จดหมายเปิดผนึกถึงคุณสามีที่รัก


จดหมายเปิดผนึกถึงคุณสามีที่รัก
] ไทย – Thai – تايلاندي [

 

 

ฝ่ายวิชาการของสำนักพิมพ์ ดารฺ อิบนิ คุซัยมะฮฺ

 


แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : สำนักพิมพ์อิบนุคุซัยมะฮฺ

 


2013 - 1434
 


شكاوى إلى زوجي العزيز
« باللغة التايلاندية »

 

 

القسم العلمي بدار ابن خزيمة

 


ترجمة: عصران نيومديشا
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: دار ابن خزيمة

 


2013 - 1434
 


 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

จดหมายเปิดผนึกถึงคุณสามีที่รัก
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์
    คุณสามีที่รัก.. ฉันบรรจงเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถึงคุณ โดยหวังว่ามันจะช่วยกระตุกต่อมความรู้สึกของคุณ และช่วยปลุกให้คุณตื่นจากภวังค์แห่งความละเลยหลงลืม ที่แย่งเอาความสุขความอบอุ่นไปจากชีวิตคู่ของเราทั้งสองได้..
    จดหมายฉบับนี้มิได้มีเจตนาที่จะตำหนิติเตียนคุณเลยสักนิด.. เพียงแต่อยากเตือนความจำของคุณด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราดำเนินต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น.. ให้เราได้คิดทบทวนและแก้ไขความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา แล้วให้คำมั่นสัญญาที่จะเคารพให้เกียรติความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา อันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงกำชับใช้ในอัลกุรอาน โดยพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَعَاشِرُوهُنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ ﴾ [النساء : ١٩]
ความว่า “และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี” (อัน-นิสาอ์: 19)
    และเนื่องจากฉันได้สัญญามั่นไว้แล้วว่าจะไม่แพร่งพรายความลับใดๆ ของคุณ และจะรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีของคุณอย่างที่สุด จึงไม่เป็นการสมควรที่ฉันจะร้องเรียนเรื่องราวความทุกข์ของฉันต่อผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ และตัวคุณเอง.. ในส่วนของข้อร้องเรียนต่ออัลลอฮฺนั้น ฉันได้วิงวอนขอให้พระองค์ทรงปรับปรุงให้คุณดีขึ้น.. ให้พระองค์ทรงส่งสัญญาณเตือนให้คุณทราบถึงข้อบกพร่องของคุณ เพื่อที่คุณจะได้เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือฉันทั้งในเรื่องศาสนาและเรื่องทางโลก.. แต่ฉันไม่ได้ขอสิ่งใดที่เป็นผลเสียต่อคุณเลยนะ.. ที่ฉันทำคือดุอาอ์ให้คุณได้รับแต่สิ่งที่ดี โดยฉันยึดถือตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبۡ لَنَا مِنۡ أَزۡوَٰجِنَا وَذُرِّيَّٰتِنَا قُرَّةَ أَعۡيُنٖ وَٱجۡعَلۡنَا لِلۡمُتَّقِينَ إِمَامًا ٧٤ ﴾ [الفرقان: ٧٤]  
ความว่า “และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของเราขอพระองค์โปรดประทานแก่เราซึ่งคู่ครองของเราและลูกหลานของเรา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตาของเรา และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง” (อัล-ฟุรกอน: 74)
    ส่วนการที่ฉันร้องเรียนต่อคุณด้วยนั้น ก็เพราะว่าฉันมองคุณในแง่ดี.. ฉันเชื่อว่าถ้าหากคุณในรับการเตือนสติคุณก็จะรู้ตัวและคิดได้.. และฉันก็ทราบว่าคุณเป็นมุอ์มินผู้ศรัทธา ซึ่งการเตือนสตินั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ศรัทธา
    ในจดหมายฉบับนี้ ฉันไม่ได้คิดจะแจกแจงข้อบกพร่องหรือบาปความผิดของคุณหรอกนะ.. เพราะคุณไม่ใช่มลาอิกะฮฺที่ใครจะมาคาดหวังว่าต้องปราศจากบาปความผิด.. และการตักเตือนให้คุณรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด หรือเป็นการกล่าวหาคุณแต่อย่างใด.. เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมเคยทำผิด.. ซึ่งคนที่ดีที่สุดในหมู่ผู้ที่ทำผิดนั้น ก็คือผู้ที่เร่งรีบเตาบัตกลับตัว จริงไหม ?..
     คุณสามีที่รัก ต่อไปนี้คือคำพูดและการกระทำบางอย่างของคุณ ที่ฉันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันเจ็บปวดยิ่งนัก.. และฉันก็หวังว่าสักวัน อัลลอฮฺจะทรงช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงนิสัยเหล่านี้ ฉันยังคงอยากที่จะเห็นแต่สิ่งดีๆในตัวคุณ.. ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ฉันก็คงจะมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง..
ทำไมคุณไม่รับฟังความคิดเห็นของฉันบ้าง?
ทุกครั้งที่ฉันแสดงความคิดเห็นด้วยความหวังดี.. คุณกลับเมินเฉย แถมยังตวาดใส่อย่างเกรี้ยวกราด.. คำแนะนำหรือข้อสังเกตที่ฉันพูดออกไป กลับกลายเป็นปัญหาที่รบกวนโสตประสาทของคุณ และทำให้คุณไม่พอใจ.. แล้วคุณก็มักจะแสดงอาการฉุนเฉียวและโมโหโกรธา.. การตักเตือนซึ่งกันและกันถือเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของการช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นความดีงามและความยำเกรงมิใช่หรือ? ดังที่อัลลอฮฺตรัสสั่งว่า
﴿ وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ ﴾ [المائ‍دة: ٢]  
ความว่า “และพวกเจ้าจงร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นความดีงามและเป็นความยำเกรง” (อัล-มาอิดะฮฺ: 2)
    ถ้าหากคุณพิจารณาแนวทางการปฏิสัมพันธ์ระหว่างท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กับบรรดาภริยาของท่าน และศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกนาง.. คุณจะพบว่าภริยาของท่านหลายต่อหลายคนก็เคยพูดคุยเพื่อร้องเรียนหรือขอให้ท่านทบทวนบางสิ่งบางอย่าง.. บรรดาภริยาของ
เศาะหาบะฮฺก็เช่นเดียวกัน.. ซึ่งสิ่งนั้นไม่ได้เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตคู่แต่อย่างใด.. แล้วนับประสาอะไรกับแค่เพียงการตักเตือนซึ่งกันและกัน หรือการปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ..
    ถ้าหากว่าเราทั้งหลายยึดหลักการตักเตือนซึ่งกันและกัน ปรึกษาระดมความคิด และจับเข่าพูดคุยกันเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ด้วยไมตรีจิตและความรักความเข้าใจ แน่นอนว่าบ้านของเราจะมีแต่ความสุขความอบอุ่น.. ชีวิตคู่ของเราก็จะประสบความสำเร็จ
    สามีจำนวนไม่น้อยทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือการปฏิเสธบทบาทของภรรยาในฐานะผู้ให้คำปรึกษา คำตักเตือน หรือให้ความช่วยเหลือ.. มีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “ถ้าหากท่านบอกให้เราทราบว่าทรัพย์ใดประเสริฐที่สุดก็คงจะดีนะครับ เราจะได้หามาถือครองกัน?” ท่านกล่าวตอบว่า
« أَفْضَلُهُ لِسَانٌ ذَاكِرٌ، وَقَلْبٌ شَاكِرٌ، وَزَوْجَةٌ مُؤْمِنَةٌ تُعِيْنُهُ عَلى إِيْمَانِهِ » [الترمذي برقم 3094، وصححه الألباني في صحيح سنن الترمذي]
ความว่า “ทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุดคือ ลิ้นที่รำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่เสมอ หัวใจที่ขอบคุณในความกรุณาของพระองค์ และภรรยาผู้มีความศรัทธา ซึ่งช่วยเสริมศรัทธาของสามี” (อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 3094 เป็นหะดีษเศาะฮีหฺตามการวินิจฉัยของอัล-อัลบานีย์)
    ด้วยเหตุนี้ สตรีที่ดีจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของความสุข หากขาดหายไปเสียความสุขก็คงจะไม่สมบูรณ์.. เพราะสตรีที่ดีนั้นมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสามีไปในทางที่ดี เปรียบดังกระจกเงาที่คอยส่องสะท้อนตัวตนของสามี
เดี๋ยวหย่าเสียเลยนี่!
    คุณใช้ถ้อยคำเช่นนี้ประหนึ่งดาบคมที่จ่อพาดคอฉัน.. คุณกล่าวมันออกมาอย่างง่ายดาย แม้แต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ โดยไม่เคยรู้สึกอะไร ทั้งที่มันเป็นเรื่องใหญ่.. เพราะเป็นการประกาศวาระสุดท้ายของครอบครัว และเป็นจุดจบของชีวิตคู่..
    ถ้าหากว่าการแต่งงานคือพันธะสัญญาที่สำคัญและหนักแน่น ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาตรัสไว้ว่า
﴿ وَأَخَذۡنَ مِنكُم مِّيثَٰقًا غَلِيظٗا ٢١ ﴾ [النساء : ٢١]   
ความว่า “และพวกนางก็ได้เอาคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นจากพวกเจ้าแล้วด้วย” (อัน-นิสาอ์: 21)
คุณก็ควรที่จะให้เกียรติในความยิ่งใหญ่และความสำคัญของพันธะสัญญานี้.. อย่าให้ปัญหารายวันที่มีกันแทบทุกบ้านต้องมาเป็นสาเหตุของความแตกหัก และทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างเราจนขาดสะบั้นเลย..
    คุณไม่เคยได้ยินหรือ ที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« لَا يَفْرَكْ مُؤْمِنٌ مُؤْمِنَةً، إِنْ كَرِهَ مِنْهَا خُلُقًا رَضِيَ مِنْهَا آخَرَ » أَوْ قَالَ: « غَيْرَهُ » [رواه مسلم برقم 1469]
ความว่า “ชายผู้ศรัทธา (สามี) อย่าได้รังเกียจเดียดฉันท์หญิงผู้ศรัทธา (ภรรยา) ถ้าหากเขาไม่ชอบลักษณะนิสัยข้อหนึ่งข้อใดในตัวนาง ก็อาจจะมีข้ออื่นที่เขาชอบ” (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 1649)
    ฉันไม่ใช่มลาอิกะฮฺ (อย่างที่คุณอยากให้ฉันเป็น).. เช่นเดียวกับที่คุณก็ไม่ใช่มลาอิกะฮฺ.. ทั้งคุณและฉันจึงอาจจะทำผิด หรือพลาดพลั้งได้เป็นธรรมดา.. แต่ฉันคิดว่าคนฉลาดคือคนที่มองความดีงามด้วยสายตาที่พึงพอใจ.. ในขณะเดียวกันก็มองความผิดพลาดพลั้งเผลอด้วยสายตาที่พร้อมจะให้อภัยและตักเตือนกัน.. กวีคนหนึ่งกล่าวว่า
وَمَنْ لَمْ يغْمِضْ عَينَهُ عَن صَدِيقِهِ   وعَن بَعْضِ مَا فِيهِ يَمُتْ وَهو عَاتِبُ
وَمَن يَتَتَبَّعْ جـَــاهِدًا كُـــلَّ عَثْرَةٍ   يَجِـدْهَا وَلَا يَسْـلَم لَهُ الدَّهْرَ صَاحِبُ
อันมิตรใดไม่เมินความพลาดผิด     ชั่วชีวิตคิดติเตียนเพียรจริงหนอ
หากง่วนหาพาตำหนิมิรั้งรอ     เพื่อนที่พอคลอคู่คบล้วนผิดเอย
    ทั้งนี้ หากใคร่ครวญให้ดีจะพบว่า หะดีษดังกล่าวข้างต้นได้ชี้แนะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับภรรยา ญาติพี่น้อง มิตรสหาย และทุกๆ คนที่ติดต่อปฏิสัมพันธ์ด้วย โดยให้ตระหนักอยู่เสมอว่ามนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีข้อควรตำหนิ มีข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่คุณไม่ชอบใจ เมื่อคุณพบเห็นสิ่งเหล่านั้นก็ให้ลองเปรียบเทียบระหว่างมุมไม่ดีที่คุณเห็น กับความสำคัญของการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทั้งนี้ ด้วยการพิจารณาถึงด้านดีๆ ของเขา การให้อภัยในความผิดพลาด แล้วนึกถึงความดีงามของอีกฝ่าย ความสัมพันธ์ก็จะยั่งยืน และราบรื่น.. (จากหนังสือ อัล-วะสาอิล อัล-มุฟีดะฮฺ โดย ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน อัส-สะอฺดีย์ หน้า 22)
    ที่กล่าวมานี้คือในกรณีที่ฉันได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไปจนคุณไม่พอใจ.. แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณกลับกล่าวคำหย่าออกมาโดยที่ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลยด้วยซ้ำ!
    คุณควรจะใส่ใจความรู้สึกของคนที่คุณใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันบ้าง.. เพราะคนที่ดีที่สุดนั้น คือคนที่ทำดีต่อภรรยามากที่สุด.. ซึ่งคนที่ไม่สะทกสะท้านต่อการหย่าร้าง โดยเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ ก็คงจะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของคนดีเป็นแน่แท้..
เป็นความผิดของฉันหรือที่ฉันไม่มีลูก?
    บ่อยครั้งที่ฉันเห็นสายตาของคุณจ้องจะตำหนิฉัน เนื่องจากฉันไม่มีลูก.. ฉันเจ็บปวดมากทุกครั้งที่เห็นสายตาคู่นั้น คุณคิดตำหนิฉัน ราวกับว่าการมีลูกนั้นอยู่ภายใต้การกำหนดของฉัน?.. คำพูดและสายตาของคุณยามที่จับจ้องมายังฉัน ทำให้รู้สึกประหนึ่งว่าคุณกำลังโทษว่าเป็นความผิดของฉัน ทั้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว?!
﴿ يَهَبُ لِمَن يَشَآءُ إِنَٰثٗا وَيَهَبُ لِمَن يَشَآءُ ٱلذُّكُورَ ٤٩ أَوۡ يُزَوِّجُهُمۡ ذُكۡرَانٗا وَإِنَٰثٗاۖ وَيَجۡعَلُ مَن يَشَآءُ عَقِيمًاۚ ﴾ [الشورى: ٤٩- ٥٠]  
ความว่า “พระองค์ทรงประทานลูกหญิงแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงประทานลูกชายแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือพระองค์ทรงประทานรวมให้แก่พวกเขาทั้งลูกชายและลูกหญิง และพระองค์ทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เป็นหมัน” (อัช-ชูรอ: 49-50)
    ทั้งนี้ ผู้ประทานลูกชายหรือลูกสาวนั้นคืออัลลอฮฺ.. มนุษย์เราไม่มีสิทธิโต้แย้ง.. ผู้ศรัทธาจึงต้องพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด ไม่ควรจะมีสภาพเหมือนกลุ่มชนในยุคญาฮิลิยะฮฺ
﴿ وَإِذَا بُشِّرَ أَحَدُهُم بِٱلۡأُنثَىٰ ظَلَّ وَجۡهُهُۥ مُسۡوَدّٗا وَهُوَ كَظِيمٞ ٥٨ يَتَوَٰرَىٰ مِنَ ٱلۡقَوۡمِ مِن سُوٓءِ مَا بُشِّرَ بِهِۦٓۚ أَيُمۡسِكُهُۥ عَلَىٰ هُونٍ أَمۡ يَدُسُّهُۥ فِي ٱلتُّرَابِۗ ﴾ [النحل: ٥٨-٥٩]  
ความว่า “และเมื่อผู้ใดในหมู่พวกเขาได้รับข่าวว่าได้ลูกผู้หญิงใบหน้าของเขากลายเป็นหมองคล้ำและเศร้าสลด เขาจะซ่อนตัวเองจากกลุ่มชน เนื่องจากความอับอายที่ได้ถูกแจ้งแก่เขา (พลางคิดไปว่า)เขาจะเก็บเอาไว้ด้วยความอัปยศหรือจะฝังมันในดินเสีย?” (อัน-นะหฺล์: 58-59)
    ฉันหวังว่าคุณคงจะตระหนักว่าการพึงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดนั้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงการมีศรัทธาที่สมบูรณ์.. และการมีลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของอัลลอฮฺ.. ไม่มีผู้ใดนอกเหนือจากพระองค์จะสามารถกำหนดได้
ความรักความอ่อนโยนของคุณหายไปไหน?
    เป็นเวลานานเท่าไรแล้วที่ฉันไม่ได้สัมผัสกับความรักความอ่อนโยนจากคุณ?.. สิ่งที่ขาดหายไปนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราขาดชีวิตชีวา ขาดสุนทรีภาพ.. คุณน่าจะรู้ว่าชีวิตคู่จะมีความสุขและราบรื่นได้ ต้องอาศัยความรักความผูกพันระหว่างสามีภรรยา.. ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمِنۡ ءَايَٰتِهِۦٓ أَنۡ خَلَقَ لَكُم مِّنۡ أَنفُسِكُمۡ أَزۡوَٰجٗا لِّتَسۡكُنُوٓاْ إِلَيۡهَا وَجَعَلَ بَيۡنَكُم مَّوَدَّةٗ وَرَحۡمَةًۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَأٓيَٰتٖ لِّقَوۡمٖ يَتَفَكَّرُونَ ٢١ ﴾ [الروم: ٢١]  
ความว่า “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้ แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ” (อัร-รูม: 21)
แต่ไหนเล่าความรักความอ่อนโยนที่คุณควรมีต่อฉัน? ไม่ว่าจะด้วยคำพูด สายตา หรือการกระทำ.. สิ่งที่ฉันได้รับมีแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวจากคำพูดของคุณ.. ความขยาดกลัวจากการนิ่งเงียบ.. สายตาของคุณเล่าก็ทำให้ฉันรู้สึกว้าเหว่เดียวดายและคิดมากไปต่างๆ นานา..
คุณก็รู้นี่ว่าคำพูดที่ดีถือเป็นการทำทานชนิดหนึ่ง.. และคุณก็ไม่ควรที่จะมองข้ามสิ่งดีๆ แม้จะเป็นเพียงการแสดงสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส.. ถ้ามารยาทเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อคนทั่วไปแล้วละก็ แน่นอนว่าผู้เป็นภรรยาย่อมสมควรได้รับสิทธิดังกล่าวยิ่งกว่า และก็คงเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺโปรดปราน และนำมาซึ่งความรักความผูกพันระหว่างสามีภรรยา
    บ้านที่ขาดซึ่งความรักความเข้าใจระหว่างสามีภรรยา คงจะเป็นบ้านที่ขาดความสุขและความอบอุ่น.. เพราะความรักความเข้าใจระหว่างคู่สามีภรรยานั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาโดยธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างมา.. คุณเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า?
    ถ้าหากว่าการมีมารยาทที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอื่นๆ แล้วละก็ แน่นอนว่าขณะอยู่ในบ้านย่อมจำเป็นยิ่งกว่า.. และถ้าหากว่าการมีความเมตตาอ่อนโยนต่อผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ กับภรรยาของคุณก็ย่อมสำคัญยิ่งกว่าจริงไหม?..
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
« خَيْرُكُم خَيْرُكُم لِأَهْلِهِ » [الترمذي برقم 3895]
ความว่า “คนที่ดีที่สุดในหมู่ท่าน คือคนที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของเขา” (อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 3895)
    หากย้อนมองดูการใช้ชีวิตของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กับบรรดาภริยาของท่าน จะเห็นแบบอย่างที่เด่นชัดในเรื่องของการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว.. เราจะเห็นว่าท่านหยอกล้อ พูดเล่น ทำให้พวกนางมีความสุขด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน สายตาที่เอ็นดู ปฏิบัติต่อกันด้วยความอ่อนโยน และพร้อมจะให้อภัยในความผิดพลาด
    ผู้เป็นภรรยามักต้องการความรักความอบอุ่นจากสามี ผ่านถ้อยคำที่นุ่มนวลและหวานซึ้งจับใจ.. ซึ่งการที่สามีไม่ให้ความสำคัญกับจุดนี้ อาจทำให้ชีวิตคู่ขาดสีสัน.. เพราะชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้มีแต่ร่างกายเปล่าๆ แต่ยังมีอารมณ์และความรู้สึกอีกด้วย.. เราไม่ใช่ก้อนอิฐก้อนปูนที่ไร้ซึ่งวิญญาณ!
    รู้ไหมว่าอ้อมกอดอันเปี่ยมด้วยไออุ่น บวกด้วยรอยยิ้มละมุนและมธุรสวาจาที่ตรึงใจของสามีนั้น สามารถทำให้ภรรยาหายเหนื่อยได้เป็นปลิดทิ้ง และยังเติมเต็มหัวใจของเธอที่โหยหาความรักความเข้าใจได้เป็นอย่างดี.. คุณควรจะย้อนพิจารณาตัวเองและยึดถือแบบฉบับจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสถึงท่านว่า
﴿ لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ ﴾ [الأحزاب : ٢١]  
ความว่า “โดยแน่นอน ในเราะสูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว” (อัล-อะหฺซาบ: 21)
    คุณควรจะขอบคุณภรรยาของคุณ สำหรับอาหารอร่อยๆ ที่เธอจัดเตรียมให้คุณด้วยมือของเธอ.. ขอบคุณเธอด้วยรอยยิ้ม สายตา และความรักความเอ็นดู.. จงกล่าวชมเธอ และพูดถึงความงามและด้านดีๆ ของเธอ.. รู้ไหมว่าผู้หญิงนั้นชอบถ้อยคำชื่นชม.. แม้ว่าการโกหกจะเป็นสิ่งต้องห้าม แต่อิสลามก็อนุโลมให้โกหกได้ หากจะเป็นการช่วยให้ความรักความผูกพันระหว่างสามีภรรยาแน่นแฟ้นและมีความเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น (จากหนังสือเอาดะตุล หิญาบ เล่ม 2 หน้า 417)
คุณเหลือเวลาให้ที่บ้านบ้างหรือเปล่า?
    ไม่บ่อยนักที่ฉันจะมีโอกาสได้พบคุณ ราวกับว่าฉันเป็นคนสุดท้ายที่คุณคิดจะพบเจอด้วย.. เวลาของคุณส่วนใหญ่หมดไปกับงาน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย และการเดินทาง.. คุณออกจากบ้านแต่เช้าตรู่.. กว่าจะกลับก็มืดค่ำดึกดื่น หลังจากที่ฉันและลูกๆ นั่งรอจนหมดความหวังที่จะได้พบหน้า..
    เมื่อมีโอกาสในช่วงวันอีดหรือวันหยุด.. คุณกลับใช้เวลาอยู่นอกบ้านโดยไม่สนใจสิทธิที่ภรรยาและลูกๆ ของคุณพึงได้รับ
คุณไม่เคยได้ยินหรือที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« فَإِنَّ لِأَهْلِكَ عَلَيْكَ حَقًّا، وَإِنَّ لِضَيْفِكَ عَلَيْكَ حَقًّا، وَإِنَّ لِنَفْسِكَ عَلَيْكَ حَقًّا، فَصُمْ وَأَفْطِرْ، وَصَلِّ وَنَمْ » [جزء من حديث رواه أحمد برقم 25104]    
ความว่า “เพราะแท้จริงแล้วภรรยาของท่านมีสิทธิบางประการเหนือท่าน แขกของท่านก็มีสิทธิบางประการเหนือท่าน ร่างกายของท่านก็มีสิทธิบางประการเหนือท่าน ดังนั้น ท่านจงถือศีลอดแล้วก็จงละเสียบ้าง และจงละหมาดแล้วก็นอนพักผ่อนบ้าง” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษซึ่งบันทึกโดยอะห์มัด 25104)
กลับมาหาเราเถิด.. บ้านของคุณยังต้องการความเห็นและคำแนะนำของคุณ.. เรายังต้องการคุณเป็นผู้นำและเป็นเสาหลักของบ้าน.. คุณคือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องมีความรับผิดชอบ.. และคุณก็จะถูกสอบสวนในสิ่งที่คุณรับผิดชอบ.. ดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«كُلُّكُمْ رَاع، وَكُلُكُمْ مَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ: فَالرَجُلُ رَاعٍ في أَهْلِ بَيْتِهِ وَهُوَ مَسْؤُوْلٌ عَنْهُمْ » [رواه البخاري ومسلم]
ความว่า “พวกท่านทุกคนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และพวกท่านทุกคนก็จะต้องรับผิดชอบและถูกสอบสวนในสิ่งที่ตนรับผิดชอบ ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบภรรยาและครอบครัวของเขา ซึ่งเขาก็จะต้องรับผิดชอบและจะถูกสอบสวนถึงความรับผิดชอบของเขาต่อคนเหล่านั้น” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)
    ได้โปรดอย่าให้ลูกๆ ของคุณต้องขาดคุณไป ทั้งที่คุณยังมีชีวิตอยู่เลย.. มิเช่นนั้นจะเป็นอย่างที่กวีคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
لَيسَ اليَتِيمُ مَن انتَهى أَبَوَاهُ    مِن هَمِّ الحياةِ وَخَلَّفَاهُ ذَليلاً
إِنَّ اليَتيـمَ هُو الَّذِيْ تَلْقَى لَهُ    أُمًّا تَخَـلَّتْ أَوْ أَبًـا مَشْـغُولاً
    เด็กกำพร้าหาใช่ใครไร้พ่อแม่   คอยดูแลแต่เยาว์วัยไปจากสิ้น
    กำพร้าแท้แม่ไม่สนจนอาจิณ   พ่อหากินสิ้นเวลาพาเศร้าใจ
อย่าให้ความระแวงครอบงำจิตใจคุณ
    คุณรู้ไหมว่าความหึงหวงและความระแวงสงสัยของคุณ ทำให้ฉันรู้สึกเบื่อหน่ายและสิ้นหวัง.. คุณมองฉันด้วยสายตาที่คอยจ้องจับผิด.. คำถามและกิริยาท่าทางของคุณก็เหมือนกำลังต้อนให้ฉันจนมุม.. กระทั่งว่าฉันเริ่มจะสงสัยในตัวฉันเองแล้วสิว่า ตกลงฉันเป็นจริงอย่างที่คุณมองฉันในแง่ร้ายหรือเปล่า ?..
    ฉันไม่ปฏิเสธว่าผู้เป็นสามีที่ดีและมีความเป็นลูกผู้ชาย ย่อมต้องรู้สึกสึกหวงแหนภรรยาเป็นธรรมดา.. สิ่งนี้ถือเป็นคุณลักษณะที่ดีของบุรุษเพศ.. แต่ถ้ามีมากจนเกินขอบเขตความพอดี..และแปรเปลี่ยนเป็นความระแวงสงสัย.. ก็จะกลายเป็นข้อเสียไปในทันที.. อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ إِنَّ بَعۡضَ ٱلظَّنِّ إِثۡمٞۖ ﴾ [الحجرات: ١٢]      
ความว่า “แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป” (อัล-หุญุรอต: 12)
    และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَلَا تَقۡفُ مَا لَيۡسَ لَكَ بِهِۦ عِلۡمٌۚ إِنَّ ٱلسَّمۡعَ وَٱلۡبَصَرَ وَٱلۡفُؤَادَ كُلُّ أُوْلَٰٓئِكَ كَانَ عَنۡهُ مَسۡ‍ُٔولٗا ٣٦ ﴾ [الإسراء: ٣٦]  
ความว่า “และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู ตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน” (อัล-อิสรออ์: 36)
    คุณจึงควรเยียวยารักษาความเคลือบแคลงสงสัย.. ด้วยการยึดถือแต่สิ่งที่คุณแน่ใจ.. อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
﴿ وَإِنَّ ٱلظَّنَّ لَا يُغۡنِي مِنَ ٱلۡحَقِّ شَيۡ‍ٔٗا ٢٨ ﴾ [النجم : ٢٨]  
ความว่า “และแท้จริงการคาดคะเนนั้น จะไม่อำนวยประโยชน์อันใดแก่ความจริงได้” (อัน-นัจญ์มฺ: 28)

ฉันมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากคุณ
    การปฏิบัติที่ดีต่อกันระหว่างคู่สามีภรรยานั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะการให้เงินทองค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือที่อยู่อาศัยเท่านั้น.. แต่ยังครอบคลุมสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย.. ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติ ความเมตตาเอ็นดู ความรักความอ่อนโยน การร่วมทุกข์ร่วมสุข การมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาต่อกันอย่างสุภาพนุ่มนวล รับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย คอยปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย และทำทุกวิถีทางที่จะให้ชีวิตคู่มีความสุข
    อิบนุ กะษีรฺ กล่าวว่า การอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดีนั้น ครอบคลุมถึงการสนทนาด้วยคำพูดที่ดี และแสดงออกผ่านการกระทำหรือกิริยาท่าทางที่สุภาพอ่อนโยน เช่นเดียวกับที่พวกนางมีความอ่อนโยนต่อท่าน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَلَهُنَّ مِثۡلُ ٱلَّذِي عَلَيۡهِنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ ﴾ [البقرة: ٢٢٨]  
ความว่า “และพวกนางนั้นจะได้รับเช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนาง ที่จะต้องปฏิบัติโดยชอบธรรม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 228)
ซึ่งมารยาทที่สำคัญประการหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือการที่ท่านเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีต่อภรรยา โดยท่านแสดงออกถึงความรักความห่วงใยอยู่ตลอดเวลา หยอกล้อกับพวกนาง เรียกเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข กระทั่งว่าท่านเคยชวนท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา แข่งวิ่ง เมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาดอิชาอ์ท่านมักจะกลับเข้าบ้าน แล้วนั่งพูดคุยสนทนากับภรรยาของท่านเล็กน้อยก่อนเข้านอน อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสว่า
﴿ لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ ﴾ [الأحزاب : ٢١]  
ความว่า “โดยแน่นอน ในเราะสูลของอัลลอฮฺ มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว” (อัล-อะหฺซาบ: 21)
(ตัฟสีร อัล-กุรอาน อัล-อะซีม เล่ม 1 หน้า 477)    
    อีกประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่ร่วมกันด้วยดี คือสิทธิของภรรยาที่จะได้รับการเติมเต็มความสุขทางกาย.. สิ่งนี้เป็นสิทธิที่นางพึงได้รับจากสามี และอาจจะมีความสำคัญยิ่งกว่าการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเสียด้วยซ้ำ
ฉันจะเชื่อฟังตราบเท่าที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ
    การเชื่อฟังคุณถึงแม้จะเป็นสิ่งที่วาญิบสำหรับฉัน แต่นั่นคือกรณีทั่วไปที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ.. สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบัญชาอัลลอฮฺ ฉันคงไม่อาจเชื่อฟังคุณได้.. หลายต่อหลายครั้งที่ฉันพบว่าคุณเรียกร้องให้ฉันทำในสิ่งที่ผิดหลักการศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ทรงพอพระทัย.. ตัวอย่างเช่น การที่คุณอยากให้ฉันแต่งกายเลียนแบบบรรดาหญิงผู้ปฏิเสธศรัทธา โดยอ้างแฟชั่นและความสวยงาม.. ในขณะที่ฉันเห็นว่าการที่ภรรยาแต่งกายสวยงามเพื่อให้สามีชื่นชอบและประทับใจนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม.. ซึ่งฉันเข้าใจว่าการเลียนแบบหญิงผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُم » [رواه أبو داود برقم 3215]
ความว่า “ผู้ใดลอกเลียนแบบกลุ่มชนใด เขาก็คือคนหนึ่งจากกลุ่มชนนั้น” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 3215)

 

ความลับเกี่ยวกับตัวฉันเป็นอะมานะฮฺที่ต้องรักษา
    คุณอย่าได้เปิดเผยความลับเกี่ยวกับตัวฉันให้คนอื่นรู้เป็นอันขาด.. เพราะการแพร่งพรายความลับระหว่างสามีภรรยานั้นถือเป็นการกระทำที่ต่ำช้าที่สุดอย่างหนึ่ง.. ซึ่งผู้กระทำการดังกล่าวจะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส ดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ مِنْ أَشَرِّ النَّاسِ عِنْدَ اللهِ مَنْزِلَةً يَوْمَ الْقِيَامَةِ: الرَّجُلَ يُفْضِي إِلَى امْرَأَتِهِ، وَتُفْضِي إِلَيْهِ، ثُمَّ يَنْشُرُ سِرَّهَا » [رواه مسلم برقم 3615]
ความว่า “มนุษย์ประเภทหนึ่งที่จะมีสภาพอันเลวร้ายที่สุด ณ อัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺคือ ชายซึ่งได้เข้าหาภรรยาของเขาและนางก็ได้เข้าหาเขา (ร่วมหลับนอน - ผู้แปล) แล้วเขาแพร่งพรายความลับเกี่ยวกับตัวนางให้ผู้อื่นรู้” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 3615)
    อัน-นะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวอธิบายว่า “หะดีษบทนี้เป็นการบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผยความลับหรือรายละเอียดขณะมีความสัมพันธ์กับภรรยา ตลอดจนคำพูด หรือการกระทำใดๆ ของภรรยา ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว”
    ท้ายนี้ ฉันขอเตือนสติคุณด้วยวจนะของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งท่านกล่าวว่า
« اسْتَوْصُوا بِالنِّسَاءِ خَيْرًا، فَإِنَّهُنَّ خُلِقْنَ مِنْ ضِلَعٍ، وَإِنَّ أَعْوَجَ شَيْءٍ فِي الضِّلَعِ أَعْلاَهُ، فَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهُ كَسَرْتَهُ، وَإِنْ تَرَكْتَهُ لَمْ يَزَلْ أَعْوَجَ، فَاسْتَوْصُوا بِالنِّسَاءِ خَيْرًا » [رواه البخاري برقم 3331 ومسلم برقم 3720]
ความว่า “พวกท่านจงรับฟังคำแนะนำของฉันเกี่ยวกับสตรี และจงตักเตือนกันระหว่างพวกท่านให้ทำดีต่อพวกนาง เพราะแท้จริงพวกนางถูกสร้างขึ้นมาจากซี่โครง ซึ่งส่วนที่คดงอที่สุดของซี่โครงก็คือส่วนบนสุดของมัน  ดังนั้น หากท่านพยายามจะดัดให้มันตรงก็คงต้องถึงขั้นแตกหัก (หมายถึงการหย่าร้าง – ผู้แปล) หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องปล่อยให้คดงออย่างที่เป็นอยู่เช่นนั้น พวกท่านจงตักเตือนกันและกันให้ดูแลสตรีให้ดีเถิด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3331 และมุสลิม หมายเลข 3720)