เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

عويض بن حمود العطوي

วันที่ :

Tue, Sep 20 2016

ประเภท :

About Quran & Hadith

เราะมะฎอนกับการตะดับบุรอัลกุรอาน


เราะมะฎอน
กับการตะดับบุรอัลกุรอาน

] ไทย – Thai – تايلاندي [

 

อุวัยฎ์ บิน หะมูด อัลอัฏวีย์

 


แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน
 ที่มา : เว็บ ศ็อยดุลฟะวาอิด
http://www.saaid.net/mktarat/ramadan/379.htm

 


2014 - 1435
 


 


رمضان وتدبر القرآن
« باللغة التايلاندية »

 

 

عويض بن حمود العطوي

 

 

ترجمة: صافي عثمان
المصدر:  موقع صيد الفوائد
http://www.saaid.net/mktarat/ramadan/379.htm

 

 


2014 - 1435
 
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เราะมะฎอนกับการตะดับบุรอัลกุรอาน

الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد:
ในบางครั้ง คนเราอาจจะพบกับบางช่วงโอกาสสำคัญที่เขาสามารถจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จได้ ซึ่งบางอย่างที่ว่านั้นเขาอาจจะทำให้สำเร็จในช่วงเวลาอื่นไม่ได้
หรือบางทีมนุษย์เราก็อาจจะตั้งความหวังว่าจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ แต่ก็ไม่ประสบกับโอกาสที่จะทำให้บรรลุตามที่หวังไว้แม้ว่าจะใช้เวลาทั้งชีวิตก็ตาม
และเชื่อว่าในจำนวนสิ่งที่มุสลิมต่างใฝ่หาประการหนึ่งก็คือ มีวิธีการใดที่เขาสามารถจะรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากคลังความรู้แห่งคัมภีร์อัลกุรอานเล่มนี้ ? ในขณะที่เราได้มีชีวิตอยู่ในเราะมะฎอนเดือนแห่งอัลกุรอาน แน่นอนว่ามันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการที่จะทำให้ความหวังอันยิ่งใหญ่นี้ของเราบรรลุผล และหนทางที่ว่านั้นก็คือ การตะดับบุรอัลกุรอาน
แล้วการตะดับบุรอัลกุรอานคืออะไรเล่า? อาจจะมีใครสักคนถามเช่นนี้
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าใคร่ขอชี้แจงว่า สิ่งที่จะพูดนี้มุ่งหมายที่จะสื่อไปยังทุก ๆ คน โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา หรือประเภทบุคคลเฉพาะกลุ่มใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมุสลิมทุกคนถูกเรียกร้องให้ทำความเข้าใจกับคัมภีร์อัลกุรอานของพระผู้อภิบาลแห่งพวกเขาด้วยกันทั้งนั้น
ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงแนวคิดบางอย่างที่มีประโยชน์เพื่อให้เกิดการตะดับบุรอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งอัลกุรอานเดือนนี้ :
แนวคิดที่หนึ่ง กำหนดสูเราะฮฺใดสูเราะฮฺหนึ่งให้ชัดเจนเพื่อการตะดับบุร
ควรเลือกเอาสูเราะฮฺที่มีความยาวปานกลาง ซึ่งอาจจะดำเนินการดังนี้
1)    เลือกสูเราะฮฺเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าเดือนเราะมะฎอน
2)    อ่านสูเราะฮฺนั้นทุกวัน หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้ สิ่งสำคัญคือให้มีความสัมพันธ์ทุกวันกับสูเราะฮฺที่เราเลือกไว้
3)    เตรียมสมุดบันทึกเพื่อจดบันทึกสาระประโยชน์ ประกายความคิด และข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากสูเราะฮฺ
4)    พยายามที่จะทำความเข้าใจถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างต้นสูเราะฮฺที่เราอ่าน กับท้ายบทของสูเราะฮฺก่อนหน้า
5)    ให้ความสำคัญกับต้นสูเราะฮฺและพยายามดึงบทเรียนออกมา
6)    เรียนรู้สาเหตุแห่งการประทานสูเราะฮฺนี้ลงมา ถ้าหากว่ามีสาเหตุแห่งประทานอยู่ด้วย
7)    บันทึกคำศัพท์หรือประโยคที่ทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสูเราะฮฺ และพยายามหาตัฟซีรหรืออรรถาธิบายความหมายของมัน
8)    บันทึกประกายความคิดหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสูเราะฮฺ และให้ตั้งหัวข้อในภาพรวมที่สามารถรวบยอดความคิดต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ภายใต้หัวข้อที่ตั้งขึ้นมา
9)    แตกประเด็นเนื้อหาและบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีในสูเราะฮฺ หรือคำสอนด้านจริยามารยาท และพิจารณาดูว่าเราได้ทำตามบทเรียนดังกล่าวแล้วหรือไม่
นี่คือแนวคิดและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับสูเราะฮฺที่เลือกไว้ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ซึ่งอาจจะใช้เวลาทั้งเดือน และเราก็ไม่ควรรีบเร่งที่จะสรุปหาผลลัพธ์เร็วเกินไป จงจดและบันทึกทุกอย่างที่คิดว่าต้องทำหมายเหตุไว้ ขออัลลอฮฺสนับสนุนและช่วยเหลือท่าน

