เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

Muhammad ibn Saleh al-Othaimeen

วันที่ :

Wed, Aug 31 2016

ประเภท :

Jurisprudence

ผู้ป่วยจะทำความสะอาดจากหะดัษและจะละหมาดอย่างไร


ผู้ป่วยจะทำความสะอาด
จากหะดัษและละหมาดอย่างไร

كيف يتطهر المريض ويصلي

< التايلاندية >

        
ชัยคฺมุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน

الشيخ محمد  صالح  العثيمين





ผู้แปล: ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ผู้ตรวจ: อุษมาน  อิดรีส
 
ترجمة: فيصل  عبد الهادي
مراجعة: عثمان  إدريس

 

 

ผู้ป่วยจะทำความสะอาดจากหะดัษและละหมาดอย่างไร?
        
ผู้ป่วยจะทำความสะอาดจากหะดัษอย่างไร
    1.  ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำความสะอาดจากหะดัษด้วยน้ำ ดังนั้น ให้เขาอาบน้ำละหมาดเพื่อชำระหะดัษเล็กและอาบน้ำวาญิบเพื่อชำระหะดัษใหญ่
    2. หากผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดจากหะดัษด้วยน้ำ เนื่องจากไม่มีความสะดวก เกรงว่าอาการป่วยจะหนักยิ่งขึ้น หรืออาจทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะหายดี ก็ให้เขา “ตะยัมมุม”
    3. วิธีการตะยัมมุมคือ ให้เอาฝ่ามือสองข้างตบฝุ่นดินที่สะอาดหนึ่งครั้ง แล้วลูบใบหน้าด้วยฝ่ามือทั้งสอง หลังจากนั้น ให้ลูบฝ่ามือทั้งสองข้าง โดยใช้ฝ่ามือซ้ายลูบหลังมือขวาและฝ่ามือขวาลูบหลังมือซ้าย
    4.  หากผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดจากหะดัษด้วยตนเอง ก็อนุญาตให้บุคคลอื่นช่วยอาบน้ำละหมาดหรือตะยัมมุมให้ได้
    5. หากอวัยวะที่จำเป็นต้องทำความสะอาดมีบาดแผล ให้พยายามล้างด้วยน้ำเสียก่อน หากการล้างด้วยน้ำมีผลต่อบาดแผลก็ให้ลูบ โดยเอามือชุบน้ำให้เปียกแล้วลูบผ่านอวัยวะนั้นไป และหากการลูบอาจมีผลต่อบาดแผลอีก ก็ให้เขาตะยัมมุม
    6. หากอวัยวะที่จำเป็นต้องทำความสะอาดมีผ้าพันแผลหรือเข้าเฝือก ให้ผู้ป่วยลูบบนผ้าพันแผลหรือเฝือกแทนการล้างอวัยวะส่วนนั้น และไม่จำเป็นต้องทำการตะยัมมุม เพราะการลูบได้แทนการล้างแล้ว
    7. อนุญาตให้ตะยัมมุมโดยตบบนกำแพงหรือสิ่งอื่นที่สะอาดที่มีฝุ่นดินเกาะ และหากกำแพงไม่ใช่ชนิดดิน ไม่อนุญาตให้ทำการตะยัมมุมได้เว้นแต่ว่าจะมีฝุ่นดินเกาะอยู่
    8. หากไม่ตะยัมมุมกับพื้นดิน กำแพง หรือสิ่งอื่นที่มีฝุ่นดินเกาะอยู่ อนุญาตให้เอาฝุ่นไว้บนถาดหรือผ้า แล้วทำการตะยัมมุมกับฝุ่นดินดังกล่าว
    9. เมื่อผู้ป่วยได้ตะยัมมุมเพื่อละหมาดเวลาหนึ่ง แล้วเขายังคงอยู่ในสภาพที่สะอาดนั้นจนเข้าเวลาละหมาดที่สอง ให้เขาละหมาดเวลาที่สองด้วยตะยัมมุมครั้งแรกโดยไม่ต้องตะยัมมุมใหม่ เพราะเขายังอยู่ในสภาพที่สะอาดและไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ความสะอาดเป็นโมฆะ
    10. ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำความสะอาดร่างกายให้ปราศจากจากสิ่งที่เป็นนะญิส หากไม่มีความสามารถ ให้เขาละหมาดตามสภาพที่อำนวย การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้และไม่ต้องละหมาดชดใช้
    11.  ผู้ป่วยจำเป็นต้องละหมาดด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด หากเสื้อผ้ามีนะญิสเปรอะเปื้อนจำเป็นต้องล้างหรือเปลี่ยนใช้เสื้อผ้าที่สะอาด แต่หากไม่มีความสามารถ ให้เขาละหมาดตามสภาพที่อำนวย การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้และไม่ต้องละหมาดชดใช้
    12.  ผู้ป่วยจำเป็นต้องละหมาดณ สถานที่สะอาด หากสถานที่นั้นมีนะญิส จำเป็นต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนเป็นสถานที่สะอาดแทน หรือให้เอาสิ่งที่สะอาดมาปู แต่หากไม่มีความสามารถ ให้เขาละหมาดตามสภาพที่อำนวย การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้และไม่ต้องละหมาดชดใช้
    13. ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยประวิงเวลาละหมาดจนล่วงเวลาโดยอ้างเหตุผลไม่สามารถทำความสะอาด แต่ทั้งนี้ ให้เขาทำความสะอาดเท่าที่มีความสามารถและให้ละหมาดในเวลา ถึงแม้ว่าบนร่างกาย เสื้อผ้า หรือสถานที่ละหมาดจะมีนะญิสก็ตาม ทั้งนี้หลังจากที่เขาได้พยายามทำความสะอาดมันแล้ว

