Sobre o Artigo

Autor :

Muhammad ibn Saleh al-Othaimeen

Data :

Wed, Aug 31 2016

Categoria :

Jurisprudência

ปิดท้ายอิบาดะฮฺด้วยการอิสติฆฟารฺ


ปิดท้ายอิบาดะฮฺด้วยการอิสติฆฟารฺ

ختم الطاعات بالاستغفار

< تايلاندية >

        
อับดุลร็อซซาก บิน อับดุลมุห์สิน อัล-บัดรฺ


عبد الرزاق بن عبد المحسن العباد البدر

 




 
ผู้แปล: ยูซุฟ อบูบักรฺ
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
 
ترجمة: يوسف أبوبكر
مراجعة: صافي عثمان

 

ปิดท้ายอิบาดะฮฺด้วยการอิสติฆฟารฺ

        


มีปรากฏหลักฐานในอัลกุรอานจำนวนมากที่กำชับใช้ให้มีการขออภัยโทษ ส่งเสริม กระตุ้น และอธิบายถึงผลที่ได้รับ รวมถึงร่องรอยของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เสร็จสิ้นจากการเคารพภักดี และหลังจากที่ได้ประกอบอิบาดะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นที่ประจักษ์ว่าส่วนหนึ่งจากจริยวัตรของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจะปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีด้วยการขออภัยโทษ (อิสติฆฟารฺ)  
        ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม
أنَّ رسول الله -صلى الله عليه وسلم- كان إذا انصرف من صلاته استغفر ثلاثاً    
ความหมาย “แท้จริงท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาด ท่านจะกล่าวอิสติฆฟารฺ 3 ครั้ง” (มุสลิม : 591)

และยังมีรายงานว่า ท่านจะปิดท้ายการละหมาดในยามค่ำคืนด้วยการกล่าวอิสติฆฟารฺ
    อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَٱلۡمُسۡتَغۡفِرِينَ بِٱلۡأَسۡحَارِ ١٧ ﴾ [آل عمران: ١٧]  
ความหมาย “และบรรดาผู้ที่ขออภัยโทษในช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืน” (อาล อิมรอน : 17)

    และอัลลอฮฺตรัสอีกว่า
﴿ وَبِٱلۡأَسۡحَارِ هُمۡ يَسۡتَغۡفِرُونَ ١٨ ﴾ [الذاريات: ١٨]  
ความหมาย “และในช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืนพวกเขาจะขออภัยโทษ” (อัซ-ซาริยาต : 18)

อัลลอฮฺได้บอกถึงลักษณะของพวกเขาว่า มีความมุ่งมั่นในการละหมาดยามค่ำคืนและเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยที่พวกเขาเห็นว่าตัวเองยังมีความบกพร่องอยู่อีก ดังนั้น พวกเขาจึงขอการอภัยโทษต่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮฺจึงทรงปิดท้ายสูเราะฮ อัล-มุซซัมมิล ซึ่งเป็นสูเราะฮฺที่ได้บอกเกี่ยวกับการละหมาดในยามค่ำคืน ด้วยคำสั่งที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَٱسۡتَغۡفِرُواْ ٱللَّهَۖ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمُۢ ٢٠ ﴾ [المزمل: ٢٠]  
ความหมาย “และจงขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺเถิด เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ” (อัล-มุซซัมมิล : 20)
                   
และยังมีบทบัญญัติแก่ผู้ที่อาบน้ำละหมาด ให้ปิดท้ายด้วยการกล่าวเตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัว) ดังนั้นการปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีที่สวยงามยิ่งคือการเตาบะฮฺ และการกล่าวอิสติฆฟารฺนั่นเอง  
จากอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الْوُضُوءَ، ثُمَّ قَالَ أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ، اللَّهُمَّ اجْعَلْنِى مِنَ التَّوَّابِينَ، وَاجْعَلْنِى مِنَ الْمُتَطَهِّرِينَ، فُتِحَتْ لَهُ ثَمَانِيَةُ أَبْوَابِ الْجَنَّةِ يَدْخُلُ مِنْ أَيِّهَا شَاءَ»
ความหมาย “บุคคลใดได้น้ำละหมาดอย่างประณีตครบถ้วนสมบูรณ์ ต่อจากนั้นเขากล่าวว่า อัชฮะดุอันลาอิลาฮา อิลลัลลอฮฺ วะอันนะมุหัมมะดัน อับดุฮุ วะรอสูลุฮุ (ความว่า ฉันขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์) โอ้ อัลลอฮฺโปรดให้ฉันเป็นคนหนึ่งจากผู้ที่กลับเนื้อกกลับตัว และเป็นคนหนึ่งจากผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ แน่นอนประตูต่างๆ ของสวรรค์ทั้งแปดบานจะถูกเปิดแก่เขา ซึ่งเขาสามารถเข้าทางประตูบานใดก็ได้ตามที่ประสงค์” (อัต-ติรมิซียฺ : 50)
     
