เกี่ยวกับบทความ

ผู้เขียน :

إسماعيل لطفي فطاني

วันที่ :

Wed, Oct 26 2016

ประเภท :

For New Muslim

สังคมของเศาะหาบะฮฺ คือ สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด


สังคมของเศาะหาบะฮฺ
คือ สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด

] ไทย – Thai – تايلاندي [

 

 

ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา

 

แปลโดย : อุษมาน อิดรีส
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

 

2013 - 1434
 

 


تراهم ركعًا سجدًا
« باللغة التايلاندية »

 

 


د. إسماعيل لطفي جافاكيا

 

ترجمة: عثمان إدريس
مراجعة: صافي عثمان
المصدر:  جامعة جالا الإسلامية

 


2013 - 1434
 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
สังคมของเศาะหาบะฮฺ
คือ สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ขอความศานติและพรจากอัลลอฮฺจงประสบแด่นบีมุฮัมมัดผู้ถูกส่งมาเพื่อแผ่ความเมตตาสู่สากลโลก ตอลดจนวงศ์วานและเศาะหาบะฮฺทั้งหลายของท่าน
สังคมเศาะหาบะฮฺในสมัยของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นสังคมที่ได้รับการตั้งสมญาโดยอัลกุรอานว่าเป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะ รุกกะอัน สุจญะดัน “สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด” หมายความว่าเป็นสังคมที่ชอบ
รุกูอฺและสุญูด (หมายถึงละหมาด) โดยพร้อมเพรียงกัน นี่คือลักษณะการดำรงละหมาด โดยเฉพาะละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลา ทั้งที่เป็นการละหมาดในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน เพราะละหมาดฟัรฎูในรูปแบบญะมาอะฮฺจะได้รับการเป็นสักขีพยาน ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿تَرَىٰهُمۡ رُكَّعٗا سُجَّدٗا يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗاۖ ﴾ [الفتح: ٢٩]  
ความว่า “ท่านจะเห็นพวกเขาอยู่ในสภาพที่รุกูอฺ และสุญูด เพื่อแสวงหาความดีและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ” (อัล-ฟัตหฺ 48:29)

หมายความว่า ท่านจะเห็นพวกเขาตั้งมั่นอยู่ในการอิบาดะฮฺทั้งรุกูอฺและสุญูดโดยคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมในผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ รวมทั้งความโปรดปรานจากพระองค์
สังคมเศาะหาบะฮฺในสมัยท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะอยู่ในสภาพที่หมั่นละหมาด นั่นคือการได้รุกูอฺและสุญูดโดยพร้อมเพรียงกันอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นพวกเขาก็จะแยกย้ายกันออกไปหาความประเสริฐของอัลลอฮฺและความโปรดปรานของพระองค์(ออกไปทำงานหาปัจจัยยังชีพ)ด้วยความขะมักเขม้นและจริงจังตามภาระงานและหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน เช่น เรียน สอน ค้าขาย ดะอฺวะฮฺ และอื่นๆ
ส่วนละหมาดสุนัต โดยเฉพาะละหมาดกลางคืน (กิยามุลลัยล์) จะเป็นการละหมาดในรูปแบบส่วนบุคคล ยกเว้นละหมาดตะรอวีหฺ ซึ่งโดยปกติแล้วบุคคลทั่วไปไม่สามารถเป็นสักขีพยานต่อการละหมาดประเภทนี้ได้
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ أَمَّنۡ هُوَ قَٰنِتٌ ءَانَآءَ ٱلَّيۡلِ سَاجِدٗا وَقَآئِمٗا يَحۡذَرُ ٱلۡأٓخِرَةَ وَيَرۡجُواْ رَحۡمَةَ رَبِّهِۦۗ قُلۡ هَلۡ يَسۡتَوِي ٱلَّذِينَ يَعۡلَمُونَ وَٱلَّذِينَ لَا يَعۡلَمُونَۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٩ ﴾ [الزمر: ٩]  
ความว่า “ผู้ที่ทำการภักดีในยามค่ำคืน ในสภาพที่สุญูด และยืนละหมาด โดยที่เขาหวั่นเกรงต่อโลกอาคิเราะฮฺ และหวังความเมตตาของพระผู้อภิบาลของเขา (จะมีเกียรติเท่ากับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้นกระนั้นหรือ?) จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า บรรดาผู้ที่รู้(ถึงแก่นแท้ของอัลลอฮฺและแก่นแท้ของตัวเอง)และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันกระนั้นหรือ? แท้จริง บรรดาผู้มีสติปัญญาอันบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะรำลึกถึงอัลลอฮฺเสมอ” (อัซ-ซุมัรฺ 39:9)