ผู้ป่วยจะละหมาดอย่างไร?
    1.  ผู้ป่วยจำเป็นต้องยืนละหมาด ถึงแม้จะยืนในลักษณะโค้ง พิงกับผนัง หรือใช้ไม้เท้าพยุงก็ตาม
    2.  หากผู้ป่วยไม่มีความสามารถยืนละหมาด ให้ละหมาดในท่านั่ง และที่ดีที่สุดคือให้นั่งท่าขัดสมาธิในอิริยาบถยืนและรุกูอฺ
    3.  หากผู้ป่วยไม่มีความสามารถละหมาดในท่านั่ง ให้ละหมาดในท่านอนตะแคงโดยหันส่วนหน้าไปทางกิบลัต และการตะแคงขวานั้นดีที่สุด หากไม่สามารถหันไปทางกิบลัตได้ให้ละหมาดตามสภาพอำนวย การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้และไม่ต้องละหมาดชดใช้
    4.  หากผู้ป่วยไม่มีความสามารถนอนตะแคง ก็ให้นอนหงาย โดยให้หันเท้าทั้งสองไปทางกิบลัต และทางที่ดีควรยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้หันไปทางทิศกิบลัต หากไม่มีความสามารถหันเท้าทั้งสองไปทางทิศกิบลัต ให้ละหมาดตามสภาพสะดวก และไม่ต้องละหมาดชดใช้
    5.  เมื่อทำการละหมาด ผู้ป่วยจำเป็นต้องรุกูอฺและสุญูด หากไม่มีความสามารถให้คำนับศีรษะแทนการรุกูอฺและสุญูด โดยให้คำนับแทนการสุญูดต่ำกว่าการคำนับแทนการรุกูอฺ หากมีความสามารถรุกูอฺแต่ไม่มีความสามารถสุญูด ให้ผู้ป่วยรุกูอฺตามปกติและคำนับศีรษะแทนการสุญูด และหากมีความสามารถสุญูดแต่ไม่มีความสามารถรุกูอฺ ให้สุญูดตามปกติและให้คำนับศีรษะแทนการรุกูอฺ
    6.  หากผู้ป่วยไม่มีความสามารถคำนับศีรษะแทนการรุกูอฺและสุญูด ให้เขาทำสัญญาณด้วยตา กล่าวคือ ให้หรี่ตาลงเล็กน้อยแทนการรุกูอฺ และให้หรี่ตาลงมากกว่าเดิมแทนการสุญูด ส่วนการชี้ด้วยนิ้วดังที่ผู้ป่วยบางคนได้ถือปฏิบัตินั้น ไม่ถูกต้อง และฉันไม่รู้ว่ามีหลักฐานจากอัลกุรอาน สุนนะฮฺ หรือทัศนะของนักวิชาการให้กระทำเช่นนั้นเลย
    7.  หากผู้ป่วยไม่สามารถคำนับศีรษะหรือทำสัญญาณด้วยตา ให้เขาละหมาดด้วยหัวใจ กล่าวคือให้กล่าวตักบีรและอ่านตามปกติ แต่ในขณะรุกูอฺ สุญูด ยืนจากรุกูอฺ และนั่งนั้น ให้เขานึกในใจว่ากำลังปฏิบัติอิริยาบถดังกล่าว และทุก ๆ คนนั้นจะได้รับตามที่เขาตั้งเจตนา
    8. ผู้ป่วยจำเป็นต้องละหมาดในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดและต้องปฏิบัติอย่างสุดความสามารถที่อาจกระทำได้ในละหมาด หากเขารู้สึกลำบากที่ต้องละหมาดในเวลาที่กำหนด อนุญาตให้เขาละหมาดรวมได้ (โดยไม่มีการย่อ) ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดรวมแบบ”ตักดีม” คือละหมาดอัศรีในเวลาซุฮฺรี และละหมาดอิชาอ์ในเวลามัฆริบ หรือแบบ “ตะอ์คีร” คือละหมาดซุฮฺรีในเวลาอัศรีและละหมาดมัฆริบในเวลาอิชาอ์ ตามที่ผู้ป่วยสะดวกจะถือปฏิบัติ ส่วนละหมาดศุบหฺไม่มีการละหมาดรวมใด ๆ ทั้งสิ้น
    9.  เมื่อผู้ป่วยต้องเดินทางเพื่อรักษาตัว ให้เขาย่อละหมาดที่มีจำนวนสี่ร็อกอัตเป็นสองร็อกอัตได้ กล่าวคือ ให้เขาละหมาดซุฮฺรี อัศรี อิชาอ์ สองร็อกอัต จนกว่าเขาจะเดินทางกลับบ้าน ไม่ว่าการพำนักนั้นจะนานหรือไม่ก็ตาม

