เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

عبده قايد الذريبي

วันที่ :

Mon, Sep 05 2016

ประเภท :

For New Muslim

คำแนะนำก่อนทำหัจญ์

คำแนะนำก่อนทำหัจญ์
] ไทย – Thai – تايلاندي [

 

 


อับดุฮฺ กอยิด อัซ-ซุร็อยบีย์

 


แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : เว็บไซต์อัลอะลูกะฮฺ www.alukah.net

 

 


2014 - 1435
 
قبل أن تحج
« باللغة التايلاندية »

 

 

عبده قايد الذريبي

 


ترجمة: محمد صبري يعقوب
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: شبكة الألوكة www.alukah.net

 

 

2014 - 1435
 
 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

คำแนะนำก่อนทำหัจญ์

    พี่น้องผู้ทำหัจญ์ที่มีเกียรติ  –ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานให้เราและท่านทั้งหลายได้รับความพึงพอพระทัยของพระองค์ และขอให้เราและท่านทั้งหลายห่างไกลจากความกริ้วโกรธของพระองค์- พึงทราบเถิดว่า จำเป็นสำหรับท่านก่อนที่จะทำหัจญ์จะต้องได้รับการอบรมเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ อันได้แก่

หนึ่ง ท่านต้องเรียนรู้วิธีการทำหัจญ์ เงื่อนไข(ชุรูฎ)ของการทำหัจญ์ หลักปฏิบัติที่สำคัญ(รุก่น)ของการทำหัจญ์ สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติและสิ่งที่เป็นสุนัต ทั้งที่เป็นคำกล่าวและอิริยาบถต่างๆ รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ ของการทำหัจญ์ ดังที่ชัยคฺอิบนุ อัล-อุษัยมีน ได้กล่าวว่า “คงจะเป็นสิ่งที่ดียิ่ง ถ้าคนที่จะทำหัจญ์ได้เรียนรู้หุกุ่มต่างๆ ของการทำหัจญ์ก่อนที่เขาจะทำหัจญ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาได้ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยความรู้ที่ถูกต้อง และจะได้ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ดีที่สุด หากคนคนหนึ่งต้องการที่จะเดินทางไปยังเมืองหนึ่ง ท่านก็จะพบว่าเขาจะถามถึงเส้นทางของมัน จนกระทั่งไปยังเป้าหมายตามคำแนะนำนั้น แล้วจะเป็นเช่นไรสำหรับคนที่ต้องการเดินทางไปสู่อัลลอฮฺ ตะอาลา และสวนสวรรค์ของพระองค์  มันไม่ใช่สิ่งที่คู่ควรกว่าดอกหรือ ที่เขาจะต้องถาม(และเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ) ก่อนที่เขาจะเดินทางไปหา ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้” (หนังสือ “อัคฏออ์ ยัรตะกิบุฮา บะอฺฎุลหุจญาจญ์” หน้า 25)

สอง เตาบะฮฺหรือกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺด้วยความจริงใจ และให้ครบเงื่อนไขต่างๆ ของมัน ส่วนหนึ่งก็คือ การเสียใจในสิ่งที่เคยทำความผิดบาป และตั้งใจที่จะไม่หวนคืนไปทำความผิดนั้นอีก และให้คืนสิทธิต่างๆ ของผู้เป็นเจ้าของ และให้ผู้ที่มีสิทธิ์นั้นให้อภัย รวมถึงคืนของที่รับฝากหรือให้ฝากกับคนที่น่าเชื่อถือจนกว่าจะกลับมา

สาม ขออภัยและไม่เอาโทษแก่กัน โดยเฉพาะจากบิดามารดา จากคนในครอบครัว ลูกๆ และมิตรสหายทุกคน และให้เขียนคำสั่งเสีย(วะศียะฮฺ)ก่อนที่ท่านจะเดินทาง เพราะท่านไม่รู้ว่าอัลลอฮฺได้กำหนดชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง และให้เขียนอย่างชัดเจนในสิทธิ์ของท่านและสิทธิ์ที่ท่านจะต้องปฏิบัติ และให้มีพยานในสิ่งนั้นด้วย

