Acerca del artículo

Autor :

Muhammad Bin Ibrahim Al-Tuwajre

Fecha :

Tue, Apr 25 2017

Categoría :

Jurisprudencia

Descargar

บัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ

บัญญัติต่างๆเกี่ยวกับการประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ
[ ไทย ]


أحكام الحج والعمرة
[ باللغة التايلاندية ]


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري


แปลโดย: อัสรอน  นิยมเดชา
ترجمة: عصران    نئيوم ديشا

ตรวจทาน: อุษมาน อิดรีส
مراجعة: عثمان إدريس

จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์
المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

สำนักงานความร่วมมือเพื่อการเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด
المكتب التعاوني للدعوة وتوعية الجاليات بالربوة بمدينة الرياض
1429 – 2008

 

 

 
บัญญัติต่างๆเกี่ยวกับการประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺ

ขั้นตอนการปฏิบัติในวันนะหฺร์ (วันอีด)
แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์ คือ การเรียงลำดับขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติในวันอีด (วันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺ) ดังนี้
1.ขว้างเสาหินญัมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ (หรือที่เรียก อัลญัมเราะตุล กุบรอ คือด้านที่อยู่ใกล้มักกะฮฺมากที่สุด)
2.เชือดสัตว์ฮัดย์
3.โกนหรือตัดผม
4.เฏาะวาฟ
5.เดินสะแอ
เช่นนี้คือขั้นตอนปฏิบัติตามสุนนะฮฺ แต่ถ้าจะโยกย้าย ปฏิบัติข้อใดก่อนหลังก็กระทำได้ เช่น โกนผมก่อนการเชือด หรือเฏาะวาฟก่อนที่จะขว้างเสาหิน เป็นต้น
ระยะเวลาของการเชือดสัตว์ฮัดย์คือตั้งแต่วันอีดจนถึงตะวันตกดินในวันที่ 13
จากท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَقَفَ فِي حَجَّةِ الْوَدَاعِ بِمِنًى لِلنَّاسِ يَسْأَلُونَهُ فَجَاءَهُ رَجُلٌ فَقَالَ لَمْ أَشْعُرْ فَحَلَقْتُ قَبْلَ أَنْ أَذْبَحَ؟، فَقَالَ: «اذْبَـحْ وَلا حَرَجَ» فَجَاءَ آخَرُ فَقَالَ لَمْ أَشْعُرْ فَنَحَرْتُ قَبْلَ أَنْ أَرْمِيَ؟، قَال: «ارْمِ وَلا حَرَجَ» فَمَا سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ شَيْءٍ قُدِّمَ وَلَا أُخِّرَ إِلَّا قَالَ: «افْعَلْ وَلا حَرَجَ»
ความว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยืนที่มินาครั้งหัจญ์วะดาอฺเพื่อให้ผู้คนสอบถามท่าน มีชายคนหนึ่งเข้ามาหาท่านแล้วกล่าวขึ้นว่า ฉันลืมตัวไปโกนศีรษะก่อนที่จะเชือด (จะเป็นไรไหม?) ท่านตอบว่า “เชือดเถิดไม่เป็นไร" หลังจากนั้นมีอีกคนเข้ามาถามว่า ฉันลืมตัวไปเชือดก่อนที่จะขว้างเสาหิน (จะเป็นไรไหม?) ท่านก็ตอบว่า "ขว้างไปเถิดไม่เป็นไร" ซึ่งไม่ว่าจะมีใครถามถึงการทำสิ่งใดก่อนหลัง ท่านก็จะตอบแต่ว่า "ทำไปเถิดไม่เป็นไร" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 83 และมุสลิม : 1306)                

