การตะวัสสุลที่อนุญาตและที่ต้องห้าม

การตะวัสสุลที่อนุญาตและที่ต้องห้าม เป็นหนังสือฉบับย่อที่ผู้เขียนได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ทั้งจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการตะวัสสุล หรือการใช้สื่อกลางในการเข้าหาอัลลอฮฺ

 

การตะวัสสุลที่อนุญาต
และที่ต้องห้าม

التوسل المشروع والممنوع

> ไทย – Thai - < تايلاندي

        
อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลหะมีด อัล-อะษะรีย์

عبد الله بن عبد الحميد الأثري





ผู้แปล: อารีฝีน ยาชะรัด
ผู้ตรวจ: ฟัยซอล อับดุลฮาดี

ترجمة: عارفين   ياجاراد
مراجعة: فيصل   عبد الهادي

 

 

 


การตะวัสสุลที่อนุญาตและที่ต้องห้าม


    การสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  ความจำเริญและความสันติพึงมีแด่ศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์ และมีแด่บรรดาเศาะหาบะฮฺและผู้เจริญรอยตามจนถึงวันสิ้นโลก

     แท้จริงการ ตะวัสสุล หรือการใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยเพื่อให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺนั้น เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ ตามมติเอกฉันท์ของบรรดาผู้รู้จากกลุ่ม อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ โดยได้อ้างอิงหลักฐานจากอัลกุรอาน และหะดีษที่ถูกต้อง
        เพียงแต่มีมุสลิมบางส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในรายละเอียดของการใช้สื่อกลางที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานและหะดีษ เข้าใจคลาดเคลื่อนในแนวปฏิบัติของบรรพชนอิสลาม(อัส-สะลัฟ อัศ-ศอลิห์) และเข้าใจผิดในหลายๆ ประเด็น ซึ่งค้านกับเจตนารมณ์ของอิสลามและแบบฉบับของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  และยังได้อ้างหลักฐานจากหะดีษเฎาะอีฟและหะดีษเมาฎูอฺที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังได้ตีความหลักฐานให้สอดคล้องกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของพวกเขา
เป็นที่ทราบดีว่า เมื่อเรามีความขัดแย้งในความหมายของตัวบทของอัลกุรอานและหะดีษ จำเป็นที่เราต้องย้อนกลับไปยังความเข้าใจของชาวสะลัฟศอลิห์ อันได้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺและตาบีอีน เนื่องจากพวกเขาอยู่ในยุคที่ใกล้ชิดยิ่งกับตัวบทของอัลกุรอานและหะดีษ ซึ่งเป็นยุคที่มีความประเสริฐกว่ายุคใดๆ
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
 «خَيْرُ النَّاسِ قَرْنِيْ، ثُمَّ الذِيْنَ يَلُوْنَهُم، ثُمَّ الذِيْنَ يَلُوْنَهُم»
“ผู้ที่ประเสริฐยิ่งจากมวลมนุษย์ คือยุคของฉัน จากนั้นยุคถัดมา จากนั้นก็เป็นยุคถัดมา”  (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)
 
ณ จุดนี้ จำเป็นที่ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ต้องห่างไกลจากการยึดถืออารมณ์ความรู้สึก เพราะจะทำให้หลงผิดจากแนวทางของอัลลอฮฺ และจำเป็นที่เขาต้องปฏิบัติตามแนวทางของชาวสะลัฟศอลิห์
   และจากจุดนี้ ฉันปรารถนาที่จะอธิบายประเด็นนี้ให้กระจ่าง ซึ่งมีการกล่าวถึงกันมาก และหลายคนจากกลุ่มอุตริกรรมและผู้ที่ยึดถืออารมณ์ความรู้สึก หรือที่เรียกว่า อะฮฺลุลบิดะอฺ วัลอะฮฺวาอ์ (เท่าที่ฉันทราบ) ยังมีความเข้าใจผิด  ฉันจึงพยายาม (โดยการอาศัยการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ) รวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่ระบุไว้ในอัลกุรอานและหะดีษ ที่เกี่ยวกับการ ตะวัสสุล หรือการใช้สื่อกลางในการเข้าหาอัลลอฮฺ
ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้มีเจตนาที่บริสุทธิ์และความเห็นที่ถูกต้อง แท้จริงพระองค์ทรงกรุณายิ่ง

ความหมายของการตะวัสสุล
  ตามหลักภาษา คือหนทางที่นำสู่เป้าหมาย การทำความใกล้ชิดกับสิ่งที่พึงปรารถนา การเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องการ และยังมีความหมายอื่นๆ และถ้าเทียบกับพระราชา คือ ยศ และความใกล้ชิด
 ตามหลักวิชาการ คือ การแสวงหาช่องทางที่ชอบด้วยบทบัญญัติ เพื่อให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ คือการทำความเคารพภักดีเพื่อให้พระองค์มีความยินดี และเคารพภักดีตามบัญญัติที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำมา เพื่อให้ได้รับเกียรติอันสูงส่ง ณ ที่พระองค์อัลลอฮฺ หรือเพื่อบรรลุความต้องการ โดยให้ได้รับสิ่งที่ดี หรือขจัดทุกข์ภัย หรือเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนาในโลกนี้และโลกหน้า
    และการตะวัสสุลนั้น จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติเท่านั้น

องค์ประกอบของการตะวัสสุล มีสามประการ
1. อัลลอฮฺ ผู้ทรงเอื้ออารี ผู้ทรงโปรดปราน
2. บ่าวผู้ขอที่มีความต้องการ
3. คุณงามความดี