หะดีษต่าง ๆ ที่พูดถึงความประเสริฐของการป่วย ความทุกข์ยาก และการอดทนต่อสิ่งเหล่านั้น
    1. จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺและอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا يُصِيبُ المُسْلِمَ، مِنْ نَصَبٍ وَلاَ وَصَبٍ، وَلاَ هَمٍّ وَلاَ حُزْنٍ وَلاَ أَذًى وَلاَ غَمٍّ، حَتَّى الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا، إِلَّا كَفَّرَ اللَّهُ بِهَا مِنْ خَطَايَاهُ»
“มุสลิมจะไม่ประสบกับความเหน็ดเหนื่อย การเจ็บป่วย ความวิตกกังวล ความเศร้าโศก ความเดือดร้อน ความหม่นหมอง หรือแม้แต่หนามที่เขาโดนตำ นอกจากอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดเขาเนื่องจากสิ่งเหล่านั้นที่เขาประสบ”
[มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ]

    2. จากท่านอบูมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا مِنْ مُسْلِمٍ يُصِيبُهُ أَذًى مِنْ مَرَضٍ، فَمَا سِوَاهُ إِلَّا حَطَّ اللهُ بِهِ سَيِّئَاتِهِ، كَمَا تَحُطُّ الشَّجَرَةُ وَرَقَهَا»
“มุสลิมคนหนึ่งจะไม่ประสบกับความเดือดร้อน ไม่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยหรือสิ่งอื่นจากนั้น เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ ของเขา ดังที่ต้นไม้ได้สลัดใบของมันให้ร่วงหล่น”
[มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ]
    3. จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا مِنْ مُصِيبَةٍ تُصِيبُ المُسْلِمَ إِلَّا كَفَّرَ اللَّهُ بِهَا عَنْهُ، حَتَّى الشَّوْكَةِ يُشَاكُهَا»
“มุสลิมคนหนึ่งจะไม่ประสบกับเคราะห์ภัยเว้นแต่อัลลอฮฺจะอภัยโทษเนื่องด้วยเคราะห์ภัยนั้น แม้กระทั่งจะเป็นเพียงหนามตำก็ตาม”
[มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ]
    4.  จากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«يَوَدُّ أَهْلُ العَافِيَةِ يَوْمَ القِيَامَةِ حِينَ يُعْطَى أَهْلُ البَلَاءِ الثَّوَابَ لَوْ أَنَّ جُلُودَهُمْ كَانَتْ قُرِضَتْ فِي الدُّنْيَا بِالمَقَارِيضِ»
“ในวันกิยามะฮฺ ผู้มีสุขภาพดีเมื่อได้เห็นผลบุญที่ผู้ประสบเคราะห์ภัยได้รับก็ปรารถนาว่าหากในโลกดุนยาผิวหนังของพวกเขาถูกตัดด้วยกรรไกร(เพื่อหวังในผลบุญของผู้ประสบเคราะห์ภัยได้รับ) ”
[บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ, และชัยคฺอัล-อัลบานียฺเห็นว่าเป็นหะดีษที่หะสัน]

เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ขอทรงให้ผู้ป่วยมุสลิมทุกคนได้หาย แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ได้ยิน ผู้ทรงตอบรับการวิงวอนขอ