สี่ จงเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับภรรยาและลูกๆ ในช่วงเวลาที่ท่านไม่อยู่กับพวกเขาให้ครบถ้วน ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«كَفَى بِالْمَرْءِ إِثْمًا أَنْ يُضَيِّعَ مَنْ يَقُوتُ» [أخرجه أبوداود  رقم 1692]  
ความว่า “เพียงพอแล้วที่คนคนหนึ่งจะมีความผิด เนื่องด้วยเขาได้ละเลยในการดูแลคนในครอบครัวของเขา” (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลข 1692)

     ห้า พยายามทำให้เสบียงและทรัพย์สินที่จะใช้ในการเดินทางเป็นสิ่งที่หะลาลและดีที่สุด ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
« إِنَّ اللَّهَ  طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إِلَّا طَيِّبًا » [أخرجه مسلم (رقم (1015).]    
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงดี และจะไม่ตอบรับสิ่งใดนอกจากเป็นสิ่งที่ดี” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1015)

ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “คนที่ทำหัจญ์ที่ดีเลิศที่สุดคือคนที่มีความบริสุทธิ์ใจมากที่สุด และมีทรัพย์สินเพื่อการใช้จ่ายที่สะอาดที่สุด และมีความเชื่อมั่นที่งดงามที่สุด” (หนังสือ “อิหฺยาอ์ อุลูม อัดดีน” โดยท่านอัล-เฆาะซาลีย์ เล่ม 1 หน้า 262)
แต่ถ้าการทำหัจญ์ของท่านนั้นมาจากทรัพย์สินที่หะรอม สิ่งที่ท่านจะได้รับเป็นผลตอบแทนนั้นก็คือความยากลำบากและความเหนื่อยล้า กวีท่านหนึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
إِذَا حَجَجْتَ بِمَالٍ أَصْلُهُ سُحُتٌ  *  فَمَا حَجَجْتَ وَلَكِنْ حَجَّتِ الْعِيرُ
لا يَقْبَلُ اللهُ إِلاَّ كُلَّ طَيِّبَةٍ   *  مَا كُلُّ مَنْ حَجَّ بَيْتَ اللهِ مَبْرُورُ
เมื่อท่านทำหัจญ์ด้วยกับทรัพย์สินที่หะรอม นั้นไม่ใช่การทำหัจญ์ของท่านแต่เป็นการทำหัจญ์ของเจ้าอูฐต่างหาก
อัลลอฮฺจะไม่รับสิ่งใดนอกจากเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทุกคนที่ทำหัจญ์ทำ ณ บัยตุลลอฮฺ จะถูกตอบรับเสียทั้งหมด

    กวีอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่า   
يَحُجُّونَ بِالمَالِ الذي يَجْمَعُونَهُ  *  حَرَامًا إلى البَيْتِ العَتِيقِ المُحَرَّمِ
وَيَزْعُمُ كُلٌّ مِنْهُمُ أَنَّ وِزْرَهُ  *  يُحَطُّ وَلَكِنْ فَوْقَهُ فِي جَهَنَّمِ
พวกเขาได้ทำหัจญ์ด้วยทรัพย์สินที่พวกเขาเก็บสะสมจากสิ่งที่หะรอม เพื่อไปยังบัยตุลลลอฮฺที่ศักดิ์สิทธิ์
พวกเขาทุกคนต่างกล่าวอ้างว่า จะบาปของแต่ละคนจะได้รับการลบล้าง แต่ความจริงแล้วเบื้องบนของเขานั้นคือญะฮันนัมต่างหาก   

มีคำถามถึงคณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยปัญหาศาสนาว่า “อะไรคือหุกุ่มของการทำหัจญ์ด้วยทรัพย์สินที่หะรอม หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด หลังจากนั้นก็เอาทรัพย์สินส่วนนี้ซื้อตั๋วเดินทางให้แก่บิดามารดาของพวกเขาเพื่อไปทำหัจญ์ ทั้งๆ ที่พวกเขารู้ดีว่าทรัพย์สินส่วนนั้นได้มาจากการค้ายาเสพติด ถามว่าการทำหัจญ์นี้จะถูกตอบรับหรือไม่ ?” คณะกรรมการถาวรฯ ได้ตอบว่า “การทำหัจญ์ด้วยทรัพย์สินที่หะรอมนั้นไม่ทำให้การทำหัจญ์โมฆะ แต่ก็ยังคงมีบาปเนื่องจากเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ขวนขวายจากสิ่งที่หะรอม และผลบุญของการทำหัจญ์นั้นก็จะบกพร่องไป แต่ก็ไม่ทำให้การทำหัจญ์เป็นโมฆะ” (ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮฺ อัด-ดาอิมะฮฺ ลิลบุหูษ อัล-อิลมียะฮฺ วัล-อิฟตาอ์ เล่ม 11 หน้า 43)

    หก พยายามเดินทางกับคนที่ดี คือคนที่จะคอยตักเตือนเมื่อท่านลืม และจะคอยสอนในสิ่งที่ท่านไม่รู้ และจะคอยช่วยเหลือเมื่อท่านไม่มีความสามารถ และจะคอยกระตุ้นให้ทำความดีเมื่อท่านอ่อนล้า ท่านอิบนุ ญะมาอะฮฺ ได้กล่าวในหนังสือของท่านว่า “มีความจำเป็นที่ต้องมีจรรยามารยาทที่ดีงามต่อคู่หูของเขา และให้ทุ่มเทความพยายามในการช่วยเหลือพวกเขาตราบเท่าที่ไม่เกิดผลเสียใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้น้ำต่อผู้ที่หิวกระหาย”

    เจ็ด มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และมุ่งตรงไปยังพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ในเรื่องนี้อัลลอฮฺได้สั่งใช้ไว้ว่า
﴿ وَأَتِمُّواْ ٱلۡحَجَّ وَٱلۡعُمۡرَةَ لِلَّهِۚ ١٩٦ ﴾ [البقرة: ١٩٦]  
ความว่า “และพวกเจ้าจงทำให้สมบูรณ์ซึ่งการทำหัจญ์และการทำอุมเราะฮฺเพื่ออัลลอฮฺเถิด” (สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ : 196)

ท่านอัส-สะอฺดีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ในอายะฮฺนี้มีคำสั่งใช้ให้มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺในการทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ” (ตัยสีร อัล-กะรีม อัร-เราะหฺมาน ฟี ตัฟสีร กะลาม อัล-มันนาน หน้า 90)
และอัลลอฮฺได้กำหนดให้ตัลบียะฮฺต่อพระองค์ด้วยคำกล่าวที่ว่า
«لَبَّيْكَ اللَّـهُـمَّ لَبَّيْكَ، لَبَّيْكَ لا شَرِيكَ لَكَ لَبَّيْكَ، إنَّ الحَـمْدَ وَالنِّعْمَةَ لَكَ وَالمُلْكَ، لا شَرِيكَ لَكَ»  [رواه البخاري (1475) ومسلم (1218) من حديث جابر - رضي الله عنه.]    
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ฉันตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์ ฉันตอบสนองพระองค์ ฉันตอบสนองพระองค์ ไม่มีสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์ แท้จริงมวลการสรรเสริญ ความโปรดปราน และอำนาจเป็นสิทธิของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1475 และมุสลิม หมายเลข 1218 จากหะดีษที่รายงานโดยท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)

    และระวังจากการทำให้ผลบุญของทำหัจญ์ได้บกพร่องไป เช่นการริยาอ์(การโอ้อวด)และสุมอะฮฺ(หวังชื่อเสียง) ใช่แต่เท่านั้น เมื่อท่านมีเจตนาในการทำหัจญ์ ก็จงขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอไว้ นั้นคือ
«اللَّهُمَّ هَذِهِ حِجَّةٌ لاَ رِيَاءَ فِيْهَا وَلاَ سُمْعَةَ»  [رواه ابن ماجه (2890)، وصحَّحه الألباني في "صحيح الترغيب والترهيب" (1122).]    
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ นี่คือหัจญ์ซึ่งปราศจากการริยาอ์(โอ้อวด)หรือสุมอะฮฺ(หวังชื่อเสียง)” (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หมายเลข 2890 ท่านชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ ใน “เศาะฮีหฺ อัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฮีบ” หน้า 1122)