  เพื่อให้การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยมีผล จำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ คือ
1. บ่าวผู้ที่ขอต้องเป็นผู้ศรัทธา เป็นคนดี และปฏิบัติความดีเพื่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ
2. ความดีที่ปฏิบัติต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติศาสนา
3. ความดีที่ปฏิบัติต้องตรงกับแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ในเวลาและสถานที่ตามที่ศาสนาบัญญัติไว้ โดยไม่เพิ่มเติมและตัดต่อ
    และ ณ จุดนี้ เรารู้ได้ว่า การความดีของผู้ที่ไม่ศรัทธานั้น จะไม่เป็นสื่อกลางเพื่อให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ และ การกระทำที่เป็นอุตริกรรม(บิดอะฮฺ)ก็จะไม่เป็นตัวช่วยเช่นกัน

ประเภทของการตะวัสสุล
ผู้รู้ที่อยู่ในแนวทางสุนนะฮฺ ได้แบ่งอัตตะวัสสุลออกเป็นสองประเภท
1. ที่อนุญาต
2. ที่ต้องห้าม
 ประเภทของการตะวัสสุลที่อนุญาต
  การตะวัสสุลที่อนุญาต คือ การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยเพื่อให้ใกล้ชิดกับพระองค์ ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงรักและยินดี อันได้แก่สิ่งที่เป็นภาคบังคับ (วาญิบ) สิ่งที่เป็นภาคสมัครใจหรือส่งเสริมให้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำ หลักปฏิบัติ และหลักศรัทธาต่างๆ

หนึ่ง : การตะวัสสุลด้วยพระนามอันวิจิตรและคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์
การตะวัสสุลด้วยพระนามของอัลลอฮฺและคุณลักษณะของพระองค์นั้น เป็นสื่อกลางที่ดี สำคัญ และยังประโยชน์ยิ่งแก่บ่าว
ส่วนหนึ่งจากหลักฐานต่าง ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ พระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า  
﴿ وَلِلَّهِ ٱلۡأَسۡمَآءُ ٱلۡحُسۡنَىٰ فَٱدۡعُوهُ بِهَاۖ ﴾  [الأعراف : 179]
“และสำหรับอัลลอฮฺนั้น ทรงมีพระนามอันวิจิตร ดังนั้น พวกเจ้าจงใช้พระนามเหล่านั้นในการวิงวอนต่อพระองค์เถิด” (อัล-อะอฺรอฟ : 179)

หมายความว่า พวกเจ้าจงขอต่อพระองค์ โดยใช้พระนามของพระองค์เป็นตัวช่วยหรือสื่อกลางในการขอ
โองการนี้บ่งบอกให้รู้ว่า การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺโดยใช้พระนามและคุณลักษณะของพระองค์นั้น เป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาและเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงรักและยินดี และเช่นนี้แหละที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปฏิบัติ
    ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอิสลาม เราต้องวิงวอนต่อพระองค์ตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  และเช่นนี้แหละที่บรรดาเศาะหาบะฮฺ ตาบีอีน และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขาได้วิงวอนขอ

สอง : การตะวัสสุลด้วยอะมัลความดีที่เคยทำ
เช่น เขาวิงวอนว่า "โอ้อัลลอฮฺ ด้วยความศรัทธาของฉันที่มีต่อพระองค์ ความรักของฉันต่อพระองค์ การที่ฉันศรัทธาและปฏิบัติตามท่านเราะสูลของพระองค์ โปรดขจัดความเดือดร้อนออกจากฉัน"   
และตัวอย่างเช่น บ่าวผู้ที่ขอกล่าวถึงความดีที่เคยปฏิบัติ โดยที่มีเจตนาบริสุทธิ์เพื่อพระองค์ เช่น การศรัทธา การละหมาด การถือศีลอด การญิฮาด การอ่านอัลกุรอาน บทรำลึก การขอพรให้แก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การขออภัย ความดีทั่วไป และการละทิ้งสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย
หลักฐานจากอัลกุรอาน
﴿ ٱلَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَآ إِنَّنَآ ءَامَنَّا فَٱغۡفِرۡ لَنَا ذُنُوبَنَا وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ ١٦ ﴾ [آل عمران : 16]
“คือบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา แท้จริงเราศรัทธาต่อพระองค์แล้ว ดังนั้น ขอทรงโปรดอภัยบาปต่างๆ แก่เรา และโปรดปกป้องเราจากการลงโทษของไฟนรกเถิด” (อาล อิมรอน : 16)


และหลักฐานจากหะดีษ คือ เรื่องราวของชาวถ้ำสามคนในยุคก่อน ซึ่งพวกเขาเข้าไปหลบในถ้ำ แล้วก้อนหินขนาดใหญ่หล่นมาปิดปากถ้ำไว้ จนพวกเขาไม่สามารถออกจากถ้ำได้ พวกเขาจึงวิงวอนต่ออัลลอฮฺ โดยใช้ความดีที่พวกเขามีความหวังมากที่สุดเพื่อเป็นสื่อกลางให้อัลลอฮฺตอบรับการวิงวอน แล้วอัลลอฮฺก็ให้พวกเขาได้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