หุก่มการเลื่อนเวลาขว้างเสาหิน
มีสุนนะฮฺให้ขว้างเสาหินในเวลาที่กำหนด
แต่อนุญาตให้ผู้ทำการเลี้ยงปศุสัตว์ ผู้ที่เจ็บป่วยไม่สบาย ผู้ที่มีเหตุจำเป็น หรือไม่สามารถเบียดเสียดกับผู้คน ให้เลื่อนเวลาการขว้างเสาหินไปเป็นวันที่ 13 ได้ และให้ขว้างตามลำดับสำหรับทุกๆวัน โดยขว้างสำหรับวันที่ 11 เริ่มจากเสาแรก ไปยังเสากลาง และสิ้นสุดที่เสาสุดท้าย หลังจากนั้นจึงเริ่มขว้างสำหรับวันที่ 12 ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเลื่อนไปจนเลยวันที่ 13 โดยไม่มีความจำเป็นถือว่าเป็นบาป แต่ถ้าเลื่อนเพราะมีเหตุจำเป็นก็ไม่ถือว่าเป็นบาป และในทั้งสองกรณีไม่ต้องขว้างเสาหินอีกเนื่องจากได้ผ่านพ้นเวลาที่กำหนดไปแล้ว โดยพิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้
อนุญาตให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์เช่นตำรวจจราจร รักษาความปลอดภัย ดับเพลิง หรือแพทย์พยาบาล นอนค้างนอกเขตมินาในค่ำคืนมินาหากมีความจำเป็น โดยไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺแต่อย่างใด

เขตตำบลมินา
ทิศตะวันออก – ตก ระหว่างทุ่งมุหัสสิรฺ กับเสาหินอัล-อะเกาะบะฮฺ
ทิศเหนือ – ใต้ ภูเขาสูง 2 ลูก

เขตมุซดะลิฟะฮฺ
ทิศตะวันออก มะฟีฎ อัล-มะอ์ซะมัยน์ตะวันตก
ทิศตะวันตก ทุ่งมุหัสสิรฺ
ทิศเหนือ ภูเขาษะบีรฺ
ทิศใต้ เทือกเขามัรฺรีคิยาต
    
กำหนดเวลาการขว้างเสาหินในวันตัชรีก
1.การขว้างเสาหินหลังจากวันอีดนั้น ทั้งหมดเริ่มหลังตะวันคล้อย ผู้ใดขว้างก่อนตะวันคล้อยจำเป็นที่เขาต้องขว้างใหม่อีกครั้งหลังตะวันคล้อย ถ้าหากว่าเขาไม่ขว้างใหม่จนกระทั่งตะวันตกดินในวันที่ 13 ถือว่าเป็นบาป แต่ไม่ต้องขว้างอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากกำหนดเวลาการขว้างได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยถือว่าพิธีกรรมของเขานั้นใช้ได้
2.วันตัชรีกทั้งสามวันนั้นเมื่อพิจารณาถึงการขว้างเสาหินแล้วเปรียบเสมือนวันเดียวกัน เพราะฉะนั้นผู้ใดขว้างส่วนที่เป็นของอีกวันหนึ่งในอีกวันหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้ และไม่ต้องจ่ายหรือปรับสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ถือเป็นการละทิ้งสิ่งที่ประเสริฐกว่า

หุก่มการเลื่อนกำหนดการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ
มีสุนนะฮฺให้ทำการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺในวันอีด แต่ก็สามารถเลื่อนไปเป็นช่วงวันตัชรีกทั้งสามได้ เรื่อยไปจนถึงสิ้นเดือนซุลหิจญะฮฺ และไม่อนุญาตให้เลื่อนไปจนเลยเดือนซุลหิจญะฮฺไปนอกจากจะมีความจำเป็น เช่น ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งไม่อาจจะทำการเฏาะวาฟด้วยการเดินเท้าหรือถูกแบกหามได้ หรือสตรีซึ่งมีเลือดหลังการคลอดบุตรก่อนที่จะทำการเฏาะวาฟ เป็นต้น