    ความบริสุทธิ์ใจในการทำหัจญ์นั้นเป็นสิ่งที่ได้มายากและไม่ใช่ง่ายนัก มีรายงานว่าชายคนหนึ่งได้กล่าวแก่ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “หุจญาจญ์(คนที่มาทำหัจญ์)เยอะมาก” ท่านอิบนุอุมัร ได้กล่าวว่า “หุจญาจญ์น้อยมาก” แล้วเขาก็เห็นชายคนหนึ่งอยู่บนหลังอูฐในสภาพของคนเดินทางที่มีเสื้อผ้าขาดวิ่น แล้วเขา (อิบนุอุมัร) ก็กล่าวว่า “น่าจะเป็นคนนี้” (ที่อยู่ในจำนวนน้อยนิด) ท่านชุรอยห์กล่าวว่า “คนมาทำหัจญ์ (ด้วยความจริงใจต่ออัลลอฮฺ) นั้นน้อย ส่วนผู้เดินทางมานั้นมาก ผู้ที่ทำความดีช่างมากมายนักแต่ผู้ที่ทำดีเพื่อพระพักตร์ของพระองค์นั้นน้อยเหลือเกิน"
خَلِيلَيَّ قُطَّاعُ الفَيَافِي إلى الحِمَى * كَثِيرٌ وَأمَّا الواصِلُونَ قَلِيلُ
โอ้เพื่อนรัก คนที่เดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อไปหาทุ่งหญ้านั้น มีมากมาย ส่วนผู้ที่ไปถึงจุดหมายจริงๆ นั้นมีน้อยยิ่ง (ละฏออิฟ อัล-มะอาริฟ โดยอิบนุเราะญับ หน้า 236)

    แปด พยายามให้การทำหัจญ์ของท่านเสมือนการทำหัจญ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยให้ปฏิบัติตามท่านในการกระทำ คำกล่าว และอิริยาบถต่างๆ ดังที่ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لِتَأْخُذُوا مَنَاسِكَكُمْ ، فَإِنِّي لا أَدْرِي لَعَلِّي لا أَحُجُّ بَعْدَ حَجَّتِي هَذِهِ»   [رواه مسلم (1297).]    
ความว่า “พวกเจ้าจงเอาแบบอย่างการทำหัจญ์จากฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่าบางทีฉันอาจจะไม่มีโอกาสทำหัจญ์หลังจากการทำหัจญ์ในครั้งนี้ก็เป็นได้” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1297)
    ประหนึ่งว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่คนทำหัจญ์ทุกคนว่า “พวกท่านจงปฏิบัติตามฉันเถิด พวกท่านจงครองอิหฺรอมจากมีกอตเฉกเช่นที่ฉันได้ครอง จงกล่าวตัลบียะฮฺเฉกเช่นที่ฉันได้กล่าว จงเฏาะวาฟบัยตุลลอฮฺเจ็ด รอบเฉกเช่นที่ฉันได้เฏาะวาฟ และจงวุกูฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺเฉกเช่นที่ฉันได้วุกูฟ และให้ปฏิบัติเช่นนั้นในทุกขั้นตอนของการทำหัจญ์
    และนี่คือตัวอย่างจากท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ผู้ซึ่งเจริญรอยตามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในทุกเรื่อง แม้กระทั่งในครั้นที่ท่านได้ไปยังหินดำท่านก็ได้จูบมันเฉกเช่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้จูบ พร้อมกับกล่าวว่า
«إِنِّي أَعْلَمُ أَنَّكَ حَجَرٌ لَا تَضُرُّ وَلَا تَنْفَعُ وَلَوْلَا أَنِّي رَأَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُقَبِّلُكَ مَا قَبَّلْتُكَ»  [رواه البخاري (1597).]    
ความว่า “แท้จริงฉันรู้ดีว่าเจ้านั้นเป็นหิน ซึ่งไม่ก่อโทษหรือประโยชน์ใดๆ หากแม้นว่าฉันไม่เห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จูบเจ้า ฉันจะไม่จูบเจ้าอย่างแน่นอน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1597)