แนวคิดที่สอง การอ่านอัลกุรอานให้จบทั้งเล่ม
ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในเรื่องนี้มากในเดือนเราะมะฎอน มันเป็นเรื่องที่ดีและไม่ได้ขัดแย้งกันกับสิ่งที่เรากล่าวมาแล้วในข้อแรก บางทีเราอาจจะใช้โอกาสอ่านอัลกุรอานวันละหนึ่งญุซอ์ในเดือนเราะมะฎอน และในขณะเดียวกันเราก็ทำการตะดับบุรไปด้วยพลาง ๆ วิธีนี้สามารถทำได้อย่างไร ?ข้างล่างนี้คำตอบ :
1)    พยายามอ่านให้ครบตามจำนวนญุซอ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน
2)    ดึงบทเรียนและแตกประเด็นต่าง ๆ ในญุซอ์ที่ได้อ่าน ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาด้านจริยามารยาท เหตุที่เราเจาะจงประเด็นด้านมารยาท อันเนื่องจากว่าเดือนเราะมะฎอนนั้นมีจุดประสงค์เพื่อขัดเกลาพฤติกรรมและมารยาทของเรา ดังนั้น เหตุใดเราจึงไม่เอา
อัลกุรอานมาเป็นคำแนะนำเสียเลยเล่า ?
3)    จดบันทึกมารยาทต่าง ๆ ที่ดึงมาได้เก็บเอาไว้ในแผ่นกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นมารยาทที่สั่งให้ทำหรือสั่งให้ละทิ้ง
4)    ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ได้ปฏิบัติตามมารยาทดังกล่าวหรือยัง ? หรือได้ละทิ้งนิสัยเสียที่ถูกสั่งห้ามตามที่ระบุในอายะฮฺที่เราอ่านแล้วหรือไม่ ?
5)    ให้ปรับพฤติกรรมของเราตามมารยาทที่เราได้รับมาจากอัลกุรอาน ซึ่งท่านจะพบว่าทุกวันตัวท่านจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ท่านได้ปฏิบัติตาม
อัลกุรอานอย่างจริงจัง และนี่ก็คือผลได้ที่แท้จริงจากการตะดับบุรอัลกุรอาน
6)    ถ้าหากท่านมีความรู้สึกว่าบทเรียนที่ได้มันมากเกินไป ก็จงดึงบทเรียนเอาแค่หนึ่งนิสัยด้านบวกและหนึ่งนิสัยด้านลบต่อจำนวนหญึ่งญุซอ์ที่ท่านอ่าน แล้วก็ให้ปฏิบัติตามนิสัยที่ดีตามที่จดไว้ และเลิกจากนิสัยเสียตามที่บันทึกไว้ดังกล่าวด้วย
เมื่อเราะมะฎอนจบไปโดยที่ท่านยึดมั่นในกระบวนการนี้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ก็เท่ากับว่าท่านได้ปฏิบัติตามมารยาทที่ดีสามสิบข้อ และได้เลิกจากนิสัยเสียสามสิบอย่าง ท่านอย่าได้รู้สึกขัดใจกับมารยาทบางอย่างที่ซ้ำ ๆ กันในแต่ละญุซอ์ เรื่องดังกล่าวถือว่าไม่เป็นไร การซ้ำกันของมารยาทบางอย่างในอัลกุรอานแสดงว่ามันต้องเป็นเรื่องสำคัญ
7)    พยายามจดหมายเหตุและข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ท่านเห็นลงในสมุดบันทึกที่ท่านเตรียมไว้เพื่อการตะดับบุรโดยเฉพาะ
ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺ ท่านจะพบว่าท่านได้รับผลลัพธ์อันน่าทึ่งในเดือนแห่งอัลกุรอานนี้ และอัลกุรอานได้มีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของท่าน
นี่เป็นแนวคิดสองแบบ อย่างรวบรัดและเป็นรูปธรรม  จงเลือกเอาสักแบบหนึ่ง และจงดำเนินการตามนั้นด้วย
บะเราะกะฮฺจากอัลลอฮฺ จงวางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ และจงเผยแพร่แนวคิดนี้ให้คนอื่น ๆ ด้วย เผื่อว่าอัลลอฮฺจะได้ให้ประโยชน์และคุณค่าด้วยแนวคิดนี้อย่างกว้างขวางต่อไป

ที่มา
http://www.saaid.net/mktarat/ramadan/379.htm