เพื่อให้มุสลิมทุกคนแสดงออกถึงคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเชิญชวนให้ทุกคนยึดมั่นปฏิบัติกับการละหมาดฟัรฎูในรูปของญะมาอะฮฺ พยายามให้ทันมาอยู่ในมัสยิดอย่างน้อยขณะกำลังอิกอมะฮฺ และดำรงการละหมาดด้วยความสำรวมตน พร้อมกับยึดมั่นปฏิบัติกับละหมาดสุนัตต่างๆ เพราะจุดยืนของคนต่อการละหมาดนั้นมีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ
(1) ผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิรฺ) พวกเขาจะไม่ดำรงละหมาด ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับพวกเขาว่า
﴿ فَلَا صَدَّقَ وَلَا صَلَّىٰ ٣١ ﴾ [القيامة: ٣١]  
ความว่า “ผู้ปฏิเสธศรัทธาจะไม่เชื่อและไม่ดำรงละหมาด” (อัล-กิยามะฮฺ 75:31)

(2) ผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) พวกเขาจะดำรงละหมาดด้วยความเกียจคร้าน ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับพวกเขาว่า
﴿وَإِذَا قَامُوٓاْ إِلَى ٱلصَّلَوٰةِ قَامُواْ كُسَالَىٰ يُرَآءُونَ ٱلنَّاسَ وَلَا يَذۡكُرُونَ ٱللَّهَ إِلَّا قَلِيلٗا ١٤٢ ﴾ [النساء: ١٤٢]  
ความว่า “และเมื่อบรรดาผู้กลับกลอกลุกขึ้นละหมาด พวกเขาจะลุกขึ้นละหมาดอย่างคนเกียจคร้าน เพื่อให้ผู้คนเห็น (ว่าพวกเขาละหมาด) และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺนอกจากเพียงน้อยนิดเท่านั้น” (อัน-นิสาอ์ 4:142)

(3) ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) พวกเขาจะดำรงละหมาดด้วยความคุชูอฺและสำรวมตน ไม่ขี้เกียจและไม่หลงลืม ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับคุณลักษณะของพวกเขาว่า
﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ١ ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ ٢ ﴾ [المؤمنون: ١-٢]  
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ซึ่งมีความนอบน้อมถ่อมตนในละหมาดของพวกเขา” (อัล-มุอ์มินูน 23:1-2)

การละหมาดที่คุชูอฺ หมายถึง การละหมาดของคนใดคนหนึ่งที่จิตใจของเขามีความนอบน้อมและสิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา โดยเขาจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ อิริยาบทของการอ่านและการกระกระทำในละหมาดของเขา

จำนวนร็อกอัตและสุญูดของสังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด
 ตามซุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และซุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมเกี่ยวกับจำนวนร็อกอัตและสุญูดละหมาดประจำวัน ทั้งกลางวันและกลางคืนของพวกเขาคือประมาณ 50 ร็อกอัต หรือประมาณ 100 สุญูด เป็นอย่างน้อย ตามรายละเอียดต่อไปนี้
(1) ละหมาดฟัรฎูจำนวน 17 ร็อกอัต คือ
- ศุบหฺ        2    ร็อกอัต
- ซุฮรฺ        4    ร็อกอัต
- อัศรฺ        4    ร็อกอัต
- มัฆริบ    3    ร็อกอัต
- อิชาอ์    4    ร็อกอัต
  รวม        17    ร็อกอัต (34 สุญูด)
(2) ละหมาดสุนัตเราะวาติบจำนวน 20 ร็อกอัต คือ
- ก่อนศุบหฺ    2    ร็อกอัต
- ก่อนซุฮรฺ    4    ร็อกอัต
- หลังซุฮรฺ    4    ร็อกอัต
- ก่อนอัศรฺ    4    ร็อกอัต
- ก่อนมัฆริบ    2    ร็อกอัต
- หลังมัฆริบ    2    ร็อกอัต
- หลังอิชาอ์    2    ร็อกอัต
  รวม        20    ร็อกอัต (40 สุญูด)
(หรือ 22 ร็อกอัต 44 สุญูด ด้วยการเพิ่มละหมาดสุนัตก่อนอิชาอ์อีก 2 ร็อกอัต)
(3) ละหมาดสุนัตกิยามุลลัลยล์ หรือตะฮัจญุด หรือตะรอวีหฺ หรือวิติร จำนวน 11-13 ร็อกอัต (22-26 สุญูด)
(4) ยังมีละหมาดสุนัตอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺ เช่น สุนัตฎุฮา สุนัตเอาวาบีน สุนัตตะฮียะฮฺมัสยิด สุนัตวุฎูอ์ และอื่นๆ

ละหมาดตามซุนนะฮฺ
แบบอย่างการละหมาดที่สมบูรณ์ที่สุดคือการละหมาดของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า
«صَلُّوْا كَمَا رَأَيْتُمُوْ ِنْي أُصَلِّيْ» [البخاري 631، 6008، 7246]
ความว่า “พวกท่านจงดำรงละหมาดดัง (รูปแบบ) ที่พวกท่านได้เห็นฉันดำรงละหมาด” (อัล-บุคอรีย์ 631, 6008, 7246)

ส่วนบรรดาอิหม่ามมัซฮับมีหน้าที่เป็นอาจารย์คอยชี้แจงให้ปวงชนทราบถึงรายละเอียดของวิธีการละหมาดที่ถูกต้องตามซุนนะฮฺของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

การละหมาดของผู้ที่จะจากลา
ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
«صَلِّ صَلَاةَ مُوَدِّعٍ، كَأَنَّكَ تَرَاهُ فَإِنْ كُنْتَ لَا تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاكَ» [سلسلة الأحاديث الصحيحة للألباني 1914]
ความว่า “จงดำรงละหมาดเสมือนกับการละหมาด (ครั้งสุดท้าย)ของผู้ที่กำลังจะจากลามัน จากลาโลกนี้ไป (นั่นคือ) การละหมาดที่เสมือนกับว่าท่านเห็นอัลลอฮฺ เพราะถึงว่าท่านจะไม่เห็นอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺจะทรงมองเห็นท่านเสมอ” (ในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า) “การละหมาดที่เสมือนกับว่าท่านจะไม่มีโอกาสละหมาดอีกแล้วหลังจากนั้น” (สิลสิละฮฺ อัล-อะหาดีษ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ ของอัล-อัลบานีย์ 1914)

ละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกับอิหม่าม
ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ» [الترمذي 806 حديث حسن]
ความว่า “ผู้ดำรงละหมาดกลางคืน (กิยามุลลัยล์ หรือละหมาดตะรอวีหฺ) พร้อมกับอิหม่ามจนกระทั่งเสร็จสิ้น เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการดำรงละหมาดตลอดทั้งคืน”  (อัต-ติรมิซีย์ 806 : หะดีษ หะสัน)

وفقكم الله لما يحبه ويرضاه. وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم. سبحان ربك رب العزة عما يصفون وسلام على المرسلين والحمد لله رب العالمين.