สาม : การใช้สื่อกลางโดยให้ผู้ที่มีคุณธรรมวิงวอนขอดุอาอ์ให้
   เช่น มุสลิมคนหนึ่งประสบเคราะห์กรรม แต่เขารู้ตัวว่าเขาเป็นผู้ที่ละเลยในหน้าที่ที่มีต่ออัลลอฮฺ เขาจึงไปหาคนที่มีคุณธรรมที่เขาเชื่อว่ามีความยำเกรง มีความรู้ ให้วิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้แก่เขา เช่นขอให้อัลลอฮฺได้ขจัดความทุกข์หรือความเครียด
    ประเภทนี้ก็เป็นการตะวัสสุลที่สอดคล้องบทบัญญัติ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ﴾ [الحشر : 10]
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดอภัยแก่เรา และแก่พี่น้องของเราที่ศรัทธาที่ล่วงลับก่อนพวกเราแล้ว” (อัล-หัชรฺ : 10 )

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«دَعْوَةُ المُؤْمِنِ لِأَخِيْهِ بِظَهْرِ الغَيْبِ مُسْتَجَابَةٌ...»
“การขอพรของผู้ศรัทธาให้กับพี่น้องของเขา โดยลับหลังจะถูกตอบรับ”  (บันทึกโดย มุสลิม)

   และเช่นกัน มีรายงานจากอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ “แท้จริงอุมัรฺนั้นเคยทำการขอฝนโดยให้อับบาสเป็นผู้ขอ เมื่อพวกเขาประสบกับความแห้งแล้ง โดยกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงเราเคยใช้สื่อกลางเพื่อให้ใกล้ชิดกับพระองค์ โดยให้นบีของพระองค์เป็นผู้ขอฝนแก่เรา แล้วพระองค์ก็ทรงประทานน้ำฝนแก่เรา และแท้จริงเราจะใช้สื่อกลาง โดยให้ลุงของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ขอฝนจากพระองค์ ดังนั้น โปรดให้น้ำฝนแก่พวกเราด้วยเถิด”  (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)

ความหมายของคำพูดของท่านอุมัรฺ ก็คือ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยวิงวอนขอแก่พวกเรา ขณะนี้ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาได้ เราจึงให้ลุงของท่าน(อัลอับบาส)วิงวอนขอแก่พวกเราแทนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
       การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยทั้งสามประการนี้ เป็นที่อนุมัติตามบทบัญญัติ ส่วนการใช้สื่อที่นอกเหนือจากนี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักฐานใดๆ
      และการใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยที่อนุมัติทั้งสามประการนี้ มีข้อชี้ขาดทางบทบัญญัติที่ต่างกัน
บางประการเป็นภาคบังคับ( วาญิบ)  เช่น การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยด้วยพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ การให้เอกภาพ และการศรัทธา
    บางประการเป็นการส่งเสริม เช่น การใช้สื่อกลางด้วยความดีต่างๆ และการวิงวอนขอของคนดี
   โดยเหตุนี้ จำเป็นที่ผู้ศรัทธาต้องใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วย ในขณะที่มีความเดือดร้อน โดยใช้สื่อที่อนุมัติ และจะต้องละทิ้งการกระทำที่เป็นอุตริกรรมและเป็นบาปทั้งหลาย เนื่องจากเกรงกลัวการลงโทษของอัลลอฮฺ ละอายต่อพระองค์ และเพื่อภักดีต่อพระองค์เท่านั้น

สื่อกลางที่เป็นตัวช่วยต้องห้าม
คือ การทำความเคารพภักดีเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ด้วยถ้อยคำ การปฏิบัติ  และหลักศรัทธาต่างๆ ที่พระองค์ไม่ทรงรัก ไม่ทรงยินดี
      การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยที่ต้องห้ามนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงลืมและหันเหจากการใช้สื่อกลางที่อนุมัติ พวกเขาจะขาดทุนในความพยายามที่ทุ่มเทลงไป และไม่ได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ เนื่องจากหมกมุ่นอยู่กับการใช้สื่อกลางที่ต้องห้าม
      ฉันจะกล่าวถึงบางประการของการใช้สื่อกลางที่ต้องห้าม เพื่อเป็นการเผยแพร่ แนะนำ และตักเตือนแก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ดังนี้
 
  หนึ่ง การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วย โดยใช้สิทธิ เกียรติยศ และสถานะของบุคคลต่างๆ
  ส่วนหนึ่งจากการใช้สื่อกลางที่เป็นอุตริกรรม คือการขอต่ออัลลอฮฺโดยใช้เกียรติของบุคคลใดๆ ที่เป็นมัคลูกด้วยกัน เช่นการที่เขากล่าวว่า “ฉันขอต่อพระองค์ ด้วยเกียรติของนบี หรือเกียรติของบ่าวคนนั้นคนนี้”  
  การใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยประเภทนี้ ไม่มีในบัญญัติอิสลาม ไม่เคยถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ทั้งๆ ที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ مَّا فَرَّطۡنَا فِي ٱلۡكِتَٰبِ مِن شَيۡءٖۚ ﴾  [الأنعام : 38]
“เรามิได้ละเลยสิ่งใดเลยในคัมภีร์อัลกุรอาน” (อัล-อันอาม : 38 )

    และไม่มีในแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังหะดีษ  
«علَّمنا رسول الله صلى الله عليه وسلم كل شيء حتى الخراء»
“ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนพวกเราทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องการขับถ่าย” (บันทึกโดยมุสลิม)

