลิมของเขา  มุสลิมไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อบรรดาพี่น้องมุสลิม ทั้งต่อเลือดเนื้อของเขา ทรัพย์สินของเขา และเกียรติของเขา” (อัล-บุคอรีย์ 6065, 6076, มุสลิม 2564)

สิทธิที่มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อมุสลิมมีมากมาย ซึ่งสามารถให้ความหมายโดยรวมด้วยคำกล่าวของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า “มุสลิมคือพี่น้องของมุสลิม” เพราะเมื่อใดก็ตามที่มุสลิมคนหนึ่งปฏิบัติต่อมุสลิมอีกคนหนึ่งบนพื้นฐานของความเป็นพี่น้องกัน เขาย่อมต้องพยายามแสวงหาทุกความดีงามให้แก่พี่น้องของเขา และพยายามหลีกห่างทุกๆ สิ่งที่จะนำอันตรายมาสู่เขา


สิบ สิทธิของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
 

ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะครอบคลุมทุกคนที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซึ่งมีด้วยกันสี่จำพวก นั่นคือ
1. หัรบีย์ หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่เป็นศัตรูกับชาวมุสลิม
2. มุสตะมัน หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของชาวมุสลิม
3. มุอาฮัด หมายถึงผู้ที่ไม่มุสลิมที่มีพันธะสัญญากับชาวมุสลิม
4. ซิมมีย์ หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม
ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่เป็นศัตรูกับชาวมุสลิม (หัรบีย์) พวกเราไม่จำเป็นต้องมอบสิทธิด้านการให้การคุ้มครองหรือการดูแลแก่พวกเขา
ส่วนผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของชาวมุสลิม(มุสตะมัน) พวกเราจำเป็นต้องมอบสิทธิด้านการให้การคุ้มครองแก่พวกเขาตามเวลาและสถานที่ที่ได้ตกลงไว้ เนื่องจากอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴿وَإِنۡ أَحَدٞ مِّنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ٱسۡتَجَارَكَ فَأَجِرۡهُ حَتَّىٰ يَسۡمَعَ كَلَٰمَ ٱللَّهِ ثُمَّ أَبۡلِغۡهُ مَأۡمَنَهُۥۚ﴾ [التوبة : 6]  
ความว่า “และหากมีคนใดในบรรดาผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺได้ขอความคุ้มครองจากเจ้า เจ้าก็จงให้การคุ้มครองแก่เขา จนกระทั่งเขาได้ฟังพระดำรัสของอัลลอฮฺ หลังจากนั้นเจ้าก็จงส่งเขายังที่ปลอดภัย” (อัต-เตาบะฮฺ : 6)

ส่วนผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีพันธะสัญญากับชาวมุสลิม (มุอาฮัด) เราชาวมุสลิมจำเป็นต้องยึดมั่นในสัญญาที่ได้กระทำไว้กับพวกเขาตลอดระยะเวลาสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ระหว่างทั้งสองฝ่าย ตราบใดที่พวกเขายังซื่อสัตย์ในคำมั่นสัญญาและไม่ได้ทำลายสัญญาที่ได้ทำไว้กับเรา มิได้บกพร่องใดๆ ในสัญญาที่ได้ทำไว้กับเรา ไม่ได้สนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือผู้ใดเพื่อต่อต้านหรือทำลายเรา และไม่ได้สร้างความเสื่อมเสียหรือทำลายศาสนาของเรา อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ إِلَّا ٱلَّذِينَ عَٰهَدتُّم مِّنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ثُمَّ لَمۡ يَنقُصُوكُمۡ شَيۡ‍ٔٗا وَلَمۡ يُظَٰهِرُواْ عَلَيۡكُمۡ أَحَدٗا فَأَتِمُّوٓاْ إِلَيۡهِمۡ عَهۡدَهُمۡ إِلَىٰ مُدَّتِهِمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُتَّقِينَ ٤﴾ [التوبة : 4]  
ความว่า “นอกจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีต่อพระองค์ (ผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา) บางกลุ่ม ที่พวกเจ้าได้ทำสัญญาไว้ แล้วพวกเขามิได้บกพร่องใดๆ ในสัญญาที่ได้ทำไว้กับแก่พวกเจ้า และมิได้สนับสนุนผู้ใดต่อต้านพวกเจ้า ดังนั้น จงรักษาสัญญาของพวกเขาให้ครบถ้วน จนถึงกำหนดเวลาของพวกเขาเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ทรงรักผู้ที่ยำเกรงทั้งหลาย” (อัต-เตาบะฮฺ : 4)

พระองค์ได้ตรัสอีกว่า
﴿وَإِن نَّكَثُوٓاْ أَيۡمَٰنَهُم مِّنۢ بَعۡدِ عَهۡدِهِمۡ وَطَعَنُواْ فِي دِينِكُمۡ فَقَٰتِلُوٓاْ أَئِمَّةَ ٱلۡكُفۡرِ إِنَّهُمۡ لَآ أَيۡمَٰنَ لَهُمۡ﴾ [التوبة : 12]  
ความว่า “และหากพวกเขาทำลายคำมั่นสัญญาที่พวกเขาได้ทำไว้กับพวกเจ้า และพวกเขาได้กล่าวหาและใส่ร้ายต่อศาสนาของพวกเจ้า พวกเจ้าก็จงต่อสู้กับบรรดาผู้นำแห่งการปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น เพราะแท้จริงพวกเขาไม่ได้ยึดมั่นในสัญญาที่ได้ทำไว้กับพวกเจ้า” (อัต-เตาบะฮฺ : 12)
    
ส่วนผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม(ซิมมีย์) พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่เราจำเป็นต้องมอบสิทธิแก่พวกเขามากที่สุด และพวกเขาก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของพวกเราชาวมุสลิมด้วย เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลาม ภายใต้การคุ้มครองดูแลของชาวมุสลิมโดยที่แลกกับการจ่ายค่า ญิซยะฮฺ เพื่อเป็นการคุ้มครองดูแลพวกเขา
ดังนั้น ผู้นำของชาวมุสลิมจึงจำเป็นต้องตัดสินคดีของพวกเขาด้วยกฎหมายอิสลามในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติของพวกเขา และให้ลงโทษพวกเขาในความผิดที่พวกเขามีความเชื่อว่ามันเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) สำหรับพวกเขา และผู้นำจำเป็นต้องให้การดูแลคุ้มครองและปกป้องไม่ให้ผู้ใดสร้างความเดือดร้อนหรือทำอันตรายต่อพวกเขา
เสื้อผ้าและการแต่งกายของพวกเขาจำเป็นต้องแตกต่างจากการเสื้อผ้าและแต่งกายของชาวมุสลิม (เพื่อความสะดวกในการแยะแยะและการกำกับดูแล) และพวกเขาจำเป็นต้องไม่แสดงสิ่งใดที่ไม่ดีงามในอิสลามอย่างโจ่งแจ้ง หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในศาสนาของพวกเขา เช่น ระฆังและไม้กางเขน
ส่วนหุก่มต่างๆ เกี่ยวกับชาวซิมมีย์นั้น บรรดานักวิชาการอิสลามได้กล่าวถึงแล้วอย่างละเอียดในหนังสือต่างๆ ของพวกเขา ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้อีก
และมวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก เศาะละวาตและสลามขอจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ตลอดจนบรรดาวงศ์วานและมิตรสหายของท่านทั้งหลาย

เขียนโดย
มุหัมมัด ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน