มีกอต (เวลาและสถานที่เริ่มในการทำหัจญ์)

มีกอตต่าง ๆ
[ ไทย ]


المواقيت
[ باللغة التايلاندية ]

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

 

แปลโดย: อัสรัน  นิยมเดชา
ترجمة: عصران نيئيوم ديشا
ตรวจทาน: ฟัยซอล  อับดุลฮาดี
مراجعة: فيصل  عبد الهادي
จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي


สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008

 

 


มีกอตต่างๆ

มีกอต คือ สถานที่ และช่วงเวลาของการทำอิบาดะฮฺ

วิทยปัญญาของการกำหนดมีกอตต่างๆ
    เนื่องด้วยบัยตุลลอฮฺเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติ อัลลอฮฺตะอาลาจึงให้รายล้อมด้วยปราการนั่นคือมักกะฮฺ และให้มีเขตปลอดภัยพิเศษนั่นคือเขตหะร็อม และให้เขตหะร็อมนั้นมีเขตซึ่งผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺไม่สามารถล้ำผ่านเข้าไปได้นอกเสียจากด้วยสภาพที่ครองอิหฺรอม เพื่อแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺตะอาลา และบัยตุลลอฮฺ

ประเภทของมีกอต
มีกอตมี 2 ประเภท คือ :
1.มีกอตช่วงเวลา : นั่นคือเดือนแห่งหัจญ์ : เชาวาล ซุลเกาะดะฮฺ และซุลหิจญะฮฺ
    เวลาเริ่มต้นของหัจญ์ คือ ตั้งแต่เดือนเชาวาล และเวลาสิ้นสุดของการเริ่มเนียตครองอิหฺรอมคือก่อนเวลาฟัจญรฺในคืนก่อนวันนะหรฺ (วันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ)

2.มีกอตที่เป็นสถานที่ : นั่นคือ สถานที่ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺเริ่มตั้งเจตนาครองอิหฺรอม ซึ่งมีอยู่ 5 จุดด้วยกัน
    2.1 ซุลหุลัยฟะฮฺ : คือมีกอตของชาวเมืองมะดีนะฮฺและผู้ที่เดินทางผ่านมะดีนะฮฺ อยู่ห่างจากมักกะฮฺ 420 ก.ม. โดยประมาณ ถือว่าเป็นมีกอตที่อยู่ห่างจากมักกะฮฺมากที่สุด และมีอีกชื่อหนึ่งว่า "วาดิลอะกีก" มัสยิด ณ ตรงนั้นได้ชื่อว่ามัสยิดชะญะเราะฮฺ (ต้นไม้) ซุลหุลัยฟะฮฺอยู่ทางตอนใต้ของมะดีนะฮฺ ระยะห่างระหว่างที่นี่กับมัสยิดนบีคือ 13 ก.ม. ส่งเสริมให้ทำการละหมาด ณ สถานที่แห่งนี้
    2.2 อัล-ญุหฺฟะฮฺ : คือมีกอตของชาวเมืองชาม ชาวตุรกี ชาวอิยิปต์ ชาวมัฆริบ ตลอดจนผู้ที่ผ่านแนวขนานของจุดนี้ หรือเดินทางผ่านมีกอตนี้ อัล-ญุหฺฟะฮฺเป็นหมู่บ้านใกล้สถานที่ซึ่งเรียกว่ารอบิฆฺ ห่างจากเมืองมักกะฮฺ 186 ก.ม. โดยประมาณ ซึ่งในปัจจุบันนี้ผู้คนจะเริ่มเนียตครองอิหฺรอมจากรอบิฆซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอัล-ญุหฺฟะฮฺ
    2.3 ยะลัมลัม : คือมีกอตของชาวเยเมน และผู้ที่ผ่านแนวขนานของจุดนี้ หรือเดินทางผ่านมาทางมีกอตนี้ ยะลัมลัมนั้นเป็นทุ่งซึ่งห่างจากมักกะฮฺ 120 ก.ม. โดยประมาณ ณ ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า (อัส-สะอฺดิยะฮฺ)
    2.4 ก็อรฺนุลมะนาซิล : คือมีกอตของชาวนัจดฺ และฏออิฟ และผู้ที่ผ่านแนวขนานของจุดนี้ หรือเดินทางผ่านมีกอตนี้ ในปัจจุบันนี้รู้จักกันในนาม (อัสสัยลฺ อัลกะบีรฺ) ระยะห่างระหว่างที่นี่กับมักกะฮฺคือ 75 ก.ม. โดยประมาณ ซึ่งทุ่งมะหฺร็อมคือส่วนที่อยู่เหนือสุดของก็อรฺนุลมะนาซิล
    2.5 ซาตะอิรฺก์ : คือมีกอตของชาวอิรักและผู้ที่เดินทางผ่านแนวขนานของจุดนี้ หรือผ่านมีกอตนี้ มีลักษณะเป็นทุ่ง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัล-เฎาะรีบะฮฺ ห่างจากมักกะฮฺ 100 ก.ม. โดยประมาณ
    ส่วนผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ในเขตมีกอตเหล่านี้ก็ให้เริ่มเนียตครองอิหฺรอมจากจุดที่ตนอาศัยอยู่
    จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم وَقَّتَ لِأَهْلِ المَدِينَةِ ذَا الحُلَيْفَةِ، وَلِأَهْلِ الشَّامِ الـجُحْفَةَ، وَلِأَهْلِ نَجْدٍ قَرْنَ المَنَازِلِ، وَلِأَهْلِ الْيَمَنِ يَلَمْلَمَ، فَهُنَّ لَـهُنَّ، وَلِـمَنْ أَتَى عَلَيْهِنَّ مِنْ غَيْرِ أَهْلِهِنَّ، لِــمَنْ كَانَ يُرِيدُ الحَجَّ وَالْعُمْرَةَ، فَمَنْ كَانَ دُونَـهُنَّ فَمُهَلُّهُ مِنْ أَهْلِهِ، وَكَذاكَ حَتَّى أَهْلُ مَكَّةَ يُـهِلُّونَ مِنْهَا»
ความว่า : “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดให้ซุลหุลัยฟะฮฺเป็นมีกอตของชาวมะดีนะฮฺ และให้อัล-ญุหฺฟะฮฺเป็นมีกอตของชาวเมืองชาม ให้ก็อรฺนุลมะนาซิลเป็นมีกอตของชาวนัจด์ และยะลัมลัมเป็นมีกอตของชาวเยเมน มีกอตเหล่านี้สำหรับชาวเมืองนั้นๆ และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวเมืองนั้นๆแต่เดินทางผ่าน ทั้งหมดนี้สำหรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ ส่วนผู้ที่อยู่เลยมีกอตเหล่านี้เข้ามาแล้วก็ให้เริ่มครองอิหฺรอมจากที่ที่เขาอยู่ ชาวมักกะฮฺก็เช่นเดียวกัน ให้เริ่มครองอิหฺรอมจากมักกะฮฺ“ (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ : 1526 และมุสลิม : 1181)


วิธีการเริ่มครองอิหฺรอมสำหรับผู้ที่พำนักอยู่ในอาณาเขตมีกอตทั้งห้า
    ผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์จากมักกะฮฺนั้นตามสุนนะฮฺแล้วให้เริ่มเนียตครองอิหฺรอมจากมักกะฮฺ แต่ถ้าจะเริ่มเนียตจากนอกเขตหะร็อมก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนชาวมักกะฮฺที่ประสงค์จะประกอบพิธีอุมเราะฮฺนั้นให้ออกไปเริ่มเนียตครองอิหฺรอมนอกเขตหะร็อม เช่น ที่มัสยิดอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตันอีม หรือจะเป็นที่อัล-ญิอิรฺรอนะฮฺ ตามแต่จะสะดวก ถ้าหากเจตนาเริ่มครองอิหฺรอมในเขตหะร็อมโดยที่รู้ถึงหุก่ม ก็ถือว่าการครองอิหฺรอมของเขาใช้ได้แต่จะเป็นบาป และจำเป็นที่เขาจะต้องทำการเตาบะฮฺขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺตะอาลา

หุก่มการล้ำเขตมีกอตโดยที่ยังไม่ได้เนียตครองอิหฺรอม
    1.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺล้ำผ่านมีกอตในสภาพที่ยังไม่ได้เนียตครองอิหฺรอม ผู้ใดล้ำผ่านโดยมิได้ครองอิหฺรอมจำเป็นที่เขาต้องย้อนกลับไปยังมีกอตและทำการเนียตครองอิหฺรอมจากที่นั่น ถ้าหากเขาเจตนาไม่ย้อนกลับไปแต่เริ่มครองอิหฺรอมจากจุดที่ตนอยู่ โดยที่เขารู้ถึงหุก่มของการกระทำของเขา เช่นนี้ถือว่าเป็นบาป แต่หัจญ์และอุมเราะฮฺของเขาถือว่าใช้ได้ และถ้าหากเขาทำการเนียตครองอิหฺรอมก่อนถึงมีกอตก็ถือว่าใช้ได้แต่เป็นมักรูฮฺ
    2.ผู้ที่ล้ำผ่านมีกอตโดยที่เขาไม่ได้ประสงค์จะประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ แต่เมื่อผ่านไปแล้วเกิดความคิดอยากจะประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺก็ให้เขาเนียตครองอิหฺรอมจากจุดที่เขาอยู่ นอกจากว่าต้องการประกอบพิธีอุมเราะฮฺเพียงอย่างเดียว กรณีนี้ถ้าหากว่าเขาอยู่ในเขตหะร็อมก็ให้ออกไปนอกเขต แต่ถ้าอยู่นอกเขตหะร็อมอยู่แล้วก็ให้เนียตครองอิหฺรอมจากจุดที่เขาอยู่ได้

    ชาวมักกะฮฺสามารถเนียตครองอิหฺรอมแบบอิฟรอด (หัจญ์อย่างเดียว) หรือกิรอน (หัจญ์พร้อมอุมเราะฮฺ) จากมักกะฮฺได้เลย แต่ถ้าพวกเขาประสงค์จะประกอบพิธีอุมเราะฮฺอย่างเดียว หรืออุมเราะฮฺต่อหัจญ์ (ตะมัตตุอฺ) จะต้องออกไปเริ่มครองอิหฺรอมจากนอกเขตหะร็อม เช่นตันอีม หรืออัล-ญะอัรฺรอนะฮฺ เป็นต้น

วิธีการเนียตครองอิหฺรอมบนเครื่องบิน
    ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ อุมเราะฮฺ หรือหัจญ์พร้อมอุมเราะฮฺโดยเครื่องบินก็ให้เขาเนียตเริ่มครองอิหฺรอมบนเครื่องบินเมื่อเครื่องผ่านแนวขนานของมีกอตใดมีกอตหนึ่งตามที่กล่าวมา โดยให้เขาสวมชุดอิหฺรอมแล้วเนียตเริ่มครองอิหฺรอม ถ้าหากเขาไม่มีชุดอิหฺรอมก็ให้เนียตในสภาพที่สวมกางเกงได้และให้เปิดศีรษะ เมื่อลงจากเครื่องเมื่อไหร่ก็ให้หาชุดอิหฺรอมมาสวมใส่
    และไม่อนุญาตให้เนียตครองอิหฺรอม ณ สนามบินเมืองญิดดะฮฺ ถ้าหากกระทำเช่นนั้นจำเป็นต้องกลับไปยังมีกอตที่ใกล้ที่สุดเพื่อเนียตเริ่มครองอิหฺรอม ถ้าหากไม่กลับไปและเจตนาทำการเนียตที่สนามบินหรือในจุดที่เลยมีกอตมาแล้วโดยรู้ถึงหุก่มของการกระทำนั้นก็ถือว่าเป็นบาป แต่พิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้
    จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
خطبنا النبي صلى الله عليه وسلم بعرفاتٍ فقال: «مَنْ لَـمْ يَـجِدِ الإزَارَ فَلْيَلْبَسِ السَّرَاوِيلَ، وَمَنْ لَـمْ يَـجِدِ النَّعْلَيْنِ فَلْيَلْبَسِ الخُفَّيْنِ». متفق عليه
ความว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวคุฏบะฮฺให้เราฟัง ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ และกล่าวว่า “ผู้ใดไม่มีผ้าก็ให้เขาสวมกางเกงได้ และผู้ใดที่ไม่มีรองเท้าแตะก็ให้เขาสวมใส่รองเท้าคุฟได้” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 1843 และมุสลิม : 1178)