และไม่มีแนวปฏิบัติจากตัวอย่างของบรรดาเศาะหาบะฮฺ
ส่วนที่อิสลามสั่งใช้คือ การวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ โดยใช้พระนามอันวิจิตร และคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์
   การใช้สื่อที่ต้องห้ามนี้ อาจจะนำไปสู่การตั้งภาคี ถ้าหากว่าคนที่ขอมีความเชื่อว่าอัลลอฮฺมีความจำเป็นต้องให้มีสื่อกลางระหว่างพระองค์กับบ่าว เหมือนสภาพของผู้นำหรือผู้ปกครองรัฐ สิ่งนี้เป็นการเทียบเคียงผู้ทรงสร้างกับมัคลูก ในขณะที่อัลลอฮฺนั้นจะต้องไม่ถูกนำมาเทียบเคียงกับสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อบ่าวคนหนึ่งคนใดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีสื่อกลาง และหากว่ามีความโกรธกริ้วของพระองค์เกิดขึ้นต่อบ่าวคนใดคนหนึ่ง การมีสื่อกลางก็ย่อมไม่มีประโยชน์ มันไม่สามารถจะช่วยอะไรเขาได้เลย
    และพึงทราบเถิดว่า แท้จริงสรรพสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะมีสถานะสูงส่งเพียงใด แม้จะเป็นมะลาอิกะฮฺ นบี เราะสูล ก็ไม่อนุญาตให้เทียบกับอัลลอฮฺ เนื่องจากสรรพสิ่งนั้นต้องพึ่งพาผู้สร้าง อัลลอฮฺผู้ทรงมั่งคั่ง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสื่อกลาง
﴿ وَيَعۡبُدُونَ مِن دُونِ ٱللَّهِ مَا لَا يَمۡلِكُ لَهُمۡ رِزۡقٗا مِّنَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ شَيۡ‍ٔٗا وَلَا يَسۡتَطِيعُونَ ٧٣ فَلَا تَضۡرِبُواْ لِلَّهِ ٱلۡأَمۡثَالَۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَعۡلَمُ وَأَنتُمۡ لَا تَعۡلَمُونَ ٧٤ ﴾ [النحل : 73-74]
“และพวกเขาเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่ไม่มีอำนาจให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาในชั้นฟ้าและแผ่นดิน และพวกเขาก็ไม่สามารถกระทำแบบนั้นได้ ดังนั้น พวกเจ้าอย่านำสิ่งใดมาเทียบกับอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ แต่พวกเจ้าไม่รู้”  (อันนะห์ลฺ : 73  -74)

 โดยเหตุนี้เอง บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงให้ลุงของท่านเราะสูล (อัล-อับบาส) เป็นผู้วิงวอนขอดุอาอ์แก่พวกเขา แทนท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หลังจากที่ท่านเราะสูลเสียชีวิต  แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาวิงวอนว่า โอ้อัลลอฮฺด้วยเกียรติของนบี โปรดให้น้ำฝนแก่เรา ต่อมาเมื่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิต พวกเขาจะกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ ด้วยเกียรติของอับบาส โปรดให้น้ำฝนแก่เรา เนื่องจากการขอดุอาอ์ที่เป็นอุตริเช่นนี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้เรียนรู้จากท่านนบี และไม่มีหลักฐานใดๆ ในอัลกุรอาน เหตุนี้เองพวกเขาจึงไม่กระทำกัน
    หากการใช้บุคคลใดเป็นสื่อกลางได้ หลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว แน่นอนท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ย่อมเหมาะสมยิ่งกว่าในการเป็นสื่อกลางให้แก่เรา แต่อิสลามไม่ได้อนุญาตเช่นนั้น
  นี่คือรูปแบบหนึ่งของการใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วย ดั่งการใช้สื่อกลางของบรรดาผู้ตั้งภาคีชาวมักกะฮฺ ตามโองการที่ว่า  
﴿ مَا نَعۡبُدُهُمۡ إِلَّا لِيُقَرِّبُونَآ إِلَى ٱللَّهِ زُلۡفَىٰٓ ﴾ [الزمر : 3]
“พวกเขากล่าวว่า เราไม่ได้เคารพภักดีเจว็ดพวกนั้น นอกจากเพื่อให้พวกเขาทำให้เราได้ใกล้ชิดต่อพระเจ้าแค่นั้นเอง” (อัซซุมัร : 3)

ขออัลลอฮฺเมตตาแก่ท่าน พึงทราบเถิด แท้จริงการใช้สรรพสิ่งหรือเกียรติของสรรพสิ่งเป็นสื่อกลาง ไม่ว่าจะมีสถานะสูงส่งเพียงใด พร้อมกับมีความเชื่อว่าเขามีส่วนในการให้ประโยชน์ หรือขจัดทุกข์ นั่นคือการตั้งภาคี ทำให้สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองเถิด

สอง  การวิงวอน การบนบาน การขอความช่วยเหลือโดยใช้บรรดาวะลีย์และคนศอลิห์
      การวิงวอนขอจากคนศอลิห์(คนดีมีคุณธรรม)โดยการใช้ตำแหน่งหรือสถานะของพวกเขาเป็นสื่อกลาง และการบนบานกับพวกเขา ทั้งๆ ที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้วนั้น ไม่ใช่บทบัญญัติในศาสนาของอัลลอฮฺ แต่เป็นการตั้งภาคี และขัดแย้งกับหลักการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ เช่นบางคนกล่าวว่า โอ้ผู้เฒ่าของฉัน โอ้เจ้านายของฉัน จงช่วยฉัน จงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺแก่ฉัน ฉันอยู่ในการคุ้มครองของท่าน ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งภาคี
     เช่นเดียวกับการบนบานแก่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็เป็นการใช้สื่อกลางที่ไม่อนุญาต เช่นกล่าวว่า โอ้ผู้เฒ่าของฉัน หากอัลลอฮฺประทานปัจจัยยังชีพแก่ฉัน ฉันจะแบ่งถวายแก่ท่าน โอ้ผู้เฒ่าของฉัน ฉันจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ท่าน หรือ กล่าวว่า หากฉันได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันจะมอบแก่ท่าน การบนบานเช่นนี้ เป็นการบนบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ เป็นการทำอิบาดะฮฺต่อสิ่งอื่น   
﴿ وَجَعَلُواْ لِلَّهِ مِمَّا ذَرَأَ مِنَ ٱلۡحَرۡثِ وَٱلۡأَنۡعَٰمِ نَصِيبٗا فَقَالُواْ هَٰذَا لِلَّهِ بِزَعۡمِهِمۡ وَهَٰذَا لِشُرَكَآئِنَاۖ فَمَا كَانَ لِشُرَكَآئِهِمۡ فَلَا يَصِلُ إِلَى ٱللَّهِۖ وَمَا كَانَ لِلَّهِ فَهُوَ يَصِلُ إِلَىٰ شُرَكَآئِهِمۡۗ سَآءَ مَا يَحۡكُمُونَ ١٣٦ ﴾ [الأنعام : 136]
“และพวกเขา(บรรดาผู้ตั้งภาคี) ได้ให้ส่วนหนึ่งจากพืชและปศุสัตว์ที่อัลลอฮฺพระองค์ทรงสร้างเป็นส่วนแบ่งของอัลลอฮฺ แล้วพวกเขากล่าวว่า นี่เป็นของอัลลอฮฺ (ตามความเข้าใจของพวกเขา) และนี่เป็นของหุ้นส่วนภาคีของพวกเรา สิ่งใดที่เป็นส่วนของภาคีของพวกเขา ก็จะไม่ถึงไปยังอัลลอฮฺ และสิ่งใดที่เป็นส่วนของอัลลอฮฺ ก็จะไปถึงภาคีของพวกเขา  การตัดสินของพวกเขานั้นชั่วช้ายิ่ง” (อัล-อันอาม : 136)

   เนื่องจากการมุ่งเข้าหาสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ การวิงวอนขอจากพวกเขา  หรือการสร้างโดม  การจุดเทียนบนสุสานของพวกเขา และการกระทำอื่นๆ ที่ผู้โง่เขลา(ขาดความรู้)บางคนได้ปฏิบัติ ไม่ใช่คำสอนของท่านเราะสูล บรรดาเศาะหาบะฮฺ และตาบิอีน เพราะพวกเขายึดมั่นว่าต้องวิงวอนขอจากอัลลอฮฺเท่านั้น
﴿ وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌۖ أُجِيبُ دَعۡوَةَ ٱلدَّاعِ إِذَا دَعَانِۖ فَلۡيَسۡتَجِيبُواْ لِي وَلۡيُؤۡمِنُواْ بِي لَعَلَّهُمۡ يَرۡشُدُونَ ١٨٦ ﴾  [البقرة : 186]
“และเมื่อปวงบ่าวของฉันถามเจ้าเกี่ยวกับฉัน จงกล่าวแก่พวกเขาว่า ฉันอยู่ใกล้พวกเขา ฉันจะตอบรับการวิงวอนของผู้ที่ขอ เมื่อเขาขอต่อฉัน ดังนั้นพวกเขาจงเชื่อฟังฉัน จงศรัทธาต่อฉัน เพื่อพวกเขาจะได้รับทางนำ”  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 186 )

   และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนพวกเขาว่า  
«الدُعَاءُ هُوَ العِبَادَةُ»
“การขอพรนั้น (การดุอาอ์) เป็นการเคารพภักดี/อิบาดะฮฺ” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ )

  ฉะนั้นทำไมต้องวิงวอนขอจากสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเล่า ทั้งๆ ที่การขอดุอาอ์นั้นเป็นเรื่องพิเศษหรือคุณลักษณะเฉพาะที่จะต้องไม่ขอจากผู้อื่นนอกจากต่อผู้ที่เป็นพระเจ้าเท่านั้น
  พึงทราบเถิดว่า พฤติกรรมเหล่านั้น ขัดแย้งกับการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ(หลักเตาฮีด)ตามที่บรรดาศาสนทูตได้นำมา  การให้เอกภาพคือการปฏิเสธการเคารพภักดีต่อทุกสิ่ง นอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว
  และบรรดาศาสนทูตได้อธิบายอย่างชัดแจ้งแล้วว่า อัลลอฮฺจะไม่ตอบรับการงานใด นอกจากการงานที่ดี และสอดคล้องกับบทบัญญัติเท่านั้น
   และอัลลอฮฺจะทรงอภัยทุกความผิด นอกจากการตั้งภาคี  
﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ وَمَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدِ ٱفۡتَرَىٰٓ إِثۡمًا عَظِيمًا ٤٨ ﴾ [النساء : 48]
“แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษต่อการที่ใครจะมาตั้งภาคีกับพระองค์ และพระองค์จะอภัยแก่ความผิดอื่นนอกเหนือจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ แน่นอนเขาย่อมอุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวง” (อัน-นิสาอ์ : 48)

สาม การเชือดสัตว์เพื่อถวายแด่ดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษ และการพำนัก (เพื่อแสวงบุญ) ณ สุสานของพวกเขา
  แท้จริงสิ่งที่มุสลิมที่ขาดความรู้บางคนได้กระทำ และที่เป็นธรรมเนียมของพวกเขา อันได้แก่การเชือดสัตว์บนสุสานของบรรพบุรุษ และบนสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และรอบอาคารปลูกสร้างที่สุสาน ในเทศกาลต่างๆ นั้น การส่งมอบความยินดี การพำนัก การค้างแรมรอบสุสาน การขอการช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในหลุมศพ การเปล่งเสียงเรียกพวกเขา และการขอพรจากพวกเขานั้น เป็นอุตริกรรมที่หลงผิด ซึ่งอัลลอฮฺมิได้บัญญัติไว้ แต่เป็นวิถีของคนในยุคก่อนอิสลาม เป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ได้ทรงห้าม   
﴿ ۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ ﴾ [النساء : 36]
“และพวกเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์” (อัน-นิสาอ์ : 36)