    บรรดานักวิชาการได้ถอดบทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งจากเรื่องนี้อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งจากนั้นคือ ให้น้อมรับบทบัญญัติต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และให้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้แม้ว่ายังไม่สามารถเล็งเห็นถึงประโยชน์ของมันก็ตาม ซึ่งนั่นคือกฎหลักที่ยิ่งใหญ่ในการเจริญรอยตามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสิ่งที่ท่านได้ทำเป็นแบบอย่างไว้ แม้ว่ายังไม่สามารถรู้ถึงเหตุผล(หิกมะฮฺ)ของการกระทำนั้นก็ตาม (ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 3 หน้า 463)
    และนี่คือท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร ผู้ที่เจริญรอยตามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในทุกเรื่อง ท่านจะปฏิบัติตามเฉกเช่นที่ท่านนบีได้ปฏิบัติ ซึ่งในครั้งที่ท่านได้ยกมือสลามต่อหินดำ ท่านก็ได้เน้นย้ำการเจริญรอยตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยการกล่าวว่า
«اللَّهُمَّ إيمَانًا بِك ، وَتَصْدِيقًا بِكِتَابِك ، وَاتِّبَاعًا لِسُنَّةِ نَبِيِّك» [رواه الطبراني في "الأوسط" (5/ 79).]    
ความว่า “ข้าแด่อัลลอฮฺ ข้าพระองค์(ตอวาฟ) ด้วยความมีใจศรัทธาต่อพระองค์ และเชื่อในคัมภีร์ของพระองค์ และเจริญรอยตามแบบอย่างท่านนบีของพระองค์” (บันทึกโดยอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ ใน “อัล-เอาสัฏ” เล่ม 5 หน้า 79)

    การปฏิบัติตามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นย่อมประสบกับความสำเร็จ ส่วนการสวนทางกับแบบอย่างของท่านนั้นย่อมประสบกับเคราะห์กรรม(ฟิตนะฮฺ) มีรายงานว่าชายคนหนึ่งได้ไปหาท่านอิมามมาลิก บิน อะนัส พลันกล่าวกับท่านว่า “โอ้อบู อับดิลลาฮฺ ฉันจะต้องเริ่มครองอิหฺรอมจากที่ใด ?” ท่านจึงตอบว่า “จากซุลหุลัยฟะฮฺ ซึ่งเป็นที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ครองอิหฺรอม” ชายคนนั้นจึงกล่าวว่า “แต่ฉันต้องการครองอิหฺรอมจากมัสญิด(อัน-นะบะวีย์)” ท่านจึงกล่าวว่า “ท่านอย่าปฏิบัติเช่นนั้น”  ชายคนนั้นได้กล่าวว่า “แท้จริงฉันต้องการครองอิหฺรอมจากมัสญิดตรงกุบูรของท่านนบี” ท่านจึงกล่าวว่า “ท่านอย่าปฏิบัติเช่นนั้น เพราะฉันเกรงว่าเคราะห์กรรมร้ายอาจจะประสบกับท่าน” ชายคนนั้นจึงถามว่า “เคราะห์กรรมนั้นคืออะไรกระนั้นหรือ ? ก็ในเมื่อการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการเพิ่มระยะทางเพิ่มขึ้น(มันไม่ดีกว่าดอกหรือ?)” ท่านจึงกล่าวว่า “จะมีเคราะห์กรรมใดที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าการที่ท่านเห็นว่าตัวท่านนั้นได้ล้ำหน้าความประเสริฐที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปฏิบัติไว้” และแท้จริงฉันได้ยินคำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ فَلۡيَحۡذَرِ ٱلَّذِينَ يُخَالِفُونَ عَنۡ أَمۡرِهِۦٓ أَن تُصِيبَهُمۡ فِتۡنَةٌ أَوۡ يُصِيبَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ ٦٣ ﴾ [النور : ٦٣]  
ความว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของนบี จงระวังว่าฟิตนะฮฺจะเกิดกับพวกเขา หรือการลงโทษอันเจ็บปวดจะโดนลงมายังพวกเขาได้” (สูเราะฮฺอัน-นูร : 63) (อัล-อิอฺติศอม โดยอัช-ชาฏิบีย์ หน้า 174)

    ดังนั้น หากท่านมุ่งเจตนาของท่านเพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว และมีความบริสุทธิ์ใจในการงานของท่านเพื่อพระองค์ และได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการทำหัจญ์ อัลลอฮฺก็จะทรงตอบรับการทำหัจญ์ของท่าน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ ٢ ﴾ [الملك: ٢]  
“เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง” (สูเราะฮฺอัล-มุลกฺ : 2)
    ท่านอิบนุกะษีร เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “การงานหนึ่งไม่สามารถจะเป็นสิ่งที่ดีได้ จนกว่ามันจะเป็นไปด้วยความบริสุทธ์ใจต่ออัลลอฮฺ และวางอยู่บนแบบฉบับของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้นเมื่อการงานใดๆ ปราศจากหนึ่งในเงื่อนไขทั้งสอง การงานนั้นก็จะสูญเสียและเป็นโมฆะไป” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร เล่ม 4 หน้า 266)  
     ท่านอัล-ฟุฎ็อยลฺ บิน อิยาฏ ได้อธิบายอายะฮฺ
﴿ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ ٢ ﴾ [الملك: ٢]  
“เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง” (สูเราะฮฺอัล-มุลกฺ : 2)
ผลงานที่ดียิ่งในที่นี้คือ “การงานที่มีความบริสุทธิ์ใจและมีความถูกต้องมากที่สุด” มีคนถามว่า “โอ้อบู อะลี อะไรคือการงานที่มีความบริสุทธิ์ใจและมีความถูกต้องมากที่สุด” ท่านได้กล่าวว่า “การงานที่มีความบริสุทธิ์ใจแต่ไม่มีความถูกต้องการงานนั้นย่อมไม่ถูกตอบรับ และหากว่าการงานนั้นมีความถูกต้องแต่เป็นการงานที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ การงานนั้นก็ย่อมไม่ถูกตอบรับเช่นเดียวกัน จนกว่าการงานนั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจและมีความถูกต้อง”  ท่านได้กล่าวเสริมอีกว่า “ความบริสุทธิ์ใจคือ การทำการงานเพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว และความถูกต้องคือ การทำการงานที่มีความสอดคล้องกับแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” (อิกติฎออ์ อัศ-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม โดยอิบนุตัยมียะฮฺเล่ม 2 หน้า 373)

    เก้า พยายามให้เกิดประโยชน์มากที่สุดจากการเดินทางไปทำหัจญ์เท่าที่จะทำได้ โดยให้นั่งร่วมอยู่คนดีๆ และหลีกห่างจากกลุ่มคนที่เกียจคร้าน และให้เติมเต็มเวลาของท่านไปด้วยกับการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา การอ่านอัลกุรอาน การรำลึกถึงอัลลอฮฺผู้ทรงสิทธิ์ในการตอบแทน(อัล-มะลิก อัด-ดัยยาน) การแนะนำให้ทำความดี และตักเตือนหักห้ามในเรื่องความชั่ว และคุณงามความดีที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ทำให้ได้รับความพึงพอพระทัยจากพระองค์ และกลับจากการทำหัจญ์เสมือนกับวันที่ท่านคลอดออกจากท้องมารดา ในสภาพที่บริสุทธิ์จากมลทินแห่งความผิดต่างๆ
เราขอต่ออัลลอฮฺให้เราและท่านได้อยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและถูกตอบรับ เพราะมันคือความหวังที่ยิ่งใหญ่และเป็นการวอนขอที่มีเกียรติที่สุด
ขอพรอันประเสริฐและความศานติของอัลลอฮฺจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด บรรดาเครือญาติและเศาะหาบะฮฺของท่านทุกคน

ที่มา
http://www.alukah.net/spotlight/0/45452/
http://www.saaid.net/mktarat/hajj/248.htm