และอัลลอฮฺตรัสไว้ในโองการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีหัจญ์
﴿ ثُمَّ أَفِيضُواْ مِنۡ حَيۡثُ أَفَاضَ ٱلنَّاسُ وَٱسۡتَغۡفِرُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ١٩٩ ﴾ [البقرة: ١٩٩]  
ความหมาย “แล้วพวกเจ้าจงหลั่งไหลกันออกไปจากที่ที่ผู้คนได้หลั่งไหลกันออกไป และจงขออภัยต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 199)

ความหมายของคำว่า “หลั่งไหล” ในที่นี่คือการเคลื่อนตัวจากมุซดะลิฟะฮฺไปสู่มีนาในวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ เนื่องจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์ได้ทำอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นการปิดท้ายภารกิจหัจญ์ที่นั่น     
ชัยคฺอับดุรเราะมาน อัส-สะอฺดีย์ –เราะหิมะฮุลลอฮฺ- ได้อธิบายโองการนี้ว่า “แท้จริงแล้วเหตุผลของการขออภัยโทษนั้น เพื่อเป็นการเติมเต็มในความบกพร่องและการละเลยที่เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า “การขออภัยโทษนั้น เพราะความบกพร่องที่เกิดจากบ่าวขณะทำการอิบาดะฮฺภักดีอัลลอฮฺ และเป็นการรำลึกในความโปรดปรานของพระองค์ที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เขาในการภักดีที่ยิ่งใหญ่นี้ และทำนองเดียวกันนี้ ทุกครั้งที่เสร็จสิ้นจากการอิบาดะฮฺ บ่าวควรจะขออภัยจากอัลลอฮฺในความบกพร่อง และขอบคุณพระองค์ที่เอื้ออำนวย มิใช่เป็นอย่างผู้ที่ทำการภักดีแล้วทวงบุญคุณ และขอแลกเปลี่ยนกับระดับอันสูงส่ง เพราะนั่นคือผู้ที่ควรแก่การตำหนิ การปฏิบัติของเขาก็ไม่ถูกตอบรับ ขณะที่บุคคลแรกเหมาะสมที่จะได้รับการเอื้ออำนวยให้ปฏิบัติการงานอื่นๆ อีก และการงานของเขาก็จะถูกตอบรับ”
และส่วนหนึ่งจากคำสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม คือ การปิดประชุมโดยการกล่าวคำขออภัยโทษ ดังรายงานของอบู ดาวูด จากอบู บัรซะฮฺ อัล-อัสละมียฺ –เราะฎิยัลลอฮุอันฮู-
«كان رسول الله -صلى الله عليه وسلم- يقول بأخرة إذا أراد أن يقوم من المجلس: سبحانك اللهمّ وبحمدك، أشهد أن لا إله إلاَّ أنت، أستغفرك وأتوب إليك»
ความหมาย “เมื่อท่านนบีต้องการจะลุกขึ้นจากที่ประชุมหนึ่ง ท่านจะกล่าวว่า "สุบหานะกัลลอฮุมมา วะบิหัมดิกา อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลาอันตา อัสตัฆฟิรุกา วะอะตูบุอิลัยกฺ” (มีความหมายว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์อัลลอฮฺ และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ข้าขออิสติฆฟารฺ/ขออภัยโทษต่อพระองค์ และขอเตาบะฮฺ/กลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์)” (อบู ดาวูด : 4861)

    และจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَن جلس في مجلس فكثر فيه لغَطُه، فقال قبل أن يقوم من مجلسه ذلك: سبحانك اللَّهمَّ ربَّنا وبحمدك، أشهد أن لا إله  إلاَّ أنت، أستغفرك وأتوب إليك، إلاَّ غفر له ما كان في مجلسه ذلك»
ความหมาย "ผู้ใดได้นั่งในที่ประชุมหนึ่ง และได้พูดคุยเอะอะ แล้วเขาได้กล่าวก่อนจะยืนออกไปจากที่ประชุมนั้นว่า "สุบหานะกัลลอฮุมมา วะบิหัมดิกา อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลาอันตา อัสตัฆฟิรุกา วะอะตูบุอิลัยกฺ” (มีความหมายว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์อัลลอฮฺ และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ข้าขออิสติฆฟารฺ/ขออภัยโทษต่อพระองค์ และขอเตาบะฮฺ/กลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์) เขาก็จะได้รับการอภัยโทษจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่ประชุมดังกล่าวนั้น" (อัต-ติรมีซียฺ : 3429)