﴿ فَلَا تَجۡعَلُواْ لِلَّهِ أَندَادٗا وَأَنتُمۡ تَعۡلَمُونَ ﴾ [البقرة : 22]
“ดังนั้น พวกเจ้าอย่าให้มีผู้เสมอเหมือน/คู่ภาคีใดๆ ขึ้นสำหรับอัลลอฮฺ ทั้งที่พวกเจ้ารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเพียงผู้เดียว” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 22)

 ผู้ที่ยืนกรานอยู่บนสิ่งที่เป็นโมฆะนี้และผู้ที่ให้การรับรองมัน ก็มีข้อชี้ขาดเดียวกัน  คือ พฤติกรรมนี้เป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ
  ท่านอาจจะแปลกใจ เมื่อพบเห็นผู้คนมากมายที่ขาดความรู้ ซึ่งมีความสัมพันธ์โยงใยกับอิสลาม พวกเขายึดถือการใช้สื่อกลางที่เป็นอุตริกรรมเหล่านี้ แต่กลับห่างเหินจากการใช้สื่อกลางที่ชอบด้วยบทบัญญัติ พวกเขาไม่ปฏิบัติสิ่งใดเลย ทั้งที่มีอยู่ในอัลกุรอาน หะดีษ และมติเอกฉันท์ของประชาติอิสลาม
  และท่านยังพบเห็นพวกเขาใช้บทขอพร และการใช้สื่อกลางที่อุตริขึ้นแทน โดยที่อัลลอฮฺมิได้บัญญัติ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยปฏิบัติ และไม่มีรายงานจากชาวสะลัฟ
 โอ้พี่น้องอิสลาม มิใช่เราเท่านั้นที่ปฏิเสธการใช้สื่อกลางที่เป็นอุตริเหล่านั้น แต่นั่นคือแก่นแท้ของศาสนา และอุตริกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ยิ่งกว่านั้นการปฏิเสธการใช้สื่อกลางที่ต้องห้าม เป็นแนวทางของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และอิมามทั้งสี่ (อบู หะนีฟะฮฺ, มาลิก, อัช-ชาฟิอีย์ และอะหมัด) และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขา


สาเหตุของการเบี่ยงเบนในเรื่องการใช้สื่อกลางเป็นตัวช่วยเพื่อให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ
สาเหตุที่หนึ่ง : การตักลีด
 เป็นสาเหตุที่สำคัญยิ่ง การตักลีด คือ การยึดทัศนะที่ไม่มีหลักฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และผู้ที่ตักลีดนั้นคือผู้ที่ตามผู้รู้โดยเจาะจงบุคคล ไม่เปลี่ยนจากทัศนะของผู้รู้ท่านนั้น แม้ว่าจะขัดแย้งกับหลักฐานต่างๆ ของศาสนาก็ตาม
อัลลอฮฺได้ตำหนิและห้ามการตักลีดในหลายๆ โองการ
﴿ وَإِذَا قِيلَ لَهُمُ ٱتَّبِعُواْ مَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ قَالُواْ بَلۡ نَتَّبِعُ مَآ أَلۡفَيۡنَا عَلَيۡهِ ءَابَآءَنَآۚ أَوَلَوۡ كَانَ ءَابَآؤُهُمۡ لَا يَعۡقِلُونَ شَيۡ‍ٔٗا وَلَايَهۡتَدُونَ ١٧٠ ﴾ [البقرة : 170]
“และเมื่อถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานมา พวกเขาก็กล่าวว่า แต่เราจะปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้พบเห็นจากบรรพบุรุษของเรา แม้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่มีปัญญา และไม่ได้รับทางนำก็ตามกระนั้นหรือ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 170)

บรรดาผู้รู้และผู้นำจากบรรพชน ได้ห้ามการตักลีด เนื่องจากมันเป็นสาเหตุหนึ่งของการขัดแย้ง และทำให้เกิดความอ่อนแอในหมู่ผู้ศรัทธา
ขณะที่ความเป็นหนึ่งเดียวนั้นจะแฝงอยู่ในการปฏิบัติตามและการกลับไปยังคำสั่งของอัลลอฮฺและเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในกรณีที่มีการขัดแย้ง
และโดยเหตุนี้เอง เราเห็นว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นจะไม่มีการตักลีดบุคคลใดเป็นการเฉพาะในทุกๆ เรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาโดยไม่พิจารณาความเห็นจากคนอื่นประกอบด้วย และอิมามทั้งสี่ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาไม่คลั่งไคล้ในทัศนะของตัวเอง พวกเขาละทิ้งทัศนะของพวกเขาเพื่อตามหะดีษของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  และพวกเขาห้ามมิให้ตักลีดพวกเขาโดยที่ไม่ทราบหลักฐานที่พวกเขาอ้างอิง นี่เป็นเพราะว่าพวกเขาเข้าใจความหมายของโองการนี้
﴿ ٱتَّبِعُواْ مَآ أُنزِلَ إِلَيۡكُم مِّن رَّبِّكُمۡ وَلَا تَتَّبِعُواْ مِن دُونِهِۦٓ أَوۡلِيَآءَۗ قَلِيلٗا مَّا تَذَكَّرُونَ ٣ ﴾
“จงปฏิบัติตามสิ่งที่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าประทานแก่พวกเจ้า และอย่าได้ตามวะลีย์ใดๆ อื่นจากพระองค์ น้อยเหลือเกินที่พวกเจ้าจะสำนึก” (อัล-อะอฺรอฟ : 3)

สาเหตุที่สอง : คือการยึดเอาบางส่วนของโองการอัลกุรอานและหะดีษ โดยละทิ้งอีกบางส่วน
     หนำซ้ำ โองการเหล่านั้นไม่ได้เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงจุดมุ่งหมายของพวกเขาเลย และไม่ได้สนับสนุนทัศนะของพวกเขาแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นพวกเขาไม่รู้ถึงการอธิบายความหมายที่ถูกต้องด้วยซ้ำ หรือบางครั้งพวกเขาก็ตีความห่างไกลจากความเป็นจริง ดังเช่นโองการนี้
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَٱبۡتَغُوٓاْ إِلَيۡهِ ٱلۡوَسِيلَةَ ﴾ [المائدة : 35]
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงแสวงหาสื่อกลางไปยังพระองค์” (อัล-มาอิดะฮฺ : 35)

ความหมายของคำว่า อัล-วะสีละฮฺ ณ จุดนี้คือ การทำความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ โดยการเชื่อฟัง และปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงยินดี นี่คือสิ่งที่ไม่มีความเห็นขัดแย้งกันในระหว่างบรรดานักอธิบายความหมายของอัลกุรอาน
     ส่วนการใช้โองการเหล่านี้เป็นหลักฐานว่าอนุญาตให้ขอความอนุเคราะห์จากสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ นั้น เป็นการบิดเบือนดำรัสของอัลลอฮฺให้ออกจากเนื้อหาสาระที่แท้จริง
       ดังนั้น สื่อกลางที่เป็นตัวช่วยดังที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้นั้น คือ การแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยความดี และสิ่งที่พระองค์ทรงยินดี และนี่คือคำอธิบายที่บรรดานักอธิบายไม่มีความเห็นขัดแย้ง
และส่วนหนึ่งจากหะดีษที่พวกเขายังมีความคลุมเครือในความหมายที่ถูกต้อง คือหะดีษที่อุมัรฺใช้อัล-อับบาสเป็นสื่อกลาง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พวกเขากล่าวอ้างว่า นั่นเป็นการใช้สื่อด้วยตัวตนของอัล-อับบาส เนื่องจากท่านเป็นญาติใกล้ชิดของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
     เราจะถามกลับไปว่า แล้วสภานภาพของยะซีด บิน อัล-อัสวัด อัล-ญะเราะชีย์ ล่ะ เขาเป็นใคร? คนผู้นี้ซึ่งมุอาวิยะฮฺ และมวลมุสลิมได้ให้เขาเป็นสื่อกลางเพื่อขอฝนต่ออัลลอฮฺ แล้วเขาได้วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ต่อมาอัลลอฮฺทรงตอบรับการวิงวอนของเขา และฝนก็ตก? เขาไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เหมือนอัล-อับบาสแม้แต่น้อย แต่อัลลอฮฺก็ตอบรับดุอาอ์เขา
และทำนองเดียวกัน หะดีษของชายตาบอด ซึ่งกล่าวแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
اُدْعُ اللهَ أَنْ يُعَافِيَنِي. فَقَالَ صلى الله عليه وسلم «إِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ.. وَإِنْ شِئْتَ صَبَرْتَ وَهُوَ خَيْر» قَالَ: فَادْعُهُ فَأَمَرَهُ النّبِي صلى الله عليه وسلم أَنْ يَتَوَضَّأَ وَيُحْسِنُ وُضُوءَه وَيَدْعو بِهذَا الدُّعَاء: اللهم إني أتوجه إليك بنبيك محمد نبي الرَحْمَة يَا محُمد إِني أَتَوَجَّه بِكَ إِلى رَبِّي في حَاجَتِي لِتَقْضِي اللهم شفعه فيَّ. فَعَادَ وَقَدْ أَبْصَرَ
โปรดขอต่ออัลลอฮฺให้แก่ฉันเถิด ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า หากท่านต้องการฉันจะวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้แก่ท่าน หรือไม่ก็ท่านจงอดทนและการที่ท่านอดทนนั้นย่อมดีกว่า เขาตอบว่า จงวิงวอนขอแก่ฉันเถิด ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เลยสั่งให้เขาอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์  และวิงวอนขอว่า โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันมุ่งหน้าสู่พระองค์ ด้วยนบีของพระองค์ มุหัมมัด นบีแห่งความเมตตา โอ้มุหัมมัด แท้จริงฉันมุ่งหน้าสู่พระผู้อภิบาลของฉันด้วยท่าน ในการขจัดความเดือดร้อนของฉัน โอ้อัลลอฮฺโปรดให้เขามีสิทธิช่วยเหลือ/ชะฟาอะฮฺแก่ฉันด้วยเถิด หลังจากนั้น เขาก็กลับมามองเห็นอีกครั้ง  
ความหมายของหะดีษบทนี้ประจักษ์ชัดว่าเขาต้องการให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้แก่เขา และเช่นกัน เขาได้วิงวอนขอให้อัลลอฮฺตอบรับการดุอาอ์ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยใช้คำว่า “โอ้อัลลอฮฺโปรดให้เขามีสิทธิช่วยเหลือ/ชะฟาอะฮฺแก่ฉันด้วยเถิด”