หุก่มหัจญ์ของผู้ที่มีอุปสรรคขวางกั้นทำให้ไม่สามารถเข้าสู่มุซดะลิฟะฮได้
ผู้ใดที่เคลื่อนตัวออกจากอะเราะฟะฮฺมุ่งหน้าสู่มุซดะลิฟะฮฺแต่มีอุปสรรค เช่น ในกรณีของการเบียดเสียดอัดแน่นของผู้คน ถ้าเกรงว่าจะไม่ทันละหมาดอิชาอ์ก็ให้ละหมาดระหว่างทาง ส่วนผู้ใดที่ไม่สามารถเข้าสู่มุซดะลิฟะฮฺได้จนกระทั่งรุ่งสาง หรือเช้า ให้ยืนอยู่ ณ มุซดะลิฟะฮฺครู่หนึ่ง จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังทุ่งมินาโดยไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด และไม่ต้องเสียดัม พิธีหัจญ์ของเขาก็ถือว่าถูกต้อง
ผู้ใดขว้างก้อนหินทั้งหมดในคราเดียวกันนับว่าเป็นหนึ่งก้อน และจำเป็นต้องขว้างอีก 6 ก้อน โดยที่จำเป็นต้องทำคือขว้างให้ลงบ่อหิน โดยไม่จำเป็นว่าต้องโดนเสาหินที่มีไว้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเท่านั้น

หุก่มการขว้างในตอนกลางคืน
ที่ดีที่สุดของการขว้างเสาหินในวันตัชรีกทั้งสามคือช่วงเวลาตั้งแต่หลังตะวันคล้อยในเวลากลางวัน แต่ถ้าหากมีอุปสรรคในเรื่องของการเบียดเสียดก็ให้ขว้างในช่วงเย็นได้ เนื่องจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดเวลาสำหรับเริ่มขว้าง แต่ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุด
จากท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า :

سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: رَمَيْتُ بَـعْدَ مَا أَمْسَيْتُ فَقَالَ: «لا حَرَجَ» قَالَ: حَلَقْتُ قَبْلَ أَنْ أَنْحَرَ قَالَ: «لا حَرَجَ»
ความว่า : มีคนถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ฉันขว้างเสาหินหลังจากที่ได้เข้าสู่เวลาเย็นแล้ว ท่านก็ตอบว่า “ไม่เป็นไร” เขากล่าวว่า ฉันโกนศีรษะก่อนที่จะเชือด ท่านตอบว่า “ไม่เป็นไร” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 1723 และมุสลิม : 1306)

หุก่มการเฏาะวาฟของสตรีผู้มีประจำเดือน
ในกรณีที่สตรีมีรอบเดือนหรือมีเลือดหลังคลอดบุตรก่อนการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ นางไม่ต้องทำการเฏาะวาฟ แต่ให้รอจนกระทั่งเลือดหยุด และให้อยู่มักกะฮฺต่อจนกระทั่งนางอาบน้ำยกหะดัษและทำการเฏาะวาฟ ในกรณีที่นางไปพร้อมกับกลุ่มซึ่งไม่สามารถรอนางได้ และนางก็ไม่สามารถอยู่ต่อที่มักกะฮฺได้ ก็ให้นางปกปิดอวัยวะด้วยผ้า (กันเปื้อนหรือผ้าอนามัย) ให้มิดชิดแล้วทำการเฏาะวาฟได้ เพราะถือว่านางเป็นผู้มีเหตุจำเป็น และอัลลอฮฺตะอาลานั้นไม่ทรงใช้ในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ และถือว่าพิธีหัจญ์ของนางนั้นใช้ได้ อินชาอัลลอฮฺ