    ยิ่งกว่านั้นท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปิดท้ายชีวิตของท่านด้วยการบรรลุถึงแก่นแท้ของการภักดีและการเชื่อฟังที่สมบูรณ์ โดยการขออภัยโทษ ดังที่มีบันทึกในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา ว่า
أنَّها سمعت رسول الله -صلى الله عليه وسلم- وأَصْغَتْ إليه قبل أن يموت وهو مُسنِدٌ إليها ظهرَه يقول: «اللَّهمَّ اغفر لي وارحَمني وأَلحِقنِي بالرَّفيق الأعلى»
ความหมาย “ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวขณะที่ฉันเงี่ยหูฟังก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ซึ่งท่านนอนหนุนตักของนางอยู่ว่า “โอ้อัลลอฮฺโปรดอภัยโทษให้แก่ฉัน โปรดเมตตาต่อฉัน และโปรดให้ฉันได้กลับไปถึงพระองค์ผู้สูงส่ง” (อัล-บุคอรียฺ : 4440)  

พร้อมกันนั้นท่านได้ขออภัยโทษอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันของท่าน และนี่คือวิถีของชาวสะลัฟ/กัลยาณชนอิสลามรุ่นแรกๆ
ท่านอิบนุ เราะญับ –เราะหิมะฮุลลอฮฺ- กล่าวว่า “ชาวสะลัฟเห็นว่า ใครก็ตามแต่ที่เสียชีวิตหลังจากที่ได้ประกอบคุณงามความดี เช่น การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน หรือหลังจากการประกอบพิธีหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ก็คาดหวังว่าเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์ และเป็นที่ประจักษ์ว่าทั้งที่พวกเขาเพียรพยายามทำความดีอย่างเต็มที่ขณะที่พวกเขายังมีสุขภาพดี แต่พวกเขาก็จะรื้อฟื้นการเตาบะฮฺและอิสติฆฟารฺอิบาดะฮฺให้มีความสดใหม่อยู่เสมอขณะใกล้จะตาย และพวกเขาจะปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีด้วยการขออภัยโทษและคำปฏิญาณตนด้วยถ้อยคำแห่งการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ เมื่อความตายมาเยือน อัล-อะลาอ์ บิน ซิยาด ท่านได้ร้องไห้ แล้วมีคนถามว่า “ท่านร้องไห้ด้วยเหตุอันใดหรือ? ท่านตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันต้องการพบความตายด้วยกับการเตาบะฮฺ” พวกเขาก็กล่าวว่า “ท่านจงทำเถิด” แล้วเขาก็ขอน้ำเพื่ออาบน้ำละหมาด จากนั้นขอเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ต่อมาท่านได้ผินหน้าไปทางกิบละฮฺ แล้วทำสัญญาณด้วยศรีษะสองสามครั้ง แล้วท่านจึงนอนและเสียชีวิตตรงนั้น  เมื่อความตายมาเยือน อามิร บิน อับดิลลาฮฺ ท่านได้ร้องไห้และกล่าวว่า “เพราะสภาพแห่งการเสียชีวิตเช่นนี้เอง จงขวนขวายทำดีเถิดโอ้ผู้ที่ทำดีทั้งหลาย โอ้อัลลอฮฺ ฉันขออภัยต่อพระองค์จากความบกพร่องและการเพิกเฉยของฉัน และฉันขอกลับตัวต่อพระองค์จากบาปทั้งหลาย ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงอื่นจากพระองค์” แล้วท่านกล่าวซ้ำจนกระทั่งเสียชีวิต และอัมรฺ บิน อัล-อาศ กล่าวตอนใกล้เสียชีวิตว่า “โอ้อัลลอฮฺพระองค์ได้สั่งใช้เราแต่เรากลับฝ่าฝืน พระองค์ทรงห้ามพวกเราแต่เรากลับฝ่าฝืน และไม่มีทางใดนอกจากการอภัยของพระองค์เท่านั้น ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ” แล้วท่านก็กล่าวซ้ำๆ จนกระทั่งเสียชีวิต” (ละฎออิฟ อัล-มะอาริฟ หน้าที่ 362)
    ผลลัพธ์และความจำเริญอย่างมหาศาลเกินคณานับสำหรับผู้ที่ขออภัยโทษ ในการที่จะทำให้ความดีทั้งหลายมีความสมบูรณ์และช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เขาละเลย และจะช่วยยกระดับแก่เขา ดังที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมิยะฮฺ –เราะหิมะฮุลลอฮฺ- กล่าวว่า “การขออภัยโทษนั้นจะทำให้บ่าวหลุดออกจากพฤติกรรมที่น่ารังเกียจสู่การกระทำที่พึงปรารถนา จากการงานที่บกพร่องสู่การงานที่สมบูรณ์ และจะยกระดับของบ่าวให้สูงขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งกว่า เนื่องจากบ่าวที่ภักดีต่ออัลลอฮฺและบ่าวที่รู้จริงเกี่ยวกับอัลลอฮฺในทุกวันทุกเวลา หรือทุกชั่วโมง หรือทุกวินาที เขาจะเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในศาสนา และการภักดีต่อพระองค์ กล่าวคือ เขาจะพบว่าการภักดีนั้นอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม ขณะนอน ขณะตื่น ในการพูด ในการกระทำของเขา และเขาจะมองเห็นการละเลยของเขาในการรวบรวมจิตใจให้ได้สถานะอันสูงส่ง และการเติมเต็มสิ่งที่หัวใจของเขาต้องการ ดังนั้น เขาจะเห็นว่าตัวเองยังต้องมีการขออภัยโทษในยามค่ำคืนและกลางวันอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้น เขาต้องขออภัยโทษในทุกสภาพการณ์ตลอดเวลาไม่ว่าในที่ลับหรือเปิดเผย เนื่องจากการขออภัยนั้นมีความดีอันมากมาย และยังป้องกันสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย และทำให้มีพลังในการประกอบความดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และพลานุภาพในความเชื่อมั่นและศรัทธา” (มัจญ์มูอ์ อัล-ฟะตาวา : 11/696)
แท้จริง อัลลอฮฺได้เตรียมผลกรรมแก่ผู้ที่ขออภัยโทษทั้งในโลกนี้และในอาคิเราะฮฺ ด้วยผลบุญอันยิ่งใหญ่ ของขวัญอันทรงเกียรติ และผลตอบแทนมากมายจากพระองค์ ซึ่งไม่อาจจะนับคำนวนและรับรู้ได้หมด
    อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
﴿ وَمَن يَعۡمَلۡ سُوٓءًا أَوۡ يَظۡلِمۡ نَفۡسَهُۥ ثُمَّ يَسۡتَغۡفِرِ ٱللَّهَ يَجِدِ ٱللَّهَ غَفُورٗا رَّحِيمٗا ١١٠ ﴾ [النساء : ١١٠]  
ความหมาย “และผู้ใดที่กระทำความชั่วหรืออธรรมแก่ตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะพบว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ทรงเมตตายิ่ง” (อัล-นิสาอ์ : 110)

    อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
﴿وَمَا كَانَ ٱللَّهُ مُعَذِّبَهُمۡ وَهُمۡ يَسۡتَغۡفِرُونَ ٣٣ ﴾ [الأنفال: ٣٣]  
ความหมาย “และอัลลอฮฺจะไม่เป็นผู้ทรงลงโทษพวกเขา ตราบใดที่พวกเขาขออภัยโทษกัน” (อัล-อันฟาล : 33)
    อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบีนูหฺ อะลัยฮิสสลาม ว่า
﴿ فَقُلۡتُ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ إِنَّهُۥ كَانَ غَفَّارٗا ١٠ يُرۡسِلِ ٱلسَّمَآءَ عَلَيۡكُم مِّدۡرَارٗا ١١ وَيُمۡدِدۡكُم بِأَمۡوَٰلٖ وَبَنِينَ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ جَنَّٰتٖ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ أَنۡهَٰرٗا ١٢ ﴾ [نوح: ١٠،  ١٢]  
ความหมาย “ข้าพระองค์(นบีนูหฺ)ได้กล่าวว่า พวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงอภัยโทษอย่างแท้จริง  พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน  และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีส่วนมากหลายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากหลายแก่พวกท่าน” (นูหฺ : 10-12)
    
จากอับดุลลอฮฺ บิน บิชรฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«طوبى لِمَن وجد في صحيفته استغفاراً كثيراً»
ความหมาย “ยินดีเถิด สำหรับผู้ที่พบในสมุดบันทึกของเขา (ในวันกิยามะฮฺ) ซึ่งการขออภัยโทษอันมากมาย” (อิบนุ มาญะฮฺ : 3818)
    
ดังนั้น จำเป็นที่ผู้ศรัทธาต้องกล่าวอิสติฆฟารฺอย่างสม่ำเสมอและให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปิดท้ายของการทำอิบาดะฮฺต่างๆ เพื่อเติมเต็มในความบกพร่องและทำให้อะมัลอิบาดะฮฺนั้นมีความสมบูรณ์ และเพื่อที่เขาจะได้รับความสำเร็จด้วยรางวัลของผู้ขออภัยและบั้นปลายชีวิตอันสวยงามของเขา
ขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้เราเป็นบ่าวที่กลับเนื้อกลับตัว ที่ขออภัยโทษ และขอพระองค์โปรดรับการสารภาพผิดของเรา เพราะพระองค์นั้นทรงอภัยและทรงเมตตาเสมอ และขอความจำเริญจงมีแด่เราะสูลของเรา และแก่วงศาคณาญาติของท่าน และแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมวล

ต้นฉบับจาก
http://islamselect.net/mat/111790