สาเหตุที่สาม การปฏิบัติตามหะดีษเฎาะอีฟและหะดีษเมาฎูอฺ  ซึ่งไม่มีที่มา ยิ่งกว่านั้น บางครั้งยังขัดแย้งกับหลักการของศาสนา ตัวอย่างเช่น   
تَوَسَّلُوْا بِجَاهِي فَإِنَّ جَاهِي عِنْدَ اللهِ عَظِيْم
ความว่า “พวกท่านจงใช้เกียรติของฉันเป็นสื่อกลางเถิด เพราะเกียรติของฉันนั้นยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮฺ”

และหะดีษเมาฎูอฺที่ว่า

لَمَّا اقْتَرَفَ آدم الخَطِيْئَة قَالَ: يَا رَبِّ أَسْأَلُكُ بِحَقِّ مُحَمَّد لَمَّا غَفَرْت لِي، فَقَال: يَا آدَمَ وَكَيْفَ عَرَفْتَ مُحَمَّدًا وَلَمْ أخلقه؟ قَالَ: يَا رَبِّ لَمَّا خَلَقْتَنِي بِيَدِك وَنَفَخْت فِيّ مِن رُوْحِك رَفَعت رَأْسِي فَرَأَيْت على قَوَائِم العَرْش مَكْتُوبًا: لا إله إلا الله محمد رسول الله، فَعَلمت أَنَّكَ لَمْ تَضف إِلى اسْمِك إِلا أَحَبّ الخلق إِلّيْك، فَقَال: غَفَرْت لَكَ وَلَوْلَا محمد ما خَلَقْتك
“เมื่ออาดัมยอมรับในความผิด ก็ได้กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันขอต่อพระองค์ด้วยสิทธิของมุหัมมัด เพื่อการอภัยของพระองค์ที่มีแก่ฉัน อัลลอฮฺจึงกล่าวว่า โอ้อาดัม เจ้ารู้จักมุหัมมัดได้อย่างไร ทั้งที่ฉันยังไม่ได้สร้างเขา ? อาดัมกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน เมื่อพระองค์ได้บังเกิดฉันด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์ได้เป่าวิญญาณแก่ฉัน  ฉันเงยศีรษะขึ้น ฉันเห็นคำว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮุ มุหัมมัด เราะสูลุลลอฮุ ถูกจารึกไว้ที่บัลลังก์ ฉันเลยรู้ว่า แท้จริงพระองค์ไม่นำนามชื่อใดมาเชื่อมโยงกับพระนามของพระองค์ นอกจากเขาจะเป็นผู้ที่พระองค์รักยิ่งจากมัคลูกทั้งหลาย อัลลอฮฺเลยตอบว่า ข้าอภัยแก่เจ้าแล้ว และหากไม่มีมุหัมมัด ข้าก็ไม่บังเกิดเจ้า”
อิมามอัซ-ซะฮะบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มีซาน อัล-อิอฺติดาล” ว่า นี่คือรายงานที่เป็นเท็จและถูกอุปโลกน์ขึ้น
และเช่นเดียวกับรายงานที่ว่า
 مَنْ خَرَجَ مِنْ بَيْتِه إِلى الصَّلاة، فَقَال: اللهم إني أسألك بِحَق السَّائِلين عَلَيْك، وَأَسْأَلًك بِحَقٍّ ممشاي هذا..
ผู้ใดออกจากบ้านเพื่อไปละหมาด แล้วกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันขอต่อพระองค์ ด้วยสิทธิของผู้ที่วิงวอนทั้งหลาย และฉันขอต่อพระองค์ด้วยสิทธิของก้าวเดินของฉันนี้ ...
รายงานนี้อิบนุ ตัยมิยะฮฺและอัซ-ซะฮะบีย์ให้ความเห็นว่าเป็นหะดีษอ่อน
สุดท้ายนี้ แท้จริงจำเป็นที่บ่าวผู้ศรัทธาต้องห่างไกลจากการใช้สื่อกลางที่ต้องห้ามทุกประเภทเป็นตัวช่วยเพื่อให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ เนื่องจากในการปฏิบัติสิ่งนั้น จะตกอยู่ในตั้งภาคีใหญ่ หรือภาคีเล็ก หรืออุตริกรรมที่ต้องห้าม และเนื่องจากการกระทำเช่นนั้น เป็นการละเมิดขอบเขตของการวิงวอนขอ ซึ่งพระองค์ยืนยันว่าจะไม่ตอบรับ เพราะพระองค์จะตอบรับเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับบทบัญญัติศาสนาเท่านั้น
เช่นเดียวกัน ผู้ศรัทธาควรจะมุ่งเน้นคำขอพรที่มีอยู่ในอัลกุรอานและในสุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เนื่องจากเหมาะยิ่งที่จะถูกตอบรับ และในการวิงวอนขอด้วยถ้อยคำที่อยู่ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺนั้น มีผลบุญด้วย
โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงเราขอและทำความดีเพื่อใกล้ชิดพระองค์ ด้วยพระนามอันวิจิตรของพระองค์ และคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ และด้วยศรัทธาของเราที่มีต่อพระองค์ และด้วยความรักของเราที่มีต่อนบีของพระองค์ นบีแห่งความเมตตา และด้วยความดีของพวกเราที่กระทำเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ให้เราเป็นบ่าวที่ศรัทธา อยู่ในแนวทางของพระองค์ และให้เรามั่นคงอยู่บนสัจธรรม และโปรดช่วยเหลือเราให้มีชัยเหนือศัตรู แท้จริงพระองค์ทรงได้ยิน ทรงตอบรับคำขอทั้งหลาย
      ขอความจำเริญ และความสันติมีแด่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ และผู้ที่เจริญรอยตามจนวันสิ้นโลก