หุก่มการให้ผู้อื่นขว้างแทน
อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษหรือเด็ก วานให้ผู้อื่นขว้างแทนได้ โดยให้ผู้ขว้างแทนนั้นขว้างสำหรับตนเองก่อน แล้วจึงขว้างสำหรับผู้อื่นที่ได้ไหว้วานไว้
เมื่อสตรีเนียตครองอิหฺรอมเพื่ออุมเราะฮฺแล้วปรากฏว่ามีรอบเดือนก่อนจะเริ่มทำการเฏาะวาฟ หากว่ารอบเดือนของนางหมดก่อนวันที่ 9 ก็ให้นางประกอบพิธีอุมเราะฮฺต่อไปแล้วเนียตครองอิหฺรอมหัจญ์และมุ่งหน้าสู่       อะเราะฟะฮฺ แต่ถ้านางยังมีรอบเดือนอยู่จนถึงวันอะเราะฟะฮฺก็ให้นางรวมหัจญ์เข้าไปในอุมเราะฮฺด้วยการกล่าวว่า
لَبَّيْكَ حَجاً وعُمْرَةً
ลับบัยกะ หัจญัน วะ อุมเราะตัน
เช่นนี้ถือว่านางได้เปลี่ยนเป็นพิธีกรรมแบบกิรอน และให้นางทำการวุกูฟเหมือนคนอื่นๆ เมื่อหมดรอบเดือนแล้วก็ให้อาบน้ำยกหะดัษ และทำการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺ
ผู้ที่ประกอบพิธีแบบอิฟรอดหรือกิรอนนั้น เมื่อถึงมักกะฮฺแล้ว ให้ทำการเฏาะวาฟและเดินสะแอ โดยสุนัตให้เขาเปลี่ยนพิธีกรรมเป็นหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็นแบบตะมัตตุอฺก่อนการเฏาะวาฟก็กระทำได้ แต่ผู้ที่ประกอบพิธีแบบอิฟรอดไม่ต้องเปลี่ยนเป็นแบบกิรอน เช่นเดียวกับผู้ที่ประกอบพิธีแบบกิรอนก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอิฟรอด แต่ตามสุนนะฮฺแล้วก็คือให้เปลี่ยนพิธีกรรมแบบอิฟรอดหรือกิรอนเป็นแบบตะมัตตุอฺ ถ้าหากว่าผู้ที่ทำแบบกิรอนนั้นไม่มีสัตว์ฮัดย์
จำเป็นสำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺที่จะต้องระมัดระวังคำพูดของตน ไม่ให้มีการโกหกมดเท็จ นินทาว่าร้าย โต้เถียงทะเลาะวิวาท และมารยาทที่ไม่สมควรต่างๆ และจำเป็นที่เขาต้องเลือกกลุ่มเพื่อนร่วมทางที่ดี และต้องใช้จ่ายเงินที่มาจากสิ่งที่เป็นที่อนุมัติ

หุก่มการเข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺ
การเข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺไม่ถือว่าเป็นวาญิบ หรือสุนัตที่กำชับให้กระทำแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และผู้ใดมีโอกาสได้เข้าไปข้างในกะอฺบะฮฺก็สุนัตให้เขาละหมาด กล่าวตักบีรฺ และขอดุอาอ์ เมื่อเขาผ่านประตูเข้าไปแล้วก็ให้เดินขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อยกระทั่งเหลือระยะห่างระหว่างเขากับผนังข้างหน้าราว 3 ศอก โดยให้ประตูอยู่ข้างหลังเขา แล้วจึงทำการละหมาด

หกสถานที่สำหรับการขอดุอาอ์ในพิธีหัจญ์
- บนเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮฺ ในระหว่างการเดินสะแอ
- ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ
- ณ มุซดะลิฟะฮฺ
- หลังจากขว้างเสาหินแรก
- หลังจากขว้างเสาหินกลาง
ทั้ง 6 สถานที่ดังกล่าวนี้มีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมให้ทำการขอดุอาอ์
    
การเคลื่อนตัวของผู้ประกอบพิธีหัจญ์มีอยู่ 3 ครั้ง
1.จากทุ่งอะเราะฟะฮฺสู่มุซดะลิฟะฮฺคืนก่อนวันอีด
2.จากมุซดะลิฟะฮฺสู่มินา
3.จากมินาสู่มักกะฮฺเพื่อทำการเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺ

ลักษณะการค้างแรม ณ สถานที่สำหรับประกอบพิธีหัจญ์
1.มินา มุซดะลิฟะฮฺ และอะเราะฟะฮฺถือเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีหัจญ์ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์
ผู้ใดที่ไม่ค้างแรม ณ มินา 2 หรือ 3 คืนช่วงวันตัชรีกโดยไม่มีเหตุจำเป็นถือว่าเป็นบาป แต่พิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีที่ให้ค้างแรมในเขตมินา ก็อนุญาตให้ค้างแรมถัดจากเต้นท์สุดท้ายที่อยู่ในเขตมินาได้ จะเป็นทางทิศใดก็ได้แม้ว่าจะอยู่นอกเขตมินาก็ตาม โดยไม่ถือว่าเป็นบาปและไม่ต้องจ่ายดัม และไม่ควรค้างแรมตามทางเท้าหรือถนนหนทางเพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตนเองแล้วยังสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย
2.มินา มุซดะลิฟะฮฺ และอะเราะฟะฮฺเป็นสถานที่สำหรับประกอบอิบาดะฮฺหัจญ์ เปรียบได้ดั่งมัสยิด จึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยเพื่อให้เช่า หรือยึดที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพื่อให้ผู้อื่นเช่า ผู้ใดกระทำเช่นนั้นถือว่าเขาได้กระทำบาป ส่วนผู้เช่าถือว่าไม่เป็นบาป และจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องจัดระเบียบการเข้าพักของผู้คนในเขตสถานที่ประกอบพิธีหัจญ์ตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความสะดวกสบายของบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์
จากท่านอับดุรฺเราะหฺมาน บิน มุอาซ จากชายคนหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺ กล่าวว่า
خَطَبَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم النَّاسَ بِمِنىً، وَنَزَّلَـهُـمْ مَنَازِلَـهُـمْ فَقَالَ: «لِيَنْزِلِ المُهَاجِرُونَ هَاهُنَا» وَأَشَارَ إلَى مَيْـمَنَةِ القِبْلَةِ «وَالأَنْصَارُ هَاهُنَا» وَأَشَارَ إلَى مَيْسَرَةِ القِبْلَةِ «ثُمَّ لِيَنْزِلِ النَّاسُ حَوْلَـهُـمْ»
ความว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อ่านคุฏบะฮฺต่อหน้าผู้คน ณ มินา และได้แบ่งที่พักแรมของพวกเขา ท่านกล่าวว่า “บรรดาชาวมุฮาญิรีนให้พักแรมตรงนี้” แล้วท่านก็ชี้ไปทางด้านขวามือของกิบลัต “และบรรดาชาวอันศอรฺให้พักแรมตรงนี้” แล้วท่านก็ชี้ไปทางซ้ายมือของกิบลัต “ส่วนคนอื่นๆให้พักแรมรอบๆพวกเขา” (บันทึกโดย อบูดาวุด : 1951 และอันนะสาอีย์ : 2996)

ในกรณีที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์เลื่อนการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺไปเป็นก่อนจะกลับ ก็ไม่จำเป็นต้องทำการเฏาะวาฟวะดาอฺอีกหากเขาเนียตว่านั่นเป็นการเฏาะวาฟซิยาเราะฮฺ
ผู้ที่วาญิบต้องทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ หากว่าเขาออกเดินทางกลับก่อนที่จะทำการเฏาะวาฟวะดาอฺจำเป็นที่เขาต้องกลับเข้าไปใหม่เพื่อทำการเฏาะวาฟวะดาอฺ ถ้าหากเขาไม่กลับไป ถือว่าเป็นบาป แต่พิธีกรรมของเขาถือว่าใช้ได้